เมืองชิคาโกมีมติจ่ายเงินชดเชยเหยื่อถูกทารุณกรรมโดยตำรวจยุค 70-80

ในยุคสมัยปี 2515-2534 ชิคาโกอยู่ในยุคมืดที่มีตำรวจทำการทารุณกรรมผู้ต้องสงสัยโดยเฉพาะที่เป็นคนผิวดำ ล่าสุด สภาเมืองมีมติเป็นเอกฉันท์ให้จ่ายเงินชดเชยแก่ผู้เคยถูกทารุณกรรมในวงเงินรวม 5.5 ล้านดอลลาร์ แต่ก็มีอดีตที่ปรึกษานายกเทศมนตรีเน้นย้ำเรื่องการเปลี่ยนแปลงวิธีการไม่ให้มีการใช้กำลังกับคนผิวดำหรือคนจนอีก

7 พ.ค. 2558 สภาเมืองชิคาโก สหรัฐฯ มีมติอนุมัติให้เงินชดเชยกับผู้ที่ถูกทารุณกรรมโดยตำรวจในช่วงยุคคริสต์ทศวรรษที่ 1970-1980 โดยมีวงเงินเยียวยารวม 5.5 ล้านดอลลาร์ (ราว 180 ล้านบาท) ซึ่งจะจ่ายให้กับผู้ที่รอดจากการทารุณกรรมทั้งหมด ถือเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ มีการชดเชยในรูปแบบนี้

สำนักข่าวเดอะการ์เดียนระบุว่าเหยื่อผู้รอดชีวิตจากการถูกทารุณกรรมในยุคคริสต์ทศวรรษที่ 1970-1980 แทบทั้งหมดเป็นคนผิวดำ โดยจะมีการมอบเงินมากสุด 100,000 ดอลลาร์ (ราว 3 ล้านบาท) แก่เหยื่อแต่ละรายที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเคยตกเป็นผู้ถูกทารุณกรรมในยุคสมัยภายใต้การนำของผู้บัญชาการตำรวจผู้อื้อฉาวชื่อ จอน เบอร์ก มาก่อน

ราห์ม เอมมานูเอล นายกเทศมนตรีเมืองชิคาโกกล่าวว่ามติการชดเชยในครั้งนี้ซึ่งได้รับการโหวตอย่างเป็นเอกฉันท์เป็นไปเพื่อทำให้ประวัติศาสตร์ด้านมืดของชิคาโกจบลง ทำให้เมืองชิคาโกได้ชดใช้ความผิดต่อเหยื่อและครอบครัวและเรียกชื่อเสียงของเมืองกลับคืนมา

ในช่วงปี 2515-2534 เบอร์กและตำรวจใต้บังคับบัญชาของเขาทำการทารุณกรรมชาวผิวดำมากกว่า 100 คน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากย่านที่มีฐานะยากจนทางตอนใต้ของเมืองชิคาโกซึ่งถือเป็นการใช้ความรุนแรงและการข่มขู่คุกคามอย่างเป็นระบบ โดยมีทั้งการใช้ไฟฟ้าช็อต การใช้ไฟลน แกล้งจะสังหาร และการใช้ความรุนแรงโหดเหี้ยมอื่นๆ เพื่อบังคับให้เหยื่อสารภาพ

เบอร์กถูกกล่าวหาว่าได้ใช้กำลังตำรวจไปในทางที่ผิดด้วยการสั่งให้เจ้าหน้าที่บีบคอผู้ต้องหาหรือสั่งให้เล่น "รัสเซียนรูเลตต์" ซึ่งเป็นการพนันเสี่ยงเอาชีวิตด้วยการบรรจุลูกปืนไว้ในปืนลูกโม่ลูกหนึ่งแล้วหมุนรังเพลิงจากนั้นเสี่ยงว่าเมื่อลั่นไกปืนใส่หัวแล้วจะโดนรังเพลิงที่มีกระสุนอยู่ทำให้กระสุนยิงออกมาหรือไม่

เบอร์กถูกไล่ออกในปี 2536 แต่ก็ไม่ถูกตั้งข้อหาอาชญากรรมใดๆ ที่เกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงกับผู้ต้องขังโดยตรงจนทำให้คดีหมดอายุความ อย่างไรก็ตามในปี 2553 เบอร์กถูกตัดสินให้มีความผิดข้อหาขัดขวางกระบวนการยุติธรรมและเบิกพยานเท็จจากคดีที่เกี่ยวข้องกับการทารุณกรรมประชาชนทำให้เขาต้องโทษจำคุก 4 ปีครึ่ง

เพรกซี เนสบิตต์ อดีตที่ปรึกษานายกเทศมนตรีที่เป็นคนผิวดำคนแรกของชิคาโกกล่าวว่าการประกาศให้เงินชดเชยครั้งนี้ถือเป็นแถลงการณ์ต่อชาวโลกและจะทำให้บรรยากาศความขัดแย้งทางสีผิวในสหรัฐฯ ดีขึ้น ซึ่งตัวเนสบิตต์เองก็เคยเป็นเหยื่อความรุนแรงของตำรวจมาก่อน

แต่เนสบิตต์ก็กล่าวอีกว่า ไม่เพียงการเยียวยาอย่างเดียวเท่านั้นยังต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานของตำรวจต่อกลุ่มคนต่างเชื้อชาติหรือกลุ่มที่อยู่ในย่านคนจนในชิคาโกด้วย ซึ่งเนสบิตต์ยังได้แสดงการสนับสนุนการเคลื่อนไหวทั่วประเทศเพื่อยับยั้งการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของตำรวจ

"มันเป็นการส่งข้อความให้กับทั่วโลกว่ามีขบวนการประชาชนกำลังเติบโตขึ้นโดยเฉพาะจากคนหนุ่มสาว ทั้งผิวดำ ผิวน้ำตาล ผิวขาว จากทุกสีผิว ซึ่งจะไม่ยอมรับการปฏิบัติอย่างโหดเหี้ยมต่อพลเรือนของพวกเราอีกต่อไปแล้ว" เนสบิตต์กล่าว

เดอะการ์เดียนระบุอีกว่านายกเทศมนตรีเอมมานูเอลยังต้องเผชิญกับแรงกดดันให้แก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงของตำรวจที่มีมากขึ้น อีกทั้งยังมีรายงานข่าวของเดอะการ์เดียนเรื่องสถานปฏิบัติการลับของตำรวจที่ชื่อ 'โฮมันสแควร์' (Homan Square) ที่มีลักษณะการปฏิบัติการคล้ายกับตำรวจลับสมัยของเบอร์กด้วย

เรียบเรียงจาก

Chicago agrees to pay $5.5m to victims of police torture in 1970s and 80s, The Guardian, 06-05-2015
http://www.theguardian.com/us-news/2015/may/06/chicago-police-torture-victims-deal

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท