Skip to main content
sharethis
กรมอุทยานเดินหน้าประกาศแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ขณะที่ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่เป็นห่วง เนื่องจากไม่มีส่วนร่วม ด้านสภาทนายความเสนอให้เลื่อนการส่งเข้าพิจารณาไปอีกหนึ่งปี
 
 
 
 
 
 
 
 
เมื่อช่วงบ่ายของวันศุกร์ที่ 17 เมษายน 58 เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีการหายไปของนายบิลลี่ รักจงเจริญแกนนำชาวกะเหรี่ยงที่ต่อสู้เพื่อสิทธิอยู่อาศัยและสิทธิทำกินในพื้นที่ดั้งเดิมของกะเหรี่ยง จึงจัดการเสวนากับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่ศูนย์วัฒนธรรมบ้างโป่งกระทิง จังหวัดราชบุรี เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกันและร่วมกันหาทางออกหากป่าแก่งกระจานได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ซึ่งจะมีการประชุมพิจารณาในเดือนมิถุนายน ที่ประเทศเยอรมัน
 
การเสวนาครั้งนี้นอกจากจะมีเครือข่ายกะเหรี่ยงและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานแล้ว ยังมีองค์การระหว่างประเทศและสื่อมวลชนอีกด้วย
 
กลุ่มป่าแก่งกระจานจัดเป็นพื้นที่คุ้มครองขนาดใหญ่ติดต่อกับผืนป่าของพม่าอันประกอบด้วยพื้นที่อนุรักษ์ทั้งหมด 4 แห่ง คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี โดยมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 3 ล้านไร่ ครอบคลุมเนื้อที่ตั้งแต่จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี จนถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นอกจากนี้กลุ่มป่าแก่งกระจานยังเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์สัตว์ที่หลากหลาย รวมถึงสัตว์หลายชนิดที่หาพบยาก เช่น จระเข้น้ำจืด นกเงือกสีน้ำตาล ฯลฯ
 
นายกมล นวลใย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกล่าวว่าหากกลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ จะได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติทั้งด้านเป็นแหล่งค้นคว้า การดูแลตามมาตรฐานต่างๆ รวมถึงได้เผยแพร่กิตติคุณและคุณภาพทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย
 
อย่างไรก็ตาม ชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยและประกอบอาชีพอยู่ในป่าแก่งกระจานมีความกังวลอย่างมากในเรื่องของสิทธิและผลกระทบต่อสิทธิและวิถีชีวิตที่ตนจะได้รับหลังจากพื้นที่ป่ากลายเป็นมรดกโลก เนื่องจากปัจจุบัน สิทธิ์เหล่านั้นมีน้อยอยู่แล้ว จึงเกรงว่าหากอุทยานเป็นมรดกโลกจะมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้นจนสร้างความลำบากให้แก่ชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยและประกอบอาชีพในบริเวณป่า
 
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า ในปัจจุบันจะนิยมประกาศมรดกโลกทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมผสมร่วมกัน เนื่องจากในบริเวณนี้มีผู้อาศัยและรักษาป่ามาเนิ่นนานแล้ว ดังนั้น ในการเสนออุทยานแห่งชาติแก่งกระจานของประเทศไทยควรจะเสนออุทยานให้รอบด้านมากกว่านี้โดยรวมวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงเข้าไปด้วยและควรเลื่อนการเสนอไปอีกหนึ่งปี 
 
นายวุฒิ บุญเลิศ ที่รักษาเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรี กล่าวว่ากรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชต้องให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นทั้งในเรื่องการกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆและการจัดสรรพื้นที่อาศัยและประกอบอาชีพ การจัดสรรพื้นที่ต่างๆให้ชัดเจน จัดการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่แล้ว และกระจายอำนาจให้ชุมชนเช่นกัน
 
ระหว่างและหลังจากการเสวนามีการแสดงดนตรีของ ศุ บุญเลี้ยงและพจนารถ พจนาพิทักษ์ รวมถึงศิลปวัฒนธรรมของกระเหรี่ยง ประกอบด้วยการแสดงการรำสานเชือก การรำตง การแสดงดนตรีและขับร้องพื้นเมือง รวมถึงพิธีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่เนื่องในโอกาสงานเดือน 5 ซึ่งถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวกะเหรี่ยง
 
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจะได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปีนี้หรือจะถูกเลื่อนการพิจารณาไปอีกหนึ่งปีหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net