Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
 
ในปลายเดือนของเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสรับชมภาพยนตร์ซีรีย์ เรื่องใหม่สัญชาติอเมริกัน ทางช่อง CW ชื่อ iZombie (2015) ซึ่งได้เริ่มฉายครั้งแรกเมื่อตอนช่วงสงกรานต์ โดยเนื้อหาหลักของเรื่องก็จะเกี่ยวกับชีวิตของนางเอกซึ่งเป็นนักศึกษาแพทย์ที่ชีวิตต้องพลิกผันจากหญิงสาวธรรมดากลายมาเป็นผีดิบที่มีความไวต่อสมองมาก (เมื่อเธอกลายเป็นผีดิบหรือซอมบี้ไปแล้ว ทำให้ร่างกายเธอมีการกระตุ้นให้เกิดความหิวกระหายต่อเลือดและสมองมนุษย์มากยิ่งขึ้นตลอดเวลา) และหากเธอไม่ได้กินเพื่อตอบสนองความต้องการของร่ายกายผีดิบของเธอ ร่างกายก็จะทรุดโทรมลงเรื่อยๆ ทำให้เธอต้องกลายมาเป็นเจ้าหน้าที่แผนกนิติวิทยาศาสตร์และการชันสูตรศพแห่งหนึ่งเพื่อที่จะสามารถเข้าถึงสมองของมนุษย์ได้สะดวกขึ้นและยากต่อการถูกเผยความลับ 
 
เมื่อเธอกลายเป็นผีดิบที่จำเป็นต้องกัดกินสมองมนุษย์เพื่อดำรงชีวิตต่อไปนั้น ทำให้เธอได้ความสามารถหรือพลังพิเศษติดตัวมาคือ การได้รับความทรงจำ หรือความสามารถพิเศษของ ‘เจ้าของสมอง’ ที่เธอกินเข้าไป ทำให้เธอสามารถที่จะระลึกได้และมีภาพย้อนอดีตโผล่ขึ้นมาให้เธอได้เห็นเป็นระยะอยู่เสมอๆ (Flashbacks) ด้วยความสามารถนี้เองที่ทำให้เธอสามารถที่จะทำงานให้ความร่วมมือและช่วยเหลือแก้ไขคดีร่วมกับนักสืบแผนกคดีฆาตกรรมได้อย่างราบรื่น 

จากการรับชมภาพยนตร์ซีรี่ย์เรื่องดังกล่าวนี้ก็ได้ทำให้ผู้เขียนเกิดข้อสงสัยขึ้นมาอยู่ 2 สมมติฐานหลักๆเกี่ยวกับเรื่องของ ‘การคิด’ ของมนุษย์เราในยุคที่จำเป็นต้องผูกล่ามตัวเองให้ติดไว้กับโลกไซเบอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศชนิดต่างๆ ดังนี้: 
 
  • มนุษย์เราสามารถพัฒนาตนเองและสร้างสรรค์ผลงานรวมถึงความคิดออกมาได้อย่างไร้ขีดจำกัด เมื่อมาอยู่ภายใต้การพัฒนาระบบอินเตอร์เน็ต และโลกไซเบอร์ ที่ครอบคลุมกิจกรรมต่างๆมากขึ้น เนื่องจากอินเตอร์เน็ต เทคโนโลยี หรือ อุปกรณ์รูปแบบไซเบอร์ชนิดต่างๆ จะเป็นอุปกรณ์หรือเครื่องมือสำคัญในการจะปั่น หรือ หมุนเคลื่อนให้ตัวมนุษย์เราสามารถพัฒนาตนเองไปได้เรื่อยๆ จากการเข้าถึงความรู้ที่มีไม่จำกัดขอบเขตบนโลกไซเบอร์ที่มีคอนเทนต์ หรือ เนื้อหาต่างๆที่เปิดอนุญาตให้ทุกๆคนเข้าถึงได้อย่างไร้ข้อจำกัดทั้งข่าว บทความ หรือแม้วีดิทัศน์การบรรยายข้ามทวีปนานารูปแบบ ที่แค่มีเพียงการเข้าถึงและเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตเท่านั้นก็สามารถนำพาให้มนุษย์ไปสู่การเรียนรู้พัฒนาตนเอง และสร้างสรรค์สิ่งต่างๆออกมาได้อย่างไร้ขีดจำกัด
     
แต่ในทางกลับกัน มันก็อาจเป็นอีกด้านหนึ่งได้ นั่น คือ
 
  • มนุษย์เราไม่สามารถที่จะคิดอะไรใหม่ๆขึ้นมาเองได้ เมื่อมีอินเตอร์เน็ต โลกไซเบอร์ หรือเทคโนโลยีสารสนเทศนานารูปแบบที่ได้รับการพัฒนาขึ้น การคิดของมนุษย์ในยุคนี้กลับไม่ได้เป็นการ ’คิด’ จริงๆ แต่เป็นการรับเอาสิ่งรอบตัวเข้ามาเป็นวัตถุที่ประมวลขึ้นในมโนภาพแล้วพูด แสดง หรือเปล่งออกมา (แบบ input-output) มนุษย์ในยุคนี้จึงแทบจะไม่สามารถที่จะคิดค้นหรือสร้างสรรค์สิ่งใดหรืออะไรใหม่ๆขึ้นมาได้อีก เนื่องจากการคิดของมนุษย์ในยุคที่สภาพแวดล้อมทุกๆด้านเจริญเติบโตขึ้นมาจากยุคโบราณที่ไม่มีสิ่งใดเลย มาเป็นยุคที่ ‘ชีวิต’ ของมนุษย์ไม่ได้ลำบากเทียบเท่ากับชีวิตในยุคบรรพกาล การคิดค้นสิ่งอะไรใหม่ๆขึ้นมานั้นจึงมีความเป็นไปได้น้อยลงมากถึงมากที่สุด เนื่องจากการคิดของเราจะอิงอยู่กับความคิด ‘เก่า’ บางอย่างบางสิ่งที่มีอยู่ก่อนหน้าแล้วเสมอๆ (เช่นการจะบอกว่าคิดค้นทีวีพลาสมา ก็มีต้นแบบมาจากทีวีธรรมดาๆ การจะบอกว่า ‘คิดค้น’ จึงดูมีเหตุผลน้อยลงกว่า การบอกว่า ‘พัฒนา’ ขึ้นจากของเดิม หรือแม้แต่พลังงานทางเลือกเองที่ว่ามีการคิดค้นถึงความแปลกใหม่ขึ้นมา จริงๆแล้วมันก็เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่บนฐานของการคิดเกี่ยวกับ ‘ของเก่า’ ที่คนรุ่นก่อนเคยคิดขึ้นมาต่างหาก เรียกได้ว่า น่าจะเป็นการ ‘พัฒนา’ ของเดิม มากกว่าการ ‘คิดค้น’) เมื่อเป็นดังเช่นว่านี้ มันจึงเกิดสมมติฐานขึ้นว่า เรานั้นอยู่ในยุคที่มนุษย์เรากำลังตกอยู่ในวังวนของการยืมความคิดจากคนรุ่นก่อนหรือสิ่งที่ตั้งอยู่มาก่อนมาประกอบในการพิจารณาพินิจฉัย พิเคราะห์ เพื่อนำไป ‘ประยุกต์’ หรือ ‘ดัดแปลง’ (Modify) มากกว่าการจะไปคิดเชิงประดิษฐ์ (Invent) หรือ คิดเชิงบริสุทธิ์ เพราะมันเป็นการยากมากที่ความคิด ความอ่านในยุคปัจจุบันเช่นนี้จะเกิดขึ้นแบบบริสุทธิ์ (หรือถ้าพูดในภาษาที่เข้าใจง่ายคือ เกิดขึ้นเพียวๆ - Pure) โดยไม่มีฐานอยู่บนอะไรมาก่อนเลย เนื่องจากสิ่งของหรือเทคโนโลยีในทุกวันนี้ล้วนตั้งอยู่บนแบบแปลนหรือแบบแผนของเทคโนโลยีและสิ่งประดิษฐ์ในห้วงเวลาก่อนหน้านี้มาทั้งสิ้น ดังจะสังเกตได้จากตัวอย่างในชีวิตประจำวัน เช่น ในทุกๆวันนี้การที่ทุกคนมาเรียน ในสถานศึกษาต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายก็เพื่อ ‘พัฒนาศักยภาพ’ ของตนเอง แต่เมื่อมองลงไปแล้ว เรากลับไม่ได้เรียนรู้ที่จะคิดค้นอะไร แต่มันเป็นการเรียนรู้สิ่งเก่า เพื่อนำเอา ‘สิ่งเก่า’ ไป ‘พัฒนา’ โดยที่ยังคงพื้นฐานหรือรากดั้งเดิมเอาไว้ การคิดในทุกวันนี้จึงเหมือนเป็นเพียงการจับหรือนำเอาสิ่งที่กระจายอยู่รอบตัวมาพิจารณา ประมวล ดัดแปลงให้เป็นสิ่งที่ “เหมือนกับจะ” ใหม่ เท่านั้น (หรืออาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงสิ่งใดไปเลย ด้วยสมมติฐานข้อนี้ การสร้างสรรค์หรือการสร้างอะไรใหม่ๆในยุคดังกล่าวจึงแทบจะเป็นกระบวนการที่มีความเป็นไปได้ยากยิ่ง)
จากการที่นางเอกผีดิบของเราสามารถที่จะรับเอาความทรงจำ หรือ ทักษะของผู้อื่นมาได้ง่ายๆโดยผ่านการกินสมองของศพที่เป็นเป้าหมาย เช่นนี้ ผู้เขียนมีความคิดเห็นที่สนับสนุนถึงข้อสมมติฐานชุดที่ 2 มากกว่าเนื่องจากในยุคที่เทคโนโลยีชนิดต่างๆมีการพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทุกๆสิ่งรอบกาย โดยเฉพาะกับวิทยาศาสตร์และวิทยาการ ได้เกิดขึ้นอย่างครบครัน จนมนุษย์เราไม่สามารถที่จะไป ‘คิดค้น’ สิ่งใดที่ใหม่โดยไม่ไปกระทบหรือมีความเหมือน คล้ายคลึงกับ ‘ของเก่า’ ได้แล้วโดยสิ้นเชิง นอกจากทำได้เพียงการคิด หรือ พัฒนาสิ่งของเก่าๆให้มันเหมือนกับเป็นสิ่งใหม่หรือมีวิวัฒนาการให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นกว่าของเก่าเท่านั้น ด้วยเหตุผลสำคัญจุดนี้เอง ที่ทำให้เราเห็นว่า มนุษย์ในยุคปัจจุบันนั้นกำลังตกอยู่ในวังวนของการนำของเก่า หรือการคิดแบบมีฐานที่ตั้งอยู่บนสิ่งดั้งเดิม ซึ่งกระจายวนอยู่รอบๆตัวของมนุษย์เอง มาพิจารณา ทบทวน พัฒนา ปรับปรุง เพื่อเปลี่ยนแปลงเท่านั้น
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net