Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ทางเลือกในชีวิตจริงของคนมีจำกัดเสมอ ยิ่งต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ระบอบรัฐประหาร ทางเลือกก็ยิ่งจำกัดลง ถ้าให้เลือกได้อย่างเสรี ผมไม่เอาทั้งกฎอัยการศึกและ ม.44 แต่เพราะทางเลือกภายใต้ระบอบรัฐประหารมีจำกัด ระหว่างสองอำนาจนี้ ผมเลือก ม.44

หากพิจารณาในทางกฎหมาย ม.44 ให้อำนาจแก่หัวหน้า คสช.อย่างไร้ขีดจำกัด สามารถระงับยับยั้งการกระทำใดๆ ของคนในสังคม ทั้งที่เป็นบุคคลหรือสถาบันได้หมด สามารถกระทำการใดๆ ซึ่งอาจมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการได้หมด โดยถือว่าถูกกฎหมาย จึงเป็นที่หวั่นเกรงของนักกฎหมายจำนวนหนึ่ง เพราะเห็นว่าเป็นอำนาจที่ไร้ขีดจำกัดโดยสิ้นเชิง

แต่อำนาจไม่เคยทำงานด้วยกฎหมายเพียงอย่างเดียว การทรมานผู้ต้องหาภายใต้กฎอัยการศึกทั้งในประเทศและในภาคใต้ตอนล่างก็ทำกันโดยไม่มีกฎหมายใดรองรับ การใช้อำนาจ ไม่ว่าจะมีกฎหมายรองรับหรือไม่ คือการกระทำทางการเมืองเสมอ (แม้แต่สามีทำร้ายร่างกายภรรยาก็มีมิติทางการเมืองอยู่เบื้องหลังเป็นหลัก)

ฉะนั้น ปัจจัยทางการเมือง (ซึ่งรวมกฎหมายด้วย) ย่อมมีส่วนในการกำหนดการใช้อำนาจมากกว่ากฎหมายล้วนๆ อำนาจที่หัวหน้า คสช.ได้จาก ม.44 จึงไม่อนุญาตให้หัวหน้า คสช.ใช้ได้ตามตัวอักษรเพียงอย่างเดียว

ขอยกตัวอย่างให้เห็นชัดได้ดังนี้ การกระทำที่มีผลในทางตุลาการดังที่เขียนไว้ใน ม.44 ไม่ได้หมายความว่าจะออกคำสั่งให้ตุลาการพิจารณาตัดสินคดีใดๆ ไปทางใดทางหนึ่งตามความประสงค์ของหัวหน้า คสช. (หากจะแสดงความประสงค์เช่นนั้นก็ทำโดยทางลับ ซึ่งเท่ากับเปิดโอกาสให้ตุลาการแต่ละคนใช้วิจารณญาณส่วนตนว่าจะทำตามหรือไม่ และในประวัติศาสตร์การพิจารณาคดีที่ผ่านมาก็มีตุลาการที่ใช้วิจารณญาณส่วนตนในอันจะไม่คล้อยตามมาแล้ว)

อำนาจที่ระบุไว้ในม.44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ไม่เพียงพอที่หัวหน้า คสช.จะใช้ได้โดยไม่มีขีดจำกัด เช่น ไม่อาจสั่งคดีแก่ตุลาการโดยเปิดเผยได้ เพราะเท่ากับเป็นการก่อศัตรูในหมู่ตุลาการ ซึ่งเคยมีประวัติการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของฝ่ายตุลาการมายาวนาน จึงไม่เป็นผลดีทางการเมืองแก่ คสช.แต่ประการใด

อำนาจนี้เผด็จการในประเทศไทยเคยใช้มาก่อนคือการตัดสินลงโทษคน นับตั้งแต่กักขังหน่วงเหนี่ยว, จำขัง, ริบทรัพย์ ไปจนถึงประหารชีวิต ด้วยคำสั่งของหัวหน้าคณะรัฐประหาร โดยไม่ปล่อยให้คดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติ ฝ่ายตุลาการมีช่องที่จะอ้างกฎหมายเพื่อไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น เผด็จการและตุลาการทำงานร่วมกันต่อไปได้โดยไม่ต้องมีความขัดแย้ง

นี่คือข้อจำกัดของการใช้อำนาจตามกฎหมายเพราะการใช้อำนาจเป็นเรื่องของการเมือง ไม่ใช่เรื่องของกฎหมาย

"ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว" ถ้อยแถลงเช่นนี้ของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แสดงอำนาจของคณะรัฐประหารว่าจะสามารถเผชิญกับการต่อต้านเนื่องมาจากการใช้อำนาจตุลาการโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมได้แต่ในขณะเดียวกันก็แสดงความด้อยอำนาจทางการเมืองของการสร้าง "ข้อยกเว้น" ไปพร้อมกัน อำนาจสัมบูรณ์คืออำนาจที่จะสร้างข้อยกเว้นได้ในทุกกรณีโดยไม่ต้องอธิบาย เมื่อไรที่ต้องอธิบายหรือให้เหตุผลแก่ข้อยกเว้น เมื่อนั้นก็แสดงว่าอำนาจไม่สัมบูรณ์จริง (ผมจึงไม่เห็นด้วยกับนักการเมืองบางคนที่ว่า ม.44 ให้อำนาจแก่หัวหน้า คสช.เหมือนเป็นกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อำนาจที่แท้จริงของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามคือวัฒนธรรม ไม่ใช่กฎหมาย นั่นคือวัฒนธรรมที่ทำให้ทุกคนยอมรับข้อยกเว้นโดยไม่ต้องถาม และไม่ต้องการคำอธิบายต่างหาก ซึ่งหัวหน้า คสช.ไม่มีทางมีได้เป็นอันขาด)

หัวหน้า คสช.จะใช้อำนาจนี้ในการประหารชีวิตใครได้หรือไม่ แม้กฎหมายเปิดช่องไว้ก็ตาม ผมคิดว่าทำไม่ได้ เพราะหัวหน้า คสช.ต้องให้คำอธิบายแก่ "ข้อยกเว้น" นี้ สฤษดิ์ใช้คำอธิบายว่า บุคคลที่ต้องโทษเป็นภัยต่อสังคมและชาติอย่างร้ายแรง ซึ่งประชาชนจำนวนมากเชื่อตามนั้น แต่สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ ไม่อนุญาตให้ใช้คำอธิบายเช่นนี้ได้เสียแล้ว (ไม่มี พคท., ไม่มีข้ออ้างที่น่าเชื่อถือว่าเพื่อนบ้านกำลังจะเข้ายึดครองประเทศไทย) หัวหน้า คสช.จะฆ่าคน, ขังคน, ริบทรัพย์คน, ทรมานคน ฯลฯ เพราะเขาเป็นอันตรายแก่ คสช.เองกระนั้นหรือ คำอธิบายแก่ข้อยกเว้นเช่นนี้ยิ่งบ่อนเซาะความชอบธรรมซึ่งมีน้อยนิดอยู่แล้วให้สิ้นไป

อำนาจตามกฎหมายจึงไม่ใช่อำนาจที่จะใช้ได้ตามสบายและที่สำคัญก็คือ คสช.ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตน คณะรัฐประหาร คสช.มีความแข็งแกร่งเท่าระบอบสฤษดิ์ละหรือ หากจะรับผิดชอบเพียงผู้เดียว ทั้งต่อสังคมไทยและสังคมโลก

ปัจจัยทางการเมืองที่บังคับให้ คสช.ต้องยกเลิกกฎอัยการศึก หันมาใช้ ม.44 แทนคือแรงกดดันจากสองทาง ซึ่งสัมพันธ์เชื่อมโยงกันมากกว่าเมื่อปลายพฤษภาคมปีที่แล้วอย่างมาก ประกอบด้วยแรงกดดันจากภายในและแรงกดดันจากภายนอก

ย้อนกลับไปคิดถึงปลายพฤษภาคมปีที่แล้ว แรงกดดันทั้งสองอย่างนี้แทบไม่มีผลต่อพฤติกรรมของ คสช.เลย ประชาชนจำนวนมากลุกขึ้นมาประท้วง ทั้งโดยตรงและโดยสัญลักษณ์ในพื้นที่สาธารณะทั่วกรุง คณะรัฐประหารใช้อำนาจทหารและตำรวจในกำกับปราบปราม ข่มขู่ จับกุม จนกระทั่งการประท้วงค่อยๆ ซาลง แต่ก็กลายเป็นข่าวไปทั่วโลก พิสูจน์ให้มหาอำนาจตะวันตกเห็นว่า การสถาปนาระบอบเผด็จการกองทัพขึ้นในประเทศไทยไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนอย่างพร้อมเพรียงนัก จึงเป็นการยากที่มหาอำนาจในระบอบประชาธิปไตยจะทำเฉยเมยต่อการรัฐประหารในไทยได้ จำเป็นต้อง "แสดงความห่วงใยหรือกังวล" ให้ประจักษ์แก่พลเมืองผู้เลือกตั้งของตน

ด้วยคำแนะนำผิดๆ คสช.ซึ่งคงคิดว่าสามารถจัดการกับการประท้วงภายในได้เรียบร้อยแล้ว จึงเลือกตอบโต้แรงกดดันจากภายนอกด้วยการหันไปซบจีน ซึ่งกำลังมุ่งสร้างอิทธิพลในภูมิภาคนี้ขึ้นมาเหมือนกัน การตอบสนองที่ไร้สติปัญญาเช่นนี้จึงบีบบังคับให้มหาอำนาจตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐ ซึ่งเกรงว่าจะสูญเสียอิทธิพลในภูมิภาคนี้แก่จีนไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเพิ่มแรงกดดันแก่ คสช.ยิ่งขึ้น เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะสกัดอิทธิพลจีนในประเทศไทยได้ดี คือขจัดรัฐบาลทหารออกไปเสียด้วยแรงกดดันภายในไทยเอง (จากประชาชน, นักการเมือง, ผู้มีอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ฯลฯ หรือใครก็ได้ที่มีความชอบธรรมจะทำได้) สำนักข่าวต่างประเทศจึงยิ่งเป็นปฏิปักษ์กับหัวหน้า คสช.และระบอบกองทัพในประเทศไทยมากขึ้นและชัดเจนขึ้นไปพร้อมกัน การประท้วงทุกชนิดแม้ทำโดยคนไม่กี่คนถูกรายงานอย่างครบถ้วนในสื่อต่างประเทศ (รวมแม้แต่ของอาเซียนเอง)

การรังควานของทหารในนามของการรักษากฎอัยการศึกจึงให้ภาพของการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรงแก่ประชาชนไทยสื่อกระแสหลักในประเทศไทยซึ่งอยู่ข้างเดียวกับ คสช.มาแต่ต้น จำเป็นต้องรายงานการทรมานผู้ต้องหา เพราะถึงอย่างไรข่าวนั้นก็แพร่หลายในสื่อต่างประเทศ (และลามเข้ามายังสื่อออนไลน์ไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้)...อย่าลืมว่า สื่อกระแสหลักไทยแทบไม่ใส่ใจกับการหายตัวไปอย่างลึกลับของคุณกฤชสุดา คุณะเสน เลย เพราะนั่นเพิ่งเป็นระยะแรกๆ ของการยึดอำนาจ...ทำให้สื่อกระแสหลักถูกหัวหน้า คสช.มองว่าเป็นศัตรู และเริ่มแสดงท่าทีคุกคามสื่ออย่างหนัก แต่นั่นกลับให้ผลร้ายมากขึ้น เพราะสหรัฐนำไปแสดง "ความวิตกห่วงใย" ที่นักข่าวไทยอาจถูกประหารในวิธีคุกคามแบบพูดเล่นของผู้นำ คสช.

ขอให้สังเกตด้วยว่า การประท้วงการรัฐประหารในระยะหลังกระทำอย่างที่พร้อมจะยอมรับผลของกฎอัยการศึกเต็มที่ เช่น ชุมนุมเกิน 5 คน วางใบปลิว ติดป้าย เดินเท้าไปศาล ชูสามนิ้วหน้าโพเดียมของผู้นำ ฯลฯ การจับกุมยิ่งเป็นข่าวและกลายเป็นแบบอย่างที่แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว ไม่เฉพาะในเมืองไทย แต่รวมถึงทั่วสากลโลกที่สื่อตะวันตกไปถึง

มันวนกันไปวนกันมาระหว่างแรงกดดันภายในและภายนอกอย่างนี้แหละครับพ่อคุณเอ๋ย ร้ายยิ่งไปกว่านั้น ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ไม่มีทีท่าจะเงยหัวขึ้นได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว วงจรแห่งแรงกดดันดังกล่าวนี้จึงไม่มีทางจะแตกหักหรือยุติลงได้ในอนาคตที่พอมองเห็นได้ (เพื่อความเป็นธรรมต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยดิ่งหัวลงมาก่อนรัฐประหารนานแล้ว แต่การรัฐประหารทำให้มันดิ่งเร็วขึ้น)

ด้วยกฎหมายเก่าที่ยังไม่เปลี่ยนอะไรเลยสักคำเดียว สถานการณ์ได้แปรเปลี่ยนไปถึงเพียงนี้แล้ว นักกฎหมายที่ไม่เข้าใจว่าการใช้อำนาจตามกฎหมายเป็นการเมือง ไม่ใช่นิติศาสตร์ล้วนๆ จึงยากจะเข้าใจว่า การหันมาใช้ ม.44 แทนกฎอัยการศึกคือการถอยร่นที่ฝ่าย คสช.คิดว่าเป็นการตั้งขบวนใหม่ ไม่ใช่เปลี่ยนขนานมาใช้ยาแรง เพราะยาจะแรงแค่ไหนก็ตาม การใช้ก็ยังเป็นการเมืองอยู่เสมอ

เข้าใจว่า ก่อนจะยกเลิกกฎอัยการศึก คสช.คงต้องร่างคำสั่งซึ่งอ้างอำนาจใน ม.44 ขึ้นมาทดแทน จะให้ผ่าน สนช.เพื่อประกาศเป็นกฎหมายหรือไม่ก็ตาม แต่ข้อบังคับในคำสั่งนี้ จะมีเนื้อความเท่ากับกฎอัยการศึกย่อมทำให้ขบวนใหม่ที่ คสช.ตั้งขึ้นรับแรงกดดันต้องถอยร่นอย่างไม่เป็นขบวนแน่นอน เพราะมหาอำนาจตะวันตกคงไม่ยอมรับการเปลี่ยนชื่อกฎอัยการศึกเป็นคำสั่งตาม ม.44 อย่างแน่นอน คำขวัญของพลเมืองโต้กลับที่ว่า พลเรือนต้องไม่ขึ้นศาลทหารก็ยังใช้ได้อยู่เหมือนเก่า ความหวังจะลดแรงกดดันด้วยการเปลี่ยนชื่อเรียกกฎหมาย จึงไม่ทำให้แรงกดดันลดลงแต่อย่างไร

อย่างไรเสีย คสช.ก็ต้องร่างคำสั่งตามอำนาจใน ม.44 ให้ต่างไปในทางดีขึ้นกว่ากฎอัยการศึกอย่างแน่นอน (บนสมมุติฐานที่ไม่อาจพิสูจน์เชิงประจักษ์ได้ว่า คสช.พอมีสติปัญญาจะเข้าใจ) แต่ในขณะเดียวกัน อำนาจของหัวหน้า คสช.ใน ม.44 มีข้อได้เปรียบกว่ากฎอัยการศึกก็คือ หัวหน้า คสช.อาจใช้ยาแรงแก่การกระทำผิดบางอย่างของคนบางกลุ่ม และอาจยกเว้นการใช้ยาโดยสิ้นเชิงแก่การกระทำของคนอีกบางกลุ่ม (เช่นน้องตั๊น) ปัญหาคือ คสช.จะร่างคำสั่งดังกล่าวโดยรักษาข้อได้เปรียบนี้ไว้ในคำสั่ง หรือปล่อยให้คลุมเครือในตัว ม.44

ไม่ว่าจะเป็นคำสั่ง คสช.ที่อาศัยอำนาจตามความใน ม.44 จะรักษาข้อได้เปรียบของอำนาจพลการของหัวหน้า คสช.ไว้หรือไม่ หัวหน้า คสช.ก็ต้องลงนามในคำสั่งทั้งหมดเหล่านี้ และเขาคือผู้รับผิดชอบโดยตรงต่อประชาชน ไม่ว่าเขาจะอยากรับผิดชอบหรือไม่ก็ตาม เพราะกฎหมายนี้เป็นกฎหมายของเขา

หากมองการใช้อำนาจเป็นการกระทำทางการเมือง อำนาจในคำสั่งย่อมมีจำกัด การใช้อำนาจตามคำสั่งที่ออกตามอำนาจใน ม.44 ก็มีจำกัด ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เพราะข้อจำกัดของการใช้อำนาจ จึงเปิดช่องการต่อรองได้หลายรูปแบบ เพราะคำสั่งนั้นเป็นกฎส่วนตัวของหัวหน้า คสช. ไม่ใช่กฎหมายแผ่นดินอย่างกฎอัยการศึก จึงเกิดความจำเป็นที่ผู้ใช้อำนาจยิ่งต้องคำนึงถึงปัจจัยทางการเมืองมากขึ้นไปอีก (แม้คนอย่างเขาไม่สนใจจะลงเลือกตั้ง แต่การเมืองมีความหมายมากกว่าการเลือกตั้ง) ยิ่งใช้การเมืองเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินใจ เพราะเป็นบรรทัดฐานที่จะทำให้ คสช.อยู่รอด การต่อรองก็ยิ่งมีช่องทางมากขึ้น

ความปลอดภัยของผู้คนที่ถูกอำนาจทางกฎหมายกำกับควบคุมคือการต่อรองและด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาทั้งหมด ผมเห็นว่า ม.44 ย่อมเปิดให้เกิดการต่อรองได้มากกว่ากฎอัยการศึก ดังนั้น เมื่อทางเลือกถูกจำกัดเหลือเพียงสองเช่นนี้ ผมเลือกสนับสนุนการใช้อำนาจตาม ม.44

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 6 เมษายน 2558

ที่มา: มติชนออนไลน์

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net