Skip to main content
sharethis

เหตุกลุ่มติดอาวุธ "อัล-ชาบับ" ซึ่งมีฐานอยู่ในโซมาเลีย ข้ามมาก่อเหตุโจมตีมหาวิทยาลัยการิสสาในเคนย่า จนมีผู้เสียชีวิต 147 ราย นับเป็นเหตุโจมตีครั้งร้ายแรงในรอบ 2 ทศวรรษของเคนย่า ขณะที่ระยะหลังกลุ่มติดอาวุธในโซมาเลียพุ่งเป้าโจมตีเคนย่ามากขึ้น เนื่องจากบทบาทของเคนย่าที่ร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายในภูมิภาค

เมืองการิสสา ประเทศเคนย่า ในทวีปแอฟริกา ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยการิสสาซึ่งเกิดเหตุสังหารหมู่เมื่อวันที่ 2 เม.ย. อยู่ห่างจากชายแดนโซมาเลีย 144 กิโลเมตร (ที่มา: Google Maps)

5 เม.ย. 2558 - จากเหตุการณ์กลุ่มติดอาวุธ อัล-ชาบับ บุกโจมตีหอพักนักศึกษา ที่มหาวิทยาลัยการิสสา ทางตะวันออกของเคนย่า ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (2 เม.ย.) ล่าสุด รายงานในวอชิงตันโพสต์ เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 147 ราย ทั้งนี้ทางการเคนย่าระบุว่าเหตุก่อการร้ายดังกล่าวร้ายแรงที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษของเคนย่า

ทั้งนี้มีนักศึกษามากกว่า 500 คน ได้รับการช่วยเหลือ หลังจากที่กลุ่มติดอาวุธจากประเทศโซมาเลีย "อัล-ชาบับ" หรือ "คนหนุ่ม" ในภาษาอาหรับ ซึ่งติดอาวุธหนักและคาดระเบิดไว้ตามตัวได้บุกโจมตีมหาวิทยาลัยการิสสา เมื่อเวลา 05.30 น. โดยยิงนักศึกษาบางราย และจับคนที่เหลือเป็นตัวประกัน ทั้งนี้ ศูนย์ช่วยเหลือภัยพิบัติแห่งชาติเคนย่า ระบุว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บ 79 ราย

ด้านโฆษกของเมืองการิสสา อับดุลกาดี ซุโกแถลงว่าเหตุบุกโจมตีดังกล่าวกินเวลา 15 ชั่วโมง โดยมือปืนซึ่งเป็นชาวโซมาเลีย 4 ราย เสียชีวิตทั้งหมด แต่เขาไม่ได้ให้รายละเอียดว่ามือปืนเสียชีวิตอย่างไร

โดยหลังจากนี้เจ้าหน้าที่ของเคนย่าจะสืบสวนหาสาเหตุ ขณะที่กองกำลังของรัฐบาลเคนย่ายังคงอยู่ในมหาวิทยาลัย เนื่องจากสถานการณ์ยังไว้วางใจไม่ได้เต็มที่

ทั้งนี้มหาวิทยาลัยการิสสาตั้งอยู่นอกเมือง ห่างจากชายแดนโซมาเลียเพียง 144 กม. ที่ซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้งและการเผชิญหน้า ทั้งนี้ยังไม่มีตัวเลขจำนวนนักศึกษาที่เสียชีวิตอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้มีหลายคนที่กระโดดหนีออกมาทางกำแพงเพื่อหลบออกจากมหาวิทยาลัย

โดยมือปืนได้เข้ามายึดบริเวณมหาวิทยาลัยและจับตัวประกันไว้จำนวนหนึ่ง รัฐมนตรีมหาดไทยของเคนยา โจเซฟ ไคสเซรี กล่าวว่า เมื่อพวกเขาถูกตำรวจยิง พวกเขามีเสียงดัง "เหมือนระเบิด"

โอตากู วีคูวี นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เล่าว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นขณะที่เขานอนหลับอยู่ในหอพัก เมื่อมือปืนมาถึง พวกเขาได้ยิงแบบไม่เลือกหน้าเข้าใส่ทั้งนักศึกษาที่เป็นมุสลิม และไม่ใช่มุสลิม ทั้งนี้แม้จะมีรายงานก่อนหน้านี้ว่ามือปืนกลุ่มนี้เลือกเป้าหมายที่เป็นคริสเตียนก็ตาม "เมื่อพวกเขาโจมตีเรา พวกเราส่วนใหญ่นอนหลับในเวลานั้น ดังนั้นพวกเราจึงตื่นขึ้นด้วยเสียงปืน" "ผมตกอยู่ในความกลัวและสับสน"

โรสาลินด์ มูกาบี นักศึกษาอีกคนหนึ่ง กล่าวว่า เธอหนีออกมาจากหอพักด้วยความตกใจ และพยายามหลบหลีกกระสุนปืน แม้ว่าเธอจะสามารถหนีมาที่ลานทรายและออกไปยังทุ่งข้างมหาวิทยาลัยได้ แต่เพื่อนของเธอบางคนก็ล้มลง "พวกเราเห็นคราบเลือดและมีบางคนที่ถูกยิง"

มีข้อมูลด้วยว่ากลุ่มอัล-ชาบับ ประกาศว่าจะบุกโจมตีสถานศึกษามาก่อนหน้านี้ โดยนักศึกษาอายุ 19 ปี รายหนึ่งปัจจุบันอยู่ที่ไนโรบี เมืองหลวงของเคนย่า นักศึกษาซึ่งไม่ขอระบุชื่อผู้นี้กล่าวว่า เขาย้ายมาจากมหาวิทยาลัยที่การิสสามายังเมืองหลวงของเคนย่าหลังจากกลุ่มอัล-ชาบับ ขู่ว่าจะโจมตีเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา "ในเวลานั้นทุกคนต้องกลับบ้านเนื่องจากตึงเครียดอย่างมาก" "อัล-ชาบับ กล่าวว่า พวกเขากำลังจะมาโจมตีสถานศึกษาในวันใดวันหนึ่ง ดังนั้นเราจึงกลับบ้าน แต่ตอนนั้นมันเป็นข่าวลือ แต่เราก็จำเป็นต้องลาหยุด"

เขากล่าวด้วยว่า นักเรียนได้กลับบ้านในช่วงกลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และหลายคนไม่ได้มาสอบปลายภาค "ผมเองก็โอนย้ายเพราะเรื่องตึงเครียดนี้" เขากล่าวด้วยว่า รู้สึกกลัวอย่างยิ่งเมื่อทราบว่ากลุ่มอัล-ชาบับ บุกโจมตีเมื่อวันพฤหัสบดี "ผมรู้สึกกลัวมาก ผู้คนเห็นเป็นเรื่องปกติและคิดว่าบางทีพวกอัล-ชาบับน่าจะใช้เวลา 2 ปี (เพื่อมาโจมตี) แต่ผมไม่เคยละเลยคำขู่นี้"

เหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งนี้นับเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงที่สุดในเคนย่า นับตั้งแต่เหตุระเบิดโจมตีสถานทูตสหรัฐอเมริกาที่ไนโรบี เมื่อปี 1998 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 224 ราย และล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2013 ก็เกิดเหตุบุกโจมตีห้างสรรพสินค้าที่ไนโรบี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 67 ราย ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้มีผู้เกรงว่ากลุ่มอัล-ชาบับ จะสามารถปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ได้ จากฐานที่มั่นในโซมาเลีย

ทั้งนี้นับตั้งแต่การโจมตีในปี 2013 ทำให้กองทัพสหรัฐอเมริกายังคงปฏิบัติการทางทหารโดยใช้เครื่องบินไร้คนบังคับหรือโดรน โจมตีเป้าหมายที่เป็นผู้นำกลุ่มที่อยู่ในเครือของอัล-ไคดาห์ โดยเมื่อเดือนก่อน มีการโจมตีทางอากาศและทำให้อะดาน การาร์ เสียชีวิต โดยการาร์ผู้นี้ถูกเชื่อกันว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตีห้างสรรพสินค้าที่ไนโรบี และอีกหลายเหตุการณ์ในภูมิภาค

ด้านกลุ่มอัล-ชาบับ มองว่ารัฐบาลเคนย่าเป็นศัตรูเนื่องจากเคนย่าส่งทหารไปปฏิบัติการในโซมาเลียเมื่อปี 2011 เพื่อสู้กับกลุ่มอัล-ชาบับ และกองทัพเคนย่ายังคงปฏิบัติการอยู่ในโซมาเลีย โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติภารกิจของประเทศสมาชิกกลุ่มสหภาพแอฟริกา

ขณะที่สหรัฐอเมริกาถือว่าเคนย่าเป็นพันธมิตรที่สำคัญในภูมิภาค และมีบทบาทในการต่อต้านการก่อการร้าย นอกจากนี้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้เคนย่ามีความสำคัญในทางภูมิรัฐศาสตร์ด้วย

นอกจากนี้เมื่อสัปดาห์ก่อน กลุ่มอัล-ชาบับได้ยึดโรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงโมกาดิสชู เมืองหลวงของโซมาเลีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 20 ราย รวมทั้งยูซุฟ บารีบารี ทู ทูตโซมาเลียประจำสวิสเซอร์แลนด์ด้วย

ทั้งนี้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยการิสสายังเห็นคำเตือนล่วงหน้าว่าจะมีการโจมตีมหาวิทยาลัยด้วย "แต่ในเวลานั้นเป็นวันที่ 1 เมษายน พวกเราคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องโกหก" นักศึกษาคนหนึ่งกล่าว ขณะที่มหาวิทยาลัยในเคนย่าหลายแห่งก่อนหน้านี้ได้ติดโปสเตอร์เพื่อเตือนนักศึกษาว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุโจมตีมหาวิทยาลัย

ทั้งนี้มหาวิทยาลัยการิสสา เปิดการเรียนการสอนครั้งแรกในปี 2011 นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกและแห่งเดียวในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเคนย่า

ประธานาธิบดีเคนย่ากล่าวว่า "นี่เป็นครั้งหนึ่งที่พวกเราทั่วประเทศจะได้ร่วมกันระแวดระวัง ในขณะที่พวกเราจะยังคงเผชิญหน้าเราเอาชนะศัตรูของชาติ" อูฮูรู เคนยัตตา ประธานาธิบดีเคนย่ากล่าวหลังเหตุการณ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net