Skip to main content
sharethis

<--break- />

วันที่ 8 เม.ย.2558 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ออกใบแจ้งข่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558  ศาลอาญา  ห้องพิจารณา 905 มีการไต่สวนคดีชันสูตรศพ หมายเลขคดีดำที่  อช.9/2557 คดีดังกล่าวเป็นกรณีที่นายสุรกริช ชัยมงคล อายุ 35 ปี ผู้ต้องหาคดีกรณียิงนายสุทิน ธราทิน  แกนนำประท้วงขัดขวางการเลือกตั้งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 26มกราคม 2557  และต่อมานายสุรกริช ชัยมงคล  หลังถูกจับกุมเมื่อวันที่8 กรกฎาคม 2557 โดยอำนาจกฎอัยการศึก และถูกนำตัวไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม  2557  ต่อมาเสียชีวิตเมื่อวันที่  28 สิงหาคม 2557 ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครโดยผิดธรรมชาติและไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน 

ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับการติดต่อขอความช่วยเหลือทางกฎหมายในการเป็นทนายผู้คัดค้านในคดีไต่สวนการตาย  โดยญาติต้องการขอความเป็นธรรมและเรียกร้องให้มีการค้นหาสาเหตุการตายที่แท้จริง เนื่องจากก่อนเสียชีวิตนายสุรกริชมีสภาพร่างกายที่แข็งแรง  อีกทั้งสภาพศพและร่องรอยตามเนื้อตัวร่างกายของนายสุรกริชที่มีบาดแผลตามร่างกายหลายแห่งและเสียชีวิตกระทันหัน  ญาติจึงติดใจในสาเหตุการเสียชีวิตดังกล่าวทำให้เป็นที่สงสัย  

ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมพบว่าการสืบสวนสอบสวนกรณีการเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวในคดีนายสุรกริช ชัยมงคล มีความล่าช้า ขาดประสิทธิภาพ และอาจมีการปกปิดไม่เปิดเผยข้อเท็จจริง    

ในวันที่ 2 เมษายน 2558 ศาลอาญา ถ.รัชดาได้เปิดห้องพิจารณาไต่สวนคดีโดยมีการรับฟังพยานจำนวน 3 ปาก ได้แก่ นางอารีย์ ชัยมงคล  มารดาของนายสุรกริช  นายเสวียน แสงพันธ์  ขณะเกิดเหตุเป็นหัวหน้าฝ่ายควบคุมผู้ต้องขัง  แดน 4  เรือนจำพิเศษกรุงเทพ  และนักโทษชายรายหนึ่งที่อยู่ในแดน  4  เรือนจำพิเศษกรุงเทพซึ่งเป็นแดนเดียวกันกับผู้ตาย

มารดานายสุรกริชได้ยื่นคำร้องขอเข้าซักถามพยานและนำพยานเข้าสืบ  โดยแต่งตั้งทนายความเป็นผู้แทนในวันดังกล่าวด้วย  ภายหลังสืบพยานทั้ง 3  ปากแล้ว  ทนายความได้แถลงขอให้ศาลเลื่อนไปสืบพยานแพทย์ผู้ที่ทำการชันสูตรพลิกศพ และพนักงานสอบสวน ในนัดหน้า  เนื่องจากเป็นพยานปากสำคัญที่จะให้รายละเอียดเพื่อระบุสาเหตุการตายและใครทำให้ตายตามหลักมาตรา 150 และ 151 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  พนักงานอัยการไม่คัดค้าน  ศาลจึงนัดไต่สวนในวันที่ 21 พฤษภาคม  2558

การเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัวรวมทั้งการเสียชีวิตในเรือนจำเป็นสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่คณะกรรมการต่อต้านการทรมานขององค์การสหประชาติให้ความสำคัญ โดยระบุในข้อสังเกตเชิงสรุปลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ว่า “คณะกรรมการฯรู้สึกเสียใจที่ยังขาดข้อมูลที่ครอบคลุมและที่มีการจำแนกประเภทการร้องเรียน การสอบสวน การดำเนินคดี และการตัดสินโทษกรณีการกระทำทรมานและการประติบัติที่โหดร้าย โดยเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ และข้อมูลการเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว วิสามัญฆาตกรรม การบังคับให้สูญหาย ความรุนแรงทางเพศ และการค้ามนุษย์ รัฐบาลไทยควรรวบรวมข้อมูลสถิติที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการปฏิบัติตามอนุสัญญาในระดับชาติ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการร้องเรียน การสอบสวน การดำเนินคดี และการตัดสินลงโทษกรณีการกระทำทรมานและการประติบัติที่โหดร้าย การเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว การวิสามัญฆาตกรรม  การบังคับให้บุคคลสูญหาย ความรุนแรงอันมีทางเพศ การค้ามนุษย์ และข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการชดเชย  การชดใช้และการฟื้นฟูเยียวยาให้กับผู้ประสบการกระทำทรมาน เมื่อรวบรวมแล้วพึงส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังคณะกรรมการฯ”

ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมพบว่าการสืบสวนสอบสวนกรณีการเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวในคดีนายสุรกริช ชัยมงคล มีความล่าช้า ขาดประสิทธิภาพ และอาจมีการปกปิดไม่เปิดเผยข้อเท็จจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่า มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นในคืนวันที่ 27 สิงหาคมในเรือนนอน และเวลาเช้าก่อนส่งตัวเข้ารับการรักษาพยาบาลภายในเรือนจำในวันที่ 28 สิงหาคม 2557 และรวมทั้งขาดข้อมูลที่โปร่งใสตรวจสอบได้ในเรื่องผลการรักษาพยาบาลทั้งในหน่วยพยาบาลภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ซึ่งพบว่านายสุรกริชเสียชีวิตในเวลา 17.20 น. การชันสูตรศพและการไต่สวนการตายในชั้นศาลที่ขาดข้อเท็จจริงที่เป็นอิสระมักจะไม่สามารถระบุสาเหตุการเสียชีวิตในเรือนจำได้   และไม่สามารถให้ความเป็นธรรมแก่ผู้เสียชีวิตและญาติได้

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเรียกร้องให้พนักงานสอบสวนและรวมทั้งกรมราชทัณฑ์ได้กำหนดให้มีหลักเกณฑ์การสืบสวนสอบสวนกรณีการเสียชีวิตในเรือนจำโดยพลัน อย่างเป็นอิสระ และมีประสิทธิภาพในทุกกรณี เพื่อเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เสียชีวิตในเรือนจำด้วยเหตุว่ามีละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น รวมทั้งเพื่อให้ญาติได้เข้าถึงวิธีการชดเชย  การชดใช้และการฟื้นฟูเยียวยาอย่างเหมาะสมและเพียงพอ อีกทั้งหากปรากฏว่ามีผู้กระทำความผิดหรือมีส่วนในการทำให้ผู้ต้องขังเสียชีวิตจะต้องมีการนำคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นธรรม โดยไม่ให้กระทำการละเมิดและผู้รับผิดกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงดังกล่าวลอยนวล

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net