18 องค์กรประชาสังคมวอนประยุทธ์เผยจุดยืนคุ้มครองการลงทุนที่กระทบต่อนโยบายสาธารณะ

องค์กรประชาสังคม 18 องค์กรทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ชี้ท่าทีและจุดยืนการคุ้มครองการลงทุนที่มีผลกระทบต่อการจัดทำนโยบายสาธารณะ หลังหน่วยราชการอ้างกลัวถูกนักลงทุนต่างชาติฟ้องร้อง เตะสกัดนโยบายและกฎหมายเพื่อประชาชน

19 เมษายน 2558 กรุงเทพฯ  กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน เปิดเผยว่า องค์กรภาคประชาสังคม 18 องค์กรได้รวมตัวกันทำจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้มีคำสั่งกระทรวงต่างประเทศให้มีการชี้แจงท่าทีและจุดยืนการคุ้มครองการลงทุนที่มีผลกระทบต่อการจัดทำนโยบายสาธารณะ หลังหน่วยราชการอ้างกลัวถูกนักลงทุนต่างชาติฟ้องร้อง ตั้งท่าขวางนโยบายและกฎหมายเพื่อประชาชน อาทิ การแก้ไข พรบ.ยา พ.ศ.2510, การปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหินภายใน 2 ปี เมื่อวันที่ 12 เม.ย.พ.ศ.2554 และ พรบ.ควบคุมยาสูบฉบับใหม่

“กระทรวงพาณิชย์อ้างว่า กฎหมายต่างๆ ที่กำลังแก้ไขเพื่อให้ประชาชนคนไทยมีสุขภาวะที่ดีขึ้นซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการปฏิรูปประเทศอาจสร้าง ‘ผลกระทบต่อการค้าและการลงทุน’ จะทำให้รัฐไทยถูกนักลงทุนต่างชาติฟ้องเรียกค่าเสียหายผ่านอนุญาโตตุลาการ ทั้งที่ตัวแทนของกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการของรัฐสภาหลายสมัยและหลายวาระ ยืนยันว่า การคุ้มครองการลงทุนของไทยในเอฟทีเอต่างๆนั้น ยังไม่อนุญาตให้มีการฟ้องร้องผ่านกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนต่อนโยบายสาธารณะ เราจึงต้องการให้รัฐบาลชี้แจงต่อสาธารณะอย่างเปิดเผยว่า จุดยืนและท่าทีของรัฐบาลชุดปัจจุบันยังเป็นเช่นนี้หรือไม่ หรือมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อเอาใจนักลงทุนไปแล้ว”

ที่ผ่านมา รัฐไทยเคยถูกนักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมูลค่า 1,400 ล้านบาทต่ออนุญาโตตุลาการ จากกรณีบริษัทวอเตอร์บาวน์และดอนเมืองโทลล์เวย์ ทำให้คณะรัฐมนตรีมีมติลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 ระบุว่า หากจะใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับนักลงทุนต่างชาติ จะต้องมีความยินยอมจากรัฐบาลไทยเป็นการเฉพาะในทุกกรณีไป  ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ระบุเหตุของมตินี้ว่า หากหน่วยงานของรัฐเป็นฝ่ายแพ้คดีหรือเป็นฝ่ายที่ต้องชดใช้ค่าชดเชย จะเกิดภาระด้านงบประมาณแผ่นดิน และในทุกรัฐบาลที่ผ่านมาจะค่อนข้างระมัดระวังในการเจรจาประเด็นนี้อย่างมาก

“ที่ผ่านมา ผู้เจรจาเอฟทีเอประเด็นนี้จะยึดตามกรอบการเจรจาความตกลงเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 190 ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2553 ที่กำหนดให้ ไม่คุ้มครองการลงทุนที่ไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจจริง (real economic activities) และจะคุ้มครองการลงทุนที่มีการลงทุนแล้ว (post-establishment) เท่านั้น และกำหนดมาตรการที่จำเป็น และเหมาะสมเพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะ เช่น สิ่งแวดล้อม สุขภาพสาธารณะ มาตรการเพื่อปกป้องดุลการชำระเงิน นโยบายเศรษฐกิจมหภาค ต้องถูกละไว้ ไม่ให้เป็นประเด็นที่นำไปสู่การฟ้องร้อง แต่ขณะนี้ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กำลังกำหนดกรอบการให้ความคุ้มครองการลงทุนแก่นักลงทุนต่างประเทศโดยไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะมากนัก เราจึงขอให้การกำหนดกรอบต่างๆเป็นไปอย่างมีธรรมาภิบาลและโปร่งใส แม้จะดำเนินการในรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารก็ตาม”

นอกจากนี้ ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ระบุว่า นอกเหนือจากคดีบริษัทวอเตอร์บาวน์ ยังมีผู้ถือหุ้นชาวมาเลเซียของบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ซึ่งทำเหมืองทองที่ จ.เลย ได้ยื่นฟ้องร้องรัฐบาลของไทยต่ออนุญาโตตุลาการอีกกรณี

“ช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศได้มีการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการกับผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าว ขอให้เปิดเผยต่อสาธารณะอย่างตรงไปตรงมาว่า กรณีนี้มีความคืบหน้าอย่างไร การเจรจาต่อรองจะส่งผลทำให้รัฐบาลไทยต้องย่อหย่อนกฎระเบียบต่างๆ ของ ก.ล.ต.(คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) หรือมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมในการทำเหมืองและผลกระทบต่อชุมชนรอบเหมืองหรือไม่อย่างไร เราตระหนักดีว่า รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารย่อมต้องการแสวงหาการยอมรับจากต่างประเทศ แต่นั่นไม่พึงเป็นเหตุให้เกิดการทำลายหรือแลกเปลี่ยนกับนโยบายสาธารณะที่มีไว้เพื่อปกป้องประชาชนและสังคม”

ทั้งนี้ ภาคประชาสังคม 18 องค์กรที่ร่วมลงนามประกอบไปด้วย กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch), เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ, สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก,ชมรมเพื่อนโรคไต, เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์, มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิเภสัชชนบท, ชมรมเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มูลนิธิสุขภาพไทย และ โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา

 

 

..........................

 

เนื้อหาจดหมายเปิดผนึก

 

วันจันทร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2558

 

เรียน                       นายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา)

สำเนาเรียน           รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร)

                                รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (พล.อ.ฉัตรชัย สาลิการิยะ)

                                อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (นายชุตินทร คงศักดิ์)

เรื่อง                       ท่าทีและจุดยืนการคุ้มครองการลงทุนที่มีผลกระทบต่อการจัดทำนโยบายสาธารณะ

 

                ตามที่ ขณะนี้หน่วยราชการต่างๆ ดังเช่น กระทรวงพาณิชย์มักจะอ้างว่า กฎหมายต่างๆ ที่กำลังแก้ไขเพื่อให้ประชาชนคนไทยมีสุขภาวะที่ดีขึ้นซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการปฏิรูปประเทศตามนโยบายของรัฐบาลในปัจจุบัน อาจสร้าง ‘ผลกระทบต่อการค้าและการลงทุน’ โดยหน่วยงานของรัฐเหล่านั้นมีท่าทีที่จะขัดขวางหรือชะลอนโยบายสาธารณะที่กล่าวมา อาทิ การแก้ไข พรบ.ยา พ.ศ.2510[1] , การปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหินภายใน 2 ปี เมื่อวันที่ 12เม.ย.พ.ศ.2554 และ พรบ.ควบคุมยาสูบฉบับใหม่

                พวกเรา ภาคประชาสังคม อันประกอบไปด้วย เครือข่ายนักวิชาการ เครือข่ายผู้ป่วย เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรประชาชน และองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสุขภาวะ ตามรายนามด้านล่าง ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักในเรื่องความตกลงด้านการคุ้มครองการลงทุนระดับทวิภาคี ชี้แจงต่อสาธารณะอย่างเปิดเผยในประเด็นต่อไปนี้

1.     ตัวแทนของกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการของรัฐสภาหลายสมัยและหลายวาระ ยืนยันว่า การคุ้มครองการลงทุนของไทยในความตกลงทวิภาคีฉบับต่างๆนั้น ยังไม่อนุญาตให้มีการฟ้องร้องผ่านกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนต่อนโยบายสาธารณะ ซึ่งรวมทั้งความตกลงด้านการลงทุน (ACIA) ของอาเซียน ซึ่งมีเนื้อหาส่วนหนึ่งลอกแบบมาจากมาตรา 20 ของความตกลง GATT ที่เป็นรากฐานของความตกลงในองค์การการค้าโลก (WTO) ที่ยืนยันสิทธิอันชอบธรรมของประเทศสมาชิกในการกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนได้ โดยที่ไม่อาจนำมาเป็นเหตุให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องให้รัฐบาลประเทศนั้นๆ ยกเลิกนโยบายสาธารณะดังกล่าว หรือเรียกร้องค่าเสียหายได้ โดยอาศัยกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนนอกประเทศ (ISDS) แทนที่จะใช้กระบวนการยุติธรรมภายในประเทศ  ขอให้กระทรวงต่างประเทศยืนยันว่า คำชี้แจงของเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศต่อคณะกรรมาธิการรัฐสภาชุดต่างๆ ยังคงเป็นไปตามนั้นหรือไม่ และหน่วยงานราชากรอื่นๆ รับทราบเกี่ยวกับเรื่องนี้มากน้อยอย่างไร

2.     ที่ผ่านมา จากการชี้แจงของตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศยืนยันว่า ในความตกลงฯใหม่ๆ รัฐไทยค่อนข้างระมัดระวังในการเจรจาประเด็นนี้มากทีเดียว โดยผู้เจรจายึดตามกรอบการเจรจาความตกลงเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 190 ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา[2] เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2553 ที่กำหนดให้ ไม่คุ้มครองการลงทุนที่ไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจจริง (real economic activities) และจะคุ้มครองการลงทุนที่มีการลงทุนแล้ว (post-establishment) เท่านั้น และกำหนดมาตรการที่จำเป็น และเหมาะสมเพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะ เช่น สิ่งแวดล้อม สุขภาพสาธารณะ มาตรการเพื่อปกป้องดุลการชำระเงิน นโยบายเศรษฐกิจมหภาค ต้องถูกละไว้ ไม่ให้เป็นประเด็นที่นำไปสู่การฟ้องร้อง และเนื่องจากรัฐไทยเคยถูกนักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมูลค่า 1,400 ล้านบาทต่ออนุญาโตตุลาการ จากกรณีบริษัทวอเตอร์บาวน์ และดอนเมืองโทลล์เวย์ ทำให้คณะรัฐมนตรีมีมติลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 ระบุว่า หากจะใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับนักลงทุนต่างชาติ จะต้องมีความยินยอมจากรัฐบาลไทยเป็นการเฉพาะในทุกกรณีไป  ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวระบุเหตุของมตินี้ว่า หากหน่วยงานของรัฐเป็นฝ่ายแพ้คดีหรือเป็นฝ่ายที่ต้องชดใช้ค่าชดเชย จะเกิดภาระด้านงบประมาณแผ่นดิน  จึงขอให้กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่า จนถึงทุกวันนี้ในการเจรจาการคุ้มครองการลงทุนต่างๆ กระทรวงการต่างประเทศยังคงปฏิบัติตาม มติ ครม.เมื่อวันที่ 28 ก.ค.52 และ กรอบการเจรจาที่ผ่านรัฐสภาเมื่อวันที่ 8 ก.ย.2553 หรือไม่อย่างไร

3.     หลังจากรัฐไทยเคยถูกนักลงทุนต่างชาติจากบริษัทวอเตอร์บาวน์ ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมูลค่า 1,400 ล้านบาทต่ออนุญาโตตุลาการจากการลงทุนในดอนเมืองโทลล์เวย์ไปแล้ว ยังมีรายงานจากสื่อมวลชนอีกว่า ผู้ถือหุ้นชาวมาเลเซียของบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ได้ยื่นฟ้องร้องรัฐบาลของไทยต่ออนุญาโตตุลาการ[3] และกระทรวงการต่างประเทศได้มีการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการกับผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าว ขอให้กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่า กรณีนี้มีความคืบหน้าอย่างไร การเจรจาต่อรองจะส่งผลทำให้รัฐบาลไทยต้องย่อหย่อนกฎระเบียบต่างๆ ของ ก.ล.ต.หรือมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมในการทำเหมืองและผลกระทบต่อชุมชนรอบเหมืองหรือไม่อย่างไร โปรดเปิดเผยต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส

4.     ในขณะนี้กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กำลังกำหนดกรอบการให้ความคุ้มครองการลงทุนแก่นักลงทุนต่างประเทศ ขอให้กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่า กระบวนการนี้ดำเนินไปถึงขั้นไหนแล้วและอย่างไร กระทรวงฯ ได้เปิดเผยต่อสาธารณะมากน้อยเพียงไร  ขอให้ชี้แจง และดำเนินการอย่างมีธรรมาภิบาลด้วย

ทั้งนี้  เราทั้งหมดนี้ไม่ปฏิเสธว่า การค้าและการลงทุนมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไม่มากก็น้อย แต่การค้าและการคุ้มครองกรลงทุนต้องตั้งอยู่บนหลักของธรรมภิบาลและความเป็นธรรม และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนโดยรวมเป็นหลัก  เรายังคงเชื่อมั่นว่า การค้าและการลงทุนที่เป็นธรรมจะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อกระบวนการในการพิจารณาและตัดสินใจ ตลอดจนการเจรจา มีความโปร่งใส ธรรมาภิบาล และมีการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง

                จึงเรียนมาเพื่อขอให้ทางรัฐบาลชี้แจงต่อสาธารณชนอย่างเร่งด่วน

 

ขอแสดงความนับถือ

(ภญ. สำลี ใจดี)

กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ,

สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, ชมรมเพื่อนโรคไต, เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์, มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค,

มูลนิธิเภสัชชนบท, ชมรมเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มูลนิธิสุขภาพไทย,

โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา

 

 



[1] หนังสือของกระทรวงพาณิชย์ ที่ พณ 0703/275 ลงวันที่ 15 ม.ค.2558 ความตอนหนึ่งว่า “จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศและบรรยากาศการลงทุนของไทย โดยเฉพาะหาก อย.ไม่อนุญาตให้บริษัทต่างชาติซึ่งเข้ามาลงทุนในประเทศขึ้นทะเบียนยาด้วยเหตุโครงสร้างราคายาไม่เหมาะสม นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติอาจฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐไทยผ่านกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (Investor-State Dispute Settlement - ISDS) เพื่อปกป้องสิทธิของตนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการที่ออกโดยรัฐบาลไทยภายใต้ความตกลงการคุ้มครองการลงทุนทวิภาคี ซึ่งปัจจุบันไทยมีความตกลงคุ้มครองการลงทุนทวิภาคีบังคับใช้แล้วกว่า 37 ฉบับ และอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำอีกกว่า 50 ฉบับ”

[2] ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2553 http://www.mfa.go.th/business

[3] ผู้ถือหุ้น”ทุ่งคา”ยื่นฟ้อง รบ. ก.ล.ต.มึนปมต้านเหมืองทองคำ จ.เลยบานปลาย, ประชาชาติธุรกิจ 23 ส.ค.57

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท