ความคืบหน้าชุด กม.เศรษฐกิจดิจิทัล: คาด 5 ฉบับ รวม พ.ร.บ.กสทช. เข้า สนช. ใน พ.ค.นี้

ผอ.สพธอ.คาดร่าง กม.เศรษกิจดิจิทัล 5 ฉบับเข้า สนช. พ.ค.นี้ แจงเพิ่มสัดส่วนเอกชนในทุกฉบับ ชี้ทำให้คณะกรรมการใหญ่ขึ้น หวั่นคุมยาก แต่ก็ต้องมองให้ครบ เสนอเพิ่มเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาใน พ.ร.บ.คอมฯ

เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) กล่าวในงาน “Meet the CEO” กับสื่อมวลชน ถึงโค้งสุดท้ายของร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลฉบับใหม่ โดยระบุว่า มีร่างกฎหมาย 5 ฉบับ ที่คาดว่าจะเข้า สนช. ภายในสองเดือนนี้ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.กสทช., ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม, ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และ ร่าง พ.ร.ฎ.จัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)

ผอ.สพธอ. ระบุว่า ร่างกฎหมายเหล่านี้กำลังจะผ่านกฤษฎีกา เหลือเพียงเอาความเห็นที่รับฟังจาก closed meeting มาปรับอีกรอบ โดยน่าจะมีสัดส่วนเอกชนเข้าไปมากขึ้นในทุกฉบับ ซึ่งจะทำให้คณะกรรมการมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ก็ไม่ค่อยสบายใจ เพราะใหญ่แล้วคุมยาก แต่ก็จำเป็นต้องมองให้ครบ

สุรางคณา ประเมินว่า ในปีนี้ น่าจะผ่านร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลได้ทุกฉบับ โดย 5 ฉบับแรก จะเข้า สนช. ในเดือน พ.ค. และ 3 ฉบับหลัง (พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์) จะเข้า สนช.ใน 2-3 เดือนหน้า

ทั้งนี้ สุรางคณาระบุว่า ร่างที่เผยแพร่ได้ คือ ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และร่าง พ.ร.บ.กสทช. นอกนั้น ยังเซ็นสิทีฟอยู่

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เอกสารที่ได้รับทางอีเมลเป็นเพียงเอกสารสรุปเท่านั้น (ดูเอกสารด้านล่าง) ยังไม่มีการเผยแพร่ตัวร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว

สำหรับสาระสำคัญที่ปรับเพิ่มเติมจากร่างกฎหมายฯ ฉบับเดิม สุรางคณาระบุว่า 

ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
- ยุบรวมร่าง พ.ร.บ. 3 ฉบับเข้าด้วยกัน ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

- มีลักษณะพิเศษ แตกต่างจากกฎหมายอื่น โดยพูดถึงโครงสร้างส่วนราชการ บวกกับองค์กรตาม พ.ร.บ. ซึ่งไม่ใช่ราชการ

- เพิ่มกลไกของเอกชนเข้าไป เนื่องจากมีผู้แสดงความเห็น หลายครั้ง กังวลว่ากลไกรัฐจะมีอำนาจเยอะและไม่คิดนอกกรอบแบบเอกชน ทำให้เกิดปัญหา 

- มีหน่วยงานส่วนราชการ คือ สำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล ทำหน้าที่เหมือนสภาพัฒน์ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล

- มีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นเหมือน BOI ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล มีภารกิจครอบคลุมการดูแลพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งยุบเอา SIPA มาไว้ ส่วนที่มีการทักท้วงเรื่องคุณภาพบุคลาการ จะรับมาก่อนและคัดเลือกออกในภายหลัง

ร่าง พ.ร.บ.กสทช.
- น่าจะมีการปรับเพิ่มจำนวนคณะกรรมการ กสทช. กลับมาที่ 11 คนเหมือนกฎหมายเดิม แต่ยังคงเป็นกรรมการชุดเดียว

- คงการประมูลสำหรับการใช้คลื่นความถี่เชิงพาณิชย์ แต่เพิ่มเงื่อนไขว่าอย่าคำนึงถึงเงินเป็นหลัก ให้คำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ

- คง กองทุน กทปส. แต่แบ่งเงินส่วนหนึ่งให้กองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ

ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
-เนื่องจากปัจจุบัน มีกฎหมายเฉพาะที่มีเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลราวสิบฉบับ เช่น กฎหมายสุขภาพ กฎหมายข้อมูลเครดิต กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ เป็นต้น คณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ สพธอ. ร่วมกับกฤษฎีกา นำหน่วยงานที่ใช้กฎหมายทั้งสิบฉบับมาคุยกันว่าจะให้กฎหมายใหม่คุมกฎหมายเก่า หรือจะยกเว้นเลย แล้วว่าตามกฎหมายปัจจุบัน โดยจะคุยกันในสัปดาห์สุดท้ายของ เม.ย. ส่วนส่วนอื่นๆ เสร็จเกือบหมดแล้ว

-เพิ่มผู้ประมวลผลข้อมูล (data processor)

-เพิ่มเรื่องกำกับดูแลตนเอง (self-regulated) ให้ภาคธุรกิจกำกับดูแลตัวเอง เช่น ให้ประกาศการคุ้มครองข้อมูลลูกค้า โดยจะมีการออกเงื่อนไขประกาศเป็นแนวออกมาว่ามีกี่ข้อที่ต้องทำตาม 

ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
- มีการขอเพิ่มเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเข้าไป อยู่ระหว่างการพิจารณา

-จะเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อให้ตำรวจเป็นส่วนหนึ่งของกลไกตามกฎหมาย ให้สามารถทำคดีต่างๆ ได้ เพราะทุกวันนี้ทุกอาชญากรรมทำทางออนไลน์หมด

ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
- เมื่อถามว่าจะแก้ปัญหาที่ภาคธุรกิจกังวลเรื่องความปลอดภัยข้อมูลลูกค้าอย่างไร สุรางคณาตอบว่า กำลังคุยภาคธุรกิจ สมาคมใหญ่ๆ ให้กำกับดูแลตนเอง (self-regulated) ในการเก็บล็อกไฟล์ ซึ่งแปลว่ารัฐไม่ต้องใช้อำนาจศาลบังคับ อาศัยหลักความยินยอม โดยเชื่อว่าจะสำคัญมาก เพราะเหยื่อซึ่งเป็นลูกค้าของเขาเองจะเสียหาย 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท