Skip to main content
sharethis
คนงานลงท่อซ่อมเครื่องสูบน้ำหมดสติถูกน้ำดูด - กู้ภัยช่วยทัน 3 ราย
 
เมื่อเวลา 15.30 น.วันที่ 3 เม.ย.58 ร.ต.ท.ประเดิม อุทยานิน ร้อยเวรสอบสวน สภ.ย่อยนวนคร ได้รับแจ้งมีคนงานซ่อมท่อระบายน้ำถูกน้ำดูดติดท่อและมีผู้ได้รับบาดเจ็บบริเวณหน้าปากซอยนครชัยวิลล่า 3 ถนนพหลโยธินขาออก  ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี จึงไปที่เกิดเหตุพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่มูลนิธิปอเต็กตึ้งและกู้ชีพเทศเมืองท่าโขลง
 
ที่เกิดเหตุพบประชาชนมุ่งดูเป็นจำนวนมากและพบเจ้าหน้าที่กำลังช่วยกันปั้มหัวใจผู้หมดสติจำนวน 3 ราย จึงช่วยกันปั้มหัวใจและให้รถกู้ชีพนำส่งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งผู้ได้รับบาดเจ็บมี 2 รายทราบชื่อนายสรศักดิ์ เปรมปรีดาไม่ทราบอายุและที่อยู่ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลการุณเวชไปก่อนแล้ว ส่วนที่ส่งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ ยังไม่ทราบชื่ออายุและที่อยู่ และนายสมภพ คลองญาติ อายุ 59 ปี ไม่ทราบที่อยู่ตรวจสอบที่เกิดพบอุปกรณ์ซ่อมท่อระบายน้ำวางอยู่พร้อมเครื่องสูบน้ำ
 
จากการสอบถามนายสมภพ คลองญาติ พอให้การได้แจ้งว่าตนเองพร้อมเพื่อนอีก 2 คน มาซ่อมเครื่องสูบน้ำที่บ่อระบายน้ำอยู่ที่ปากซอยนครชัยวิลล่า 3 เนื่องจากมีน้ำท่วมขังฝนตกใหญ่ที่ผ่านมา ระหว่างที่ทำงานอยู่นั้นเห็นเพื่อนทั้ง 2 คน ลงไปในบ่อระบายน้ำจมหายไปตนจึงไปช่วยแต่โดนเครื่องสูบน้ำดูดเข้าไปภายในท่อโชคดีชาวบ้านมาเห็นจึงช่วยกันนำตัวขึ้นมาได้ 
 
ส่วนนายพรนิมิต สินสา อายุ 53 ผู้เห็นเหตุการณ์บอกว่าตนได้เดินอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุเห็นทั้ง 3 คน ลงไปในท่อและหายไปนึกว่าโดยไฟฟ้าดูดจึงไม่กล้าลงไปช่วยจึงโทรศัพท์แจ้งกู้ภัยเข้ามาช่วยเหลือ   ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบแล้วยังระบุสาเหตุไม่ได้ว่าไฟฟ้าดูดหรือลงไปในบ่อน้ำแล้วขาดอากาศหายใจเกิดขึ้นในครั้งนี้ซึ่งจะต้องรอสอบสวนคนเจ็บซึ่งมีอาการโคม่าอยู่ และคนที่เห็นเหตุการณ์อีกครั้งหนึ่ง 
 
(ข่าวสด, 3/4/2558)
 
การบินไทยประกาศเปิดให้พนักงานลาออก 2,000 คน
 
ร.อ.กนก ทองเผือก รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายทรัพยากรบุคคลและกำกับกิจกรรมองค์กร (DB) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในเดือนนี้ (เม.ย.) การบินไทยจะเปิดโครงการพิเศษให้พนักงานทั่วไป ไม่รวมนักบินและลูกเรือ ออกก่อนกำหนดโดยสมัครใจจำนวน 2,000 คน พร้อมยืนยันว่า โครงการนี้ไม่ใช่โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดหรือเออร์ลี่รีไทร์ อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ร่วมโครงการนี้การบินไทยจะพิจารณาคุณสมบัติเป็นรายบุคคลอีกครั้ง
 
สำหรับโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ภายใต้การปรับโครงสร้างอัตรากำลังคนให้ลดจาก 25,000 คนเหลือ 20,000 คน เพื่อลดปัญหาการขาดทุนที่มีมาอย่างต่อเนื่องในปี 2556 ซึ่งการบินไทยขาดทุนประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท และในปี 2557 ขาดทุนประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท
 
ทั้งนี้ ในแผนฟื้นฟูยังได้มีการปรับเส้นทางการบินให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยกลุ่มเส้นทางบินที่ขาดทุนให้หยุดบินไปก่อน ส่วนกลุ่มเส้นทางที่ขาดทุนแต่มีแนวโน้มที่จะทำกำไรได้ ก็ให้พิจารณาปรับลดจำนวนเที่ยวบินลง และให้เพิ่มเที่ยวบินในเส้นทางที่มีกำไร นอกจากนี้ยังปรับแผนการตลาด เน้นปรับกลยุทธ์ขายตั๋ว การขายทรัพย์สินและอากาศยานที่ไม่ได้ใช้งานอีกด้วย
 
(สปริงนิวส์, 3/4/2558)
 
จ่อชง ครม.ตั้งเคลียริงเฮาส์ข้อมูลสิทธิการรักษาระดับชาติ
 
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า ในที่ประชุมบอร์ด สปสช. นอกจากจะมีการหารือเรื่องการแก้ไขปัญหา รพ. ขาดทุนแล้ว ยังมีการเสนอถึงการพัฒนาข้อมูลการขึ้นทะเบียนสิทธิการรักษาพยาบาลของประชาชน นอกเหนือจากสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยยังขาดข้อมูลของรัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองท้องถิ่นต่างๆ รวมแล้วกว่า 6.5 แสนคน จึงจำเป็นต้องมีการบูรณการระบบข้อมูลทุกกองทุนสุขภาพร่วมกัน โดยที่ประชุมจะเสนอ ครม. ให้ สปสช. เป็นผู้ดำเนินการเรื่องนี้ โดยจัดทำเป็นเคลียริงเฮาส์ระดับชาติ อย่างไรก็ตาม จะมีการเชิญตัวแทนรัฐวิสาหกิจต่างๆ เข้าร่วมเพื่อแจ้งรับทราบเรื่องดังกล่าวต่อไป
       
เมื่อถามถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตรวจสอบ สปสช. และกรณีรองนายกฯตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง สปสช. ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ สปสช. ให้ข้อมูลชี้แจงแล้ว โดยมีการส่งเอกสารต่างๆ ไปยัง ป.ป.ท. ส่วนคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง สปสช. ก็ได้เข้ามาสอบถามทางสปสช.แล้ว
       
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ตนได้เข้าไปให้ข้อมูลกับ ป.ป.ท. โดยส่วนใหญ่เป็นการให้ข้อมูลเรื่องการทำหน้าที่ของ สปสช. และกลไกการทำงาน แต่ไม่ได้ชี้แจงประเด็นข้อร้องเรียนตามที่เป็นข่าว เนื่องจากมีการส่งเอกสารชี้แจงไปก่อนหน้านี้แล้ว ขณะที่การชี้แจงเรื่องนี้จะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ส่วนกรณีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ สปสช. ที่มี พล.ต.ธนาคาร เกิดในมงคล คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เป็นประธานนั้น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ส่งเจ้าหน้าที่และลงพื้นที่ร่วมกับ สปสช. เพื่อตรวจสอบข้อมูลการใช้งบประมาณต่างๆ เบื้องต้นไปดูที่เขต 4 จ.สระบุรี ซึ่งคาดว่าจะทยอยลงพื้นที่ตามที่ต่างๆ และรวบรวมข้อมูลต่อไป
       
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการเปิดเผยผลการสอบสวนของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ประจำปีงบประมาณ 2556 ว่า สปสช. มีการใช้งบไม่ตรงตามวัตถุประสงค์กว่า 2 พันล้านบาท นพ.วินัย กล่าวว่า ตนยังไม่อยากพูดในเรื่องนี้มากนัก เพราะเรื่องดังกล่าว สตง. ยังไม่ได้ส่งรายงานอย่างเป็นทางการมายัง สปสช. เห็นเป็นฉบับร่างเท่านั้นว่าเป็นเรื่องที่ไม่แตกต่างจากของเดิมปี 2554 และ 2556 มากนัก ส่วนใหญ่เป็นการใช้งบผิดประเภท
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 4/4/2558)
 
พนักงานแพนไทยแอร์ภูเก็ตกว่า 300 คน รวมตัวไล่หัวหน้าฝ่ายบัญชีพ้นตำแหน่ง
 
(4 เม.ย.) ที่หน้าศูนย์ส่งสินค้า คาร์โก้ สนามบินภูเก็ต อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ได้มีพนักงานบริษัทแพนไทยแอร์ กรุงเทพ จำกัด สาขาภูเก็ต กว่า 300 คน รวมตัวกันเรียกร้องให้ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเข้ามาแก้ไขปัญหาพนักงานถูกเอารัดเอาเปรียบจากหัวหน้างานฝ่ายการเงิน มีการหักเงินตัดสวัสดิการของพนักงานเกินความเป็นจริง ทำให้พนักงานเกิดความเดือดร้อน จึงมีการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้ผู้บริหารระดับสูงเข้ามาแก้ไขปัญหาโดยทันที
       
พนักงานทำความสะอาดเครื่องบินของบริษัทดังกล่าวรายหนึ่ง เปิดเผยว่า การรวมตัวกันวันนี้เนื่องจากพนักงานทั้งหมดของบริษัทถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกข่มเหงจากหัวหน้างาน พนักงานทำงานวันละ 309 บาท แต่หากพนักงานขาดงานกลับหักเงินวันละ 1,000 บาท ให้ลางานห้ามเกิน 4 วัน พนักงานบางคนอยู่ จ.เชียงราย 4 วัน นั่งรถกลับบ้าน 2 วัน นั่งกลับ 2 วัน ก็หมดแล้ว ลาทั้งปีก็ห้ามลาเกิน 10 วัน บางคนป่วย หรือบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ทางแพทย์ได้ลงความเห็นให้หยุดงาน เมื่อหยุดงานตามคำสั่งแพทย์ก็ถูกหัวหน้างานหักเงินอีก โบนัสก็ไม่มี ตอนมาสมัครงานห้องฟรี แต่ตอนนี้ไม่มี หากจะลาป่วยให้ลาก่อนป่วย 6 ชั่วโมง ออกกฎระเบียบวันละหลายครั้ง ใครจะทำตามได้ ตอนนี้พนักงานถูกบีบต้องออกจากงาน เงินเดือนไม่เพียงพอ บางคนต้องเลี้ยงลูกส่งลูกเรียน ส่งให้พ่อแม่ ไหนจะค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่ากิน ค่าน้ำมัน จิปาถะ เราเดือดร้อนจริงๆ”
       
จากปัญหาที่พนักงานประสบอยู่ทั้งหมดนั้น ทำให้พนักงานทางบริษัทพิจารณาให้หัวหน้าฝ่ายบัญชีออกจากงานทันที อยากให้เอาข้อระเบียบการทำงานจากสาขาใหญ่ที่สุวรรณภูมิฯมาบังคับต่อพวกตน อยากให้เจ้าหน้าที่แรงงานฯ เข้ามาตรวจสอบบริษัทว่าทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และห้ามไล่พนักงานที่มารวมตัวกันประท้วงออกจากงานโดยเด็ดขาด ซึ่งทางผู้บริหารรับปากจะเข้ามาแก้ไขปัญหา แต่รับปากด้วยวาจา แต่ทางกลุ่มผู้เรียกร้องต้องการให้มีการออกเป็นลายลักษณ์อักษร และหากไม่ได้ตามข้อเสนอก็จะรวมตัวกันต่อไป
       
อย่างไรก็ตาม การรวมตัวประท้วงของพนักงานบริษัท แพนไทยแอร์ กรุงเทพ จำกัด สาขาภูเก็ต ในวันนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการให้บริการของสายการบินสายการบิน และสนามบินภูเก็ตแต่อย่างใด ผู้โดยสารสามารถขึ้นเครื่องได้ตามปกติ ไม่มีเที่ยวบินล่าช้า 
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 4/4/2558)
 
กกจ.ผนึกกำลัง "ป.ป.ส.-ตร.-ศุลกากรไปรษณีย์" สกัดยาเสพติด ตรวจเข้มพัสดุ-แรงงานไทย ก่อนไปอิสราเอล
 
เมื่อวันที่ 5 เม.ย. น.ส.สุมล ถาวรวสุ ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ (ผอ.สรต.) กรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ร่วมประชุมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) กองบัญชาการ ตำรวจปราบปรามยาเสพติด ศุลกากรไปรษณีย์ เพื่อหารือแนวทางการป้องกันและแก้ปัญหาแรงงานไทยในอิสราเอล เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทั้งการลักลอบขนยาเสพติด และเสพยา โดยกำหนดมาตรการร่วมกันคือ ทางศุลกากรไปรษณีย์จะตรวจพัสดุ ซึ่งมีปลายทางการจัดส่งไปที่อิสราเอลทุกชิ้นก่อนส่งออกนอกประเทศ จากเดิมที่เป็นการสุ่มตรวจเพื่อป้องกันการขนส่งยาเสพติดทางไปรษณีย์จากไทย โดยเริ่มมาตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดยหากตรวจพบยาเสพติด ก็จะส่งข้อมูลให้ทางป.ป.ส.ดำเนินการต่อไป รวมทั้ง กกจ.จะส่งรายชื่อแรงงานที่จะเดินทางไปอิสราเอลให้ ป.ป.ส.ช่วยตรวจสอบประวัติว่าเคยเกี่ยวข้องกับกับยาเสพติดหรือไม่ ภายใน 2 – 3 สัปดาห์ก่อนวันเดินทาง หากมีประวัติที่น่าสงสัย เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบสัมภาระของแรงงานคนดังกล่าวในวันเดินทางอีกครั้ง และหากบุคคลใดที่ ป.ป.ส.มีหลักฐานชัดเจนว่ายุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดก็จะส่งข้อมูลมายังกกจ.เพื่อให้สั่งระงับการเดินทาง
 
นางสุมล กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ กกจ.เริ่มประสานให้ทางตำรวจช่วยตรวจสอบประวัติแรงงานก่อนเดินทาง ยังไม่พบแรงงานมีปัญหาด้านยาเสพติดจนต้องสั่งระงับการเดินทาง นอกจากนี้ ยังได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงกรณีที่แรงงานเคยมีประวัติยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าควรให้โอกาสผู้ที่เคยเสพยาเสพติด ให้สามารถเดินทางไปอิสราเอลได้ แต่จะต้องกำหนดระยะเวลาที่ผ่านการบำบัดยาเสพติดมาแล้ว ไม่น้อยกว่ากี่ปี จึงอนุญาตให้เดินทางไปได้ ทั้งนี้จะต้องหารือกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดยาเสพติดอีกครั้ง
 
ผอ.สรต.กล่าวด้วยว่า ส่วนการทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย ของแรงงานไทยก่อนการเดินทางเพื่อตรวจสอบว่ามีการเสพสารเสพติดหรือไม่นั้น เบื้องต้นได้หารือกับแพทย์ ซึ่งได้มีความเห็นว่าการวิ่งจะเป็นการวัดสมรรถภาพทางร่างกายได้ดีที่สุด แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะต้องวิ่งระยะทางเท่าใด และจำนวนกี่นาที จึงจะเหมาะสม ทั้งนี้จะต้องหารือกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการ โยกย้ายถิ่นฐาน(ไอโอเอ็ม)ก่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างการนัดหารือกัน
 
(เดลินิวส์, 5/4/2558)
 
แรงงานเอาจริง แก้กฎกระทรวง ผุดเรือประมงต้นแบบ ลดค้ามนุษย์
 
ดร.นพดล กรรณิกา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ ให้ได้ผลสำเร็จทางรัฐบาลได้ยึดหลักทำก่อน ทำจริง ทำทันที หลังจาก พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เร่งแก้กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเลมีผลบังคับใช้กว่า 2 เดือนที่ผ่านมา และมีการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลปัจจุบันออกตรวจเรือประมงได้ 869 ลำ แต่รัฐบาลในอดีตออกตรวจเรือประมงในห้วงเวลาเดียวกันได้เพียง 152 ลำ
 
นอกจากนี้ รัฐบาลปัจจุบันเอาผิดเรือประมงทั้งการดำเนินคดีและการออกคำสั่งจำนวน 65 ลำ โดยดำเนินคดีเรื่องการใช้แรงงานเด็ก การสั่งให้จ่ายค่าจ้างและสวัสดิการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ลูกจ้างให้อยู่ดีกินดีมีเวลาพักผ่อน ในขณะที่รัฐบาลในอดีตดำเนินการเรือที่ทำผิดได้เพียง 1 ลำเท่านั้น จึงเห็นได้ชัดเจนว่าการตัดสินใจปรับปรุงกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเลทำให้ได้ผลสำเร็จและความเอาจริงเอาจังของรัฐบาลปัจจุบันแตกต่างไปจากรัฐบาลในอดีต
 
“กฎกระทรวงนี้เป็นมาตรการที่ทำให้พบการกระทำผิดของเรือประมงเพื่อประเทศไทยจะได้หลุดจากการคาดโทษว่าไม่มีมาตรฐานในการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ แต่ตอนนี้เรามีกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานที่เรือประมงทะเลต้องทำตาม เช่น การทำสัญญาจ้าง การจ้างแรงงานขั้นต่ำ ห้ามจ้างคนอายุต่ำกว่า 18 ปี การจัดเวลาพักและเวลาทำงาน ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วย และการนำตัวลูกจ้างมารายงานตัวปีละครั้ง เป็นต้น จะทำให้ช่วยลดปัญหาการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก และแรงงานทาส”
 
ทั้งนี้ ยังมีเรือประมงต้นแบบ ที่มีห้องนอนติดแอร์ ห้องพยาบาลและบุรุษพยาบาลประจำเรือ มีการติดตั้งระบบติดตามเรือ หรือ VMS และยังได้ปฏิบัติตามกฎหมายการทำประมงด้วยการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ทำประมงอย่างถูกต้อง ทำประมงเฉพาะพื้นที่ที่ได้รับสัมปทานและมีการรายงานจำนวนปลาที่จับได้ จะทำให้ประเทศไทยหลุดจากการถูกคาดโทษการทำประมงที่ผิดกฎหมายแบบ IUU ตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรป
 
“ทุกคนในชาติต้องเข้าใจว่า ถ้าเราถูกกีดกันการค้าระหว่างประเทศจะทำให้ทุกคนในชาติเดือดร้อนเรื่องเงินในกระเป๋าของแต่ละคนมากขึ้นไปอีก ดังนั้นทุกคนในชาติต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแส ผู้ประกอบการนายจ้างต้องทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด”
 
(ไทยรัฐ, 6/4/2558)
 
จัดทดสอบภาษาเกาหลีแก้ปัญหาแรงงานเถื่อน
 
กรมการจัดหางานร่วมกับสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เกาหลี จัดการสอบความสามารถภาษาเกาหลี (EPS-TOPIK) กว่า 13,000 คน เพื่อส่งไปทำงานยังประเทศเกาหลี จำนวน 4,700 อัตรา พร้อมเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาแรงงานไทยที่ผิดกฎหมายในเกาหลีที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก
 
อ่านต่อได้ที่ : http://www.ryt9.com/s/tpd/2131331นางสาวอัญชลี สินธุพันธ์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย Mr. Park young-Bum (ปาร์ค ยง-บุม) ประธานสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เกาหลี (Human Resources Developmaent Service of Korea : HRD Korea) เดินทางไปตรวจเยี่ยมการดำเนินการสอบความสามารถภาษาเกาหลี ครั้งที่ 18 เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี การจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ประเทศเกาหลีด้วยระบบ EPS ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ถนนจรัญสนิทวงศ์ กรุงเทพฯ
 
รองอธิบดีกรมจัดการงานเปิดเผยว่า กรมการจัดหางานได้เปิดรับสมัครสอบความสามารถภาษาเกาหลี เพื่อไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีตามระบบอนุญาตจ้างแรงงานต่างชาติ (Employment Permit System : EPS) ระหว่างวันที่ 24-26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีผู้สมัครทั้งสิ้น 13,291 คน และได้ทำการทดสอบในวันที่ 29 มีนาคม ณ สนามสอบ 4 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ อุดรธานี นครราชสีมา และลำปาง ซึ่งในปีนี้ HRD Korea กำหนดโควตาแรงงานไทยที่ไปทำงานในเกาหลีจำนวน 4,700 อัตรา
 
สำหรับการจัดสอบความสามารถภาษาเกาหลีให้กับแรงงานที่ต้องการจะไปทำงานที่สาธารณรัฐเกาหลี จะช่วยให้แรงงานไทยสามารถที่จะสื่อสารกับนายจ้างและสามารถดำเนินชีวิตได้ ซึ่งการสอบที่ผ่านมาจะมีแรงงานที่สอบผ่านประมาณ 40% ของจำนวนผู้สมัครทั้งหมด แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีแรงงานสอบผ่านเพียง 20% เนื่องจากทาง HRD Korea ได้มีการปรับข้อสอบให้ยากขึ้น
 
ดังนั้น กรมการจัดหางานพยายามที่จะหาโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาด้านภาษาให้กับแรงงานไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งกำหนดมาตรฐานการสอนภาษาต่างประเทศให้สูงขึ้น เพื่อให้ความสามารถด้านภาษาของแรงงานเป็นไปตามมาตรฐานสากล และการสอบความสามารถภาษาเกาหลีครั้งนี้ได้ประกาศผลการสอบในวันที่ 2 เมษายน 2558
 
ปาร์ค ยง-บุม ประธานสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เกาหลี กล่าวว่า เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี การจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่สาธารณรัฐเกาหลี ด้วยระบบ EPS ทางสถาบันจึงถือโอกาสมาตรวจเยี่ยมการสอบความสามารถภาษาเกาหลีที่จัดขึ้น ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม และนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2547 ถึงเดือนธันวาคม 2557 มีการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่สาธารณรัฐเกาหลีตามระบบ EPS จำนวนทั้งสิ้น 49,938 แบ่งเป็นภาคอุตสาหกรรม 42,100 คน ภาคก่อสร้าง 3,916 คน ภาคเกษตร/เลี้ยงสัตว์ 3,899 คน ภาคประมง 22 คน และภาคบริการ 1 คน โดยปัจจุบันมีแรงงานไทยทำงานในสาธารณรัฐเกาหลี 23,206 คน แบ่งเป็นแรงงานในระบบ EPS (วีซ่า E-9) จำนวน 23,080 คน และแรงงานทักษะฝีมือ จำนวน 126 คน
 
สำหรับสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เกาหลี ก่อตั้งเพื่อดำเนินงานด้านการจัดหาแรงงานไปทำงานที่สาธารณรัฐเกาหลี อาทิ เซ็นสัญญาบันทึกความเข้าใจการส่งแรงงานของทั้งสองประเทศ เพื่อป้องกันการแทรกแซงในขบวนการจัดงานแรงงาน
 
การดำเนินงานของสถาบันที่ผ่านมา ส่งผลให้ปัญหาแรงงานต่างชาติที่ผิดกฎหมายในประเทศเกาหลีลดลง และแรงงานที่เข้าไปทำงานมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามปัญหาแรงงานผิดกฎหมายก็ยังคงอยู่ ซึ่งทางสถาบันจะร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะแรงงานไทยที่เข้ามาทำงานด้านการบริการ อาทิ พนักงานเสิร์ฟ พนักงานนวดแผนไทย ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะมีความสามารถด้านภาษาเกาหลีเป็นอย่างดี ขณะนี้กำลังหามาตรการว่าจะทำอย่างไรจึงจะนำแรงงานเหล่านี้เข้าสู่ระบบอย่างถูกกฎหมาย
 
"จากการตรวจเยี่ยมการสอบความสามารถด้านภาษา พบว่าผู้สมัครส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ในขณะที่ผู้ประกอบการต้องการแรงงานที่เป็นผู้ชายมากกว่า จึงเป็นอีกโจทย์ที่ต้องมาดำเนินการร่วมกับกรมจัดหางานว่า ทำอย่างไรจึงจะมีแรงงานผู้ชายให้เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งผู้ประกอบการในเกาหลีมีความต้องการแรงงานเป็นอย่างมาก เนื่องจากคนไทยมีความจริงใจ มีประสิทธิภาพในการทำงานดีและเร็ว แต่ยังติดในเรื่องของภาษาที่อาจจะมีความสามารถน้อยกว่าประเทศอื่น"
 
สำหรับขั้นตอนในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ประเทศเกาหลีนั้น ประกอบด้วย 1.สถาบันจะกำหนดโควตาการรับคนงานต่างชาติ และประเภทของงานที่รับ 2.กรมการจัดหางานจะเปิดรับสมัครแรงงาน และทำการทดสอบความสามารถด้านภาษาเกาหลี (ผู้มีสิทธิ์ทำงานจะต้องได้คะแนนตั้งแต่ 80 คะแนนขึ้นไป (คะแนนเต็ม 200 คะแนน) เรียงตามลำดับคะแนนผู้สอบได้สูงสุด
 
3.กรมการจัดหางานส่งรายชื่อผู้มีสิทธิ์ทำงานให้กับทางสถาบัน เพื่อส่งให้ผู้ประกอบการทำการคัดเลือกอีกครั้ง หลังจากนั้นจึงจะแจ้งกลับมาว่ามีผู้ใดที่ได้รับสิทธิ์เดินทางไปทำงานที่ประเทศเกาหลี 4.กรมจัดหางาน จะต้องมีการอบรมแรงงานที่จะเดินทางไปทำงานที่เกาหลี จำนวน 45 ชั่วโมง และ 5.แรงงานเดินทางไปประเทศเกาหลี สถาบันจะมารับเพื่อไปฝึกอบรม ตรวจสุขภาพ ทำธุรกิจกรรมทางการเงินอีก 3 วัน จึงส่งให้กับนายจ้าง
 
(ไทยโพสต์, 6/4/2558)
 
ต้าน‘บิ๊กสปส.’ดูงานเยอรมัน แรงงานโวยผลาญงบฯเละ
 
บิ๊กสำนักประกันสังคม (สปส.) ไม่เข็ด เข็นของบดูงานต่างประเทศ หลังจากเคยถูก รมว.แรงงาน ตีกลับแผนใช้งบดูงานต่างประเทศปีละ 100 ล้านบาท เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดยเมื่อวันที่ 6 เม.ย. น.ส. วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงกรณีสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เสนอเรื่องขออนุมัติไปดูงานในประเทศเยอรมนี โดยให้เหตุผลเพื่อเป็นประโยชน์ในการขยายการลงทุนในต่างประเทศว่า คสรท.ขอเรียกร้องให้ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.แรงงาน ระงับการเดินทางไปดูงานประเทศเยอรมนีของผู้บริหาร สปส. เพราะเงินกองทุนประกันสังคมที่ผู้บริหารนำไปใช้ดูงานต่างประเทศปีละ 100 ล้านบาท เป็นเงินของผู้ประกันตน ได้มาจากหยาดเหงื่อแรงงานคนจน ไม่ใช่งบประมาณรัฐ จึงไม่ควรนำไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย โดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ประกันตน ซึ่งเป็นเจ้าของเงินที่แท้จริง ที่ผ่านมาผู้บริหาร สปส.ไปดูงานต่างประเทศบ่อยๆ แต่ไม่ได้นำความรู้กลับมาพัฒนาสิทธิประโยชน์ต่างๆให้ดีขึ้น การให้บริการยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ในทางตรงกันข้ามกลับจะมาลิดรอนสิทธิของผู้ประกันตน เช่น กรณีจะตัดสิทธิว่างงาน โดยอ้างว่าต่างประเทศ ไม่มีการให้สิทธิเหมือนประเทศไทย
 
น.ส.วิไลวรรณกล่าวว่า ผู้บริหาร สปส.บอกว่า การใช้จ่ายเงินของ สปส.ในเวลานี้ต้องทำอย่างประหยัดรัดเข็มขัด เพราะกลัวอีก 30 ปีเงินกองทุนจะหมดหรือติดลบ เนื่องจากต้องจ่ายเงินกรณีชราภาพแก่ผู้ประกันตน แต่วันนี้กลับจะมาใช้เงินหลายล้านบาทเพื่อจะยกทีมไปดูงานในเยอรมนี ช่วงหลายปีที่ผ่านมาผู้บริหาร สปส.ใช้งบไปดูงานในต่างประเทศ ปีละ 100 ล้านบาท โดยไปกันเป็นแบบคณะใหญ่ ในจำนวนนั้นมีทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับ สปส.แต่บางคนไม่เกี่ยวข้อง มีการนำญาติหรือเพื่อนไปด้วย ทำให้อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า การที่ผู้บริหาร สปส.และ บอร์ด สปส.พากันไปดูงานต่างประเทศ ต้องการนำความรู้มาปรับปรุงระบบประกันสังคมให้ดีขึ้นจริงๆ หรือทำเพื่อตัวเองไปเที่ยว หรือให้โบนัสตัวเองก่อนเกษียณกันแน่
 
“หากผู้บริหารและบอร์ด สปส.ตั้งใจไปเพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาระบบประกันสังคมต้องมีการเปลี่ยนแปลงกองทุนประกันสังคมในทางที่ดีขึ้น แต่ไม่เคยเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเลย กว่า สปส.จะมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ผู้ประกันตนต้องออกมาดิ้นรนเรียกร้องกันเองทั้งนั้น ควรเอาเงินปีละ 100 ล้านบาท มาปรับปรุงเพิ่มสิทธิประโยชน์จะเกิดประโยชน์มากกว่า” ประธาน คสรท.กล่าว
 
(ไทยรัฐ, 7/4/2558)
 
ชุดเฉพาะกิจ พม. พบลูกเรือประมงขอความช่วยเหลือ 159 คน หลังเปิดศูนย์ One Stop Service ที่ เกาะอัมบน 9 วัน
 
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากทีมชุดเฉพาะกิจช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยตกค้างบนเกาะอัมบน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งมี พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เป็นหัวหน้าคณะ ว่า หลังจากจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือลูกเรือประมง (One Stop Service) ที่ เกาะอัมบน เพื่อรับลงทะเบียนลูกเรือประมงแล้ว 9 วัน (วันที่ 29 มี.ค.- 6 เม.ย. 58) พบว่า มีลูกเรือประมงเข้ารายงานตัวกับชุดเฉพาะกิจจากประเทศไทยแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 158 คน เป็นคนไทย 67 คน เมียนมา 65 คน ลาว 8 คน และกัมพูชา 18 คน
 
ทั้งนี้ จำนวนคนไทยที่ลดลงเนื่องจากเป็นรายชื่อที่มีการลงทะเบียนซ้ำกับสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย
 
ส่วนการพิสูจน์ทราบผู้เสียชีวิตในสุสานตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค. - 6 เม.ย. 58 พบว่ามีหลุมศพคนไทย จำนวนทั้งสิ้น 112 ศพ ซึ่งพบที่เกาะอัมบน 22 หลุม และเกาะเบนจินา 90 หลุม
 
สำหรับการตรวจแรงงานในเรือประมงที่เกาะอัมบนและเกาะเบนจินา ตั้งแต่วันที่ 1 - 6 เม.ย. 58 สามารถตรวจเรือได้ทั้งสิ้น 80 ลำ พบลูกเรือประมง จำนวนทั้งสิ้น 1,466 คน ทั้งนี้ คาดว่าในวันที่ 9 เม.ย. 58 จะมีลูกเรือประมงไทยเดินทางกลับประเทศไทยได้ จำนวน 66 คน
 
(ไอเอ็นเอ็น, 7/4/2558)
 
ครม.ไฟเขียวปรับเพิ่มเบี้ยเลี้ยง พนักงานประจำรถโดยสารเพิ่มกำลังใจ
 
7 เม.ย.58 พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบการปรับเพิ่มอัตราค่าเบี้ยเลี้ยงพนักงานประจำรถโดยสารประจำทาง เพิ่มขึ้นอีก 5 สตางค์ต่อกิโลเมตร และปรับเพิ่มเบี้ยเลี้ยงให้แก่พนักงานประจำรถโดยสารไม่ประจำทาง เพิ่มขึ้นอีก 25 บาทต่อวัน เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น และเป็นการสร้างขวัญกำลังใจในการทำงานให้แก่พนักงาน ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยให้มีผลตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2558 เป็นต้นไป
 
(แนวหน้า, 7/4/2558)
 
ครม.อนุมัติร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย จัดระเบียบอาชีพ รปภ.
 
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง แล้วให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
 
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้แก่ 1.กำหนดนิยามคำว่า “ธุรกิจรักษาความปลอดภัย" เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าธุรกิจใดที่อยู่ภายใต้บังคับของร่างพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งกำหนดนิยามคำว่า “บริษัทรักษาความปลอดภัย" “บริษัท" “พนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต" “คณะกรรมการ" “นายทะเบียน" และ “พนักงานเจ้าหน้าที่",
 
2.กำหนดให้มี “คณะกรรมการรักษาความปลอดภัย" โดยมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย แผนงาน และมาตรการเกี่ยวกับการส่งเสริมและกำกับดูแลธุรกิจรักษาความปลอดภัยเพื่อให้นายทะเบียนรับไปปฏิบัติ ออกระเบียบกำหนดมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยที่บริษัทรักษาความปลอดภัยต้องปฏิบัติ ออกระเบียบกำหนดมาตรฐานหลักสูตรการรักษาความปลอดภัยและมาตรฐานสถานฝึกอบรมและอัตราค่าธรรมเนียมการฝึกอบรม และออกประกาศกำหนดเครื่องหมายของพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต เป็นต้น,
 
3.กำหนดให้ผู้ซึ่งประสงค์จะประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยจะต้องขอรับใบอนุญาต และจะต้องจัดตั้งในรูปบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด โดยต้องใช้คำนำหน้าชื่อว่า “บริษัทรักษาความปลอดภัย" และคำว่า “จำกัด" หรือ “จำกัด (มหาชน)" ต่อท้าย แล้วแต่กรณี
 
4.กำหนดให้พนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาตต้องสวมเครื่องแบบ และติดเครื่องหมายพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาตในขณะปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งกำหนดหน้าที่ในการช่วยเหลือพนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจ และหน้าที่อื่นๆ,
 
5.กำหนดหลักเกณฑ์การพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย โทษทางปกครอง การอุทธรณ์, 6.กำหนดอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่, 7.มีบทกำหนดโทษอาญา, 8.กำหนดบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ การประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย การเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย การจัดการฝึกอบรมหลักสูตรการรักษาความปลอดภัย รวมทั้งการใช้ชื่อ “บริษัทรักษาความปลอดภัย" และ 9.กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติ
 
(ryt9.com, 7/8/2558)
 
กระทรวงแรงงานตัดบทเฉพาะกาลของกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานออกช่วยปกป้องผล ประโยชน์ชาติได้ง่ายขึ้น
 
ดร.นพดล กรรณิกา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังจากหารือกับเจ้าของเรือประมงต้นแบบว่า เจ้าของเรือประมงต้นแบบเดินทางมาพบเพื่อทำตามนโยบายใหม่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ที่ได้ออกกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเลโดยจัดเตรียมห้องนอนติดแอร์ ห้องพยาบาลและบุรุษพยาบาลประจำเรือ มีเครื่องเปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืด มีการขึ้นทะเบียนแรงงานทุกคน มีการทำสัญญา ลูกจ้างต้องอายุ ๑๘ ปีขึ้นไปได้รับเงินเดือนเริ่มต้นที่ ๙,๐๐๐ บาท มีโบนัสและการจัดเวลาทำงานเวลาพักไม่ต่ำกว่า ๑๐ ชั่วโมงต่อวันและพักเฉลี่ย ๗๗ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีการนำตัวลูกจ้างรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่รัฐปีละครั้งเพื่อให้มั่นใจว่าลูกจ้างยังมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างดีในการทำงานประมงและติดตั้งระบบติดตามเรือหรือ VMS ตามกฎหมายของกรมประมง กระทรวงเกษตรฯ
 
ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน กล่าวต่อว่า เดิมกฎกระทรวงดังกล่าวมีบทเฉพาะกาลด้วย ในบทเฉพาะกาลอนุโลมให้นายจ้างที่มีสัญญากับลูกจ้างอายุต่ำกว่า ๑๘ ปีทำงานต่อไปได้ แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้ตัดบทเฉพาะกาลนี้ออก หลังจากตัดออกแล้ววันนี้เราจึงมีกฎกระทรวงที่เป็นเครื่องมือรักษาผลประโยชน์ชาติให้รอดพ้นจากการถูกขึ้นบัญชีดำของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เรื่องแรงงานเด็กและแรงงานทาส และช่วยป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานบนเรือประมงที่ออกรายงานมาจากกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้ และจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง นายจ้างเจ้าของเรือเริ่มทำตามและเดินทางมาพบเพื่อขอให้ช่วยหาแรงงานไทยที่สนใจขึ้นเรือประมงต้นแบบ กระทรวงแรงงานจึงเปิดสายด่วน ๑๖๙๔ และอีเมล smartjobmol@gmail.com รับสมัครแรงงานไทยหลังจากสมัครแล้วจะได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ให้มาอบรมที่กระทรวงแรงงานเท่านั้นเพื่อมั่นใจได้ว่าจะได้รับการคุ้มครองไม่เป็นแรงงานเด็ก ไม่ตกเป็นแรงงานทาส ไม่เป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์อีกต่อไป
 
(ryt9.com, 7/8/2558)
 
รอง ปธ.สปช.คนที่ 1 รับการยื่นหนังสือจากประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ที่ขอให้มีการปฏิรูปกฎหมายคุ้มครองพยาบาล
 
รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ คนที่หนึ่ง รับข้อเรียกร้องจากประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ที่ขอให้ปฏิรูปกฎหมายคุ้มครองพยาบาลซึ่งเป็นผู้ให้บริการสุขภาพ หลังต้องประสบภาวะเสี่ยงอย่างมากจากการทำงาน แต่ไม่ได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรม
 
ศ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) คนที่หนึ่ง รับการยื่นหนังสือจาก น.ส. มัลลิกา ลุนจักร์ ประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยและคณะ ที่ต้องการให้มีการปฏิรูปกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้ให้บริการสุขภาพ ซึ่งเป็นพยาบาลทั้งในภาครัฐและเอกชน ได้รับสวัสดิการอย่างเป็นธรรมและได้รับความคุ้มครองจากการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากปัจจุบันพยาบาลไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ใด ทั้งที่มีความเสี่ยงในการทำงานอย่างมาก  พยาบาลจำนวนมากต้องเจ็บป่วยด้วยโรคอันเกี่ยวเนื่องจากการทำงาน อาทิ การติดเชื้อโรคระบาด ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจและจากการสัมผัสจากเลือด ติดเชื้อวัณโรคปอด โรคตับอักเสบ เชื้อ HIV จากผู้ป่วย ความเสี่ยงจากการสัมผัสสารเคมี และกัมมันตรังสีจากยาเคมีบำบัด รวมถึงความเสี่ยงจากอุบัติเหตุในการเดินทางส่งต่อผู้ป่วย นอกจากนี้ พยาบาลยังขาดความก้าวหน้าในวิชาชีพและขาดโอกาสในการพัฒนาทางวิชาการ ดังนั้น สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยจึงเรียกร้องสิทธิ์ โดยให้มีการปรับโครงสร้างพยาบาล มีการบรรจุพยาบาลวิชาชีพ การกำหนดค่าตอบแทนที่เป็นธรรม สร้างความก้าวหน้าทางวิชาชีพ และสร้างสวัสดิการในการทำงาน
 
ด้าน ศ.บวรศักดิ์ กล่าวว่า จะนำข้อเรียกร้องดังกล่าวเสนอต่อประธาน สปช. และประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข เพื่อการแก้ไขปัญหาต่อไป
 
(วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา, 8/4/2558)
 
รวบ ผช.เลขาฯ อดีต ส.ส.ชัยภูมิ ตุ๋นแรงงานไปขุดทองซาอุฯ
 
(8 เม.ย.) ที่กองปราบปราม พ.ต.อ.อัคราเดช พิมลศรี รักษาการ ผบก.ป.มอบหมายให้ พ.ต.อ.ไพโรจน์ โรจนขจร ผกก.2 บก.ป. พ.ต.ท.ธรรมวัฒน์ หิรัญยเลขา รอง ผกก.2 บก.ป. พ.ต.ท.ต่อศักดิ์ ปานกลิ่นพุฒ สว.กก.2 บก.ป.นำกำลังจับกุม นายธนูฤทธิ์ พรมบุญ หรือภูษิต กฤติพรหมบุญ อายุ 45 ปี อดีตสมาชิก อบต.ละหาน จ.ชัยภูมิ อยู่บ้านเลขที่ 16 หมู่ 12 ต.ปลาปาก อ.ปลาปาก จ.นครพนม ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดนครพนม ที่ จ.875/2546 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2546 ข้อหาร่วมกันจัดหางานให้คนงานไปทำงานต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต, หลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานหรือส่งไปฝึกงานในต่างประเทศ และร่วมกันฉ้อโกงผู้อื่น จับกุมได้ที่บ้านเลขที่ 99 หมู่ 17 ต.ละหาน อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ
       
ทั้งนี้ เมื่อช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2546 ผู้ต้องหาได้ร่วมกับพวกหลอกลวงแรงงานซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคอีสานว่าสามารถพาไปทำงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยอ้างว่ามีรายได้ดีแต่มีค่าดำเนินการและค่าตั๋วเครื่องบินสำหรับเดินทางรายละ 31,200 บาท ภายหลังจากผู้เสียหายหลงเชื่อจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แล้ว กลับไม่ได้เดินทางไปทำงานตามที่กล่าวอ้าง ต่อมาทางผู้เสียหายได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีไว้ที่ สภ.นาแก จ.นครพนม ก่อนจะมีการรวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้ต้องหากับพวกเอาไว้ อย่างไรก็ตาม ทางผู้ต้องหาได้หลบหนีคดี ก่อนมาทำงานเป็นคนขับรถให้นายก อบจ.ชัยภูมิ และเข้าทำงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการของอดีต ส.ส.ชัยภูมิ เขต 3 กระทั่งชุดสืบสวน กก.2 บก.ป.สืบทราบจึงวางแผนเข้าจับกุมตัวไว้ได้ดังกล่าว
       
สอบสวนผู้ต้องหารับสารภาพว่าได้ร่วมกับพวกหลอกลวงแรงงานจริง แต่เป็นเรื่องที่เพื่อนตนเป็นคนขอให้ช่วยเหลือติดต่อหาแรงงานที่อยากไปทำงานต่างประเทศให้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ชุดจับกุมยังไม่ปักใจเชื่อคำให้การเนื่องจากตามแนวทางการสืบสวนพบว่าผู้ต้องหาเคยก่อเหตุมาแล้วหลายครั้งตั้งแต่สมัยที่ประเทศไทยกับซาอุดีอาระเบียยังคงความสัมพันธ์ทางการทูตที่ดีต่อกัน จึงมีแรงงานหลายคนมุ่งหน้าไปขุดทองที่ประเทศดังกล่าวจำนวนมาก แต่ผู้เสียหายหลายรายไม่ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดี โดยชุดจับกุมได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน สภ.นาแก จ.นครพนม รับไว้ดำเนินคดีต่อไป 
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 8/4/2558)
 
คณะกรรมการค่าจ้างมีมติคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทไปจนถึงปลายปี 2558 
 
8 เม.ย.58 นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างว่า มีมติให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ 300 บาทไปจนถึงปลายปี 2558 ส่วนแนวทางการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2559 นั้น ที่ประชุมมีการเสนอการปรับรูปแบบค่าจ้าง 5 รูปแบบ อย่างไรก็ตาม จะมีการพิจารณาอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม เพื่อให้ได้ข้อสรุปเบื้องต้น และเมื่อผลการศึกษาแล้วเสร็จจะนำมาสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องอีกครั้งในรูปแบบประชาพิจารณ์
 
สำหรับการปรับรูปแบบค่าจ่าง 5 แบบ นั้น ประกอบด้วย 1.ให้อนุกรรมการค้าจ้างจังหวัดเสนอมาตามปกติ 2.ค่าจ้างลอยตัวซึ่งขณะนี้อยูระหว่างการศึกษาของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) โดยจะสรุปผลการศึกษาเสนอต่อบอร์ดค่าจ้างในเดือนมิถุนายนนี้ 3.ค่าจ้างตามการพัฒนาเศรษฐกิจ 18 กลุ่มจังหวัด 4.ค่าจ้างตามกลุ่มอุตสาหกรรม และ5.ค่าจ้างในลักษณะผสมผสานหลายรูปแบบ
 
นายนคร กล่าวต่อไปว่า จะใช้โอกาสการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2559 เป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขึ้นค่าจ้างในรูปแบบเดิมๆ โดยจะปรับให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ ค่าครองชีพและระดับความต้องการของแรงงานแต่ละพื้นที่ มองว่าอยากให้มีการปรับขึ้นเป็นลักษณะเปอร์เซ็นต์ จะระดมความคิดจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาเพื่อให้ได้รูปแบบที่ดีที่สุด
 
(ryt9.com, 8/8/2558)
 
ยื่นข้อเรียกร้อง 11 ข้อวันแรงงานแห่งชาติ วอนขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ
 
วันที่ 8 เมษายน นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล  ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทยในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติปี 2558 กล่าวถึงการจัดงานวันแรงงาน 1 พฤษภาคม 2558 ว่า ในปีนี้สภาองค์การลูกจ้าง 14 องค์กรร่วมกับองค์กรรัฐวิสาหกิจ เครือข่ายแรงงานนอกระบบรวม 16 องค์กรร่วมกับกระทรวงแรงงานจัดงานวันแรงงานแห่งชาติที่สนามหลวงโดยปีนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลกว่า 4 ล้านบาท
 
ได้เชิญพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานเปิดงาน ภายใต้คำขวัญ “แรงงานไทยปรองดอง เฉลิมฉลองจักรีวงศ์ รณรงค์สู่อาเซียน” เน้นจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี นายกรัฐมนตรีและพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตอบรับว่าจะมาร่วมงานแล้ว
 
ข้อเรียกร้องที่อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการมี 3 ข้อ คือ ขอให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราที่สอดคล้องกับค่าครองชีพและสภาพเศรษฐกิจ ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคและขอให้แก้ไขกฎกระทรวงให้บัตรรับรองสิทธิประกันสังคมสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้ทุกโรงพยาบาล รวมทั้งอยากให้รัฐบาลเร่งให้การรับรองอนุสัญญาไอแอลโอฉบับที่ 87 และ98
 
ส่วน ข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติปี พ.ศ. 2558 ที่จะยื่นต่อนายกรัฐมนตรีมี  11 ข้อ ดังนี้ 1.ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิในการวมตัวและเจรจาต่อรอง
 
2.ให้รัฐบาลเร่งนำ ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ... ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมของผู้ใช้แรงงานเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)
 
3.ให้รัฐบาลตรากฎหมายตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้แก่ลูกจ้างในกรณีที่สถานประกอบการปิดกิจการเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในการทำงาน
 
4.ให้รัฐบาลยกเว้นเก็บภาษีเงินได้กรณีค่าชดเชยของลูกจ้างภาคเอกชนและเงินตอบแทนความชอบของพนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงเงินได้อื่นๆ ซึ่งเป็นเงินงวดสุดท้ายของลูกจ้าง
    
5.ให้รัฐบาลสนับสนุนและผลักดันกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจ และยุตินโยบายการแปรรูปหรือแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทเอกชน หรือยุบเลิกรัฐวิสาหกิจ
 
6.ให้รัฐบาลตราพระราชกฤษฎีกา(พ.ฎ.ก)การจัดเก็บเงินสะสมและเงินสมทบ เพื่อเป็นกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างตามมาตรา 163 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 
 
7.ให้รัฐบาลยกระดับสำนักความปลอดภัยแรงงานเป็นกรมความปลอดภัยแรงงาน 
 
8.ให้รัฐบาลปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม(สปส.)โดยยกสถานะ สปส.เป็นองค์กรอิสระ และขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแก้ไขกฎกระทรวงเกี่ยวกับบัตรรับรองสิทธิให้สามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้ทุกโรงพยาบาลในระบบประกันสังคม และแก้ไขกฎกระทรวงเกี่ยวกับลูกจ้างเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุอันเนื่องมาจากการทำงาน เมื่อลูกจ้างใช้สิทธิได้แล้วให้สิทธิลูกจ้างไปใช้กองทุนประกันสังคมได้ รวมทั้งให้ สปส.จัดสร้างโรงพยาบาลประกันสังคมต้นแบบ
 
9.ให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำพร้อมทั้งควบคุมราคาสินค้าอุปโภคและบริโภค
 
10.ให้รัฐบาลสนับสนุนมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย 
 
11.ให้แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติปี 2558
 
(มติชน, 8/4/2558)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net