Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้ฯ ออกแถลงการณ์กระตุ้น การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐต่อกรณีการหายไปของ บิลลี่ เพื่อยุติวงจรการลอยนวลพ้นผิด เนื่องจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง

เนื่องในวันที่ 17 เมษายน 2558 เป็นวันครบรอบการหายไปของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือ “บิลลี่” นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่หายตัวไปในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี ร่วมกับ คุณอังคนา นีละไพจิตร และพี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง ร่วมกันจัดกิจกรรมรำลึก 1 ปี บิลลี่หายไป 11 ปี ทนายสมชาย (รายละเอียดตามงานตามโปสเตอร์)

ในวาระดังกล่าวแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงออกใบแถลงข่าวหัวข้อ “ครอบครัวยังรอความยุติธรรมหลังครบหนึ่งปีการหายตัวไปของ“บิลลี่-พอละจี” นักปกป้องสิทธิมนุษยชน” เพื่อกระตุ้นให้ทางการดำเนินการอย่างเฉียบขาด และใช้มาตรการอย่างรอบด้าน เพื่อยุติวงจรการลอยนวลพ้นผิดเนื่องจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงในกรณีนี้และกรณีอื่นๆ ในประเทศไทย

ครอบครัวยังรอความยุติธรรมหลังครบหนึ่งปีการหายตัวไปของ

“บิลลี่-พอละจี” นักปกป้องสิทธิมนุษยชน

หนึ่งปีหลังจากที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน “นายพอละจี รักจงเจริญ” หรือ “บิลลี่” ซึ่งเชื่อว่าตกเป็นเหยื่อการบังคับให้สูญหายในอุทยานแห่งชาติที่ใหญ่สุดของไทย ความจริงเกี่ยวกับชะตากรรมและที่อยู่ของเขายังไม่เป็นที่ปรากฏ

ในโอกาสครบรอบปีที่บิลลี่ถูกบังคับให้สูญหายแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ทางการไทยดำเนินการอย่างเฉียบขาดเพื่อดำเนินคดีกรณีบิลลี่และใช้มาตรการอย่างรอบด้านเพื่อยุติวงจรการลอยนวลพ้นผิดในประเทศไทย เนื่องจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในกรณีนี้และอื่นๆ

เป็นที่น่ากลัวว่า “บิลลี่” นักกิจกรรมเพื่อสิทธิชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อายุ 30 ปี และผู้เป็นพ่อของลูกทั้งห้าคน ได้ตกเป็นเหยื่อของการบังคับบุคคลให้สูญหายเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 เนื่องจากความพยายามของเขาที่จะดำเนินคดีต่อทางการในข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนเผ่ากะเหรี่ยง ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ

มีรายงานว่าการสอบสวนทางอาญาของตำรวจต่อกรณีการหายตัวไปของเขาเต็มไปด้วยความล่าช้า ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการแทรกแซงของผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น

ที่ผ่านมามีการฟ้องร้องดำเนินคดีเพียงคดีเดียวเกี่ยวกับการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย ได้แก่กรณีที่เกิดขึ้นกับทนายสมชาย นีละไพจิตรเมื่อปี 2547 แต่กระบวนการยุติธรรมหยุดชะงักไปเนื่องจากขาดพยานหลักฐาน และหนึ่งในพยานสำคัญได้สูญหายไป

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ทางการไทยปฏิบัติตามพันธกรณีที่จะต้องสอบสวนการบังคับบุคคลให้สูญหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับบิลลี่อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องจัดให้ครอบครัวของเขาเข้าถึงการเยียวยาอย่างเต็มที่ และให้ดำเนินคดีต่อผู้ต้องสงสัยใด ๆ ที่ต้องรับผิดชอบกับการสูญหายครั้งนี้

ทั้งนี้ ในลำดับแรกต้องให้การประกันว่าเจ้าหน้าที่สอบสวนต้องดำเนินการค้นหาบิลลี่อย่างครอบคลุม เพื่อให้ทราบถึงชะตากรรมและสถานที่อยู่ของเขาโดยตำรวจ พนักงานอัยการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องได้รับข้อมูลและความร่วมมือที่จำเป็นจากหน่วยงานทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาคและส่วนกลาง รวมทั้งจัดการคุ้มครองแก่พยานและครอบครัวของบิลลี่ทางการควรมอบหมายให้หน่วยงานเช่นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าไปสอบสวนกรณีนี้อย่างเป็นอิสระ

ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) และอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (UN Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment) ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องให้การประกันว่าจะมีการสอบสวนอย่างฉับพลันเป็นอิสระ โดยปราศจากความลำเอียงและรอบด้าน เมื่อเกิดเหตุสงสัยว่าเกิดการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย หรืออาจมีการสูญเสียชีวิตโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่

ทางการไทยยังควรดำเนินการให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) และประกันว่ากฎหมายไทยจะมีข้อบัญญัติที่ชัดเจนเพื่อเอาผิดต่อความผิดในกรณีนี้

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังเรียกร้องให้ทางการไทยคุ้มครองและยอมรับอย่างเป็นทางการต่อสิทธิของนักเคลื่อนไหวในการจัดกิจกรรมอย่างสงบเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนและคุ้มครองสิทธิชุมชนของตนเอง โดยไม่ต้องเกรงกลัวว่าจะถูกตอบโต้ ที่ผ่านมานักกิจกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมในไทยถูกคุกคามและทำร้ายมาเป็นเวลาหลายปี โดยในระหว่างปี 2557-2558 มีผู้ถูกสังหารไปแล้วสี่คน

 

ข้อมูลพื้นฐาน

มีผู้พบเห็นบิลลี่เป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ระหว่างที่เขาถูกอดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและเจ้าหน้าที่อุทยานสี่คนควบคุมตัวไว้ ในขณะที่อดีตหัวหน้าอุทยานยืนยันว่าเจ้าหน้าที่อุทยานได้ควบคุมตัวเขาฐานครอบครองน้ำผึ้งป่าและปล่อยตัวบิลลี่ในวันเดียวกัน แต่กลับไม่มีหลักฐานบันทึกการจับกุม ควบคุมตัว หรือปล่อยตัวแต่อย่างใดตามความเป็นจริงมีรายงานถึงพยานหลักฐานที่ขัดแย้งกับข้ออ้างที่ว่ามีการปล่อยตัวบิลลี่แล้ว ในเดือนตุลาคม 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศว่าได้พบหยดเลือดของชายคนหนึ่งซึ่งไม่สามารถจำแนกตัวได้ในรถซึ่งเป็นของเจ้าหน้าที่อุทยาน

ในเดือนมกราคม 2558 ตำรวจตั้งข้อหาต่อเจ้าหน้าที่อุทยานฐานปฏิบัติมิชอบในหน้าที่ ซึ่งมีโทษจำคุกหนึ่งถึงสิบปี เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวบิลลี่เมื่อเดือนเมษายน 2557 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ศาลอุทธรณ์ได้ยกคำร้องของ น.ส.พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่ที่ได้ยื่นคำร้องเมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 คัดค้านคำสั่งของศาลจังหวัดเพชรบุรี เพื่อเรียกร้องให้มีการสอบสวนเรื่องการถูกควบคุมตัวของบิลลี่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ว่าบิลลี่ยังอยู่ในการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยาน

ในช่วงของการบังคับสูญหายบิลลี่กำลังเดินทางจากหมู่บ้านของเขาไปพบกับชาวบ้านกะเหรี่ยงเกี่ยวกับกรณีการถูกไล่รื้อและการเผาทรัพย์สินบ้านเรือนโดยเจ้าหน้าที่อุทยาน ทั้งนี้เพื่อเตรียมข้อมูลการฟ้องคดีโดยมีหัวหน้าอุทยานเป็นจำเลยในคดีดังกล่าว ในบรรดาผู้ได้รับผลกระทบนี้รวมถึงปู่ของบิลลี่ซึ่งมีอายุ 103 ปีบิลลี่เดินทางพร้อมกับเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดี รวมทั้งฎีกาที่เตรียมถวายกับองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

นายทัศน์กมล โอบอ้อม อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งและนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมที่ทำงานเพื่อสิทธิชาวกะเหรี่ยง ได้ถูกสังหารระหว่างขับรถในช่วงกลางคืนของเดือนกันยายน 2554 นายทัศน์กมลซึ่งเป็นสมาชิกเดียวกับเครือข่ายของบิลลี่ ได้ทำงานช่วยเหลือชาวบ้านกะเหรี่ยงในการร้องเรียนเมื่อเกิดการคุกคาม การใช้ความรุนแรง การตัดไม้เถื่อน และการล่าสัตว์อย่างผิดกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่อุทยาน

ในเดือนตุลาคม 2557 ศาลจังหวัดเพชรบุรีมีคำสั่งว่าอดีตหัวหน้าอุทยานแก่งกระจานซึ่งอยู่กับบิลลี่เป็นครั้งสุดท้ายพร้อมกับจำเลยอีกสี่คนไม่มีความผิดในกรณีการสังหารนายทัศน์กมล เนื่องจากพยานหลักฐานของอัยการไม่มีความชัดเจนและเป็นพยานแวดล้อม

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักสิ่งแวดล้อมที่ทำงานในระดับชุมชนของไทยมักต้องเผชิญกับความยากลำบากและการทำงานที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งหลายคนเป็นสมาชิกของชุมชนในเขตชนบทหรือกึ่งชนบทที่ต้องเผชิญหน้ากับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ หรือการขูดรีดทรัพยากรธรรมชาติ และปัญหาที่เกิดจากกากของเสียปนเปื้อน

สมาชิกชุมชนและผู้นำชุมชนมักตกเป็นเป้าหมายการคุกคามและการทำร้ายอย่างรุนแรง รวมทั้งการลอบสังหาร นับแต่ปี 2536 ที่ผ่านมา นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในระดับชุมชนหลายคนถูกสังหาร โดยผู้ที่อยู่เบื้องหลังมักลอยนวลพ้นผิด นักกิจกรรมหลายคนตกเป็นเป้าหมายของการโดนทำร้ายอย่างรุนแรงและถูกคุกคาม

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net