ลดอัตราดอกเบี้ย0.25% ลดประมาณฯเศรษฐกิจ ส่งออกขยาย0% ยอดขายรถลบ11.8%

 

29 เม.ย.2558 เมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 1.75 เป็นร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันที โดยอีก 2 เสียงให้คงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม

ขณะที่คณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่า เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ แม้ว่าการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐจะทำได้มากขึ้นและการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวดีต่อเนื่อง แต่ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยการส่งออกสินค้าและการบริโภคภาคเอกชนที่อ่อนแอต่ำกว่าคาด นอกจากนี้ในระยะข้างหน้าการส่งออกยังมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน โครงสร้างการค้าโลกและภูมิภาคที่เปลี่ยนแปลงโดยประเทศคู่ค้าหลักมีการพึ่งพาการนำเข้าลดลงรวม ทั้งแรงกดดันจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ตลอดจนการหดตัวของการส่งออกอาจส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภาคครัวเรือนอ่อนแอลงตามกำลังซื้อและความเชื่อมั่น ดังนั้นนโยบายการเงินควรผ่อนคลายเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

(ที่มา : สำนักข่าวไทย, 29 เม.ย.58)

คลังปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจเหลือขยายตัวเหลือ 3.7%

กฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ได้ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลงจากร้อยละ 3.9 เหลือร้อยละ 3.7 ขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 0.7 สาเหตุจากการส่งออกชะลอตัว แต่ยังมีปัจจัยบวกจากภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังจากนักท่องเที่ยวเชื่อมั่นต่อการเมืองในประเทศ ขณะที่การใช่จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มสูงขึ้นจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการน้ำ และการสร้างถนนในต่างจังหวัด

นอกจากนี้ กำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อปีนี้ร้อยละ 0.2 ตัวเลขการส่งออกขยายตัวร้อยละ 0.2 ขณะที่การนำเข้าหดตัวร้อยละ 0.2 จากราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 17,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกินดุลร้อยละ 4.6 ของจีดีพี จึงต้องรอลุ้นมาตรการดูแลค่าเงินบาทของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เร็ว ๆ นี้ว่าจะดูแลการส่งออกให้ขยายตัวดีขึ้นอย่างไรบ้าง

(ที่มา : สำนักข่าวไทย, 29 เม.ย.58)

สภาผู้ส่งออกประเมินส่งออกตลอดปีขยายตัว 0%

นพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออก) แถลงสถานการณ์ส่งออกเดือนมีนาคม 2558 ว่า การส่งออกไทยเดือนมีนาคม 2558 มีมูลค่า 18,886 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 4.45 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ส่งผลให้มูลค่าการส่งออก 3 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่า 53,365 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 4.69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา ขณะที่มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทเดือนมีนาคม 2558 มีมูลค่า 610,984 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.15 และในช่วงไตรมาสแรกปี 2558 (ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่าส่งออกในรูปเงินบาทรวม 1,732,493 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.44

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งออกยังคงประเมินว่าตลอดปีนี้การส่งออกจะมีมูลค่า 228,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวร้อยละ 0 ดีที่สุดที่จะเป็นไปได้เมื่อเทียบกับปี 2557 โดยมีผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในตลาดส่งออกหลัก เงินบาทแข็งค่ากว่าคู่แข่งร้อยละ 5 ผลกระทบอย่างสำคัญต่อการส่งออกปีนี้ ได้แก่ IUU (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) ในอุตสาหกรรมประมง ซึ่งจะขยายผลไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นอื่น ๆ ของสหภาพยุโรป (อียู) และการแก้ไขปัญหามาตรฐานการควบคุมสายการบินขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ) สถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดจากภัยธรรมชาติ สภาวะอากาศที่ส่งผลต่อผลผลิตการเกษตร ปัญหาภัยสงครามในตะวันออกกลางและภูมิภาคอื่น ๆ เป็นต้น หากรุนแรงกว่านี้อาจส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทยปีนี้ติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

(ที่มา : สำนักข่าวไทย, 29 เม.ย.58)

ยอดขายรถยนต์ไตรมาสแรกปีนี้ติดลบ 11.8%

วุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยยอดขายรถยนต์ประจำเดือนมีนาคม 2558 ว่า มีปริมาณการขายทั้งสิ้น 74,117 คัน  ลดลงร้อยละ 11.7  ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 30,140 คัน ลดลงร้อยละ 13.4  รถเพื่อการพาณิชย์   43,977 คัน ลดลงร้อยละ 10.6 โดยกลุ่มนี้รวมรถกระบะขนาด 1 ตัน มียอดขาย 33,409 คัน ลดลงร้อยละ 18.1  สาเหตุเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ และภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้กำลังซื้อของภาคครัวเรือนยังจำกัด

ส่วนตลาดรถยนต์สะสม 3 เดือน มีปริมาณการขาย 198,787 คัน ลดลงร้อยละ 11.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยตลาดรถยนต์นั่งลดลงร้อยละ 12.5 ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ลดลงร้อยละ 11.3 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน โดยเฉพาะการส่งออกที่ยังไม่ขยายตัว รวมทั้งความเข้มงวดของสถาบันทางการเงิน ทำให้ทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ต่างระมัดระวังทั้งในเรื่องการลงทุน และการใช้จ่าย

(ที่มา : สำนักข่าวไทย, 29 เม.ย.58)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท