Skip to main content
sharethis

 

เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติเห็นชอบรับหลักการร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสวนดุสิต พ..ศ..... ร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ... ร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.... และ ร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยขอนแก่น  พ.ศ....  ในวาระที่ 1 แล้ว และจะมีการพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป[1]  และล่าสุดเมื่อวันที่ 12 เม.ย. สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และ สนช. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับ รวมทั้ง และร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นการควบรวมระหว่าง มรภ.กาฬสินธุ์ และ มทร.อีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์นั้น ขณะนี้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญแต่ละชุดได้พิจารณารายละเอียดเกือบเสร็จแล้ว ส่วนใหญ่ปรับแก้ไม่กี่มาตรา เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ส่วนของ มธ.นั้น วันที่ 23 เม.ย.นี้ กมธ.วิสามัญเชิญนักศึกษามารับฟังความคิดเห็น รวมถึงชี้แจงข้อกังวลเรื่องการขึ้นค่าเล่าเรียนและเรื่องอื่นๆ ที่ยังเป็นข้อสงสัย โดยคาดว่าไม่เกินต้นเดือนพฤษภาคม ร่างกฎหมายทั้ง 5 ฉบับจะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ในวาระ 2 และ 3 ได้[2]

ทั้งนี้ในระหว่างช่วงที่ร่าง พ.ร.บ.เหล่านี้นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ก่อนมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ก็มีกระแสต่อต้านมาอย่างต่อเนื่องทั้งในมหาวิทยาลัยเกษตรฯ ธรรมศาสตร์และขอนแก่น รวมทั้งไปประท้วงหน้ารัฐสภาแต่ก็ไม่สามารถยับยั้งกระบวนการดังกล่าวได้ จนกระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา นักศึกษากลุ่มลูกชาวบ้าน ม.บูรพา บางแสน เตรียมการจัดเสวนา "ทำไมต้องนำม.ออกนอกระบบ" แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ทหารอ้าง ม.44 ตามรัฐธรรมนูญ เข้าตรวจสอบงานและขอดูใบขออนุญาติจัดกิจกรรม ส่งผลให้นักศึกษากลุ่มดังกล่าวไม่สามารถจัดกิจกรรมได้[3]

ความเป็นมาเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยนอกระบบ

จากเอกสารประกอบการพิจารณา เรื่อง มหาวิทยาลัยนอกระบบ ซึ่งจัดทำโดย สุภาพร อาจเดช[4] วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการศึกษา สำนักกรรมาธิการ 3 สนง.เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า แนวความคิดที่จะนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้น มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2507 ซึ่งผู้บริหารและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยได้ยื่นหลักการต่อ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ไม่ได้รับการเห็นชอบ เพียงแต่ได้มีการจัดตั้ง "ทบวงมหาวิทยาลัย" ขึ้น เพื่อดูแลมหาวิทยาลัยต่าง ๆ แทน "สำนักนายกรัฐมนตรี" ดังนั้น ในยุคนี้ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ จึงได้ย้ายไปสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย จากเดิมที่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยก็ยังคงอยู่ภายใต้กฎหมายระเบียบของระบบราชการเช่นเดิม ซึ่งทำให้ขาดความคล่องตัวในการดำเนินงาน จึงได้มีความพยายามที่จะนามหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการเรื่อยมา

จนกระทั่งในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อปี พ.ศ. 2541 นโยบายการออกนอกระบบก็ได้เป็นข้อตกลงหนึ่งที่ผูกพันกับสัญญาการกู้ยืมเงินกับ IMF โดยมุ่งหมายของรัฐบาลเพื่อลดงบประมาณในส่วนราชการที่สามารถเลี้ยงตนเองและบริหารงบประมาณเองได้ ในช่วงปี พ.ศ. 2542 เริ่มมีการเสนอให้มหาวิทยาลัย หรือคณะฯ ที่ตั้งขึ้นใหม่ "ออกนอกระบบ" ราชการ และมีการหยุดรับข้าราชการพลเรือนเข้ามาในมหาวิทยาลัยรัฐเดิมทั้งหมด ตำแหน่งที่บรรจุเข้ามาใหม่ เรียกว่า "พนักงานมหาวิทยาลัย" ซึ่งมีกรอบเงินเดือนและสวัสดิการแตกต่างจากข้าราชการพลเรือนเดิม และหากผู้ที่เกษียณราชการไปให้ตำแหน่งและเงินเดือนนั้นเปลี่ยนเป็นตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัยในตำแหน่งเริ่มบรรจุใหม่เท่านั้น

ช่วงเวลาที่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ

ข้อมูลจากรายงานของ ไทยพับลิก้า[5] แสดงให้เห็นถึงช่วงเวลาของการผ่าน ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยออกนอกระบบหรือมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยจะมีอิสระ และความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ทั้งเรื่องการจัดการทางการเงิน การงบประมาณ และการบริหารงานบุคคล มีกฎระเบียบที่กำหนดโดยสถาบัน เพื่อใช้บริหารจัดการภายใน ซึ่งต่างกับ “มหาวิทยาลัยในสังกัดของรัฐ” ตรงที่ยังมีสภาพเป็นส่วนราชการ บริหารจัดการสถาบันโดยอ้างอิงกฎระเบียบของทางราชการ ระเบียบของทางราชการ[6]

โดยช่วงเวลาที่มีการผ่าน ร่าง พ.ร.บ. และประกาศให้มหาวิทยาลัยในสังกัดของรัฐออกนอกระบบเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มีดังนี้

 

ดูภาพขนาดใหญ่

2 ตุลาคม 2540 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ.2540[7] และ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ.2540[8] โดยมี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกฯ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

7 มีนาคม 2541 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี[9] โดยมี ชวน หลีกภัย นายกฯ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มีความพยายามนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบอีกครั้ง แต่มีการคัดค้าน ดังนั้น จึงยังไม่มีการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบในช่วงนี้

ขณะที่สมัย สนช. ยุคคมช. และรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ 7 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยมหิดล (ประกาศราชกิจจานุเบกษา 16 ต.ค. 2550)[10] มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (ประกาศราชกิจจานุเบกษา 26 ธ.ค.2550)[11] มหาวิทยาลัยบูรพา (ประกาศราชกิจจานุเบกษา 9 ม.ค.2551)[12] มหาวิทยาลัยทักษิณ(ประกาศราชกิจจานุเบกษา 5 ก.พ. 2551)[13] จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(ประกาศราชกิจจานุเบกษา 6 ก.พ. 2551)[14] มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ประกาศราชกิจจานุเบกษา 6 มี.ค. 2551)[15] และ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (ประกาศราชกิจจานุเบกษา 7 มี.ค. 2551)[16]

สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และสภาที่นำโดยพรรคเพื่อไทยก็มีการผลักดันนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเช่นกัน วันที่ 6 มี.ค.56 สภาผู้แทนฯ[17] ลงมติรับหลักการ(วาระที่1)ร่าง พ.ร.บ. ม.สวนดุสิต พ.ศ. ...  20 มี.ค.56 สภาฯ[18] มีมติ รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ. ม.เกษตรศาสตร์ พ.ศ... และ 4 มิ.ย.56 ครม.[19]มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. ม. ขอนแก่น พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงศึกษาฯ เสนอ แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้ามากนักเนื่องจากวิฤติการเมืองและการยุบสภาในปลายปีนั้น

เมื่อถึงยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)และ สนช. ที่ทำการเข้ายึดอำนาจการปกครองตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.57 มานั้น เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2558 สนช. รับหลักการ ร่าง.พ.ร.บ. 4 มหาวิทยาลัยในวาระแรก ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยขอนแก่น  

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา ครม.[20]มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเพิ่มเติมอีก 1 ฉบับ รวมทั้ง นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวด้วยว่า เท่าที่ดูน่าจะมีมหาวิทยาลัย 2-3 แห่งที่มีความพร้อมออกนอกระบบ คือ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งอยู่ระหว่างการสอบถามความคิดเห็นจากบุคลากร

สำหรับมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบหรือมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐตั้งแต่ก่อตั้ง เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี[21] เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2533, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์[22] เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2534 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง[23] เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2541 มหาวิทยาลัยพะเยา[24] เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2553 มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช[25] เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2553 และสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา[26] เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2555        

น้ำมันหล่อลื่นยุครัฐประหาร : สนช.มีแต่อธิการฯ-คัดค้านถูก กม.พิเศษเล่นงาน

จะเห็นได้ว่าในยุครัฐประหารมีจำนวนมหาวิทยาลัยถูกแปรออกนอกระบบหรืออยู่ในกำกับของรัฐจำนวนมากกว่ายุครัฐบาลและสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ดังที่ ปกรณ์ อารีกุล[27] อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยบูรพา และแนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวต่อประเด็นนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กล่าวไว้ว่า เมื่อเกิดรัฐประหารปี 49 ข้อจำกัดของรัฐบาลที่มีการบังคับให้กฏอัยการศึก พ.ร.บ.ความมั่นคง ทำให้การเคลื่อนไหวต่างๆ ลำบาก และกระบวนการที่มีส่วนร่วมของประชาชนของนักศึกษาเข้าไปคัดค้านจัดการก็ไม่เหมือนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นี่เป็นส่วนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ทั้ง จุฬาฯ ม.บูรพา ลาดกระบัง พระนครเหนือ ม.ทักษิณ ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ของขบวนการนักศึกษา แต่มันเป็นเพราะการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบในช่วงรัฐบาลที่ไม่ประชาธิปไตยมากกว่า จะเห็นว่าหลังจากนั้นพอมีการเลือกตั้งยุคคุณอภิสิทธิ์ ยุคคุณยิ่งลักษณ์ ก็มีความพยายามนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ แต่ตราบใดที่ระบบมันเอื้อให้นักศึกษาเข้าไปจัดการได้ พอมายุคนี้ก็เหมือนเดิม คนที่ร่าง พ.ร.บ.มาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เป็นคนที่เป็น สนช.

คงสะท้อนผ่านแนวคิดของ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย[28] รมว.ศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ซึ่งตอนนั้น ครม.มีมติเห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ.ธรรมศาสตร์และขอนแก่น ต่อประเด็นว่าการพูดคุยกับนักศึกษาเพื่อทำความเข้าใจเพิ่มเติม ซึ่ง พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า ไม่ต้อง เพราะมหาวิทยาลัยที่ออกจากระบบ เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐนั้น ไม่ได้เป็นมหาวิทยาลัยแรก แต่มีมาแล้วหลายมหาวิทยาลัย และเป็นความประสงค์ของมหาวิทยาลัยเอง โดยให้เหตุผลว่า หากเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐอยู่ จะทำให้ความคล่องตัวในการจัดการศึกษาไม่เทียบเท่าการออกไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของ

หลังรัฐประหารไม่นาน วันที่ 5 มิ.ย.57 ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน[29] อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยหลังการประชุมว่า เป็นโอกาสดีที่ คสช. จะปฏิรูปประเทศ ซึ่งที่ประชุม ทปอ. เสนอแผนระยะสั้น เร่งด่วนที่สามารถทำได้ทันทีที่จะเสนอเข้าสภาปฏิรูป ซึ่งประเด็นหนึ่งคือเร่งพิจารณากฏหมายที่ค้างอยู่ในสภาเช่น พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

นอกจาก สนช. ที่เป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจในการพิจารณาอนุมัติ ร่าง พ.ร.บ.เหล่านี้ก็มีแต่อธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งไม่ต้องพูดถึงเก้าอี้ของฝ่ายต่อต้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ แม้แต่ตัวแทนนักศึกษาหรือผู้มีส่วนได้เสียกับสถาบันการศึกษาอื่นๆ ก็ไม่มีเก้าอี้อยู่ใน สนช. เมื่อมองถึงการเคลื่อนไหวนอกสภาฯ กลุ่มผู้ที่คัดค้าน ม.นอกระบบจะดำเนินการเคลื่อนไหว รณรงค์คัดค้านกับสังคม ก็ถูกระงับยับยั้ง ล่าสุดที่มหาวิทยาลัยบูรพา งานเสวนาในประเด็นนี้ที่จัดโดยนักศึกษาก็ต้องล้มไปเพราะทหารเข้าตรวจสอบใบอนุญาตจัดงานด้วยกฏหมายพิเศษนั่นเอง




[1] ประชาไท, ไม่ฟังนักศึกษา สนช.รับหลักการฉลุย ‘เกษตร-มธ.-มข.-สวนดุสิต" ออกนอกระบบ อธิการหนุน, 27 มี.ค.2558 : http://prachatai.org/journal/2015/03/58597

[2] เด็กหลังห้อง, ‘สนช.สมคิด’ เผยนัดนศ.มธ.รับฟังความเห็นปม ม.นอกระบบ 23เม.ย.นี้-ทปอ.ถกร่างกม.พนักงาน26เม.ย. , 2015-04-13 : http://www.deklanghong.com/content/2015/04/259

[3] ประชาไท, ทหารอ้าง ม.44 เข้าตรวจสอบใบอนุญาตเสวนา ปม ‘ม.นอกระบบ’ นศ.บูรพาฯ, 8 เม.ย.2558 : http://prachatai.org/journal/2015/04/58757

[4] สุภาพร อาจเดช, วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการศึกษา สำนักกรรมาธิการ 3 สนง.เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, เอกสารประกอบการพิจารณา เรื่อง มหาวิทยาลัยนอกระบบ  http://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/education/download/article/article_20130320190602.pdf

[5] ไทยพับลิก้า, มหาวิทยาลัยนอกระบบ(1): จุดเริ่มต้นสู่ปัจจุบัน?, 19 ตุลาคม 2012 : http://thaipublica.org/2012/10/autonomous-university1/

[6] กลุ่มกฏหมาย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา, จุดต่างของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และมหาวิทยาลัยในสังกัดของรัฐคืออะไร http://www.mua.go.th/pr_web/mua.html

[7] พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ.2540 http://www.op.mahidol.ac.th/orla/oldversion/in_tra_net/data/prb_03.pdf

[8] พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ.2540  http://www.op.mahidol.ac.th/orla/oldversion/in_tra_net/data/prb_04.pdf

[9] พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พ.ศ.2541 http://www.op.mahidol.ac.th/orla/oldversion/in_tra_net/data/prb_05.pdf

[10] พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.2550 http://www.mahidol.ac.th/th/autonomy/data/prb_171050.pdf

[11] พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พ.ศ.2550 http://www.op.mahidol.ac.th/orla/oldversion/in_tra_net/data/prb_08.pdf

[12] พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยบูรพา พ.ศ.2550 http://council.buu.ac.th/pdf/Buu.pdf

[13] พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยทักษิณ http://www.tsu.ac.th/form/files_c/020942200842.pdf

[14] พ.ร.บ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย http://www.tsu.ac.th/form/files_c/020942200842.pdf

[15] พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ.2551 http://www.tsu.ac.th/form/files_c/020942200842.pdf

[16] พ.ร.บ. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ.ศ.2551 http://www.op.mahidol.ac.th/orla/oldversion/in_tra_net/data/prb_13.pdf

[17] ภาพข่าวสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร http://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_news.php?nid=21556

[18] ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ... ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ https://autonomy.ku.ac.th/index.php/2013-07-15-03-17-42

[19]  ASTVผู้จัดการออนไลน์, ออกนอกระบบอีกราย ครม.ไฟเขียวผลัก ม.ขอนแก่น ดูแลตัวเอง, 4 มิถุนายน 2556 http://www.manager.co.th/QOL/viewnews.aspx?NewsID=9560000067197

[20] ประชาไท, ครม.เห็นชอบ ‘ม.ศิลปากร’ ออกนอกระบบอีกราย เลขาฯ กกอ.เผย ‘สวนสุนันทา-มศว.-มอ.’ มีความพร้อม, 17 มี.ค.2558 : http://www.prachatai.com/journal/2015/03/58418

[21] พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี http://www.op.mahidol.ac.th/orla/oldversion/in_tra_net/data/prb_01.pdf

[22] พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  http://www.op.mahidol.ac.th/orla/oldversion/in_tra_net/data/prb_02.pdf

[23] พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง  http://www.op.mahidol.ac.th/orla/oldversion/in_tra_net/data/prb_06.pdf

[24] พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยพะเยา http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2553/A/044/4.PDF

[25] พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช  http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2553/A/069/1.PDF

[26] พ.ร.บ.สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา พ.ศ.2555  http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2553/A/069/1.PDF

[27] ประชาไท, ถอดบทเรียนกับ ‘ปกรณ์-สุรินทร์’ ต่อประเด็นคัดค้าน ม.นอกระบบ, 2015-04-09 : http://www.prachatai.com/journal/2015/04/58782

[28] ประชาไท, ครม.ไฟเขียว ‘ธรรมศาสตร์-ขอนแก่น’ ออกนอกระบบ รมว.ศึกษาฯ ยันไม่ต้องคุยนักศึกษา, 2015-03-10 : http://www.prachatai.com/journal/2015/03/58304

[29] ประชาไท, ทปอ.เสนอ คสช.เร่งผ่าน พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับ-พ.ร.บ.บริหารบุคคลอุดมศึกษา, 2014-06-05 : http://www.prachatai.com/journal/2014/06/53785

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net