Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

พุทธศาสนาเถรวาทแบบสยามไทย คือพุทธศาสนาที่สร้างแนวคิดทางสังคมการเมืองบนพื้นฐาน “จักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิ” ที่ถือว่าลำดับชนชั้นสูงต่ำทางสังคมขึ้นอยู่กับ “ปุพเพกตปุญญตา” หรือบุญบารมีที่คนเราทำมาแต่ปางก่อนไม่เท่ากัน ฉะนั้น บุญบารมีที่แต่ละคนทำมาในอดีตชาติจึงเป็นเงื่อนไขที่กำหนดล่วงหน้าให้คนเราเกิดมาในชนชั้นทางสังคมที่ต่างกัน

ผู้ปกครองสมควรเป็นผู้ปกครอง ไม่ใช่เพราะผ่านการแข่งขันในเรื่องวิสัยทัศน์ นโยบาย ความสามารถจนเป็นที่ยอมรับของประชาชน และได้อำนาจมาจากความยินยอมหรือเป็นไปตามเจตจำนงทั่วไปของประชาชน แต่เป็นเพราะคุณธรรมในตัวของผู้ปกครองและบุญบารมีแต่ชาติปางก่อนกำหนดล่วงหน้าให้มาเป็นผู้ปกครอง ประชาชนควรยอมรับคุณธรรมหรือบุญบารมีของผู้ปกครอง ไม่ใช่เพราะมีเสรีภาพพิสูจน์ได้ว่าเป็นจริง แต่เป็นความเชื่อที่ไม่สามารถโต้แย้งหักล้างได้

ความคิดทางสังคมการเมืองบนฐานของจักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิ จึงกำหนดให้คนมี 2 ชนชั้นอย่างตายตัว คือชนชั้นปกครองกับชนชั้นผู้ถูกปกครอง มาตรฐานการแบ่งชนขั้นคือบุญบารมีแต่ชาติปางก่อนและคุณธรรมในตัวคนที่ไม่เท่ากัน

พุทธศาสนาแบบไตรภูมิเป็นพุทธศาสนาแบบสยามเก่า ที่พัฒนามาเป็นพุทธชาตินิยมในสยามใหม่ นั่นคือพุทธที่สถาปนาองค์กรสงฆ์เป็นกลไกสนับสนุนอุดมการณ์รัฐสมัยใหม่ และพุทธศาสนากลายเป็น 1 ใน 3 สถาบันหลักของชาติคือ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”

พุทธแบบสยามเก่าบวกกับพุทธแบบสยามใหม่ก็คือ พุทธศาสนาแห่งรัฐที่มีบทบาทหลักในการสร้างความคิดทางสังคมการเมืองว่า “ผู้ปกครองต้องเป็นคนดีมีคุณธรรม” และ “พลเมืองดี” ต้องจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ภายในระบบความคิดทางสังคมการเมืองของพุทธเถรวาทแบบสยามไทยดังกล่าว จึงไม่มีความคิดเกี่ยวกับคุณค่าสากล เช่นเสรีภาพ ความเสมอภาคที่เป็นรากฐานของประชาธิปไตยสมัยใหม่ แต่เป็นความคิดที่ถือว่าผู้ปกครองที่มีบุญบารมีและคุณธรรมอยู่เหนือหลักเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเป็นประชาธิปไตย ฉะนั้น เสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นประชาธิปไตยจึงไม่ใช่สิ่งที่มีค่าในตัวมันเอง มันจะมีค่าก็ต่อเมื่อไม่ขัดแย้งหรือคล้อยตาม “สิ่งสูงสุด” ที่เรียกว่า “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” เท่านั้น

อุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์จึงเป็นความจริงสูงสุด หรือความดีสูงสุดที่โต้แย้งและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ของระบบสังคมการเมืองไทย เป็นความสูงสุดที่เป็นนิรันดร์!

แต่รัฐฆราวาสที่เป็นเสรีประชาธิปไตย ย่อมไม่ปกครองด้วยหลักความเชื่อทางศาสนา (เช่นความเชื่อเรื่อง “คุณธรรม” “คนดี” ตามหลักศาสนาใดศาสนาหนึ่ง) และไม่อ้างความดีหรือความจริงสูงสุดที่โต้แย้งหักล้างไม่ได้ใดๆ เป็นหลักในการปกครอง แม้หลักเสรีประชาธิปไตยเองก็ไม่ใช่ความดีหรือความจริงสูงสุด แต่เป็นหลักที่โต้แย้งหักล้างหรือเสนอให้เปลี่ยนแปลงได้ ตราบใดที่ไม่ใช้ความรุนแรงล้มล้าง

ฉะนั้น ความคิดเรื่องคนดีและชนชั้นทางสังคมตามจักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิ และการถือว่าอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์เป็นความจริงและความดีสูงสุดที่พุทธศาสนาชาตินิยมสนับสนุน จึงขัดแย้งกับคุณค่าสากลคือเสรีภาพ ความเสมอภาคและความเป็นประชาธิปไตยสมัยใหม่ หรือเสรีประชาธิปไตย และนับวันจะถูกตั้งคำถามท้าทายมากขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของประชาชน อันเนื่องมาจากระบบเศรษฐกิจ การเมือง การสื่อสารในโลกสมัยใหม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ประเด็นท้าทายที่สำคัญมากอย่างหนึ่งคือ ความดี คุณธรรม คนดี และอุดมการณ์อันเป็นความจริงและความดีสูงสุดหนึ่งเดียวที่โต้แย้ง หักล้างไม่ได้นั้น “ไม่มีความเป็นมนุษย์” หรือขัดกับความงอกงามของความเป็นมนุษย์ในโลกสมัยใหม่หรือไม่?

เพราะความงอกงามของมนุษย์ ทั้งในแง่ศักยภาพทางปัญญา ความคิด อารมณ์ สังคม ไปจนถึงการพัฒนาความสามารถที่จะขับเคลื่อนความก้าวหน้าในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และอื่นๆ ตลอดถึงการเปิดกว้างในการเรียนรู้เพื่อแสวงหาอิสรภาพทางจิตวิญญาณ ล้วนเป็นความงอกงามที่เป็นไปได้ในสังคมพหุนิยมที่ต้องอาศัยสนามการเรียนรู้ที่มีเสรีภาพ ความเสมอภาค และ/หรือความเป็นเสรีประชาธิปไตย

ทว่าการปลูกฝังกล่อมเกลาสร้าง “พลเมืองดี” ที่ไม่ใช่พลเมืองซึ่งมีสิทธิ เสรีภาพตามหลักสากล แต่เป็นพลเมืองที่มี “หน้าที่” เชื่อฟังผู้ปกครองที่เป็นคนดีมีคุณธรรม เพราะเชื่อว่าผู้ปกครองที่เป็นคนดีมีคุณธรรมนั้นๆ จะรู้ทุกเรื่อง คิดแทน ทำแทนได้ทุกเรื่อง เป็นคนดีแล้วจะไม่ทำสิ่งที่ผิดใดๆ หรือกระทั่งมีอภิสิทธิ์ทำสิ่งที่ผิดหลักการประชาธิปไตยได้ เช่นทำรัฐประหาร และผูกขาดการกำหนดกติกาปกครองประเทศได้ตลอดไป เป็นต้น นี่ย่อมเป็นการทำให้พลเมืองไม่มีความเป็นมนุษย์ในความหมายสมัยใหม่ และสำหรับพลเมืองที่ต้องการจะพัฒนาความเป็นมนุษย์ของตนเองให้งอกงาม ด้วยการยืนยันการใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นและเรียกร้องเสรีประชาธิปไตย เขาย่อมเผชิญกับการปราบปรามของอำนาจรัฐ

คำถามก็คือ ที่มักอ้างกันตลอดเวลาว่าพุทธศาสนาเถรวาทสยามไทยสอนให้คนเป็น “คนดี” นั้น ความเป็นคนดี ทำไมจึงไปกันไม่ได้กับความเป็นมนุษย์ในโลกสมัยใหม่? หรือขัดแย้ง เป็นอุปสรรคต่อความงอกงามของความเป็นมนุษย์ในโลกสมัยใหม่?

นี่ต่างหากที่ควรเป็นคำถามหลักของการปฏิรูปพุทธศาสนา เพราะการปฏิรูปพุทธศาสนาจะไม่มีความหมายอะไรเลย หากไม่ปลดปล่อยพุทธศาสนาจากการเป็นกลไกอำนาจรัฐ และทำให้พุทธศาสนาเชิงคำสอนมีความหมายต่อการสนับสนุนคุณค่าความเป็นมนุษย์ในโลกสมัยใหม่
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net