นักวิจารณ์ชี้ 5 ข้อ ความตกลงการค้า TPP เอื้อบรรษัทข้ามชาติ ทำลายประเทศคู่ค้า

18 เม.ย. 2558 เดวิด คอร์เตน นักวิจารณ์บรรษัทตัวยงผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการวารสาร YES! เขียนบทความเกี่ยวกับการหารืออย่างลับๆ ในการประชุมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ซึ่งทางผู้นำสหรัฐฯ กำลังส่งร่างข้อตกลงสุดท้ายให้กับรัฐสภาพิจารณาเร็วๆ นี้

จากเอกสารลับเกี่ยวกับความตกลง TPP ที่ถูกเปิดโปงระบุว่าข้อตกลงดังกล่าวนี้ไม่ได้สนับสนุนสิทธิแรงงาน การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม หรือการช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กตามที่กล่าวอ้างโดยรัฐบาลสหรัฐฯ

คอร์เดนอ้างอิงร่างเอกสารลับที่ลงวันที่ 20 ม.ค. ที่ถูกเปิดโปงโดยเว็บไซต์วิกิลีกส์ ระบุให้เห็นว่ากลุ่มผู้สนับสนุน TPP พยายามปกปิดเอกสารลับเหล่านี้เพื่อทำให้การเจรจาดำเนินไปอย่างปิดลับ และสิ่งที่ถูกเปิดโปงเป็นไปตามสิ่งที่กลุ่มต่อต้านความตกลง TPP เคยวิจารณ์ไว้ คือการที่ข้อตกลงนี้ให้อำนาจบรรษัทในการฟ้องร้องรัฐบาลถ้าหากรัฐบาลช่วยเหลือคุ้มครองแรงงานหรือสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังทำให้การช่วยเหลือธุรกิจในท้องถิ่นโดยรัฐบาลเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

คอร์เตนช่วยย่อยเอกสารลับของการประชุม TPP ออกมาเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายและเผยแพร่เป็นหัวข้อต่างๆ ในบทความดังต่อไปนี้

1) การสั่งห้ามสนับสนุนเจ้าของธุรกิจท้องถิ่นเกินหน้าบรรษัทยักษ์

ในข้อตกลง TPP ส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องการลงทุนมีการระบุข้อควรปฏิบัติของประเทศสมาชิกต่อนักลงทุนจากต่างชาติไว้ว่า ประเทศสมาชิกควรปฏิบัติต่อนักลงทุนจากประเทศสมาชิกชาติอื่นในระดับที่ไม่ด้อยไปกว่าปฏิบัติกับนักลงทุนในชาติตนเองด้านต่างๆ ของธุรกิจ ทั้งการก่อตั้ง การจัดหา การขยาย การบริหาร การดำเนินการ การปฏิบัติการ และการขาย รวมถึงแง่มุมอื่นๆ ของการลงทุน ซึ่งสรุปอย่างง่ายว่าห้ามการสนับสนุนธุรกิจในท้องถิ่นเหนือธุรกิจต่างชาติในด้านต่างๆ รวมถึงส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาพความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย

ในเวลาต่อมาประเทศสมาชิกทั้ง 12 ประเทศยังประกาศยกเลิกสิทธิในการสนับสนุนเข้าข้างเจ้าของธุรกิจในประเทศตนไม่ว่าจะในระดับเล็กหรือระดับใหญ่ แม้ว่าธุรกิจในประเทศเหล่านั้นจะส่งเสริมให้มีการสร้างงาน สร้างสินค้าและการบรอการเพื่อรับใช้คนในประเทศ โดยถูกระบุให้ปฏิบัติต่อบรรษัทข้ามชาติเท่าๆ กับธุรกิจในประเทศตนเอง

2) ต้องมีการจ่ายให้กับบรรษัทในกรณีที่ต้องกำจัดมลภาวะ

ในข้อตกลงของ TPP ยังมีการกำหนดเงื่อนไขห้ามไม่ให้มีการอายัดหรือทำให้ "การลงทุน" กลายเป็นของประเทศนั้นๆ ซึ่งอาจจะฟังดูมีเหตุผล แต่ข้อตกลงนี้มีการนิยามการลงทุนว่าหมายรวมถึง "ความคาดหวังรายได้หรือกำไร" คอร์เตนระบุว่าการนิยามนี้เปิดโอกาสให้บรรษัทฟ้องร้องประเทศสมาชิกได้หากประเทศสมาชิกออกกฎที่ทำให้บรรษัทมีผลกำไรที่คาดหวังไว้ลดลงเช่น การสั่งห้ามขายสินค้าอันตราย การห้ามทำลายสิ่งแวดล้อม หรือห้ามกดขี่แรงงาน

"พูดอีกอย่างหนึ่งคือประเทศสมาชิก TPP มีสิทธิในการยับยั้งบรรษัทต่างประเทศในการทำร้ายประชาชนและสิ่งแวดล้อมของพวกเขา แต่ทว่าประเทศนั้นๆ ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับบรรษัทเพื่อไม่ให้พวกเขาทำสิ่งเหล่านั้น" คอร์เตนระบุในบทความ

องค์กรจับตามองการค้าเสรีระบุว่าข้อตกลงทำนองเดียวกันนี้เคยมีระบุไว้ในความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) เช่นกัน โดยมีบรรษัทต่างชาติชนะคดีได้รับค่าชดเชยจากรัฐรวม 360 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นเงินภาษีประชาชนสหรัฐฯ

3) มีการตั้งศาลลับโดยอาศัยนักกฎหมาย 3 คน

ข้อมูลที่ถูกเปิดโปงระบุอีกว่าประเทศสมาชิกจะมีวิธีการแก้ไขข้อพิพาทด้วยการตั้งศาลยุติธรรมที่ประกอบด้วยผู้ตัดสิน 3 คน สองคนแรกมาจากการแต่งตั้งของคู่ขัดแย้งที่มีข้อพิพาทกันฝ่ายละหนึ่งคน คนที่สามจะเป็นผู้ตัดสินที่มาจากการแต่งตั้งโดยการตกลงกันระหว่างคู่ขัดแย้ง ทั้งนี้เว้นแต่คู่ขัดแย้งจะตกลงร่วมกันให้เป็นไปในลักษณะอื่น

คอร์เตนระบุว่า ผู้ตัดสินที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นนักกฎหมายที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ซึ่งเป็นความพยายามให้อำนาจกับบรรษัทในการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากสาธารณะ อีกทั้งยังมีการปกปิดกระบวนการศาลและตัวตนของผู้ตัดสินเป็นความลับ ทำให้การตัดสินไม่ได้รับการพิจารณาจากระบบยุติธรรมของชาตินั้นๆ

สำนักข่าวเดอะนิวยอร์กไทม์ระบุว่าศาลของ TPP มีต้นแบบมาจากศาลแบบเดียวกับ NAFTA ซึ่งให้อำนาจพลิกคำตัดสินแม้แต่จากศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ได้ จอห์น ดี อีเชเวอร์เรีย นักวิชาการด้านกฎหมายจากมหาวิทยลัยจอร์จทาวน์กล่าวว่า วิธีการแก้ไขข้อพิพาทแบบนี้เป็นภัยอย่างใหญ่หลวงต่อความเป็นอิสระของระบบศาลสหรัฐฯ

4) ให้สิทธินักเก็งกำไรเคลื่อนย้ายเงินได้เต็มที่

ในข้อตกลงยังระบุห้ามไม่ให้มีการจำกัดการเคลื่อนย้ายเงินข้ามประเทศ แต่กลับให้สิทธินักเก็งกำไรในการทำลายเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ผ่านการชักใยอัตราแลกเปลี่ยนและตลาดการเงินโดยไม่มีการแทรกแซงจากรัฐบาลชาตินั้นๆ โดยการห้ามไม่ให้รัฐบาลของประเทศสมาชิกมีสิทธิจำกัดการเก็งกำไร

5) ให้ผลประโยชน์บรรษัทมาก่อนผลประโยชน์ของชาติ

ส่วนหนึ่งของข้อตกลงระบุเน้นย้ำให้เห็นว่าบรรษัทไม่จำเป็นต้องทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่พวกเขาทำธุรกิจอยู่ โดยสั่งห้ามไม่ให้ประเทศสมาชิกออกข้อบังคับให้บรรษัทต้องผลิตเพื่อส่งออกหรือใช้ในประเทศตามที่กำหนดจำนวนไว้ รวมถึงไม่สามารถออกข้อบังคับให้ต้องซื้อสินค้าหรือทำสัญญาเรื่องการใช้สินค้าของผลิตภัณฑ์ในประเทศนั้นๆ นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดเพิ่มเติมอีก 6 ข้อซึ่งระบุไปในทางไม่จำเป็นต้องให้บรรษัททำประโยชน์ต่อประเทศ

ถึงแม้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลโอบามาจะอ้างว่าข้อกำหนดข้างต้นมีไว้เพื่อให้บริษัทสัญชาติอเมริกันมีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้นบ้างในการทำธุรกิจกับต่างชาติ แต่คอร์เตนก็ตั้งคำถามสำคัญว่า "บริษัทสัญชาติอเมริกันคืออะไรกันแน่"

โดยบทความของคอร์เตนระบุถึงการที่บรรษัทขนาดใหญ่ที่ทำกำไรมหาศาลระดับล้านล้านโดยมีที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ หลีกเลี่ยงจ่ายภาษีให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ เหตุใดถึงยังเรียกบรรษัทเหล่านี้ว่ามีสัญชาติอเมริกันฯ

คอร์เตนระบุอีกว่า การอนุมัติ TPP จะหมายถึงการบูชายันต์ประชาธิปไตยและสิทธิในการควบคุมตลาดและทรัพยากรเพื่อทำประโยชน์ให้ส่วนรวมของพวกเขาเพื่อให้ประโยชน์กับพวกบรรษัทที่แอบอ้างชาติอเมริกันในการกดขี่ประชาชนประเทศอื่นและใช้ทรัพยากรของประเทศอื่นที่ร่วมลงนามในข้อตกลงที่ต่ำทรามนี้ด้วย

 

เรียบเรียงจาก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท