เยี่ยมเยียนอังแตง: ยามข่าวโรงไฟฟ้าถ่านหินเยือนเมืองมอญ

ลงพื้นที่หมู่บ้านอังแตง เมืองเย ทางตอนใต้ของรัฐมอญ ประเทศพม่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยผู้สื่อข่าวประชาไท ได้รับเชิญจากผู้นำชุมชนชาวมอญ และมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ทั้งนี้ชาวบ้านแสดงความกังวลต่อผลกระทบด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และผลกระทบทางเศรษฐกิจ หากมีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่

 

 

ชาวบ้านอังแตง เมืองเย รัฐมอญตอนใต้ ชี้ให้ดูแนวเขตพื้นที่ซึ่งคาดหมายว่าจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,280 เมกะวัตต์ในพื้นที่ชุมชน โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าว ตามแผนก่อสร้างมีขนาด 500 เอเคอร์ หรือ 1,250 ไร่

พื้นที่ส่วนหนึ่งที่วางแผนเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นหาดเลนและชายทะเลซึ่งเป็นแหล่งจับสัตว์น้ำสำคัญของชุมชนบ้านอังแตง และหมู่บ้านใกล้เคียง

สวนหมากเป็นแหล่งรายได้สำคัญของชุมชน  เฉพาะสวนหมาก 5,000 ไร่ของหมู่บ้าน สร้างมูลค่ากว่า 42 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ชาวบ้านแสดงความกังวลว่าผลผลิตทางการเกษตร และการทำประมง จะได้รับผลกระทบหากมีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินตั้งอยู่ใกล้ชุมชน

หลังคาของบ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้านอังแตง เมืองเย รัฐมอญตอนใต้ ชาวบ้านดัดแปลงหลังคาให้เป็นลานตากผลหมาก ก่อนส่งจำหน่ายผลหมากทั่วพม่า

ทั้งนี้ บริษัทโตโย-ไทย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือปัจจุบันในชื่อ บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เตรียมก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าว โดยเริ่มการหารือสาธารณะในพื้นที่ตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2557 และเพิ่งลงนามในสัญญาการลงทุนใหม่กับรัฐบาลกลางของพม่า โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าว มีกำลังผลิตไฟฟ้า 1,280 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการ 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9.1 หมื่นล้านบาท พื้นที่โครงการ 500 เอเคอร์ หรือ 1,250 ไร่ จะเริ่มก่อสร้างในปี 2559

ด้านพระนันตา เจ้าอาวาสวัดบ้านอังแตง กล่าวว่าในการประชุมหารือสาธารณะ ซึ่งจัดโดยบริษัทโตโย-ไทย ดำเนินการเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ชาวบ้านร้อยละ 95 ลงมติว่าไม่ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ขณะที่ในรอบปีที่ผ่านมา มีผู้กว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านได้ 3 ราย รวมเนื้อที่ 100 เอเคอร์ ขณะที่ชาวบ้านที่เหลือยังไม่ยอมขายที่ดินเพิ่มเติม

ในการสำรวจชุมชน ชาวบ้านอังแตงได้พาชมสวนหมาก สวนยางพารา สวนผลไม้ และนาข้าว ในพื้นที่ โดยชาวบ้านระบุว่าสวนหมากถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญของชุมชน เฉพาะสวนหมาก 5,000 ไร่ของหมู่บ้าน สร้างมูลค่ากว่า 42 ล้านบาทต่อปี

นอกจากการทำประมงชายฝั่ง พื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าส่วนหนึ่งเป็นหาดเลน และหาดทราย ซึ่งเป็นแหล่งดักจับสัตว์น้ำของชาวบ้าน โดยชาวบ้านมักวางที่ดักปู และที่ดักจับสัตว์น้ำบริเวณหาดเลนท้ายหมู่บ้าน และเมื่อน้ำลดก็จะมาเก็บสัตว์น้ำที่ดักจับได้

ขณะที่สภาพของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นหมู่บ้านชายฝั่งทะเลอันดามัน ในช่วงเย็นจะมีลมทางทะเลจะพัดจากทิศตะวันตกมาทางทิศตะวันออกเข้ามาทางหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านกังวลว่า หากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินบริเวณชายฝั่งทะเลจริง ชาวบ้านจะได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากควันที่เกิดจากการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพืชผลทางการเกษตรของชุมชน รวมถึงการทำประมงของชุมชน เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินต้องใช้น้ำปริมาณมหาศาลในช่วงเดินเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า

ทั้งนี้พระนันตา ระบุว่า ที่ผ่านมาได้ร้องเรียนทั้งรัฐบาลรัฐมอญ สภาท้องถิ่นรัฐมอญ ซึ่งในส่วนของรัฐบาลท้องถิ่นได้สนับสนุนการคัดค้านของชาวบ้าน นอกจากนี้ในเดือนธันวาคมปีก่อน ชาวบ้านได้เขียนจดหมายเปิดผนึกร้องเรียนไปยังประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ที่เนปิดอว์ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรัฐบาลกลางมีท่าทีที่ต่างไปจากรัฐบาลของรัฐมอญ โดยเมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา บริษัท โตโย-ไทย คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) หรือปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ทีทีซีแอล จํากัด (มหาชน) ภายหลังการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจําปี 2558 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายนที่ผ่านมานั้น ในวันเดียวกัน ยังได้ร่วมลงในสัญญาการลงทุนใหม่กับกระทรวงพลังงานไฟฟ้า ของรัฐบาลพม่า เพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน ประเภท Ultra Super Critical (USC) ตลอดจนการดำเนินงานโรงไฟฟ้า ด้วยมูลค่าลงทุน 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ กำลังผลิตไฟฟ้ารวม 1,280 เมกะวัตต์ และได้รับสัญญาสัมปทานดำเนินงานเป็นระยะเวลา 30 ปี (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

ทีทีซีแอล: จากออกแบบ-ก่อสร้างโรงงาน-สู่ธุรกิจพลังงานก๊าซธรรมชาติ-แสงอาทิตย์-ถ่านหิน

สำหรับ บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2528 ทุนจดทะเบียนในขณะนั้น 20 ล้านบาท เพื่อประกอบธุรกิจการให้บริการด้านการออกแบบวิศวกรรม การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการก่อสร้างโรงงานแบบครบวงจร ภายใต้การร่วมทุนกันของ Toyo Engineering Corporation (TEC) ประเทศญี่ปุ่น และ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ในสัดส่วนร้อยละ 49.0 และร้อยละ 51.0 ตามลำดับ โดยจัดเป็นบริษัทผู้ให้บริการออกแบบวิศวกรรม จัดหาเครื่องจักร และก่อสร้างโรงงานแบบครบวงจร หรือ Integrated EPC รายแรกของประเทศไทย

โดยในปี 2556 บริษัทได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 560 ล้านบาท เพื่อรองรับการขายหุ้นเพิ่มทุนแก่ผู้ถือหุ้นเดิมและแก่ประชาชนทั่วไป โดยวัตถุประสงค์ในการเพิ่มทุนครั้งนี้เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และเป็นเงินลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้า

สำหรับในส่วนของธุรกิจพลังงานของทีทีซีแอล ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ทีทีซีแอล ได้เริ่มลงทุนในกิจกรรมพลังงาน ทั้งโรงไฟฟ้าจากพลังงานก๊าซธรรมชาติ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

โดยในส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ ในปลายปี 2553 ทีทีซีแอล ได้ร่วมลงทุนในบริษัท นวนครการไฟฟ้า จำกัด เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมกังหันก๊าซ ขนาด 120 เมกกะวัตต์ ที่ จ.ปทุมธานี โดยลงทุนในฐานะผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์ คิดเป็นจำนวนเงิน 642.66 ล้านบาท หรือร้อยละ 41.95 ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด จำนวนเงิน 1,532 ล้านบาท และโรงไฟฟ้าดังกล่าวได้เริ่มการผลิตในเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 และมีสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้าให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นระยะเวลา 25 ปี

ในปลายปี 2555 กลุ่มบริษัททีทีซีแอล ได้ตั้งบริษัท TOYO THAI POWER MYANMAR CO., LTD. และลงนามในบันทึกสัญญากับกระทรวงพลังงานไฟฟ้า ของพม่า ในการลงทุนและก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมกังหันก๊าซ ขนาด 120 เมกกะวัตต์ ที่เขตอะห์โลน นครย่างกุ้ง จำนวนเงิน 51.59 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยทีทีซีแอลถือหุ้นสามัญ คิดเป็นจำนวนเงิน 30.79 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 59.68 ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด และได้เริ่มการผลิตในเชิงพาณิชย์เป็นบางส่วนตั้งแต่เดือนเมษายน 2556 และมีสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้าให้กับกระทรวงเพลังงานไฟฟ้า รัฐบาลพม่า เป็นระยะเวลา 30 ปี ในรูปแบบ Build-Operate-Transfer (BOT)

ในส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ได้ร่วมลงทุนในบริษัท สยาม โซล่า เพาเวอร์ จำกัด เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 8 เมกกะวัตต์ ที่ จ.อ่างทอง โดยกลุ่มบริษัททีทีซีแอล ได้ลงทุนในฐานะผู้ถือหุ้นสามัญ คิดเป็นจำนวนเงิน 100 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 40 ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด จากจำนวนเงินทั้งหมด 250 ล้านบาท โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวได้เริ่มการผลิตในเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2556 และมีสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้าให้กับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นระยะเวลา 10 ปี

และในปลายปี 2556 กลุ่มบริษัททีทีซีแอล ได้ร่วมลงทุนในบริษัท สยาม จีเอ็นอี โซล่า เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงาน ขนาด 0.743 เมกะวัตต์ที่ จ.ระยอง ประเทศไทย โดยกลุ่มบริษัททีทีซีแอลได้ลงทุนในฐานะผู้ถือหุ้นสามัญ คิดเป็นจำนวนเงิน 8 ล้านบาท หรือร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด 16 ล้านบาท และโรงไฟฟ้าดังกล่าวได้เริ่มการผลิตในเชิงพาณิชย์ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2557 และมีสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้าให้กับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นระยะเวลา 25 ปี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท