Skip to main content
sharethis
28 เม.ย. 58 - ยูเอ็นวีเมน เปิดรายงาน ความก้าวหน้าของผู้หญิงของโลก ปี 2558-2559: เปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ, ตระหนักถึงสิทธิ (Progress of the World’s Women 2015-1016: Transforming Economies, Reaizaing Rights) พบว่า ผู้หญิงทั่วโลกในตลาดแรงงานอยู่ในสถานะได้ค่าตอบแทน การเข้าถึงสิทธิ และการคุ้มครองทางสังคมที่ตำกว่าผู้ชาย รายงานกล่าวถึงประเทศไทยว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าช่วยให้หญิงไทยเข้าถึงการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาลมากขึ้น
 
จากการสำรวจทั่วโลก มีเพียงครึ่งหนึ่งของผู้หญิงอยู่ในภาคแรงงาน (ในขณะที่ผู้ชายอยู่ในภาคแรงงานถึงสามในสี่) ในประเทศกำลังพัฒนานั้นการจ้างงานผู้หญิงสูงถึง 95 เปอร์เซนต์อยู่ในภาคแรงงานนอกระบบ ซึ่งไม่ได้ถูกปกป้องโดยกฎหมายแรงงาน และสิทธิทางสังคมอื่นๆ  
 
โดยเฉลี่ยทั่วโลก ผู้หญิงได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานต่ำกว่าผู้ชายถึง 24 เปอร์เซนต์ และช่องว่างระหว่างค่าตอบแทนยิ่งสูงข้นเมื่อหญิงนั้นมีบุตร ตัวอย่างเช่น ในภูมิภาคเอเชียใต้ ช่องว่างของค่าตอบแทนระหว่างชายและหญิงที่มีบุตรสูงถึง 35 เปอร์เซนต์ เมื่อเปรียบเทียบกับหญิงไม่มีบุตรซึ่งอยู่ที่ 14 เปอร์เซนต์ 
 
โรเบอร์ต้า คลาร์ค ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ยูเอ็นวีเมน และ ฟรานซิสโก้ คอส มอนเทียล ที่ปรึกษาด้านการเพิ่มศักยภาพผู้หญิง ยูเอ็นวีเมน ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิต กำลังเปิดตัวรายงานความก้าวหน้าของผู้หญิงของโลก ปี 2558-2559: เปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ, ตระหนักถึงสิทธิ ที่สำนักงานยูเอ็น วีเมน กรุงเทพฯ 
 
รายงานยังกล่าวอีกว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ถูกจำกัดอยู่ในงานที่ไม่ถูกให้คุณค่า เช่น 83 เปอร์เซนต์ของคนทำงานในบ้านเป็นผู้หญิง และครึ่งหนึ่งของพวกเขาไม่ได้ค่าแรงขั้นต่ำ
 
แม้แต่ผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จในที่ทำงาน พวกเธอก็ยังพบอุปสรรคที่เพื่อนร่วมงานชายไม่ต้องประสบ เช่น ในสหภาพยุโรป 75 เปอร์เซนต์ของผู้หญิงที่อยูในตำแหน่งบริหารหรือสูงกว่า และ 61 เปอร์เซนต์ของผู้หญิงในภาคบริการ ประสบกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน 
 
นอกจากนี้ ผู้หญิงยังมีที่ทางอยู่ในตำแหน่งผู้นำทางเศรษฐกิจน้อยอีกด้วย ไม่ว่าจะในสหภาพแรงงาน กรรมการบริษัท รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และตำแหน่งในสถาบันด้านการเงิน ในปี 2004 นั้น หกสถาบันทางเศรษฐกิจที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลกมีสัดส่วนของผู้หญิงอยู่เพียง 4-20 เปอร์เซนต์ 
 
“สิทธิของผู้หญิงทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น สิทธิในการมีงานที่มีคุณค่า สิทธิในการรับบริการทางสุขภาพ และชีวิตที่ปราศจากความรุนแรงและการกีดกันทางเพศนั้น ได้รับการรับประกันในพันธะสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน รัฐบาลจึงมีหน้าที่ในการรับประกันว่า ผู้หญิงจะได้มีสิทธิต่างๆ เหล่านั้น” โรเบอร์ต้า คลาร์ค ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ยูเอ็นวีเมนกล่าว 
 
คำแนะนำจากรายงานฉบับนี้ คือ การมีนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมที่เอื้อให้เกิดงานที่มีคุณค่าสำหรับผู้หญิง (และผู้ชาย) และทำให้แน่ใจ่า งานต่างๆ โดยเฉพาะงานในภาคไม่เป็นทางการและอยู่นอกระบบที่มีผู้หญิงทำงานอยู่มาก เช่น งานดูแลที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน ซึ่งมีบทบาทในการค้ำจุนระบบเศรษฐกิจ นั้นได้รับการยอมรับและสนับสนุน นอกจากนี้ บริการทางสังคมที่ถูกออกแบบมาอย่างดี (เช่น ระบบประกันสุขภาพ) และมาตรการการป้องกันทางสังคม (เช่น บำนาญ) ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นคงทางรายได้ของผู้หญิง และศักยภาพของพวกเธอในการคว้าโอกาสทางเศรษฐกิจอีกด้วย 
 
สำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิค ยูเอ็นวีเมนพบว่า ระหว่างปี 1990-2013 ผู้หญิงอยู่ในกำลังแรงงานน้อยลงจาก 69 เปอร์เซนต์ เหลือ 62 เปอร์เซนต์ ความแตกต่างระหว่างค่าตอบแทนการทำงาน ระหว่างชายและหญิงในภูมิภาคนี้อยู่ที่ 20 เปอร์เซนต์ เมื่อเทียบกับ 24 เปอร์เซนต์ทั่วโลก ในหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ และ มองโกเลีย ได้ใช้ระบบโควต้าเพื่อเพิ่มปริมาณการจ้างงานผู้หญิงในภาครัฐ
 
รายงานฉบับนี้ยังพูดถึงความสำคัญของระบบประกันสุขภาพสำหรับทุกคนว่า เป็นก้าวสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ ประเทศไทยซึ่งมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถูกยกมาเป็นตัวอย่างในการยกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของผู้หญิง 
 
“ตัวอย่างเช่น ในประเทศไทย หลังจากหลักประการสุขภาพถ้วนหน้าถูกนำมาใช้ในปี 2544 ประชากรไทยถึง 98 เปอร์เซนต์เข้าถึงการดูแลสุขภาพในปี 2010 และค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ลดลงจาก 27 เปอร์เซนต์ในปี 2002 เหลือเพียง 14 เปอร์เซนต์” รายงานกล่าว 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net