หลายประเทศโต้กลับกรณีผู้ประท้วงแอฟริกาใต้ใช้ความรุนแรงกับคนต่างชาติ

หลายประเทศในภูมิภาคแอฟริกาแสดงการโต้ตอบด้วยวิธีการต่างๆ หลังจากที่เกิดเหตุรุนแรงโดยกลุ่มคนจำนวนหนึ่งในแอฟริกาใต้เหตุจากความเกลียดหรือกลัวชาวต่างชาติอย่างไม่มีเหตุผล (Xenophobia) จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและเกิดความเสียหาย มีการโต้ตอบทั้งการเรียกร้องบอยคอตต์ การประท้วงสถานทูตแอฟริกาใต้ รวมถึงการปิดกั้นด่านตรวจ

ภาพโลโก้ต่อต้านความหวาดกลัวชาวต่างชาติอย่างไม่มีเหตุผลโดยสถานีวิทยุ Q FM ประเทศแซมเบีย
ที่มาภาพ : เพจสถานีวิทยุ Q FM (https://www.facebook.com/qfmzambia)

19 เม.ย. 2558 สำนักข่าวเดอะ การ์เดียน รายงานว่าประเทศแอฟริกาใต้กำลังเผชิญผลพวงจากการประท้วงขับไล่คนต่างชาติและผู้อพยพที่กลายเป็นการจลาจลจนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 คน และมีผู้สูญเสียที่อยู่อาศัยมากกว่า 5,000 คน ทำให้ประเทศอื่นพากันโต้ตอบแอฟริกาใต้ด้วยวิธีการต่างๆ

ในประเทศโมซัมบิกมีเหตุการณ์ที่ยานพาหนะของของแอฟริกาใต้ถูกขว้างปาด้วยก้อนหิน ส่วนในประเทศไนจีเรียก็มีการขู่ปิดบริษัทของชาวแอฟริกาใต้ที่อยู่ในประเทศตน นอกจากนี้ยังมีหลายประเทศในแอฟริกาประท้วงที่หน้าสถานทูตของแอฟริกาใต้ประจำประเทศตน นักดนตรีชาวแอฟริกาใต้อีกหลายคนถูกบีบให้ต้องยกเลิกการแสดงคอนเสิร์ตในต่างประเทศ

เดอะ การ์เดียนระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นการโต้ตอบกระแสการประท้วงขับไล่คนต่างชาติในเมืองเดอร์บัน โจฮันเนสเบิร์ก และในที่อื่นๆ ของประเทศแอฟริกาใต้ที่ลุกลามจนเกิดเป็นความรุนแรงในช่วงสัปดาห์ผ่านมาจนเป็นเหตุให้ทำผู้สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินรวมถึงที่อยู่อาศัย โดยผู้ประท้วงพากันจุดไฟเผาและฉกฉวยเอาสิ่งของตามร้านค้าของคนต่างชาติจนทำให้พวกเขาสูญเสียทั้งธุรกิจและที่อยู่อาศัย จากข้อมูลของหน่วยงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชนระบุว่าผู้อพยพและผู้ลี้ภัยเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการประท้วงซึ่งมาความเกลียดกลัวคนต่างชาติอย่างไม่มีเหตุผล (Xenophobia)

เหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นทำให้ประธานาธิบดีจาคอบ ซูมา ของแอฟริกาใต้ยกเลิกการไปเยือนอินโดนีเซียแล้วหันไปเยี่ยมค่ายผู้อพยพของชาวต่างชาติหลายพันคนที่ต้องอาศัยนอนในเต็นท์และพึ่งพาอาหารบริจาค มีผู้อพยพอีกหลายคนที่พากันขึ้นรถโดยสารกลับบ้านของตน ซูมากล่าวต่อฝูงชนว่าเขาจะช่วยเหลือผู้ที่ต้องการกลับบ้านส่วนผู้ที่ยังต้องการอยู่ในแอฟริกาใต้ต้องรอให้เขาจัดการปัญหาความรุนแรงให้ได้เสียก่อนจึงจะอนุญาตให้พวกเขากลับไปอยู่ได้ในสถานการณ์สงบ

ซูมากล่าวอีกว่าชาวแอฟริกาใต้ที่ไม่ต้องการให้ผู้อพยพหรือคนต่างชาติอยู่ในประเทศมีเพียงแค่คนส่วนน้อยเท่านั้น และตัวเขาไม่ต้องการให้คนในภูมิภาคแอฟริกาเป้นปฏิปักษ์ต่อกันแต่ต้องการให้อยู่กันอย่างพี่น้อง

เรื่องความหวาดกลัวคนต่างชาติอย่างไม่มีเหตุผลในแอฟริกาใต้เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว ชาวต่างชาติที่อยู่ในแอฟริกาใต้โดยเฉพาะผู้อพยพถูกโจมตีมาโดยตลอดตั้งแต่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นักวิจารณ์มองว่าสาเหตุที่ทำให้ปัญหานี้ยังคงอยู่เพราะรัฐบาลแอฟริกาใต้ไม่ยอมปฏิบัติต่อความรุนแรงเหล่านี้ในฐานะ 'อาชญากรรมจากความเกลียดชัง' (Hate Crime)

สำนักข่าวอัลจาซีร่าระบุว่าความรุนแรงจากความหวาดกลัวคนต่างชาติอย่างไม่มีเหตุผลนั้นเคยยกระดับถึงขั้นรุนแรงที่สุดในปี 2551 ที่เกิดเหตุการณ์ทำให้มีคนเสียชีวิตอย่างน้อย 60 คน และมัผู้บาดเจ็บอีกจำนวนมาก

ความเกลียดบ่มเพาะความเกลียด

ความหวาดกลัวต่างชาติในแอฟริกาใต้ส่งผลสะท้อนกลับจากหลายประเทศ เช่นในแซมเบีย มีสถานีวิทยุเอกชนแห่งหนึ่งประกาศบอยคอตต์ไม่เปิดเพลงที่มาจากแอฟริกาใต้รวมถึงจัดทำโลโก้ประท้วงต่อต้านความหวาดกลัวต่างชาติอย่างไม่มีเหตุผลบนหน้าเฟซบุ๊คของพวกเขา นอกจากนี้ยังมีชาวแซมเบียกลุ่มเล็กๆ ประท้วงที่หน้าสถานทูตแอฟริกาใต้

ในโมซัมบิกมีกลุ่มคนปิดกั้นด่านตรวจคนเข้าเมืองเรสซาโน การ์เซีย โดยห้ามไม่ให้รถที่มีทะเบียนแอฟริกาใต้เข้าประเทศและมีการขว้างปาก้อนหินใส่ นอกจากนี้กลุ่มคนงานเหมืองแร่และก๊าซธรรมชาติชาวโมซัมบิกยังประท้วงด้วยการไม่ยอมให้คนงานชาวแอฟริกาใต้ทำงานและบอกว่าจะเก็บตำแหน่งงานไว้ให้ผุ้ที่หนีจากความรุนแรงในแอฟริกาใต้ทำแทน ทางด้านกลุ่มยุวชนการเมืองในโมซัมบิกเรียกร้องให้หยุดส่งไฟฟ้าและกีาซธรรมชาติให้กับแอฟริกาใต้จนกว่าประธานาธิบดีซูมาจะเดินทางไปโมซัมบิกเพื่อ "ไถ่บาป"

รัฐบาลโมซับบิกเรียกร้องไม่ให้มีการโต้ตอบชาวแอฟริกาใต้ในประเทศขณะเดียวกันก็เรียกร้องไม่ให้ชาวดมซัมบิกเดินทางไปยังแอฟริกาใต้

ในมาลาวี ผู้อำนวยการสมาคมผู้บริโภคเรียกร้องให้หยุดซื้อสินค้าและบริการจากแอฟริกาใต้ มีนักกิจกรรมวางแผนประท้วงที่หน้าสถานทูตเพื่อยื่นคำร้องถึงเอกอัครราชทูตแอฟริกาใต้ ทางด้านซิมบับเวมีการประท้วงหน้าสถานทูตและมีการยื่นนคำร้องถึงเอกอัครราชทูตแอฟริกาใต้สำเร็จหลังจากที่พยายามเปิดประตูสถานทูตจนปะทะกับตำรวจปราบจลาจล

ขณะที่ประเทศไนจีเรียมีการหารือกันในสภาว่าจะมีการกดดันกลุ่มธุรกิจแอฟริกาใต้อย่างไรถ้าหากเหตุการณ์ประท้วงแสดงความเกลียดชังคนต่างชาติยังดำเนินต่อไป

อย่างไรก็ตามชาวแอฟริกาใต้บางคนก็ออกมาประท้วงต่อต้านความหวาดกลัวชาวต่างชาติอย่างไม่มีเหตุผล โดยมีผู้เข้าร่วมราว 5,000 คน รวมถึงผู้นำทางการเมืองและผู้นำศาสนา การประท้วงเป็นไปอย่างสงบผู้ประท้วงพากันร้องเพลงที่แสดงความเป้นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีผู้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่ออัลจาซีร่าว่า "ความหวาดกลัวชาวต่างชาติอย่างไม่มีเหตุผลเป็นเรื่องที่ไม่ควรยอมให้เกิดขึ้น"

อัลจาซีร่าระบุว่าแอฟริกาใต้มีอัตราการว่างงานและความยากจนสูง ทำให้มีการกล่าวหาว่าคนต่างถิ่นเข้าไปแย่งงานพวกเขา กลายเป็นประแสความเกลียดชัง ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นล่าสุดในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาปะทุขึ้นขึ้นหลังจากกษัตริย์กูดวิลล์ ซเวลิธินี ผู้นำทางจารีตของชนเผ่าซูลูในแอฟริกาใต้ทรงตรัสว่าผู้อพยพควรเก็บกระเป๋าและออกจากประเทศไป

 

เรียบเรียงจาก

South Africa faces backlash over violent attacks on migrant workers, The Guardian, 18-04-2015

South Africa xenophobia: Africa reacts, BBC, 17-04-2015

South Africans march against xenophobia, deadly attacks on foreigners, Aljazeera, 16-04-2015

Foreign shop owner set alight in South Africa, Aljazeera, 27-02-2015

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท