คนทำงาน อปท. ควรรู้ สปช. เสนอปฏิรูป ‘บุคลากรท้องถิ่น’ อย่างไรบ้าง

สปช. เสนอให้มีหน่วยงานกลางหน่วยงานเดียวทำหน้าที่สอบแข่งขันเลื่อนตำแหน่งข้าราชการ อปท. งอก ‘คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม’ กำกับดูแลด้านคุณธรรม และแม้ยังให้อำนาจบริหารงานบุคคลากรแก่ผู้บริหารท้องถิ่นแต่ให้มีการจัดลำดับอำนาจการบังคับบัญชาให้แก่ปลัด

13 เม.ย. 2558 ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการปกครอง (ณ เดือนมีนาคม 2558) พบว่าจำนวนบุคลากรขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ฝ่ายการเมือง ประกอบไปด้วย ผู้บริหารและสมาชิกสภา มีจำนวน 153,601 คน ฝ่ายข้าราชการประจำ ประกอบไปด้วย ข้าราชการ 173,547 คน ลูกจ้างประจำ 19,687 คน และพนักงานจ้าง 211,279 คน

ทั้งนี้ในประเด็นการบริหารทรัพยากรบุคคลท้องถิ่นนั้น เป็นประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งในการปฏิรูปประเทศหลังการรัฐประหาร ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมาธิการการบริหารทรัพยากรบุคคลท้องถิ่น ในคณะกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น สภาปฏิรูปแห่งชาติ ทำการศึกษาเรื่องการปรับปรุงการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น และได้มีการนำเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติไปเมื่อต้นเดือนเมษายน 2558 ที่ผ่านมา

โดยคณะอนุกรรมาธิการฯ ระบุถึงสภาพปัญหาของการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นที่ผ่านมาว่าสภาพปัญหาการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นที่ผ่านมาว่า การบริหารงานบุคคลขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มีหลักการที่ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล มีคณะกรรมการบริหารงานบุคคลเป็นของตนเอง ทำให้เกิดข้อจำกัดในการดำเนินการหลายประการดังนี้

1. การมีคณะกรรมการจำนวนหลายคณะ

ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 กำหนดให้มีคณะกรรมการทั้งในระดับชาติ ระดับจังหวัด แยกตามประเภทองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้มีคณะกรรมการที่รับผิดชอบด้านการบริหารงานบุคคลมากกว่า 200 คณะ อันนำไปสู่การวินิจฉัยการบริหารงานบุคคลในประเด็นเดียวกันแต่มีผลแตกต่างกัน เกิดความลักลั่น ไม่มีมาตรฐานอย่างเท่าเทียมกัน

2. ความอ่อนแอของระบบคุณธรรม

ตามระบบคุณธรรมของการบริหารงานบุคคลซึ่งประกอบด้วย หลักความรู้ความสามารถ หลักความเสมอภาคในโอกาสนั้น สภาพปัญหาที่ผ่านมาจะพบว่ามีข่าวสารหรือข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตสอบแข่งขัน การไม่สรรหาตำแหน่งบริหารที่ว่าง หรือการเรียกรับผลประโยชน์จากการคัดเลือกจนเกิดคำว่า "ซีละแสน"

3. ปัญหาภาระค่าใช้จ่ายด้านการบริหารงานบุคคล

การกำหนดตำแหน่งและอัตรากำลังขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปตามความเหมาะสมกับปริมาณงาน แต่ภาระค่าใช้จ่ายด้านการบริหารงานบุคคลต้องไม่เกินร้อยละ 40 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อเป็นกรอบในการควบคุมภาระค่าใช้จ่ายประจำ แต่ด้วยฐานะการคลังขององค์การปกครองท้องถิ่นบางแห่งกำหนดตำแหน่งมากเกินความจำเป็นจนในท้ายสุดภาระค่าใช้จ่ายเกินกว่าที่กฎหมายบัญญัติ

4. ปัญหาการโอน

ด้วยข้อจำกัดด้านกฎหมายที่ผ่านมาทำให้เกิดปัญหาการโอนสับเปลี่ยนกัน ส่งผลติดตามมาในเรื่องการดำรงตำแหน่งที่ติดต่อยาวนานหรือกรณีจำเป็นที่เกิดความขัดแย้งภายในพื้นที่ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้

5. ปัญหาด้านการกำกับดูแล

เมื่อเกิดปัญหาการละเว้นหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด อันมีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของข้าราชการและผู้เกี่ยวข้อง ผู้กำกับดูแลไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที อันเนื่องมาจากกฎหมายไม่ได้กำหนดบทลงโทษหรือแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจนในการแก้ปัญหา

ข้อเสนอให้ปฏิรูปการบริหารทรัพยากรบุคคลท้องถิ่นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ของคณะอนุกรรมาธิการการบริหารทรัพยากรบุคคลท้องถิ่น ในคณะกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น สภาปฏิรูปแห่งชาติ มีหลักการเบื้องต้นดังนี้

Pre-Post Audit

1) ให้มีคณะกรรมการ 1 คณะเป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลเรียกว่า คณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น (กถ.) เป็นผู้ออกหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล และมีหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินการก่อนมีคำสั่งแต่งตั้ง ลงโทษ หรือให้ข้าราชการ พ้นจากตำแหน่งว่าเป็นไปด้วยความถูกต้องเป็นธรรมตามกฎที่กำหนด

2) ให้มีคณะกรรมการ 1 คณะเป็นองค์กรกึ่งตุลาการเรียกว่า คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (กพถ.) เป็นผู้ตรวจสอบการใช้ดุลพินิจเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของผู้บังคับบัญชา หากพบว่าการมีคำสั่งใดใดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลนั้นไม่เป็นธรรม กพถ. มีอำนาจสั่งเปลี่ยนแปลง ยกเลิก เพิกถอน และเยียวยาแก่ผู้เสียหายได้ เพื่อเป็นหลักประกันให้แก่ข้าราชการมีความเชื่อมั่นในระบบคุณธรรม

Merit

1) กำหนดให้มีหน่วยงานกลางเพียงหน่วยงานเดียวทำหน้าที่สอบแข่งขัน และการสอบเลื่อนชั้น เลื่อนตำแหน่ง เพื่อสร้างมาตรฐานคุณภาพข้าราชการ และเป็นการส่งเสริมให้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถได้รับความเสมอภาค ในโอกาสที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งหรือเลื่อนตำแหน่งอย่างเท่าเทียมกัน

2) กำหนดให้มีประมวลคุณธรรมจริยธรรม จรรยาบรรณสำหรับข้าราชการส่วนท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นธรรม

3) กำหนดให้การดำเนินการทางวินัยไม่ล่าช้าเกินควร เพราะความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรมเช่นกัน

Competency

1) ให้มีสถาบันพัฒนาข้าราชการเพื่อให้มีสมรรถนะทางการบริหารในการปฏิบัติราชการให้เหมาะสมกับตำแหน่ง / สภาพเศรษฐกิจสังคมซึ่งแตกต่างกัน เช่นพื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่ท่องเที่ยว พื้นที่ชายแดน เป็นต้น

2) ข้าราชการเป็นมืออาชีพในการบริหาร โดยกำหนดให้มีวาระการดำรงตำแหน่งเพื่อเพิ่มพูน ถ่อยทอดประสบการณ์

Performance

กำหนดให้นำหลักผลการปฏิบัติงานเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดตำแหน่ง การกำหนดเงินเดือนค่าตอบแทน การประเมินเลื่อนขั้นเงินเดือน เพื่อให้ท้องถิ่นมีผลการปฏิบัติงานที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมตรวจสอบได้

Flexible

1) กำหนดให้อำนาจการบริหารงานบุคคลเป็นของผู้บริหารท้องถิ่น แต่ให้มีการจัดลำดับอำนาจการบังคับบัญชาให้แก่ปลัดเพื่อลดขั้นตอน

2) กำหนดให้ระบบเงินเดือนค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ มีความยืดหยุ่น เช่น มีเงินเพิ่มตามสภาพพื้นที่

3) กำหนดให้คณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น (กถ.) แต่งตั้งอนุกรรมการระดับจังหวัด เพื่อทำหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งและพ้นจากตำแหน่ง รวมทั้งอนุกรรมการอื่นตามที่กฎหมายกำหนด

Participation

กำหนดให้นำหลักการมีส่วนร่วมภาคประชาชนอยู่ในกระบวนการบริหารทรัพยากรบุคคล เช่น ให้ภาคประชาชนเป็นองค์ประกอบหนึ่งในคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด การประเมินผลสัมฤทธิ์ในการปฏิบัติราชการเพื่อกำหนดค่าตอบแทนหรืองานที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างอัตรากำลัง ให้คำนึงถึงการประเมินความพึงพอใจของประชาชน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท