7 เครื่องมือตรวจโรคราคาถูกสำหรับประเทศยากจน

เว็บไซต์ OpenMind นำเสนอบทความเกี่ยวกับเครื่องมือราคาถูกสำหรับใช้ตรวจวินิจฉัยโรคสำหรับประเทศที่ยากจน ซึ่งมีทั้งเครื่องที่สามารถตรวจโรคร้ายๆ อย่างอีโบลา, วัณโรค, มาลาเรีย, โรคเอดส์ โดยอาศัยทรัพยากรไม่มากและมีความสะดวกในงานแพทย์ภาคสนาม

15 เม.ย. 2558 ในทุกปีมีโรคภัยไข้เจ็บหลายชนิดคร่าชีวิตคนไปจำนวนมาก มีประชากรโลกราว 1 ล้านคนเสียชีวิตจากมาลาเรีย มีมากกว่า 4 ล้านคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ ราว 3 ล้านเสียชีวิตจากการติดเชื้อในลำไส้ อีกราว 5 ล้านคนเสียชีวิตจากโรคเอดส์และวัณโรค ขณะที่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ และการติดเชื้อปรสิตในเขตร้อนก็เป็นเหตุให้คนหลายแสนคนเสียชีวิตในหนึ่งปี

วารสารเนเจอร์รีวิวระบุไว้ในปี 2547 ว่า การเสียชีวิตเหล่านี้ร้อยละ 95 เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาและสิ่งที่จะช่วยต่อสู้กับโรคร้ายเหล่านี้ได้คือการวินิจฉัยโรคที่แม่นตรงและทำได้ง่าย แต่ในประเทศที่เกิดโรคภัยเหล่านั้นก็ขาดแคลนเครื่องมือที่ดี

อย่างไรก็ตาม Open Mind ระบุว่าเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการพัฒนาเทคนิคใหม่ที่ทำให้สามารถวินิจฉัยและรักษาโรคในประเทศกำลังพัฒนาได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานอย่างโรงพยาบาลหรือห้องแล็บ เทคนิคดังกล่าวทำให้เกิดการพัฒนาเครื่องมือที่เรียกว่า 'พอยต์ออฟแคร์เทสต์' (POCT) ซึ่งเป็นเครื่องมือตรวจโรคราคาถูกที่ให้ผลลัพธ์รวดเร็วและเหมาะจะใช้กับพื้นที่ๆ ประสบปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุข

เครื่องมือดังกล่าวนี้จะช่วยทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขวินิจฉัยหรือรักษาโรคผู้ป่วยได้เร็วขึ้น ซึ่งวงการวิทยาศาสตร์เสนอว่าเครื่องมือ POCT ที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติ 7 อย่างคือ ราคาไม่แพง, ตอบสนองได้ดี, มีความจำเพาะเจาะจง, ใช้งานได้ง่าย, ให้ผลรวดเร็ว, ทนทาน, ไม่ต้องพึ่งเครื่องมืออื่น และให้ผลลัพธ์ได้จริง เครื่องมือ POCT มีความหลากหลายและมีหลายรุ่นซึ่งในรุ่นต่างๆ มีการพัฒนาความสามารถด้วยจุดประสงค์ที่ต่างกันเช่นรุ่นแรกสุดจะเน้นความถูกและเร็ว รุ่นที่สองเพิ่มความสามารถเรื่องการทดสอบขยายกรดนิวคลีอิก รุ่นที่สามมีการใช้ร่วมกับเทคโนโลยีพกพาอย่างการเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือได้

บทความของ Open Mind ได้ยกตัวอย่าง POCT ที่น่าสนใจไว้ 7 ชิ้น แต่ก็มีบางชิ้นที่คงอยู่ในขั้นตอนการศึกษาและยังไม่มีวางจำหน่าย

1.) เครื่องตรวจเลือดวินิจฉัยโรคได้ 6 ชนิด

กลุ่มนักวิจัยไวท์ไซด์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพัฒนาเครื่องมือตรวจเลือดราคา 25 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 800 บาท) ซึ่งจะมีราคาถูกกว่านี้ถ้ามีการผลิตแบบเป็นจำนวนมาก นักวิจัยกล่าวว่าเครื่องมือนี้สามารถตรวจเลือดและแหล่งน้ำเพื่อหาเชื้อมาลาเรีย ตรวจเบาหวาน และยังใช้วัดความปนเปื้อนของแหล่งน้ำได้ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาต่อเพื่อขยายผลไปถึงการตรวจหาเชื้อเอชไอวี, อีโบล่า, อีโคไล, ตับอักเสบ, หวัด หรือไข้เลือดออก ได้ด้วย

วิธีใช้เครื่องมือนี้คือใช้เลือดหรือน้ำหยดเดียวลงบนแผ่นกระดาษแล้วสอดเข้าเครื่องมือนี้ก็จะสามารถตรวจหาโรคต่างๆ ได้ภายในไม่นาน นอกจากนี้ยังสามารถต่อเครื่องมือเข้ากับโทรศัพท์มือถือเพื่ออัพโหลดข้อมูลโดยอาศัยเพียงแค่โทรศัพทํที่ใช้เทคโนโลยีระดับ 2G ก็ทำได้

2.) ตรวจหาเซลล์เม็ดเลือดแดงรูปเคียวด้วยราคาน้อยกว่า 1 ดอลลาร์

ไวท์ไซด์ยังมีผลงานอีกชิ้นหนึ่งคือการตรวจหาโรคเซลล์เม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle-Cell Disease) ซึ่งเป็นเม็ดเลือดแดงที่มีการเติบโตของรูปทรงผิดปกติด้วยเครื่องมือราคาถูก ซึ่งโรคนี้ทำให้อัตราการเสียชีวิตในเด็กสูงมากในทวีปแอฟริกา ทำให้นักวิจัยใช้เครื่องตรวจเลือดที่ใช้งานง่ายและพกพาได้ การตรวจเลือดในแต่ละครั้งยังใช้เครื่องมือที่ราคาเพียง 50 เซนต์ และใช้เวลาตรวจหาเพียงแค่ประมาณ 10 นาที

3.) ตรวจเชื้ออีโบล่าภายใน 15 นาที

เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกยอมรับให้มีการใช้เครื่องมือใหม่ที่เรียกว่า 'เครื่องตรวจแอนติเจนเร่งด่วนรีบอฟ' (Reebov antigen Rapid Test) พัฒนาโดยบริษัทคอร์เจนนิกซ์ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้วินิจฉัยโรคอีโบลาภายในเวลาเพียง 15 นาที ผู้สร้างเครื่องมือนี้ระบุว่ามีวิธีการทำงานแบบเดียวกับเครื่องตรวจการมีครรภ์

อย่างไรก็ตามองค์กรแพทย์ไร้พรมแดนยังคงไม่ไว้ใจเครืองมือนี้โดยกล่าวว่าเป็นเครื่องมือที่ขาดความแม่นยำ อาจจะทำให้เกิดการตรวจผลอีโบลาเป็นบวกทั้งที่ผู้รับการตรวจไม่ได้ติดเชื้อจริงๆ ได้ นอกจากนี้เครื่องมือรีบอฟยังต้องผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ เพื่อที่จะสามารถนำไปทดสอบภายนอกสหรัฐฯ ได้ ทางด้านองค์การอนามัยโลกก็ยังคงรอให้การรับรองเครื่องมืออื่นๆ ที่จะสามารถตรวจหาอีโบลาได้ดีขึ้น

4.) เครื่องตรวจไข้เลือดออก ไข้เหลือง และอีโบลา ด้วยราคาเพียง 5 ดอลลาร์

สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) พัฒนาเครื่องมือราคาเพียง 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสามารถตรวจหาเชื้อไข้เลือดออก ไข้เหลือง และอีโบลา ภายในเวลาเพียง 10 นาที โดยอาศัยเพียงเลือด 1 หยด เครื่องมือนี้ใช้เทคโนโลยีชีวโมเลกุลที่ทำให้ผู้ตรวจโรคตรวจสอบสารพันธุกรรมในเลือดเพื่อหาโรคทั้ง 3 ชนิดได้ อย่างไรก็ตามเครื่องมือนี้ยังอยู่ในขั้นตอนทดสอบกับสัตว์เพื่อพัฒนาต่อไป

5.) เทคโนโลยีชีวโมเลกุลของบริษัทอังกฤษ

บริษัท QuantuMDx จากอังกฤษสร้างเครื่องมือพกพาที่เรียกว่า 'ห้องแล็บพกพาคิวป็อก' (Qpoc Handled Laboratoty) ที่สามารถตรวจหาอีโบลา, โรคหนองใน, เอชไอวี, วัณโรค และมาลาเรีย ได้ภายในเวลา 10 นาที ตัวเครื่องมือเองมีราคา 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่แผ่นตรวจในแต่ละครั้งมีราคาราว 100 ดอลลารสหรัฐฯ เครื่องมือนี้ใช้เทคโนโลยีชีวโมเลกุลเพื่อตรวจสารพันธุกรรม อย่างไรก็ตามเครื่องมือนี้ยังรอการรับรองอยู่ และคาดว่าจะมีการปล่อยออกสู่ท้องตลาดในปีนี้

6.) เครื่องตรวจวัณโรคและการดื้อยาต้านวัณโรค

เครื่องมือ GeneXpert MTB/RIF เป็นเครื่องมือที่นิยมใช้มากที่สุดในการตรวจหาวัณโรคและการดื้อยาไรแฟมฟิซิน (ยาปฏิชีวนะที่มักจะใช้รักษาวัณโรค) เครื่องมือนี้สร้างโดยมหาวิทยาลัยการแพทย์แห่งรัฐนิวเจอร์ซี บริษัทเซเฟอิด และสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ ในปี 2553 องค์การอนามัยโลกสนับสนุนให้ใช้เครื่องมือนี้กับประเทศที่มีการระบาดของวัณโรค GeneXpert MTB/RIF ให้ผลลัพธ์ได้ภายใน 2 ชั่วโมงแต่มีราคาแพงกว่าเครื่องตรวจวัณโรคในตัวอย่างก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามมีการนำเครื่องนี้ไปใช้เป็นจำนวนมากในแอฟริกาใต้โดยมียอดส่งออกไปยังแอฟริกาใต้ในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาถึง 3 หมื่นเครื่อง

7.) เครื่องตรวจวินิจฉัยเอชไอวีและไวรัสตับอักเสบซี

บริษัท เมดมิรา จากแคนาดา เป็นบริษัทเดียวในโลกที่เป็นผู้จำหน่ายเครื่องตรวจวินิจฉัยเอชไอวีและไวรัสตับอักเสบซีที่สามารถให้ผลลัพธ์ได้โดยทันทีอย่างถูกต้องตามกฎหมายของแคนาดา, สหรัฐฯ, จีน และสหภาพยุโรป บริษัทนี้ยังจำหน่ายเครื่องมือให้กับโรงพยาบาล คลินิค ห้องแล็บ รวมถึงบุคคลทั่วไปด้วย อีกทั้งยังมีแผนการขยายตลาดในสหรัฐฯ ในช่วงเมื่อไม่นานมานี้

เครื่องมือทั้ง 7 ชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าวงการวิทยาศาสตร์มีความสามารถผลิตเครื่องมือวินิจฉัยโรคในราคาถูกได้ อย่างไรก็ตาม เครื่องมือเพียงอย่างเดียวคงไม่ช่วยให้โรคภัยไข้เจ็บหายไปจากประเทศที่กำลังพัฒนาได้ บทความในวารสารเนเจอร์รีวิวระบุว่า "การลงทุนอย่างต่อเนื่อง, เจตจำนงทางการเมือง, ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน การเงินและการทำงานตอบสนองต่อความต้องการทางการแพทย์แบบใหม่ๆ" ทั้งหมดนี้ล้วนสำคัญต่อการต่อสู้กับโรคร้ายเช่นกัน

เรียบเรียงจาก

7 Low-Cost Devices for Diagnosing Diseases in Poor Countries, Open Mind, 07-04-2015
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท