ฝ่ายหนุนปฏิรูปการศึกษาพม่าโวย-สภาสูงแก้ กม.การศึกษาไม่เป็นไปตามที่ตกลง

เครือข่ายปฏิรูปการศึกษาพม่า วิจารณ์กฎหมายการศึกษาฉบับที่แก้ไขโดยสภาสูงว่าไม่เป็นไปตามที่เคยเจรจาตกลงกัน ไม่มีเนื้อหาด้านเสรีภาพทางวิชาการ ไม่รับรองสหภาพนักศึกษา-ครู ด้านหลักสูตรยังกำหนดมาจากส่วนกลางไม่ใช่รัฐของกลุ่มชาติพันธุ์ ขณะที่ช่วงแก้กฎหมาย ตัวแทนนักศึกษามาแสดงความเห็นที่สภาไม่ได้เนื่องจากยังถูกจับหลังสลายชุมนุมที่ภาคพะโค

7 เม.ย. 2558 - สำนักข่าวอิระวดี รายงานว่า เครือข่ายเพื่อการปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติ (National Network for Education Reform - NNER) ซึ่งเป็นกลุ่มสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาในพม่า ได้วิจารณ์การแก้ไขกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ ที่ลงมติโดยสภาสูงของพม่าเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยระบุว่าร่างแก้ไขดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงไปจากที่ตกลงกัน จากผู้เกี่ยวข้องแต่ละฝ่ายเคยเห็นชอบร่วมกันก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา ร่างแก้ไขได้รับการลงมติรับรองโดยสภาชนชาติ ซึ่งเป็นสภาสูงของพม่า อย่างไรก็ตาม เครือข่ายเพื่อการปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติ (NNER) ซึ่งใกล้ชิดกับ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปการศึกษาที่เป็นประชาธิปไตย (Action Committee for Democratic Education - ACDE) ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาที่ร่วมเจรจาต่อรองกับรัฐบาล ออกมาระบุว่าการแก้ไขเนื้อหาไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้

เครือข่ายเพื่อการปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติ (NNER) เผยแพร่แถลงการณ์เมื่อวันที่ 1 เมษายน ระบุว่า กฎหมายการศึกษาแห่งชาติฉบับแก้ไขใหม่ดังกล่าว มีเนื้อหาที่ตรงข้ามกับที่เคยตกลงกัน ทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบของ สหภาพนักศึกษา และสหภาพครู และเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ ถูกแทนที่ด้วย เรื่องการจัดตั้ง "คณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ" ซึ่งสนับสนุนโดยรัฐบาล นอกจากนี้ กฎหมายฉบับแก้ไขใหม่ยังกลับมาควบคุมหลักสูตรการศึกษา โดยให้ถูกกำหนดมาจากส่วนกลาง ขณะที่ข้อตกลงก่อนหน้านี้เสนอให้หลักสูตรการศึกษากำหนดมาจากท้องถิ่นระดับรัฐชาติพันธุ์และภูมิภาคของพม่า

สำหรับข้อเรียกร้องให้จัดการศึกษาระดับภูมิภาค เป็นข้อเสนอหลักของกลุ่มนักศึกษา เนื่องจากพม่าเป็นประเทศที่มีองค์กรประกอบของประชากรหลากหลายเชื้อชาติ ขณะที่ในช่วงรัฐบาลทหาร มีเพียงการเรียนการสอนในภาษาพม่า ทั้งนี้การไม่ยอมให้มีการใช้ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้มีข้อเสียเปรียบเกิดขึ้นในหลายรัฐของกลุ่มชาติพันธุ์รวมทั้งในระดับภาคต่างๆ ของพม่าด้วย

นอกจากนี้ กลุ่มนักศึกษายังเรียกร้องให้เพิ่มงบประมาณการศึกษาอีกร้อยละ 20 ภายในเวลา 5 ปีข้างหน้า เช่นเดียวกับการจัดการศึกษาฟรีในระดับประถมและมัธยม แต่ข้อเสนอทั้งหมดนี้ไม่ถูกบรรจุในกฎหมายการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่แต่อย่างใด

มินอู สมาชิกสภาชนชาติจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) กล่าวว่า สมาชิกในสภาสูงจำเป็นต้องประนีประนอมกับเนื้อหาบางส่วนของร่างกฎหมายฉบับใหม่ เพื่อให้ระบบการศึกษาของชาติดีขึ้นในระยะยาว

"เมื่อเราพิจารณากฎหมายด้านการศึกษา เราไม่เพียงแค่คิดถึงเรื่องการทำให้นักศึกษาพอใจ หรือปรับให้เข้ากับกลุ่มปฏิรูปการศึกษา หรือเอาใจรัฐบาล เราคิดถึงการวางระบบการศึกษาที่ดีเพื่อคนรุ่นต่อไป และเพื่ออนาคตของชาติ" มินอูกล่าว

ทั้งนี้ในขั้นตอนการแก้ไขกฎหมายของสภาชนชาติ ซึ่งมีการประชุมในสภา มีการเชิญนักศึกษาจากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปการศึกษาที่เป็นประชาธิปไตย (ACDE) ด้วย แต่ผู้แทนของคณะกรรมการชุดนี้หลายคนไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ เนื่องจากถูกจับหลังการสลายการชุมนุมของตำรวจที่เล็ตปะดั่น ภาคพะโค เมื่อ 10 มีนาคมที่ผ่านมา (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ขณะที่ เครือข่ายเพื่อการปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติ (NNER) ระบุในแถลงการณ์ด้วยว่า ได้บรรลุข้อตกลงในการเจรจาก่อนที่จะมีการลงมติแก้ไขกฎหมายในสภา โดยเครือข่ายเพื่อการปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติ (NNER) ยังยืนยันว่า "สภาสูงจำเป็นต้องสร้างความกระจ่าง" ว่าพวกเขาผ่านการแก้ไขกฎหมายได้อย่างไร ในเมื่อมีเพียงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นที่ไปเข้าร่วม

มิน ลวิน อู นักศึกษาจากกลุ่ม คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปการศึกษาที่เป็นประชาธิปไตย (ACDE) และเป็นประธานของสหภาพนักศึกษาทวาย กล่าวกับผู้สื่อข่าวอิระวดีว่า การแก้ไขกฎหมายการศึกษา จะต้องผ่านการหารือกับนักศึกษาที่เป็นผู้นำของ ACDE ก่อน พวกเขาถึงจะยอมรับได้

"นักศึกษากลุ่ม ACDE ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ อาจไม่เห็นด้วย (กับกฎหมายฉบับแก้ไข)" มิน ลวิน อูกล่าว "ผมขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาเหล่านี้ทันที และหลังจากนี้กลุ่ม ACDE จะมาร่วมกันหารือในเรื่องนี้"

ก่อนหน้านี้ นักศึกษาหลายมหาวิทยาลัยของพม่าเริ่มเดินขบวนในเดือนพฤศจิกายนปี 2557 เพื่อต่อต้านกฎหมายการศึกษาฉบับใหม่ที่พวกเขาระบุว่า เป็นกฎหมายที่ควบคุมเสรีภาพทางวิชาการ รวมทั้งไม่ยอมรับการรวมตัวของนักศึกษาและครูอาจารย์ การเดินขบวนกินเวลายาวนาน กระทั่งนักศึกษาจากมัณฑะเลย์เริ่มเดินเท้าจากมัณฑะเลย์มุ่งสู่ย่างกุ้ง กระทั่งถูกตำรวจสกัดที่เมืองเล็ตปะดั่น ภาคพะโค และถูกตำรวจสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา โดยมีการจับกุมนักศึกษาจำนวนมาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท