ยุทธศาสตร์การศึกษาตอบโจทย์ความเหลื่อมล้ำทางสังคมหรือไม่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

รัฐไทยมีลักษณะเป็นรัฐรวมศูนย์การปกครองไว้ที่ส่วนกลางมากกว่าการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ดังเห็นได้จากกระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการ ที่ยังคุมทรัพยากร เช่น งบประมาณ กำลังคน ตำแหน่งบทบาท เอาไว้ในโครงสร้างการบริหารประเทศ กับปรากฏการณ์ที่ลักษณะสภาพสังคมมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง (ดังภาพของโครงสร้างรัฐไทยด้านล่าง)  ในขณะที่ ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศบอกว่า คำนึงถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการมีโครงสร้างอำนาจรัฐรวมศูนย์ เน้นการพัฒนาคุณภาพของคนในชนบท ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี  ที่ยุทธศาสตร์การศึกษาควรดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาฯ ของประเทศด้วย   แต่ยุทธศาสตร์การศึกษาจะตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำจริงหรือไม่ เพียงใด ต้องพิจารณาจากรูปธรรมที่ยุทธศาสตร์ได้กำหนดกลยุทธ์และตัวชี้วัดไว้

 

หัวข้อสำหรับวิเคราะห์ยุทธศาสตร์การศึกษาไทย มี 3 หัวข้อ ดังนี้

1)    โครงสร้างระบบการศึกษา

2)    สถานการณ์ปัญหาการศึกษา

3)    ยุทธศาสตร์การศึกษา ซึ่งประกอบด้วย แผนการศึกษาของชาติ และการปฏิรูปการศึกษาปี 2558

1.    โครงสร้างระบบการศึกษาไทย

โครงสร้างระบบการศึกษาไทย    จากข้อมูลจากสถิติการศึกษาฉบับย่อ ปี 2556 ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการจะทำให้เห็นถึงการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่กระทรวงศึกษาธิการมากกว่าการกระจายอำนาจ ในเรื่องทรัพยากร ได้แก่ งบประมาณ ขนาดหน่วยงาน กำลังคน การบริหารจัดการ เป็นต้น ดังแผนผังต่อไปนี้

 

1.2  จำนวนครูผู้สอนกับภาระ  ได้แก่ เรื่องจำนวน สัดส่วน ชั่วโมงการสอน และอัตราเงินเดือน[1]

 

1.3  เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศมีทั้งหมด 261 เขต สำหรับบริหาร กระจายอัตรากำลังและงบประมาณ และจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับประถมและมัธยม อันเป็นการมอบอำนาจภายใต้ระบบรวมศูนย์  แบ่งเป็น สพม. 78 เขต และสพป.  183 เขต ซึ่งการจัดสรรอัตรากำลังและงบประมาณยังไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ทั่วถึง

1.4  หลักสูตร และการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ

·         ศธ.ใช้หลักสูตรแกนกลางประกอบด้วยกลุ่มสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่ม ได้แก่ 1) วิชาภาษาไทย 2) คณิตศาสตร์ 3) วิทยาศาสตร์ 4) สังคมศึกษา 5) ศาสนาและวัฒนธรรม สุขศึกษาและ   พลศึกษา 6) ศิลปะ 7) การงานอาชีพและเทคโนโลยี และ 8) ภาษาต่างประเทศ

·         การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ได้แก่ ประเมิน O-NET 8 กลุ่มสาระ (สำหรับจบช่วงชั้นประถมและมัธยมศึกษา) ประเมินV-NET (ความรู้พื้นฐานทั่วไปและวิชาชีพสำหรับอาชีวศึกษา)  ประเมิน GAT PAT (ความถนัดทั่วไปและความถนัดทางวิชาการวิชาชีพ) เป็นต้น

 ผลลัพธ์ของการจัดการศึกษาโดยรัฐภายใต้โครงสร้างแบบรวมศูนย์ ที่ครูและผู้บริหารระดับท้องถิ่นยังขาดการตัดสินใจด้วยตัวเอง มีลักษณะมุ่งเชิงปริมาณ และการแข่งขันกันมากกว่าร่วมมือกัน ซึ่งสามารถพิจารณาได้จากหัวข้อสถานการณ์ปัญหาต่อไป

 

2.    สถานการณ์ปัญหาการศึกษา

        2.1  ความเหลื่อมล้ำของการให้-รับการศึกษาจากรัฐและเอกชน คือ หมายถึง การกระจุกตัวของโรงเรียนตั้งอยู่ในเมืองมากกว่าในชนบท โรงเรียนห่างไกลขาดแคลนงบประมาณ ทรัพยากรครู ผู้บริหาร ซึ่งการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรมนำไปสู่การลดทอนศักยภาพของคน ทำให้ประเทศเสียโอกาสในการพัฒนา

·         ความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กรวยกับเด็กจน  เด็กยากจนมีสัดส่วน 1 ใน 3 ของทั้งหมด (3,645,000 คน) จากผู้ปกครองที่มีรายได้ไม่เกิน 40,000 บาท/ปี ได้รับการจัดสรรงบจากสพฐ. 1,341 ล้านบาท ให้แก่เด็กประถมและมัธยมศึกษารวม 1,697,000 คน แบ่งเป็นเด็กประถม 1,000 บาท/หัว/ปี  เด็กมัธยม 3,000 บาท/หัว/ปี[2]  ซึ่งการจัดสรรงบประมาณให้แก่โรงเรียนเท่ากับ 8% ของงบการศึกษา และในจำนวนนี้ให้แก่เด็กประถม 2% ของงบการศึกษา[3]

·         สัดส่วนครูในโรงเรียนในเมืองใหญ่มีมากกว่าครูในโรงเรียนขนาดเล็กในชนบท ที่ครูไม่ครบชั้น ในปี 53 โรงเรียนจำนวน 1.3 หมื่นแห่งขาดแคลนครูร่วมกัน 6 หมื่นคน ขณะที่โรงเรียนอีก 1 หมื่นแห่งมีครูเกินรวมกัน 2.1 หมื่นคน ครูมีแรงจูงใจที่จะอยู่ในโรงเรียนขนาดใหญ่มากกว่าในพื้นที่ห่างไกล ทำให้การจัดสรรครูไม่เป็นธรรมสำหรับเด็กในชนบท[4]

·         ขนาดของห้องเรียนใหญ่เกินไป ทำให้การดูแลของครูไม่ทั่วถึง และกระบวนการเรียนรู้ไม่เพียงพอ

 

2.2  คุณภาพการศึกษาอยู่ในขั้นต่ำ  ที่ยังไม่ทัดเทียมกับการเน้นปริมาณ

·         ผลทดสอบทางวิชาการระดับชาติเฉลี่ยไม่ถึง 50% (ไม่ผ่าน) ในขณะที่เด็กเก่งที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดี มาจากปัจจัยหนึ่งสำคัญคือ การมาจากครอบครัวมีฐานะ พ่อแม่ส่งเรียนกวดวิชา เรียนพิเศษ และเอาใจใส่ลูกดี อย่างไรก็ตาม การคาดหวังผลคะแนนสอบมากเกินไป มุ่งเป้าไปที่การสอบเข้ามหาวิทยาลัย ในขณะที่ผู้เรียนมีภูมิหลังและความต้องการที่หลากหลาย สิ่งที่น่าคิดคือ องค์ความรู้และทักษะในระดับต่ำกว่าปริญญาตรียังไม่สามารถนำออกไปใช้ทำงานได้จริง  หากดูโครงสร้างประชากรวัยทำงาน พบว่า งานรับจ้างทั่วไปนอกระบบโรงงาน มีกำลังแรงงานถึง 64% ของประชากรไทย ที่มีสภาพการจ้างงานด้อยมาตรฐาน[5] ไม่ได้รับการฝึกฝนทักษะฝีมือให้สูงขึ้น และลักษณะงานในไทยมีความเป็น manual ใช้เครื่องจักร เทคโนโลยีและองค์ความรู้ขั้นต่ำสะท้อนถึงมาตรฐานการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรีที่ยังไม่ได้รับการยกระดับ

·         กระบวนการเรียนรู้ไม่เพียงพอ เน้นการสอนแบบอัดแน่นด้วยเนื้อหา ข้อมูลที่มากมายและ     ผิวเผิน ไม่เชื่อมโยงกับข้อมูลอื่นๆ ที่มีอยู่ก่อน ข้อมูลมีลักษณะนามธรรม การจัดสรรเวลาไม่เพียงพอต่อการฝึกทักษะ เช่น ภาษาอังกฤษ ขาดกระบวนการเรียนรู้ที่อนุญาตให้ตั้งคำถาม วิเคราะห์ วิจารณ์ จินตนาการ สร้างสรรค์อย่างเพียงพอ จึงขาดทักษะการแก้ปัญหา ใช้ทักษะชีวิตเอาตัวรอดปกป้องตนเอง เท่าทันปัญหาต่างๆ  สะท้อนให้เห็นถึง เด็กและครูไม่มีนิสัยไตร่ตรอง ทำให้ขาดบรรยากาศของการเรียนรู้แลกเปลี่ยนอย่างเสรี รวมถึงระดับอุดมศึกษาที่ไม่สะท้อนความหลากหลายทางความคิดความเชื่อของคนในสังคม

สาเหตุ

1)        การเป็นรัฐรวมศูนย์อำนาจ ขาดความรับผิดชอบต่อประชาชนในท้องถิ่น ต่างจังหวัดห่างไกล หลักสูตร รวมศูนย์ นโยบายปรัชญาการศึกษามาจากบนลงล่าง  นโยบายของรัฐที่จะลดความเหลื่อมล้ำระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นไม่ได้ปฏิบัติจริงในสถานศึกษาของรัฐ เช่นนโยบายเรียนฟรี 12 ปี ครอบครัวระดับปัจเจกยังคงต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษามากขึ้น

2)        สภาพครอบครัวที่ยังยากจนทำให้เด็กขาดแรงจูงใจในการเรียนอย่างเต็มที่ ต้องออกมาทำงานด้วยค่าตอบแทนราคาถูก ทั้งนี้ ครัวเรือนที่มีฐานะต่ำกว่าเส้นความยากจนมีทั้งหมด 14 ล้านครัวเรือน (ปี 52) โดยครัวเรือนที่มีเด็กเกือบ 9 แสนครอบครัวมีฐานะยากจน[6]  การศึกษาจึงควรเน้นลดความเหลื่อมล้ำ สร้างคุณภาพในระดับพื้นฐานให้ทั่วถึงมากขึ้น และไม่ต้องรอให้เรียนจบในขั้นสูงจึงจะคิดเป็นทำเป็น

3)        กระแสการแข่งขันทางเศรษฐกิจกดดันประเทศไทยให้เร่งพัฒนาตามระบบทุนนิยม แต่เน้นเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ เช่น เน้นผลสัมฤทธิ์ด้วยผลคะแนน ผลการแข่งขันระดับภูมิภาค ระดับโลก ทำให้เด็กกดดัน และต่อต้านอันเนื่องจากเด็กอยู่ในโครงสร้างที่ไม่เท่าเทียมกัน และถูกยัดเยียดให้ท่องจำมากเกินไป

 

3.    ยุทธศาสตร์การศึกษา  ประกอบด้วย แผนการศึกษาของชาติ และยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาปี 2558

ตารางด้านล่างนี้ เป็นการเปรียบเทียบยุทธศาสตร์การศึกษา เพื่อให้เห็นถึงรูปธรรมที่ออกแบบมาว่าคำนึงถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเพียงใด และมีทิศทางการแก้ไขปัญหาการศึกษาไปในทิศทางใด

ตารางเปรียบเทียบยุทธศาสตร์การศึกษา

 

แผนยุทธศาสตร์/หน่วยงาน

วิสัยทัศน์/ปรัชญา

ยุทธศาสตร์/กลยุทธ์

ปัญหาการศึกษาที่ได้รับการตอบสนอง

1. แผนพัฒนาการศึกษาฉบับปรับปรุง (2552-2559) ของ ศธ. ภายใต้บทบัญญัติของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542

“คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ เป็นคนดี มีความสุข มีภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทัน ในเวทีโลก”

 

เน้นการสร้างคนเป็นศูนย์กลาง หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงพอประมาณ  การปลูกฝังคุณภาพ จริยธรรม ศาสนา

ต้องการแข่งขันในเวทีโลก กระจายอำนาจ สร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา

1.     ผู้เรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น

2.      สถานศึกษาทุกระดับทุกประเภทผ่านการรับรองมาตรฐานทางการศึกษา

3.     นไทยทุกกลุ่มทุกวัยมีโอกาสได้รับการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างทั่วถึง และเป็นธรรม

4.      ผลงานวิจัยและนวัตกรรมมีคุณภาพได้รับการเผยแพร่ นำไปใช้ประโยชน์ เพื่อการพัฒนาสังคม ประเทศ หรือต่อยอดในเชิงพาณิชย์

5.     ผู้เรียนและกำลังแรงงานได้รับการเตรียมความพร้อมเชื่อมโยงสู่สังคมและประชาคมอาเซียน

6.     ภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการศึกษา และส่งเสริมสนับสนุนการศึกษา

ตัวชี้วัด

1.     ร้อยละของคะแนนเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาหลักระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจากการทดสอบระดับชาติเพิ่มขึ้น

2.     ร้อยละของสถานศึกษาทุกระดับประเภทผ่านการรับรองจาก สมศ.

