มายาภาพของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซีย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

       
การมาเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีรัสเซียคือนายดมีตรี เมดเวเดฟเมื่อวันที่ 7-8 เมษายนที่ผ่านมานี้ถูกตีความโดยรัฐบาลทหารและพวกสนับสนุน (ซึ่งผู้เขียนจะขอเรียกแบบรวม ๆ ว่า"ขวาอำมาตย์นิยม") ราวกับเป็นการประกาศชัยชนะของการปกครองแบบเผด็จการของไทยซึ่งต้องแบกรับแรงกดดันทางการเมืองและเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปมานานนับปี  อันสะท้อนให้เห็นว่าการเข้าไปซบอกแค่จีนนั้นยังไม่เพียงพอจึงต้องมีอกของมหาอำนาจอื่นๆ เพื่อถลาเข้าหาอีกด้วยอันจะเป็นการยกระดับรัฐบาลทหารของไทยให้เข้าสู่ระดับสากลให้มากที่สุด ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจว่าถ้าหากมีการเชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศขนาดใหญ่ประเทศอื่นเช่นประธานาธิบดีของบราซิลหรือนายกรัฐมนตรีอินเดียมาเยือนไทยในอนาคตก็จะนำไปสู่การตีฆ้องร้องป่าวผ่านสื่อต่างๆ แบบถี่ยิบอีกครั้งทั้งที่ในสมัยอื่นก็อาจเป็นฟกิจกรรมของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบธรรมดาๆ เท่านั้น การมาเยือนของนายกรัฐมนตรีรัสเซียและประโยคอันแสนหวานหูที่ว่าไทยเป็นมิตรที่ดีของรัสเซีย จึงเป็นการรับรองต่อความถูกต้องชอบธรรมของรัฐบาลทหารซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะดำเนินต่อไปภายใต้การสับขาหลอกหรือโกหกคำโตที่ว่าไทยจะมีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยโดยเร็ววัน

สำหรับผู้เขียนได้ชมรายการทางโทรทัศน์อยู่ 2 รายการซึ่งวิเคราะห์เกี่ยวกับการมาเยือนของนายเมดเวเดฟในเชิงยกย่องเขาโดยมีวัตถุแฝงคือการเชิดชูรัฐบาลไทยก็ได้ทราบว่าพวกขวาอำมาตย์นิยมมีความคิดอย่างไรต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยเอาประเทศตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง รายการแรกคือรายการของนายสุทธิชัย หยุ่นซึ่งมีเส้นสายดีจนได้ไปสัมภาษณ์นายเมดเวเดฟอย่างใกล้ชิดอยู่นานและรายการที่ 2 ซึ่งผู้เขียนจะนำมาวิเคราะห์เป็นหลักคือรายการ “ห้องข่าวฉุกเฉิน” ที่มีกูรูผู้เชี่ยวชาญในการเมืองและเศรษฐกิจโลกมาฟันธงคือนายทนง ขันทอง[i]

 ในตอนแรกของรายการ พิธีกรที่สัมภาษณ์นายทนงได้เริ่มต้นโดยสร้างความประหลาดใจให้กับผู้เขียนเพราะเขากล่าวเป็นทำนองว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างไทยและรัสเซียในถึง118 ปีทำให้น่าจับตามองต่อการมาเยือนครั้งนี้ของนายเมดเวเดฟ สำหรับผู้เขียนแล้วในการฉลองครบรอบหรือการให้ความสำคัญเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เลข 118 นั้นไม่ได้มีความสำคัญอะไรนัก ถ้าหากเป็น 120 หรือ 130  น่าจะดูมีน้ำหนักมากกว่าในการระลึกถึง แต่ผู้เขียนคิดว่าพิธีกรอาจจะตั้งใจเน้นไปที่ความยาวนานของความสัมพันธ์ไทยกับรัสเซียเพื่อประชันกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาผู้ไม่เป็นมิตรกับคสช.ที่ในปีนี้ที่ครบรอบ 182 ปีก็เป็นได้ ในประเด็นนี้ ผู้เขียนขอยกมาวิเคราะห์ในช่วงหลัง

จากนั้นนายทนงก็วิเคราะห์เป็นทำนองได้ว่าการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โดยเฉพาะช่วงเสด็จประพาสไปยังต่างประเทศ ได้นำไปสู่การคานอำนาจให้ไทยรอดพ้นจากมหาอำนาจที่ล่าเมืองขึ้นดังเช่นอังกฤษและฝรั่งเศส นอกเหนือไปจากความสามารถทางการทูตและความชาญฉลาดที่ไทยยอมสละดินแดนเข้าทำนองเสียอวัยวะเพื่อรักษาชีวิตอันสอดคล้องกับประวัติศาสตร์กระแสหลักของไทยในปัจจุบัน

ตามความเป็นจริงแล้วความเชื่อทางประวัติศาสตร์เช่นนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ชัดเจนนัก  ไม่มีการพิสูจน์ได้แน่ชัดว่าหากไม่มีสนธิสัญญาอังกฤษกับฝรั่งเศส ในปี 1896 ที่มีการแบ่งเขตอิทธิพลของ 2  ประเทศบริเวณพื้นที่รอบสยามแล้ว ความสัมพันธ์เพียงส่วนพระองค์ระหว่างรัชกาลที่ 5 และพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 จะทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสเกิดความเกรงใจจนไม่กล้ายึดไทยหรือไม่  นักประวัติศาสตร์บางท่านเห็นว่าความสัมพันธ์เช่นนี้ระหว่างสยามกับรัสเซียยังไม่มีน้ำหนักพอและรัสเซียย่อมคำนึงว่าอังกฤษและฝรั่งเศสมีความสำคัญและคุณค่ามากกว่าอาณาจักรเล็กๆ ที่อยู่ไกลจากกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (เมืองหลวงของรัสเซียในยุคนั้น) อย่างกรุงสยามมาก  นอกจากนี้คำอ้างของทนงที่ว่าฝรั่งเศสกับอังกฤษวางแผนจะหั่นไทยเป็น 2 ส่วนก็ปราศจากหลักฐานที่ชัดเจนอีกเช่นกัน[ii] ทั้งนี้ไม่นับความคิดแบบโบราณของทนงอีกที่ว่าไทยได้มีความเป็นประเทศก่อนหน้านี้แล้วและต้องเสียดินแดนให้กับตะวันตก  ด้วยความจริงประชาชนในพื้นที่เหล่านั้นเช่นลาวและกัมพูชาก็ไม่ได้มีความรู้สึกเป็นชาติเดียวกับทางกรุงเทพฯ แต่ประการใด กลับเป็นเรื่องตลกร้าย (ที่ประวัติศาสตร์ไทยก็ไม่ค่อยพูด) คือกษัตริย์ของลาวและกัมพูชาต่างหากที่ร้องขอไปอยู่ภายใต้การอารักขาของฝรั่งเศสเสียเอง การสร้างความเป็นชาติไทยของรัชกาลที่ 5 เกิดขึ้นพร้อมกับการสูญเสียดินแดนที่รัฐบาลกรุงเทพฯ เคยถือว่าเป็นอาณาเขตหรือประเทศราชของตนมากกว่า

จากนั้นผู้ดำเนินรายการ "ห้องข่าวฉุกเฉิน" และทนงก็ได้พาคนดูข้ามมหาสมุทรแห่งกาลเวลาจากยุครัชกาลที่ 5 และพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ในปลายศตวรรษที่ 19 ไปยังยุคของปูตินในต้นศตวรรษที่ 21 จนทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนกับว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียนั้นตั้งอยู่บนมิตรภาพอันไม่เสื่อมคลายถึง 118 ปี  ผู้เขียนจึงไม่ทราบว่าผู้ดำเนินรายการนั้นพอจะรู้ประวัติศาสตร์ของรัสเซียหรือไม่ว่ารัสเซียมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ในปี 1917 และได้รวมเข้ากับรัฐขนาดเล็กใหญ่อื่นๆ อีกภายใต้ชื่อสหภาพโซเวียต แต่สหภาพโซเวียตอยู่ภายในวาทกรรมหลักของความเป็นรัสเซียเพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่มาจากรัสเซีย  เหตุการณ์นี้ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับรัสเซียภายใต้ชื่อสหภาพโซเวียตอย่างมาก ชนชั้นปกครองของไทยในสมัยนั้นต่างตื่นกลัวว่าพรรคบอลเชวิกของวลาดิมีร์เลนินจะเป็นภัยต่อประเทศซึ่งปกครองแบบระบอบทุนนิยมกึ่งศักดินาแบบสยามอย่างมาก  ผู้เขียนจำได้ว่าเคยอ่านเรื่องราวของเชื้อพระวงศ์ไทยซึ่งศึกษาอยู่ในรัสเซียช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 1917 พอดีจากนิตยสารสำหรับผู้หญิงฉบับหนึ่งซึ่งนำเสนอถึงพรรคบอลเชวิกในน้ำเสียงด้านลบเช่นเชื้อพระวงศ์พระองค์นั้นได้ทรงเข้าพบกับเลนินเพื่อเข้าอนุญาตออกนอกประเทศและได้แลเห็นเลนินนั่งอยู่ท่ามกลางสมาชิกพรรคบอลเชวิกเหมือนกลุ่มโจร แถมเลนินยังสวมแหวนของพระเจ้าซาร์เสียด้วย  จึงเป็นเรื่องชัดเจนที่ว่าความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศต้องเหินห่างไป (หรือตามความจริงแล้วอาจจะไม่ได้มีความสัมพันธ์เท่าไรมาตั้งแต่ไหนแต่ไรก็ได้) แต่อย่างไรแล้วไทยกับรัสเซียก็ไม่เป็นศัตรูกันอย่างตรงๆ เพราะความห่างไกลและอิทธิพลจำกัดของสหภาพโซเวียตในเอเชีย และที่สำคัญไทยก็หันมาคำนึงถึงการคุกคามจากจีนเสียมากกว่า ด้วยความวิตกกังวลของรัฐบาลไทยต่อภัยจากคอมมิวนิสต์ในช่วงรัชกาลที่ 6 และ 7  ซึ่งมักโยงเข้ากับเชื้อชาติจากการอพยพของชาวจีนเข้ามาในสยามเป็นจำนวนมาก

ไทยกับสหภาพโซเวียตนั้นเริ่มหันกลับมามีความสัมพันธ์ทางทูตอีกครั้งในปี 1941 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม  ผู้เขียนจำได้ว่าเคยอ่านหนังสืออัตชีวประวัติชื่อ“ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า” ของประยูร ภมรมนตรีซึ่งเป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรีของจอมพล ป. เขาเล่าว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ถ้าจำไม่ผิด) เขาได้เดินทางเป็นตัวแทนของไทยไปเชื่อมความสัมพันธ์หรือเจรจาสัญญากับสหภาพโซเวียตและได้แลเห็นสตาลินยืนมองเขาเหมือนกับ “ราชสีห์กับลูกแกะ” อันอาจจะบอกกับเราในระดับหนึ่งว่าชนชั้นปกครองไทยในยุคนั้นมองสหภาพโซเวียตอย่างหวาดระแวงไม่แพ้กับในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช อย่างไรก็ตามในเดือนตุลาคมปี1946  รัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ประกาศยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2476 (ค.ศ. 1933) จากสาเหตุประการหนึ่งคือต้องการให้สหภาพโซเวียตในฐานะหนึ่งในบรรดาผู้ก่อตั้งสหประชาชาติยอมรับให้ไทยเป็นสมาชิกของสหประชาชาติจนประสบความสำเร็จในปลายปี 1946 อันชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศตั้งอยู่บนผลประโยชน์ในเวลานั้นเป็นหลัก

ในยุคสงครามเย็น แม้ไทยจะจัดตัวเองว่าอยู่ค่ายเสรีนิยมและเอียงข้างมาทางสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะรัฐบาลในยุคหลังการทำรัฐประหาร พ.ศ.2490 (ค.ศ.1947) เป็นต้นมา แต่ไทยก็มีความสัมพันธ์ในระดับครึ่งๆ กลางๆ กับสหภาพโซเวียตคือไม่ได้เป็นศัตรูแต่ก็ไม่เป็นมิตรกันอย่างดูดดื่มเหมือนกับรายการ“ห้องข่าวฉุกเฉิน” ตั้งใจจะสื่อให้เป็นเช่นนั้น  สหภาพโซเวียตได้ให้ความสนใจแก่ไทยเป็นพิเศษนับตั้งแต่ปี 1969 เพราะความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตนั้นมีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และท่าทีของสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มผ่อนปรนทางการทหารต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น อาจเพราะยุทธการตรุษญวนที่เกิดขึ้นในสงครามเวียดนามเมื่อปี 1968 ทำให้สหรัฐฯเริ่มตระหนักว่าตนไม่มีทางจะชนะในสงครามนี้ได้  ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันจึงมุ่งหวังจะถอนฐานทัพจากเวียดนามและไทย  ดังนั้นการที่สหภาพโซเวียตพยายามเข้ามาเน้นความสัมพันธ์กับไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ ที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ดังเช่นอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ก็จะกลายเป็นการสร้างฐานอำนาจให้กับสหภาพโซเวียตในการโอบล้อมจีนเช่นเดียวกับการเข้ามาเติมเต็มช่องว่างทางอำนาจที่เกิดจากการถอนกำลังทางทหารของสหรัฐอเมริกา อันสะท้อนว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพโซเวียตกับไทยก็เป็นเรื่องของกลยุทธ์ทางการเมืองในช่วงสงครามเย็นอีกเช่นกัน ไม่เกี่ยวอะไรกับการทูตเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้วเลย

นอกจากนี้สหภาพโซเวียตในยุคของลีโอนิค เบรสเนฟได้เสนอแผนของระบบความมั่นคงรวมแก่เอเชียในปี 1969  แต่ได้รับการปฏิเสธจากหลายประเทศที่นิยมตะวันตกอย่างเช่นไทยซึ่งเกรงว่าจะสร้างความไม่พอใจให้กับจีนที่เป็นปรปักษ์กับโซเวียตอยู่แล้ว เช่นเดียวกับการที่ไทยหวาดระแวงอิทธิพลของสหภาพโซเวียตต่อประเทศเพื่อนบ้านซึ่งกำลังอยู่ในช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองคือเวียดนามกับลาวคือกลายเป็นคอมมิวนิสต์ในปี 1975 (อันเป็นสาเหตุที่ว่าเหตุใดไทยจึงสนับสนุนเขมรแดงซึ่งต่อมากลายเป็นศัตรูกับเวียดนาม)รวมไปถึงการสนับสนุนของสหภาพโซเวียตต่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยซึ่งประกอบกิจกรรมแทรกซึมและการก่อวินาศกรรมในพื้นที่ชนบทเช่นทางภาคเหนือและอีสาน

การสถาปนาการทูตระหว่างจีนกับไทยรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 1975 ยังทำให้สหภาพโซเวียตมีความสนใจในการแผ่อิทธิพลแข่งกับจีนในภูมิภาคนี้แต่ก็ผิดหวังในที่สุดเพราะอิทธิพลของจีนนั้นอยู่ในฝังลึกอยู่ในสังคมไทยเช่นเดียวกับการมีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของคนเชื้อสายจีน ในช่วงปี 1975-1991  ไทยกับสหภาพโซเวียตย่อมไม่ใช่มิตรสหายที่สนิทใจนัก ถึงแม้ 2 ประเทศจะมีความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ มีการติดต่อค้าขายหรือการส่งบุคคลสำคัญไปเยือนประเทศของกันและกัน แต่สหภาพโซเวียตให้การสนับสนุนเวียดนามและลาวซึ่งผู้นำไทยในยุคหนึ่งถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของตนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แม้ชนชั้นปกครองไทยหวังที่จะใช้รัสเซียในการถ่วงดุลอำนาจกับเวียดนามแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่ากับพึ่งจีนซึ่งหันมาเป็นศัตรูกับเวียดนามนัก  ไทยในยุคที่ไร้การสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกายังเฝ้าดูการเข้าแทรกแซงทางการเมืองและการทหารของสหภาพโซเวียตยังภูมิภาคอื่น ๆ เช่นแองโกลาในแอฟริกาด้วยความวิตกกังวล   สงครามระหว่างชายแดนไทยกับลาวที่บ้านร่วมเกล้าในปี 1988 สหภาพโซเวียตพร้อมกับประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์อื่นๆ เช่นเวียดนามก็ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนสนับสนุนลาวในการทำสงครามช่วงสั้นๆ กับไทย มีรายงานระบุว่าทหารโซเวียตเสียชีวิตในสมรภูมิครั้งนี้ 2 นาย บาดเจ็บ 2 นาย[iii]

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียยุคหลังสหภาพโซเวียตก็ได้เริ่มต้นในปี 1991 โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจไม่ว่าการค้าหรือการเดินทางมาท่องเที่ยวของชาวรัสเซียเป็นจำนวนมาก ในทศวรรษที่ 90 นั้นรัสเซียภายใต้ยุคของบอริส เยลต์ซินยังคงหมกมุ่นอยู่กับปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศตัวเองจึงทำให้ละทิ้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เสียส่วนใหญ่ยกเว้นเวียดนามซึ่งเป็นรัฐที่เคยอุ้มชูกันมา แน่นอนว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียก็มีลักษณะเบาบางเหมือนเดิม ก่อนที่รัสเซียจะหันมาให้ความสำคัญกับเอเชียในต้นศตวรรษที่ 21 พร้อมกับความใฝ่ฝันของวลาดิมีร์ปูตินในการนำรัสเซียกลับสู่การเป็นมหาอำนาจอีกครั้ง ปูตินจึงได้เดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในปี 2003  ในยุคของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับพวกขวาอำมาตย์นิยมที่มักอ้างว่าพวกตนไม่อาจรับรูปแบบการโกงกิน หรือการเป็นเผด็จการของทักษิณได้ แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาจำนวนมากกลับยอมรับปูตินซึ่งก็มีภาพพจน์เช่นเดียวกับทักษิณอย่างน้อยในสายตาของคนรัสเซียเป็นจำนวนมาก (การประท้วงปูตินในช่วงปี 2011 เป็นต้นมาของคนรัสเซียจำนวนเรือนแสนก็คงจะเปรียบได้กับกลุ่มกปปส.) ซึ่งเป็นการบอกได้ว่าพวกเขาก็ไม่ได้สนใจคำว่าประชาธิปไตยเท่าไรนักนอกจากโรคกลัวทักษิณและลัทธิชาตินิยมที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางตัวอย่างที่ดีได้แก่นงนุช สิงหเดชะที่มักเขียนยกย่องปูตินแต่เกลียดทักษิณ แต่น่าสนใจว่าสุทธิชัย หยุ่นดูเหมือนจะทราบเรื่องนี้จึงเชิดชูเมดเวเดฟเสียมากกว่าปูติน

เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ว่าการมาเยือนของเมดเวเดฟเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปีของผู้นำระดับสูงของสหภาพโซเวียต/รัสเซียมาเยือนไทย หากไม่นับกรณีของปูตินซึ่งเป็นระดับพิธีการ แต่การมาเยือนของเมดเวเดฟคงไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้หากไม่มีผลงานของรัฐบาลชุดก่อนพลเอกประยุทธ์ ไม่ว่ารัฐบาลทักษิณและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ซึ่งถูกมองว่าเป็นลิ่วล้อของสหรัฐฯ แต่ก็ได้เน้นนโยบายในการเชื่อมความสัมพันธ์กับรัสเซียทางการทูตและเศรษฐกิจตลอดมานับตั้งแต่ปี 2001[iv]  นายทนงยังฟันธงไปอีกว่าสาเหตุสำคัญสำหรับการมาเยือนของนายเมดเวเดฟก็เพราะต้องการหันมาพึ่งพิงการค้าและการเกษตรกับไทยเพราะรัสเซียถูกสหรัฐอเมริกาและตะวันตกคว่ำบาตรในปี 2013 จากกรณีวิกฤตยูเครน  จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายว่านายทนงอาจไม่ทราบว่ารัสเซียนั้นมีแผนการโอบล้อมเอเชีย  (Pivot to Asia) เช่นเดียวกับสหรัฐฯ คือเน้นการมาเชื่อมความสัมพันธ์ทางการทูต เศรษฐกิจและการทหารกับประเทศในเอเชียโดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนรัสเซียจะถูกคว่ำบาตรเสียด้วยซ้ำ[v]

นอกจากนี้นายทนงยังให้เหตุผลอย่างข้างๆ คู ๆ อยู่ 2 อย่างคือ 1) เขาเห็นว่าการที่เมดเวเดฟมาเยือนไทยกับเวียดนามเพียง 2 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เพราะประเทศอื่นนั้นฝักใฝ่กับสหรัฐฯ จากแผนการโอบล้อมเอเชีย โดยทนงมองข้ามไปว่าเวียดนามในปัจจุบันก็เริ่มมีการกระชับความสัมพันธ์อย่างสหรัฐฯ ในด้านเศรษฐกิจและการทหารเพื่อเป็นคานอำนาจกับจีน 2) ทนงบอกว่าสาเหตุที่เป็นเมดเวเดฟมาเยือนไม่ใช่ปูตินเพราะปูตินมัวแต่ยุ่งอยู่กับความขัดแย้งกับตะวันตก ซึ่งตามความจริงประธานาธิบดีรัสเซียมีเวลาในการทำอย่างอื่นอีกมากมายแม้แต่การออกรายการโทรทัศน์เป็นเวลายาวเหยียดเพื่อตอบคำถามสารพัดแม้แต่คำถามไร้สาระจากผู้ชมทางบ้าน[vi]

ผู้เขียนคิดว่าคำอธิบายที่น่าจะสมเหตุสมผลกว่าสำหรับการที่ปูตินไม่ได้มาเยือนไทยและเวียดนามก็เพราะตระหนักดีว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสมรภูมิสำคัญในการขยายอิทธิพลระหว่างมหาอำนาจเช่นจีนและสหรัฐอเมริกา การมาเยือนของปูตินซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับสหรัฐฯ อาจทำให้ประเทศเล็กๆ เหล่านั้นลำบากใจเพราะยังต้องการการสนับสนุนจากสหรัฐฯ  เพื่อคานอำนาจกับจีน (แท้ที่จริง 1 ในนั้นก็มีไทยอยู่ด้วยเพียงแต่ไม่กล้าแสดงออกมาก) การมาเยือนของเมดเวเดฟซึ่งเป็นบุคคลสำคัญเป็นอันดับ 2 น่าจะเปิดช่องหายใจให้กับประเทศเหล่านั้นได้เช่นเดียวกับภาพพจน์ของนายเมดเวเดฟเองก็ดูเป็นคนดี ใสซื่อและจริงใจกว่าปูติน สุทธิชัย หยุ่นซึ่งกล่าวชมนายเมเวเดฟทั้งรายการถึงกลับออกปากว่านายเมดเวเดฟนั้นมีความเป็นตัวของตัวเองสูงจนไม่น่าจะเป็นหุ่นเชิดให้กับปูติน[vii] การมาเยือนของเมดเวเดฟย่อมส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ของรัสเซียต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะเป็นมหาอำนาจหมายเลข 3 ที่จะเข้ามาข้องเกี่ยวกับภูมิภาคนี้ต่อจากจีนและสหรัฐฯ  หรือถ้านับญี่ปุ่น รัสเซียก็จะเป็นหมายเลข 4

การที่เมดเวเดฟบอกกับรัฐบาลไทยว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองในประเทศก็อาจจะเป็นการตีความได้ว่านายกรัฐมนตรีรัสเซียอาจกำลังบอกว่าแม้ยิ่งลักษณ์ ทักษิณหรืออภิสิทธิ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ ตนก็ยังจะมาเยือนเมืองไทยอยู่นั้นเอง เพราะเขาก็ไม่ได้สนใจว่าไทยจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ตราบใดที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับรัสเซียได้ กระนั้นผู้เขียนก็ยอมรับว่าการที่สหรัฐอเมริกาและตะวันตกมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับรัฐบาลไทยเช่นเดียวกับการคว่ำบาตรของประเทศเหล่านั้นกับรัสเซียก็มีผลกระทบเหมือนกันต่อการมาเยือนของนายกรัฐมนตรีรัสเซียซึ่งอาจจะให้ความสำคัญกับไทยมากขึ้นในฐานะเป็น “จิ๊กซอว์อันหนึ่ง” ของนโยบายการโอบล้อมเอเชียของรัสเซียแต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยหลักดังรายการทั้ง  2  ซึ่งอิงแนวคิดขวาอำมาตย์นิยมพยายามทำให้คนดูเชื่อ 

ผู้เขียนคิดว่าไทยเป็นได้ก็เพียงรัฐดาวเทียมในสงครามเย็นครั้งใหม่ระหว่างค่ายรัสเซียและจีนกับค่ายสหรัฐฯและตะวันตก กระนั้นมายาภาพของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซีย (รวมถึงมหาอำนาจอื่นๆเช่นจีน) ในฐานะเป็นสหายที่เคียงบ่าเคียงไหล่กันหรือ comrade-in-arms ย่อมจะถูกผลิตซ้ำอีกเรื่อยๆ ผ่านสื่ออย่างเช่นรายการของทนงและสุทธิชัย ในอนาคตตราบใดที่รัฐบาลทหารของไทยยังคงพยายามแสวงหาการยอมรับจากรัฐบาลอื่นทั่วโลกเพราะตระหนักดีว่าตนเริ่มขาดแรงสนับสนุนและความศรัทธาจากประชาชนในประเทศตัวเองขึ้นเรื่อยๆ

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท