10 องค์กรสิทธิฯ ฟ้องศาลยุโรป กรณีรัฐบาลอังกฤษสอดแนมประชาชน

หลายองค์กรยื่นฟ้องต่อศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปให้ดำเนินคดีกับรัฐบาลอังกฤษกรณีสอดแนมประชาชนร่วมกับสหรัฐฯ ในโครงการต่างๆ ตามที่ถูกเปิดโปงโดยเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน เนื่องจากการสอดแนมเหล่านี้ละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนยุโรป (ECHR)

11 เม.ย. 2558 องค์กรสิทธิมนุษยชน 10 องค์กร ฟ้องร้องต่อศาลสิทธิมนุษยชนสูงสุดของยุโรปเพื่อดำเนินคดีกับรัฐบาลอังกฤษจากการที่รัฐบาลอังกฤษกระทำการสอดแนมประชาชนเป็นจำนวนมากเป็นประวัติการณ์และเป็นการกระทำการอย่างไม่มีข้อผูกมัดควบคุมใดๆ ตามที่เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตคนทำงานให้กับสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSA) เคยเปิดโปงเรื่องนี้ผ่านสื่อต่างๆ

องค์กรสิทธิมนุษยชนทั้ง 10 องค์กร อาทิเช่น องค์กรไพรเวซีอินเตอร์เนชันแนล, สหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน, แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล, สภาเพื่อเสรีภาพพลเมืองแห่งชาติอังกฤษ และองค์กรไบต์ฟอร์ออล ประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่าจะดำเนินการทางกฎหมายต่อโครงการสอดแนมต่างๆ ได้แก่ PRISM, UPSTREAM และ TEMPORA ในข้อหาละเมิดสิทธิตามที่ถูกระบุไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนยุโรป (ECHR)

ในใบคำร้องต่อศาลระบุว่าองค์กรทั้ง 10 รู้สึกเป็นห่วงในเรื่องที่มีการดักเก็บข้อมูล ตรวจสอบข้อมูล เผยแพร่ข้อมูล และเก็บรักษาข้อมูลการสื่อสารของประชาชนเป็นจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ กระบวนการสอดแนมเหล่านี้มีการดักเก็บข้อมูลการสื่อสารจำนวนหลายร้อยล้านครั้งและเกิดขึ้นโดยไม่มีคำสั่งอนุญาตจากศาล โดยทางการอังกฤษเป็นทั้งผู้ที่ปฏิบัติการสอดแนมเองและเป็นผู้ที่ได้รับข้อมูลจากการสอดแนมแบบเดียวกันมาจากสหรัฐฯ

นิค วิลเลียมส์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลกล่าวว่า การสอดแนมของรัฐบาลอังกฤษถูกปล่อยให้เกิดขึ้นโดยไม่มีการยับยั้งและเกิดขึ้นในวงกว้างซึ่งส่งผลลัพธ์อย่างใหญ่หลวงต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

"ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย และศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้โอกาสในการทำให้เรื่องนี้กระจ่าง" นิค วิลเลียมส์กล่าว

ก่อนหน้านี้ศาลอำนาจไต่สวนของอังกฤษ (IPT) ซึ่งเป็นองค์กรตุลาการอิสระที่ตั้งขึ้นเพื่อรับการร้องเรียนเกี่ยวกับการสอดแนมในอังกฤษ เคยตัดสินเมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมาว่า โครงการสอดแนมในอังกฤษไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำให้กลุ่มสิทธิมนุษยชนเหล่านี้พยายามป้องร้องทางกฎหมายในประเด็นนี้ต่อ และเมื่อเห็นว่าไม่มีลู่ทางตามกฎหมายใดๆ ในอังกฤษเหลืออยู่พวกเขาจึงนำเรื่องนี้ส่งฟ้องศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป

ในคำร้องต่อศาลสิทธิมนุษยชนยุโรประบุอีกว่า IPT ตัดสินคดีนี้ผิดพลาดเพราะโครงการสอดแนมถือว่าละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนยุโรปซึ่งให้การรับรองสิทธิความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทั้งนี้ยังระบุอีกว่า IPT ไม่มีการให้กลุ่มสิทธิมนุษยชนเข้ารับฟังการไต่สวนอย่างเป็นธรรม

วิลเลียมส์กล่าวว่ามันเป็นเรื่องน่าขันที่รัฐบาลอนุญาตให้มีกระบวนการไต่สวนคดีแบบปิดลับไม่เปิดให้คนอื่นเข้ารับฟังเพื่อที่จะอ้างว่าพวกเขามีความโปร่งใสเป็นไปตามกฎหมาย

คาร์ลี นิสต์ ผู้อำนวยการด้านกฎหมายขององค์กรไพรเวซีอินเตอร์เนชันแนลกล่าวว่า ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปมีประวัติที่ดีจากการเคยทำให้หน่วยข่าวกรองต้องปฏิบัติการโดยเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนมาก่อน นิสต์ยังหวังอีกว่าสำนักงานข่าวกรองอังกฤษ (GCHQ) จะต้องรับผิดชอบต่อการสอดแนมประชากรโลกอย่างไร้การควบคุม

กลุ่มสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ยอมรับว่าที่โครงการสอดแนมเหล่านี้เผยแพร่ออกสู่สาธารณะได้เป็นเพราะการเปิดโปงของสโนว์เดน

 

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท