Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสเดินทางไปยุโรปถึง 2 ครั้งซึ่งล้วนเป็นการเดินทางเพื่อไปทำหน้าที่ทั้งในฐานะนักวิชาการ และในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่ต้องการสื่อสารกับประชาคมยุโรปถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในไทย ในการเดินทางไปครั้งแรกนั้นผมได้เดินทางไปยังประเทศสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสซึ่งถือว่าเป็นการเดินทางที่สำคัญมาก เพราะเป็นการเดินทางครั้งแรกนับตั้งแต่หนังสือเดินทางผมถูกยกเลิกโดย คสช. แต่วันนี้ผมกลับมาเดินทางได้อีกครั้งและได้ทำหน้าที่ที่ผมสมควรจะทำได้ในฐานะนักวิชาการ

จากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ถึงวันที่ 9 มีนาคมผมได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส ให้เดินทางไปบรรยายให้นักศึกษาถึงพัฒนาการทางการเมืองของไทยหลังยุครัฐประหารรวมถึงอนาคตของประชาธิปไตยของไทยซึ่งมีเกร็ดความรู้และประสบการณ์ที่น่าสนใจที่จะมาเล่าสู่กันฟังนอกจากนี้ผมยังได้รับเชิญจากกระทรวงการต่างประเทศของสหราชอาณาจักรหรือที่เรียกว่า Foreign and Commonwealth Office เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะกับผู้กำหนดนโยบายของสหราชอาณาจักรเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมืองไทยด้วยรวมแล้วผมได้บรรยายให้กับมหาวิทยาลัยทั้งหมด 5 แห่งและให้กับกระทรวงการต่างประเทศของสหราชอาณาจักรรวมความแล้วมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

ผมได้ไปบรรยายที่แรก ณ St Antony’s College ณ มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ โดยหัวข้อของการบรรยายเน้นที่สาเหตุของการเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งผมกลายมาเป็นเหยื่อโดยตรงต่อการเกิดรัฐประหารครั้งนั้นโดยถูกคณะคสชเรียกตัวซึ่งผมปฏิเสธที่จะเดินทางกลับมารายงานตัวเพราะติดภารกิจการสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยเกียวโตแต่ที่สำคัญกว่านั้นผมไม่ยอมรับความชอบธรรมของการทำรัฐประหารจึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องกลับมารายงานตัวเพราะผมไม่ได้กระทำความผิดแต่อย่างใด

การบรรยายเจาะไปที่แรงจูงใจของการทำรัฐประหารซึ่งส่วนหนึ่งถูกกำหนดด้วยเงื่อนไขของสภาพทางการเมืองกล่าวคือการที่ไทยได้เดินหน้าเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านรัชสมัย ทำให้กลุ่มมีผู้มีอำนาจเดิมต้องค้นหาแนวทางในการคงอำนาจทางการเมืองไว้ และการทำรัฐประหารก็เป็นวิธีหนึ่งที่ถูกเลือกมาใช้แม้ว่าในความเห็นของผมจะเป็นวิธีที่ผิดพลาด สวนทางต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศและต่อแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ดังนั้นหากเราตั้งสมมติฐานเช่นนี้ ทางออกของกองทัพจึงมีไม่มากไปกว่าความพยายามที่จะอยู่ในอำนาจให้ยาวนานที่สุด เพื่อให้มั่นใจว่าการเปลี่ยนผ่านรัชสมัยนั้นจะอยู่ภายใต้การกำกับและควบคุมของกลุ่มอำนาจเดิม นั่นจึงเป็นเหตุผลที่อธิบายว่าทำไมรัฐบาลชุดปัจจุบัน จึงยังไม่สามารถให้คำตอบที่แน่ชัดว่าเมื่อไหร่จะจัดให้มีการเลือกตั้งในครั้งหน้า

แต่หากด้วยเหตุผลใดก็ตามที่รัฐบาลทหารต้องถูกแรงกดดันภายในประเทศและจากนอกประเทศให้ลงจากอำนาจ กองทัพต้องมั่นใจว่าจะยังสามารถคงอิทธิพลทางการเมืองได้โดยอาศัย remote control โดยผ่านการสร้างสิ่งที่ผมเห็นว่าเป็น “สาธารณูปโภค” เพื่อเป็นเครื่องมือในการสอดส่องดูแลและครอบงำการเมืองเราอาจเห็นถึงการสร้างสาธารณูปโภคเหล่านั้นในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่นอกจากจะใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความอ่อนแอให้รัฐบาลพลเรือนในอนาคตแล้ว ยังมีส่วนช่วยปูทางให้กองทัพสามารถครอบงำการเมืองในอนาคตอย่างมีความชอบธรรมเสียด้วย

ผู้ที่มาเดินทางมาฟังการบรรยายของผมที่อ๊อกฟอร์ดนั้นมีทั้งที่เป็นนักวิชาการต่างประเทศ และนักศึกษาที่มีทั้งไทยและต่างประเทศเช่นกันโดยต่างมีความสนใจถึงการสร้างสาธารณูปโภคทางการเมืองของกองทัพซึ่งผมได้กล่าวย้ำใน 3 ประเด็นประการแรกเป็นเรื่องของการสร้างวุฒิสภาที่มีอิทธิพลมากขึ้นเพื่อใช้เป็นพลังต่อรองกับสภาผู้แทนราษฎรได้มีการเปิดเผยในเบื้องต้นแล้วว่าวุฒิสภาในอนาคตจะมีอำนาจทั้งในแง่การตรวจสอบร่างงบประมาณของสภาล่าง และการตรวจสอบคุณสมบัติของคณะรัฐมนตรีก่อนที่จะมีการนำเสนอเพื่อโปรดเกล้าฯ ในส่วนขององค์ประกอบของอนาคตวุฒิสภานั้นก็ชัดเจนว่าจะเป็นไปด้วยบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับกลุ่มอำนาจเดิมโดยในชั้นนี้มีการเอ่ยถึงการนำเอาบุคคลจาก 5 กลุ่มมาเป็นสมาชิกของวุฒิสภาโดยกลุ่มสุดท้ายแม้สมาชิกจะมาจากการเลือกตั้ง แต่ผู้สมัครจะต้องได้รับการเสนอชื่อจากหน่วยงานที่มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับกลุ่มอำนาจเก่าอยู่ดี นั่นหมายความว่าวุฒิสมาชิกทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งนั่นเองนับว่าเป็นการเดินถอยหลังของการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยหากมองย้อนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 จะพบว่าวุฒิสมาชิกทั้งหมดล้วนมาจากการเลือกตั้งจากนั้นในรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างโดยกองทัพในปี 2550 ได้มีการแก้ไขให้วุฒิสมาชิกส่วนหนึ่งมาจากการแต่งตั้งซึ่งต่อมากวุฒิสมาชิกชุดนั้นได้กลายมาเป็นแขนขาสำคัญในการสกัดกั้นความคิดริเริ่มใหม่ๆทางข้อกฎหมายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์หรืออีกนัยหนึ่งวุฒิสภาได้ทำให้การทำงานของรัฐบาลเพื่อไทยยากลำบากมากขึ้น การสรรหาสมาชิกวุฒิสภาในอนาคตที่มาจากกลุ่มที่เป็นพันธมิตรกับศูนย์อำนาจเก่านั้น จะเป็นเครื่องมือในการบ่อนทำลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ในประการที่สองนั้นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้กำหนดว่านายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องผ่านการเลือกตั้งซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มอำนาจเก่าค้นหาและเลือกสรรบุคคลในเครือข่ายของตัวเองในการขึ้นดำรงตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งนับว่าเป็นความคิดอีกประการหนึ่งที่สวนทางกับการพัฒนาประชาธิปไตย ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้ระบุชัดเจนถึงความจำเป็นที่นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งเพื่อเป็นการสร้างฐานความชอบธรรมให้กับการบริหารประเทศนอกเหนือไปจากนี้แล้ว รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังออกแบบให้อนาคตสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรมีความเป็นอิสระมากขึ้น กล่าวคืออนาคต ส.ส. ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมืองใดๆยุทธวิธีนี้เพื่อใช้ในการสร้างการเมืองแบบหลายขั้วเพื่อลดการครอบงำรัฐสภาของพรรคใหญ่อาทิพรรคของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณที่สามารถครอบครองรัฐสภามาหลายยุคหลายสมัยหรืออีกนัยหนึ่งถือว่าเป็นความพยายามในการทำให้อนาคตรัฐบาลมีความอ่อนแอจะจัดตั้งรัฐบาลได้ก็ต้องมาจากการตั้งรัฐบาลผสมที่รวมเอาพรรคการเมืองเล็กๆน้อยๆที่อาจไม่มีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกันเลยมาทำงานร่วมกันเพื่อแบ่งผลประโยชน์ทางการเมืองเท่านั้น

เช่นเดียวกันปรากฏการณ์นี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศไทยในยุคทศวรรษที่ 1980s และ 1990s ที่รัฐสภาไทยเต็มไปด้วยพรรคขนาดเล็กที่แข่งขันและชิงดีชิงเด่นความสำเร็จขึ้นอยู่กับบารมีของหัวหน้าพรรคขณะที่อุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคเป็นเรื่องรองแต่นับจากการเกิดขึ้นของพรรคไทยรักไทย การเมืองได้มีพัฒนาการไปอีกขั้นที่มีการแข่งขันของพรรคการเมืองใหญ่ไม่กี่พรรคที่เน้นอุดมการณ์ของพรรคการเมืองเป็นหลัก พัฒนาการในรูปแบบนี้มีส่วนช่วยลดปัญหาการซื้อเสียงได้อย่างมาก เพราะความภักดีของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งขึ้นอยู่กับนโยบายของพรรคที่มีประสิทธิภาพเป็นหลัก การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่แบบนี้เป็นการทำลายระบบการเมืองที่มีพรรคการเมืองแข่งขันกันบนหลักอุดมการณ์ จุดมุ่งหมายอยู่ที่ความต้องการสกัดกั้นพรรคการเมืองที่ทรงอิทธิพลของฝ่ายทักษิณเท่านั้น

ประการสุดท้ายคือการมอบอำนาจให้กับองค์กรอิสระและหน่วยงานนอกระบบรัฐสภา ให้สามารถเข้ามาควบคุมการทำงานของรัฐบาลโดยตรงจริงๆแล้วนี่มิใช่ปรากฏการณ์ใหม่แต่อย่างใดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาองค์กรอิสระเหล่านี้ (ซึ่งจริงๆแล้วไม่ได้อิสระจากการครอบงำของกลุ่มอำนาจเก่าแต่อย่างใด) ได้สร้างผลกระทบอย่างมากต่อเสถียรภาพของรัฐบาลทั้งการแทรกแซงการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญและหน่วยงานอิสระอื่นๆอาทิสำนักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ที่ไม่ได้ส่งเสริมการเลือกตั้งแต่อย่างใด) หรือสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (เช่นกันที่ไม่เคยปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนไทย) ที่มีส่วนช่วยสร้างระบบสองมาตรฐานในการลงโทษฝ่ายตรงข้ามและเพิกเฉยต่อการกระทำอย่างเดียวกันของฝ่ายตัวเอง

การบรรยายของผมยังได้มีขึ้นที่มหาวิทยาลัย Aberystwyth ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในเรื่องของการเป็นที่ตั้งของโรงเรียนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งแรกของโลก โดยมหาวิทยาลัยนี้ตั้งอยู่ในเขตเวลส์และมีผู้เข้าฟังผมบรรยายมากกว่า 50 คนจากนั้นผมเดินทางกลับมากรุงลอนดอนและได้บรรยายที่ London Schools of Economics (LSE) ซึ่งมีคำถามที่น่าสนใจจากนักศึกษาไทยที่เข้าร่วมการบรรยายของผมจบจาก LSE ผมบรรยายต่อที่ School of Oriental and African Studies (SOAS) ก่อนที่จะสิ้นสุดการบรรยายที่กรุงปารีส ณ สถาบัน Sciences Po ที่มีผู้ให้ความสนใจในหัวข้อการเมืองไทยในระดับหนึ่ง

โดยรวมแล้วการบรรยายในสถาบันการศึกษาต่างประเทศนี้ผู้เข้าร่วมฟังมีความสนใจต่อพัฒนาการทางการเมืองของไทย แต่หลายคนก็ยอมรับว่า อนาคตของประชาธิปไตยของไทยนั้นยังคงมืดมัว หลายคนเกรงว่า ความรุนแรงทางการเมืองจะเกิดขึ้นอีกครั้ง หากประชาชนถูกผลักให้จนมุม และบังคับให้ลุกขึ้นสู้กับอำนาจเผด็จการ การเปลี่ยนผ่านรัชสมัยจะเป็นตัวแปรสำคัญ ซึ่งประเด็นนี้ ได้รับความสนใจอย่างมากเช่นกัน แม้ว่าการถกเถียงจะต้องทำด้วยความละเอียดอ่อน

ประเด็นสุดท้ายที่อยากพูดถึงด้วยความภาคภูมิใจก็คือ การมีโอกาสได้พบกับนักศึกษาไทยหลายคนในสถาบันการศึกษาของอังกฤษ ที่แม้ส่วนใหญ่จะเติบโตในต่างประเทศ แต่ก็เข้าใจการเมืองไทยเป็นอย่างดี มองเห็นปัญหาของประชาธิปไตยของไทย กล้าถามคำถามที่ละเอียดอ่อน และกล้าที่จะแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา ผมมองว่า เยาวชนกลุ่มนี้น่าจะเป็นอนาคตและความหวังของไทยได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ในความมืดมน การพบปะกับผู้คนจำนวนมากของผมทั้งในอังกฤษและฝรั่งเศส ทำให้ผมมองโลกในแง่ดีมากขึ้น แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองในเวลานี้จะสิ้นหวังก็ตาม

ภายหลังจากการเดินทางไปสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสสิ้นสุดลงผมได้เดินทางกลับไปยุโรปอีกครั้งระหว่างวันที่ 1 เมษายนถึงวันที่ 6 พฤษภาคมภารกิจคือการเดินทางไปสอนหนังสือให้กับมหาวิทยาลัยทาลลินซึ่งตั้งอยู่ในกรุงทาลลินเมืองหลวงของประเทศเอสโตเนียผมได้รับเชิญให้ไปสอน 1 คอร์สเกี่ยวกับการเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งครอบคลุมหัวข้อสำคัญอาทิเผด็จการและประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปัญหาการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในไทยการอุบัติขึ้นของปรากฏการณ์โซเชียลมีเดียในภูมิภาคนี้และปัญหาเรื่องความขัดแย้งทางพรมแดนระหว่างไทยและกัมพูชาเป็นต้นนักศึกษาที่มาลงเรียนวิชานี้เป็นชาวเอสโตเนียนเป็นหลักแต่ก็มีนักศึกษาไทยและไนจีเรียมาลงเรียนด้วย (ในระดับปริญญาโท) นักศึกษาเหล่านี้มีความกระตือรือร้นที่จะศึกษาเรื่องเกี่ยวกับไทยโดยเฉพาะนักศึกษาจากไนจีเรียได้บอกกับผมว่าวิชานี้ได้เปิดมุมมองอย่างมากเกี่ยวกับการเมืองไทยที่หากมองจากภายนอกดูเหมือนว่าจะเป็นประเทศที่มีพัฒนาการทางประชาธิปไตยที่ยาวนานแต่ทั้งหมดก็เป็นแค่เพียงภาพลวงตา

นอกเหนือจากการสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยทาลลินแล้วผมยังได้รับเชิญให้ไปบรรยายเกี่ยวกับการเมืองไทย ณ มหาวิทยาลัยลัทเวีย (ซึ่งได้มีโอกาสเดินทางไปชมความงามของเมืองหลวงริก้าด้วย) การร่วมการสัมมนาโต๊ะกลมที่คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสต็อกโฮล์มประเทศสวีเดนเกี่ยวกับประเด็นผลกระทบทางการเมืองต่อนักวิชาการ เพื่อหาแนวทางในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับนักวิชาการที่ต้องทำงานภายใต้บรรยากาศของความเป็นเผด็จการ (ในการสัมมนาโต๊ะกลมนี้ทางสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงสต๊อกโฮล์มได้ส่งเจ้าหน้าที่มาสอดส่องด้วย)

ที่สำคัญไม่ด้อยไปกว่ากันคือการที่ผมได้รับเชิญจากหน่วยงานทางราชการของหลายประเทศในยุโรป อาทิ ได้รับเชิญให้กลับไปยังกรุงลอนดอนเพื่อบรรยายสรุปเกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองไทยให้กับหน่วยงานด้านความมั่นคงของสหราชอาณาจักร การได้รับเชิญให้บรรยายสรุปให้กับกระทรวงการต่างประเทศเอสโตเนีย (ซึ่งได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นจากเอกอัครราชทูตกิตติมศักดิ์เอสโตเนียประจำไทย ที่ดูเหมือนจะเข้าใจปัญหาการเมืองไทยไม่ด้อยไปกว่าผม) การบรรยายสรุป ณ สถาบันมอสโควแห่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการต่างประเทศมอสโคว (ได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นเช่นกันโดยเจ้าภาพได้จัดเจ้าหน้าที่มาดูแลผมตลอดการเยือน) และการบรรยายสรุป ณ กระทรวงการต่างประเทศสวีเดน นอกจากนี้ที่สวีเดนผมได้มีโอกาสเข้าร่วมการเดินขบวนวันแรงงานแห่งชาติที่นั่น และได้ชูประเด็นเรื่องการแทรกแซงการเมืองของกองทัพไทยในการทำรัฐประหาร โดยได้ร่วมมือกับกลุ่มคนไทยที่รักประชาธิปไตยในสวีเดน รวมถึงการบรรยายให้กับคนไทยที่นั่นในเวลาต่อมาด้วย

ณ กระทรวงการต่างประเทศเอสโตเนีย

ประเทศในยุโรปเหล่านี้สนใจความเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยอย่างมากบางประเทศ (ซึ่งไม่อาจระบุชื่อได้) กำลังมองหาแนวทางในการเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อรัฐบาลทหารของไทย และจะกำหนดท่าทีต่อต้านรัฐธรรมนูญที่พวกเขามองว่าไม่มีความเป็นประชาธิปไตย รวมไปถึงโอกาสที่จะปฏิเสธความชอบธรรมของการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอนาคตและรัฐบาลที่จะจัดตั้งขึ้นภายในร่มเงาของกองทัพ ผมย้ำกับประเทศเหล่านี้ว่าไทยจะไม่กลับไปเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ปกติหากกองทัพยังคงเข้าแทรกแซงการเมืองอยู่เนืองๆ และปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนยังอยู่กรณีที่ผมถูกรังแกโดย คสช. นั้นเป็นกรณีศึกษาได้อย่างดี

ก่อนเดินทางกลับสู่เกียวโตนั้นผมได้แวะเข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับเสรีภาพของสื่อออนไลน์ ณ กรุงอูลานบาตาร์ตามคำเชิญของกระทรวงการต่างประเทศของมองโกเลีย ผมได้รับเชิญให้เข้าร่วมการสัมมนาในหัวข้อเรื่องสื่อกับผลกระทบทางการเมืองที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ โดยย้ำถึงการใช้กฎหมายหมิ่นฯในการเป็นเครื่องมือกำจัดผู้เห็นต่างซึ่งกรณีของไทยได้รับความสนใจอย่างมาก และมีการสอบถามถึงความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันกษัตริย์กับการเมืองไทย โดยในการสัมมนานี้มหาวิทยาลัย British Columbia ของแคนาดาเป็นผู้จัดร่วมกับทางการมองโกเลียซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างตรงไปตรงมา

ผมสิ้นสุดการเดินทางในทริปที่สองหลังจากกลับมาถึงเกียวโตไปทั้งสิ้น 36 วันเดินทางไป 7 ประเทศ 8 เมืองและให้ทั้งความรู้และรับความรู้ใหม่ๆมากขึ้นแม้ผมจะเดินทางคนเดียวบางครั้งต้องเผชิญกับความโดดเดี่ยวแต่ผมได้รับการต้องรับที่อบอุ่นจากผู้ที่พบเจอโดยเฉพาะการมีไดอะลอกที่มีความหมายมากๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสถานการณ์ทางการเมืองไทยในหมู่มิตรที่ยุโรป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net