Skip to main content
sharethis

ส.ส. นักวิชาการฟิลิปปินส์ผู้เคยวิจัย 'สิงคโปร์โมเดล' วิเคราะห์รูปแบบการเมืองสิงคโปร์และแนวคิดการควบคุมเบ็ดเสร็จในแบบลีกวนยูที่ครอบงำสังคมสิงคโปร์อยู่ โดยระบุว่าประชาชนภายในประเทศต้องการความเปลี่ยนแปลงจากการครอบงำนี้ ขึ้นอยู่กับว่าผู้นำพรรครัฐบาลคนใหม่จะยอมเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองความต้องการประชาชนหรือไม่


วอลเดน เบลโล ประธานคณะกรรมการกิจการแรงงานข้ามชาติในสภาผู้แทนฯ ฟิลิปปินส์ ผู้เคยวิจัยและเขียนหนังสือเกี่ยวกับ "สิงคโปร์โมเดล" มาก่อน เขียนบทความในเว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายการต่างประเทศ Foreign Policy In Focus ในเรื่องมุมมองของเขาต่อประเทศสิงคโปร์หลังการเสียชีวิตของผู้นำคำสำคัญอย่างลีกวนยู โดยตั้งคำถามว่าเมื่อผู้นำที่มีลักษณะเผด็จการอย่างลีกวนยูจากไปแล้ววัฒนธรรมเผด็จการในสิงคโปร์จะหมดไปหรือไม่

บทความระบุถึงคำกล่าวอ้างของลีกวนยูที่กล่าวเอาไว้ว่าเอเชียไม่ใช่ที่ๆ เหมาะกับเสรีนิยมประชาธิปไตยแต่ควรปกครองด้วยอำนาจนิยมแบบอ่อนๆ ที่มี "ค่านิยมแบบเอเชีย" คอยนำทางโดยเชื่อว่ารัฐที่มีพรรคการเมืองเดียวจะทำให้เกิด "ความกลมเกลียว" ขณะที่มองว่าการแข่งขันชิงชัยในการเลือกตั้งสร้าง "ความยุ่งเหยิง"

เบลโลระบุไว้ในบทความว่าประเทศที่ดูเหมือนจะเชื่อตามคำกล่าวอ้างของลีกวนยูได้แก่พม่า แต่ว่าพม่าก็ค่อยๆ เริ่มก้าวออกจากเผด็จการอย่างช้าๆ แล้วเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยกลับมีการรัฐประหารโดยกองทัพเพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งชวนให้นึกถึงคำกล่าวอ้างของลี

เบลโลระบุว่า ถึงแม้ลีกวนยูจะพูดในเชิงต่อต้านประชาธิปไตยแบบตะวันตกแต่เขาก็เป็นคนเอเชียที่โลกตะวันตกให้การชื่นชมอย่างมาก เพราะสำหรับประเทศสหรัฐฯ กับอังกฤษแล้ว พวกเขามองว่าลีกวนยูเป็นผู้ต่อต้านคอมมิวนิสม์และยอมรับบรรษัทของพวกเขา ซึ่งนักลงทุนจากตะวันตกก็ได้รับอภิสิทธิ์จริงภายใต้การปกครองของลีที่เน้นผลักดันการค้าระหว่างสิงคโปร์กับต่างชาติ โดยที่ธุรกิจภายในประเทศสิงคโปร์เป็นรองและมีบทบาทชายขอบ

บทความของเบลโลกล่าวถึงกรณีที่จีนคอมมิวนิสต์อยู่ในยุคสมัยต้องการเปลี่ยนแปลงเป็นทุนนิยมมองสิงคโปร์ว่าเป็นเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่มีการควบคุมทางการเมืองแบบเดียวกับสังคมที่พวกเขาต้องการให้เป็น ขณะเดียวกันบางคนก็มองว่าเผด็จการแบบของลีกวนยูเป็นเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ (Totalitarian) ซึ่งมีการที่รัฐเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวของประชาชนด้วยตั้งแต่เรื่องการใช้ชีวิต การใช้เสียง การใช้ภาษา แม้กระทั่งการถ่มน้ำลาย โดยลีอ้างว่าที่เขาทำเช่นนี้เพราะจะทำให้เศรษฐกิจประเทศก้าวหน้าได้

มานูเอล คาสเทลส์ นักสังคมวิทยาเคยกล่าวถึงรัฐสิงคโปร์ในแง่อำนาจนำว่า ฝ่ายผู้มีอำนาจในสิงคโปร์สามารถทำให้เกิดการปฏิรูปสังคม การจัดระบบสังคม การควบคุมทางสังคม และในขณะเดียวกันก็สามารถครอบงำทางการเมืองและสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้กับตัวเองได้

เบลโลระบุว่าหนึ่งในโครงการที่มีคนชื่นชมมากที่สุดของลีคือโครงการจัดหาที่พักอาศัยให้กับประชาชนโดยประชากรสิงคโปร์ร้อยละ 80 อาศัยอยู่ในแฟลตของรัฐ ร้อยละ 79 เป็นผู้ที่ถือครองเป็นเจ้าของ ในกระบวนการที่อยู่อาศัยนี้เองทำให้ลีสามารถแบ่งแยกชุมชนสลัมที่มีทั้งชนชั้นล่างและกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในประเด็นเชื้อชาติโดยจัดวางประชากรกลุ่มนี้ให้ไปอยู่ในชุมชนประดิษฐ์บนอาคารสูงที่เอื้อต่อการปกครองของกลุ่มชนชั้นนำและการควบคุมของตำรวจ

เบลโลวิจารณ์ว่าถึงแม้สิงตโปร์จะมีการเลือกตั้งอย่างเสรีแต่พรรคกิจประชาชน (PAP) ของลีกวนยู ก็มักมีการใช้เลห์กลและการปรับกฎการเลือกตั้งให้เข้าข้างพรรคตัวเองจนทำให้ได้รับคะแนนเสียงถึงร้อยละ 90 ในปี 2554 ซึ่งมีผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งร้อยละ 60 จากผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนทั้งหมด


การกดขี่แบบ 'เชือดนิ่มๆ' ของลีกวนยู

มีอยู่ครั้งหนึ่งลีกวนยูเคยกล่าวว่า "การกดขี่ก็เหมือนการมีเพศสัมพันธ์ มันจะง่ายขึ้นในครั้งต่อๆ ไป" เบลโลระบุว่าลีกวนยูเองก็เป็นคนที่มักจะทำการกดขี่ผู้อื่น แต่ลักษณะการกดขี่ในสิงคโปร์ไม่ได้เป็นวิธีการหนักๆ แบบการกักขังหรือทารุณกรรมนักโทษการเมืองฝ่ายตรงข้าม แต่มักจะใช้วิธีการที่อ้างอิงกฎหมายมากกว่า เช่น การอนุญาตให้คนวิจารณ์ได้ แต่ถ้าวิจารณ์มากในระดับลำเส้นบางอย่างก็จะถูกฟ้องด้วยข้อหาต่างๆ ที่บางครั้งก็ไม่เกี่ยวกับคดีหมิ่นประมาท เช่นข้อหาเกี่ยวกับภาษี ข้อหาทุจริตคอร์รัปชั่น หรือละเมิดกฎหมายธุรกิจ

ในบทความมีการยกตัวอย่างกรณีนักวิชาการชื่อ จี้ซุ่นฉวน แสดงออกเป็นปฏิปักษ์ต่อพรรค PAP ในช่วงราว 2533-2543 ทำให้เขาถูกรัฐบาลพยายามทำลายภาพลักษณ์ เช่นการเผยหลักฐานว่าเขาใช้ทุนมหาวิทยาลัยเพื่อส่งงานวิทยานิพนธ์ของภรรยาตัวเองให้กับมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ จนทำให้เขาถูกไล่ออกจากงานในมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์

เบลโลเปิดเผยในบทความต่อไปว่า นักธุรกิจและมืออาชีพที่มีชื่อเสียงก็มักจะถูกเชิญให้ไปร่วมกับพรรค PAP ซึ่งพวกเขามองว่าถือเป็นเกียรติ์ที่ได้รับเชิญ แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็รู้สึกว่ามันเป็น "ข้อเสนอในเชิงเกียรติยศที่ไม่อาจปฏิเสธได้" เพราะการปฏิเสธจะกลายเป็นการตีตัวออกห่างรัฐบาลและทำให้ถูกสงสัยระแวงว่าจะเป็นผู้ต่อต้านรัฐบาล PAP ได้

ถึงแม้ว่าพรรค PAP จะมีความสามารถในการทำให้ผู้มีความสามารถให้ความร่วมมือกับพวกเขาได้แทนการจับผู้มีความสามารถมาแข่งขันกันเช่นที่พวกเขาวิจารณ์ระบอบการเมืองประชาธิปไตยแบบสหรัฐฯ ไว้ แต่บทความของเบลโลก็ระบุว่ามีชาวสิงคโปร์จำนวนมากที่ต้องการระบอบประชาธิปไตยที่มีการแข่งขันอย่างแท้จริง เพราะระบอบที่พรรคการเมืองเดียวครอบงำแบบสิงคโปร์ทำให้พวกเขารู้สึกเหมือนเป็นเด็กอยู่ตลอด อีกทั้งยังมีประชากรคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่รู้สึกอยากอพยพออกจากประเทศถ้ามีโอกาสที่ดีกว่ารออยู่ แต่ลีกวนยูก็ด่าว่าคนที่ออกนอกประเทศว่าเป็น "พวกล้มเหลว"


'สัญญาประชาคม' ที่เริ่มแตกแยก?

เบลโลระบุว่าพรรค PAP ยังรู้สึกว่าตนมี "สัญญาประชาคม" กับประชาชนสิงคโปร์ โดยการให้ความมั่นคง, ความมั่งคั่ง และรัฐบาลที่บริสุทธิ์ผุดผ่องแลกกับการยอมจำนนโดยถาวร แต่ของแลกเปลี่ยนทั้ง 3 อย่างที่กล่าวมาดูเหมือนว่าพรรค PAP จะเหลือให้แลกเปลี่ยนอยู่อย่างเดียวคือความมั่นคง จากข้อมูลของกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ระบุว่าคนจนระดับล่างร้อยละ 20  ของสิงคโปร์แทบไม่มีรายได้เพิ่มขึ้นเลยเมื่อปี 2544 -2554 รายได้โดยค่าเฉลี่ยก็เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.2 ต่อปีเท่านั้น

ในเรื่องวัฒนธรรมการเมืองที่ปราศจากการทุจริตนั้น เมื่อไม่นานมานี้ก็มีข่าวอื้อฉาวหลายเรื่องจากคนระดับสูงของรัฐบาล ทั้งกรณีเรื่องชู้สาว หรือเรื่องที่สำนักสืบสวนการกระทำทุจริตเป็นผู้ยักยอกทรัพย์เสียเอง ทำให้องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติลดอันดับของสิงคโปร์จากเดิมที่เคยติดอันดับหนึ่งในประเทศที่มีการทุจริตน้อยที่สุด ส่วนชาวสิงคโปร์ร้อยละ 38 ก็มองว่าการทุจริตในสิงคโปรมีเพิ่มมากขึ้น

"ในขณะที่ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายคนจะสงสัยว่าถ้าลีจะกล่าวคำพูดสุดท้ายก่อนตายเกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองของภูมิภาคนี้เขาจะพูดว่าอะไร สิ่งที่เป็นคำถามในใจสำหรับชาวสิงคโปร์จำนวนมากไม่ใช่เรื่องที่ว่าจะเป็นอย่างไรในอนาคตแต่เป็นเรื่องที่ว่าเมื่อไหร่ระบบการชักจูงสังคมในแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จซึ่งเป็นมรดกของลีจะตายตกตาม 'ชายแก่' ผู้นี้ไปด้วย " เบลโลระบุในบทความ

ลีกวนยูมักจะบอกกับทายาทของตนอยู่ตลอดเวลาว่าเขาจะเอาอำนาจคืนมาถ้าหากผู้สืบทอดของเขาออกนอกหนทางเดิมที่เขาตั้งไว้ แต่พอไม่มีลีกวนยูคอยมองผู้สืบทอดจากข้างหลังอยู่อีกแล้ว บทความของเบลโลก็ชวนให้ตั้งคำถามว่าผู้นำทางการเมืองของ PAP คนใหม่ๆ จะมีความกล้าหาญพอที่จะเปลี่ยนแปลงให้สิงคโปร์มีลักษณะทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นหรือไม่


เรียบเรียงจาก

Time for Democracy in Singapore?, FPIF, 12-05-2015
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net