Skip to main content
sharethis
ภาคประชาชนชายแดนใต้ออกแถลงการณ์ร่วม 8 องค์กรขอให้ปล่อยตัว "มูหาหมัดยากี สาและ" ประธานเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติโดยไม่มีเงื่อนไข
 
2 พ.ค. 2558 ภาคประชาชนชายแดนใต้ออกแถลงการณ์ร่วม 8 องค์กรขอให้ปล่อยตัว "มูหาหมัดยากี สาและ" ประธานเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติโดยไม่มีเงื่อนไข โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
แถลงการณ์ร่วม 8 องค์กรขอให้ปล่อยตัวนายมูหาหมัดยากี สาและ ประธานเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติโดยไม่มีเงื่อนไข
 
เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เชิญตัวนายมูหาหมัดยากี สาและ ประธานเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติ ไปพบที่สถานีตำรวจภูธรเมืองยะลา โดยอ้างว่ามีหมายจับเกี่ยวกับเหตุการณ์ระเบิดเมืองยะลา ซึ่งศาลได้พิพากษายกฟ้องแล้วนั้น เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ นายมูหาหมัดยากี สาและ จึงเดินทางเข้าไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองยะลา ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวนายมูหาหมัดยากี สาและ ไปซักถามที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานีนับแต่วันที่ 24 เมษายน ครบกำหนดการกักตัวตามกฎอัยการศึกเป็นเวลา 7 วันเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 และได้มีการขอขยายการควบคุมตัวต่อตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยยังไม่มีกำหนดว่าจะมีการปล่อยตัวนายมูหาหมัดยากี สาและ เมื่อใดเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอ้างว่านายมูหาหมัดยากี สาและ มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ระเบิดที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎ์ธานี และให้ข้อมูลข่าวต่อสื่อมวลชนด้วยว่า นายมูหาหมัดยากี สาและ เป็นผู้ต้องสงสัยเกี่ยวกับเหตุการณ์ระเบิดในคดีนี้ด้วย อย่างไรก็ดีหน่วยงานความมั่นคงมักใช้อำนาจกักตัวบุคคลตามกฎอัยการศึก 7 วันและการควบคุมตัวภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินสูงสุด 30 วัน ในการสืบค้นหาข่าวและควบคุมบุคคลโดยพลการ การจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยกฎหมายพิเศษนั้นต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังและไม่เกินกว่าความจำเป็น
 
องค์กรและบุคคลตามรายนามข้างล่างนี้ขอเรียกร้องให้ทางการปล่อยตัวนายมูหาหมัดยากี สาและโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้เพื่อดำรงไว้ซึ่งความไว้วางใจ ไว้เนื้อเชื่อใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่ โดยทุกฝ่ายยินดีให้ความร่วมมือและทำงานในแนวทางที่สร้างสรรค์  กรณีเหตุระเบิดที่เกาะสมุยหากทางการมีข้อกล่าวหาหรือมีพยานหลักฐานตามกระบวนการยุติธรรมต่อนายมูหาหมัดยากี สาและ ขอให้มีการดำเนินการอย่างเป็นธรรมและนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและต้องไม่เป็นการกลั่นแกล้ง
 
ท่ามกลางความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนาน หากแต่การปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายพิเศษนั้นต้องทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและแนวทางสันติภาพ ความร่วมมือและการแสวงหาทางออกร่วมกันด้วยความเคารพต่อศักดิ์ศรีและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นที่พึงกระทำทั้งจากฝ่ายประชาชนและฝ่ายทางการ  
 
รายชื่อองค์กรร่วมลงนาม
 
1. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
2. เครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติ Jop 
3. องคกร์เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี HAP
4. สมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใตัเพื่อสันติภาพ Perwani
5. เครือข่ายผู้ช่วยทนายความมุสลิมมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม Span
6. กลุ่มด้วยใจ
7. มูลนิธินูสันตารอเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา Nusantara
8. สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา LEMPAR

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net