Skip to main content
sharethis

14 พ.ค. 2558 มูลนิธิศักยภาพชุมชน ออกแถลงการณ์ เสนอ 5 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและประชาชนไทยพิจารณาช่วยเหลือชาวโรฮิงญา และ 1 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเมียนมาร์ แก้ไขกฎหมายสัญชาติ เพื่อรับรองความเป็นพลเมืองของชาวโรฮิงญาให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกับชนชาติส่วนน้อยอื่นๆ


รายละเอียดมีดังนี้


แถลงการณ์ด่วนช่วยเหลือชาวโรฮิงญาที่ลงจากเขาขอการช่วยเหลือ และที่ลอยลำอีกพันคนในทะเล

มูลนิธิศักยภาพชุมชนติดตามชะตากรรมของพี่น้องชาวโรฮิงยาตั้งแต่เรือลำแรกที่ขึ้นฝั่งที่ระนอง เมื่อปี 2550 และพบว่าสถานการณ์เลวร้ายมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีข้อเสนอออกมาเป็นระยะๆ แต่รัฐบาลไทยไม่ให้ความสนใจที่จะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ปล่อยให้ปัญหาสะสมจนระเบิดออกด้วยการพบหลุมศพ ศพ ค่ายกักกันในป่าเทือกเขาแก้ว หมู่ 8 บ้านตะโล๊ะ ต. ปาดังเบซาร์ อ สะเดา จังหวัดสงขลา และค่ายกักกันอีกจำนวนมากบริเวณชายแดนไทย มาเลยเซีย รวมทั้งค่ายในฝั่งมาเลเซียที่ยังไม่เป็นข่าวด้วย ชาวโรฮิงญาที่หนีจากค่ายเดินทางออกมาขอรับการช่วยเหลือเป็นจำนวนนับร้อยคน ชาวโรฮิงญาได้นำพาชีวิตอันน่ารันทด สลดใจมาทิ้งกลางป่าทึบและทะเลกว้างลึก ในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย การกวาดจับผู้เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ครั้งใหญ่ทำให้เรือค้ามนุษย์อีกหลายลำขึ้นฝั่งไม่ได้ เป็นที่น่าตกใจมิใช่น้อยที่พบว่ามีชาวโรฮิงยาเป็นพันชีวิตในเรือที่ยังลอยลำรอการตัดสินใจจากรัฐบาลไทย ด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และจากสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ต้องการตัดสินใจอย่างเร่งด่วน เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ทางมนุษยธรรม มูลนิธิศักยภาพชุมชนใคร่ขอให้รัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทยพิจารณาช่วยเหลือชาวโรฮิงญา ดังนี้

  1. เปิดค่ายพักพิงชั่วคราวเพื่อรับรองชาวโรฮิงญาที่ต้องการการช่วยเหลือทั้งที่เดินทางออกจากป่า และที่ลอยลำอยู่ในทะเลโดยให้ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัย สหประชาชาติเข้ามาดูแล ไม่ให้เป็นภาระกับรัฐบาลไทย การจะแก้ปัญหาต่อไป ให้รัฐบาลที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานต่างๆของสหประชาชาติหารือกันเพื่อคลี่คลายหาทางออกที่เหมาะสมต่อไป คนเหล่านี้ไม่ควรถูกควบคุมตัวใน ตม. รัฐควรพิจารณาว่าพวกเขาเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์และปฎิบัติต่อชาวโรฮิงญาเหล่านี้เฉกเช่นมนุษย์ที่มีศักดิ์และสิทธิ์เท่าเทียมในความเป็นมนุษย์เช่นเราและท่าน จากการที่นายหน้าจำนวนหนึ่งถูกควบคุมตัวจะสามารถชะลอการอพยพย้ายถิ่นของชาวโรฮิงญาได้ระยะเวลาหนึ่ง
     
  2. อนุญาตให้คนท้องถิ่นเข้าไปช่วยเหลือ ในหลายพื้นที่ที่ชาวโรฮิงญาถูกควบคุมตัวอยู่นั้น เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้เข้าไปเยี่ยม เอาอาหารไปให้ ระดับนโยบายต้องชัดเจนที่จะอนุญาตให้ประชาชนเข้าไปช่วยเหลือได้ เพื่อแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่และรัฐบาลในขณะนี้ เป็นการแสดงความเอื้ออาทรระหว่างประชาชนกับประชาชน อย่าคิดว่านายหน้าจะแทรกตัวเข้ามากระทำการอะไรได้ในสถานการณ์เช่นนี้
     
  3. การมีค่ายกักกันตลอดแนวชายแดนไทย มาเลเซีย เล็กใหญ่กว่า 50 ค่าย สะท้อนถึงขบวนการค้ามนุษย์ที่เข้มแข็งสามารถเย้ยกฎหมายทั้งฝั่งไทยและฝั่งมาเลเซียได้ การที่รัฐบาลไทยจัดการกับขบวนการค้ามนุษย์อย่างจริงจังเป็นการกระทำที่สมควรแล้วควรให้มีความร่วมมือกับประเทศมาเลเซียจับกุมนายหน้าชาวมาเลเซียอย่างจริงจังด้วยเช่นกันเพื่อถอนรากถอนโคน เส้นทางการขนส่ง และการหลบหนีข้ามประเทศ
     
  4. ในกรณีที่ชาวโรฮิงญามีญาติพี่น้องอยู่ในประเทศไทย และประเทศมาเลเซียที่พิสูจน์ได้ ให้อนุญาตให้ญาติพี่น้องสามารถมารับตัวไปได้
     
  5. ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ต้องการมาทำงานหาเงิน ให้รัฐบาลไทยและมาเลเซียอนุญาตให้ชาวโรฮิงญาจดทะเบียนเป็นแรงงานข้ามชาติได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่ต้องพิสูจน์สัญชาติเป็นกรณีพิเศษ

สาเหตุที่ชาวโรฮิงญาเดินทางออกจากรัฐอาระกัน ประเทศพม่า มาแสวงหาที่พักพิงใหม่เพราะความยากจน การถูกกดขี่ การถูกปฏิเสธสถานะความเป็นพลเมือง เสนอให้รัฐบาลพม่า/เมียนม่าร์ แก้ไขกฎหมายสัญชาติปี 1982 มีหลายวิธีที่จะปรับปรุงกฎหมายสัญชาติในพม่า/ เมียนม่าร์ ได้เช่นแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 3, 4 หรือ 6 ใหม่ และรับรองความเป็นพลเมืองของชาวโรฮิงญา โดยให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกับชนชาติส่วนน้อยอื่นๆ 
 

ด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
กรุงเทพฯ 14 พฤษภาคม 2558

มูลนิธิศักยภาพชุมชน
สภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม 17 องค์กรมุสลิม สำนักจุฬาราชมนตรี
ชมรมชาวโรฮิงญาแห่งประเทศไทย
กลุ่ม Equal Harmony together

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net