3.     จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้น

4.     ร้อยละของกำลังแรงงานมีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นขึ้นไป

5.     จำนวนผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เผยแพร่ในวารสาร หรือนำไปใช้อ้างอิงในระดับชาติ หรือนานาชาติ หรือนำไปใช้ประโยชน์ หรือต่อยอดในเชิงพาณิชย์

6.     ร้อยละของผู้สำเร็จการอาชีวศึกษาและการอุดมศึกษาที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน มีสมรรถนะเป็นที่พึงพอใจของผู้ใช้ และมีงานทำภายใน 1 ปี รวมทั้งประกอบอาชีพอิสระเพิ่มขึ้น

1.     สมรรถนะในการคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหาของผู้เรียนยังจำกัด

2.     กำลังแรงงานยังมีการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ซึ่งควรมีทักษะฝีมือสูงขึ้น

3.     ความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง (จากข้างต้น)

2. ยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษา 2558 ของกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษา

(ติดตามและสรุปจากข่าวหนังสือพิมพ์)

เป้าหมายการปฏิรูปการศึกษา เน้นการเรียนรู้ใหม่ในทางปฏิบัติมากขึ้น รวมถึงบ่มเพาะความเป็นพลเมือง ธรรมาภิบาลทุกระดับให้สังคมเป็นสุข

 

ต้องมีการกระจายอำนาจ ทั้งด้านงบประมาณ บุคลากร อำนาจไปยังพื้นที่การศึกษาให้ตัดสินใจเองได้[7]

 

1.     ให้เยาวชนเป็นคนเก่งและคนดี ดูแลเด็กปฐมวัยไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ

2.     ปฏิรูประบบครู เน้นหนักแก้ปัญหาการบริหารงานบุคคลที่เป็นอุปสรรค

3.     ปรับปรุงระบบการแข่งขันหรือการสอบ

4.     ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการการศึกษาทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่รองรับการกระจายอำนาจ และต้องมีกลไกตรวจสอบเพื่อให้เกิดการบริหารที่มีธรรมาภิบาล

  

การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ได้แก่  1) ต้องมีสถาบันวิจัยระบบการศึกษาเพื่อนำหลักการมากำหนดนโยบายการศึกษาให้สอดคล้องกับความเป็นจริง 2) จัดตั้งสำนักงานที่จะบริหารเงินเพื่อการศึกษา จัดสรรงบให้ผู้เรียนโดยตรง และ 3) ส่งเสริมให้เกิดผู้จัดการศึกษาในพื้นที่มากขึ้น

 

วิธีการคือ แก้ไขกฎหมาย ตั้งคณะกรรมการระดับชาติ (Super Board) ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย วางแผน ยุทธศาสตร์ กำกับติดตามให้เกิดการปฏิรูป เป็นองค์กรอิสระคือ คณะกรรมการนโยบายการศึกษาและการพัฒนามนุษย์

     กระทรวงศึกษาธิการจะเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้จัดการศึกษามาเป็นส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้อื่นเข้ามามีส่วนในการจัดการศึกษามากขึ้น

- รัฐไทยลงทุนการศึกษา มากขึ้นแต่บริหารเงิน บุคคล วิชาการในระบบยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

- โครงสร้าง ศธ.ใหญ่โตเกินไป

- การศึกษาไทยยังไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในสังคม พหุวัฒนธรรมและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

 

โดยสรุปคือ  ยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการและกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษา เข้าใจปัญหาความไม่ยุติธรรมเชิงโครงสร้าง แต่ยังไม่สามารถออกแบบปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ ให้เกิดการกระจายอำนาจการตัดสินใจ กระจายทรัพยากรไปให้เด็กและครอบครัวยากจนอย่างทั่วถึง  เน้นแต่การแก้ไขปัญหาที่เร่งด่วน เฉพาะหน้า เนื่องจากมองว่าการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะโครงสร้างศธ.ที่ใหญ่โตและผูกติดอยู่กับระบบราชการที่รวมศูนย์จะส่งผลกระทบต่อบุคคลในระบบเป็นจำนวนมาก[8]  ดังนั้นจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้  

นี่จึงเป็นปัญหาการเมืองและผลประโยชน์ ที่ประชาชนต้องผลักดันผู้นำให้แก้ไขปัญหาในอนาคตอันใกล้นี้  เพราะผู้นำ ผู้ปกครองไทยไม่รู้จักปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม หากไม่ผลักดันอย่างจริงจัง  ลูกหลานของคนจน ผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศก็จะตกเป็นผู้รับเคราะห์ต่อไป

 

4. ข้อเสนอแนะ

4.1           การกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาจำเป็นต้องคำนึงถึงโครงสร้างใหญ่ และปัญหา   รัฐรวมศูนย์ และมีทิศทางไปสู่การกระจายอำนาจการตัดสินใจ สนับสนุนบทบาทขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างคุณภาพให้แก่เด็กอย่างเท่าเทียมกัน

4.2           การแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่ รวมถึงการสร้างคุณภาพการศึกษาเท่าที่ทำได้ คือ ทำภายใต้การคำนึงถึง ข้อ 4.1  เช่น การพัฒนาระบบการประกันคุณภาพเพื่อให้เกิดเปลี่ยนแปลง ได้รับการยอมรับทั้งในระดับสากล ระดับท้องถิ่นและระดับชาติ  อาจเสนอรูปแบบการสร้างห่วงโซ่คุณภาพ  เพื่อตอบโจทย์ปัญหาการศึกษาไทยข้างต้น กล่าวคือ

1)    เปลี่ยนแปลงในระดับจุลภาค คือ ในห้องเรียน มีเครื่องมือและวิธีการที่จะทำให้ครูรับผิดชอบงาน  ใช้เวลากับผู้เรียนมากขึ้น ไม่นำเวลาไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง

2)    สร้างระบบการตรวจสอบผ่านข้อสอบโดยผู้เรียนและผู้ปกครอง

3)    สร้างสังคมแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เปิดพื้นที่ให้มีการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์

ยกตัวอย่างการสร้างคุณภาพการศึกษาที่สำคัญประการหนึ่ง คือ  นอกเหนือจากการตรวจการบ้าน รายงานและมีการส่งคืนการบ้าน รายงานแล้ว จำเป็นต้องมีการตรวจข้อสอบและส่งคืนข้อสอบให้แก่ผู้เรียน และต้องให้ถึงมือผู้ปกครอง ไม่ใช่แค่การเฉลยข้อสอบเท่านั้น  มีการนำผลคะแนนและผลรายงานขึ้นกระดานอย่างเปิดเผย หากครูผู้สอนไม่เพียงพอ ควรมีผู้ช่วยสอนสนับสนุน  (วิธีการสอนของ รศ.สุชาย ตรีรัตน์. อดีตอาจารย์ภาควิชาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ประโยชน์ที่ได้รับ คือ ผู้เรียนและสังคมสามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกันจากการเปรียบเทียบและหาคำตอบที่ถูกต้อง มีการตรวจสอบทั้งลักษณะข้อสอบและเกณฑ์การคิดคะแนนอย่างโปร่งใส  ผู้ปกครองสามารถติดตามผลการเรียนและผลคะแนนได้ พร้อมสามารถแสดงความเห็น ให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งเป็นการดึงผู้ปกครองและทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างธรรมาภิบาลของสถานศึกษา

โดยสรุปคือ ผู้สอน ผู้เรียน ผู้ปกครอง ผู้รู้ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับสากล มุ่งใส่ใจในการเรียนการสอน การสอบ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการตรวจสอบร่วมกัน เพื่อนำไปปรับปรุงการสอนและการทดสอบต่อไป  เราไม่ควรฝากความหวังไว้กับส่วนกลางที่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคมอีกต่อไป

 



[2] สพฐ.เพิ่มเม็ดเงินรายหัวอุ้มเด็กยากจน. (25 ก.ค.57). สืบค้นจากไทยรัฐออนไลน์. http://www.thairath.co.th/content/438755

[3] ยูเนสโกห่วงเด็กประถมไทยหลุดนอกระบบเฉียด 6 แสน. (10 มี.ค.58). กรุงเทพธุรกิจออนไลน์.

[4] สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. (17 ม.ค.58). 3 ข้อเสนอปฏิรูปคุณภาพครู. สืบค้นจากเว็บไซต์สำนักข่าวนิวส์พลัส http://www.newsplus.co.th/56197

[5] เหตุใดตัวเลขว่างงานของคนไทยจึงน้อยติดอันดับโลก?. (6 ก.พ.58). สืบค้นจากเว็บไซต์มติชนออนไลน์http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1423151945

[6] ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด. (บรรณาธิการ). (2556). ชีวิตคนไทยในสองทศวรรษของการพัฒนา.  สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

[7]สปช.เผยพิมพ์เขียวยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษา. (2558). ข่าวปฏิรูปการศึกษา. สืบค้นจากเว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ  http://www.edreform.moe.go.th/index.php/79-2014-07-04-06-59-46/111-2015-03-11-02-03-02

[8] ศธ.เดินหน้าปฏิรูปห้องเรียน ชี้จุดอ่อนการศึกษาไทยขาดความต่อเนื่อง-นโยบายหลัก. (13 มี.ค.58). คมชัดลึก, หน้า 12.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท