Skip to main content
sharethis
เวทีรับฟังความเห็น รธน. เชียงใหม่ คนเชียงใหม่เสนอลงโทษแกนนำม็อบ หวั่นซ้ำรอยในอดีต "จำลอง-สนธิ-จตุพร-ณัฐวุฒิ-สุเทพ" ทำให้ประเทศเสียหายมามากแล้ว ด้าน "คำนูณ" ย้ำไม่ได้เขียนสืบทอดอำนาจ
 
4 มี.ค. 2558 เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่าที่โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ จ.เชียงใหม่ คณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.)การมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในกมธ.ยกร่างฯ ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน จัดโครงการเวทีสัมมนา เรื่อง “การเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ” โดยนายคำนูณ  สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ภาพรวมของบ้านเมืองเราเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา เกิดความขัดแย้งขนาดหนักเป็นความขัดแย้งที่ร้าวลึก และรุนแรง ทุกสถาบันถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้อง แบ่งสังคมไทยเป็นฝักเป็นฝ่าย แม้แต่ในครอบครัวเองความคิดก็ยังไม่ตรงกัน แต่ไม่ว่าใครจะถูกหรือผิด ไม่อาจจะจบลงด้วยฝ่ายใดชนะเด็ดขาด ไม่เหมือนคอมพิวเตอร์ที่เราสามารถลบข้อมูลไปได้ เราเสียชีวิตคนไปจำนวนมาก รัฐประหารที่เกิดขึ้นคนทำจริง ๆ ก็ไม่ได้อยากจะทำ แต่จำเป็นต้องทำ เพราะมีความเสียหาย ทั้งเศรษฐกิจและสังคม ประเทศเดินหน้าไม่ได้ แต่เพื่อนบ้านของเราเดินหน้าไปถึงไหนแล้ว ถ้าเราหยุดชะงักแบบนี้อีกหน่อย เวียดนาม กัมพูชา หรือลาว อาจจะแซงหน้าเราไปได้ ไม่ต้องไปพูดถึงสิงคโปร์ หรือมาเลเซียเลย
 
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า เมื่อรัฐธรรมนูญเสร็จ เกิดการเลือกตั้งแล้วสถานการณ์จะกลับไปเหมือนก่อนวันที่ 22 พ.ค.57 หรือไม่ วันนี้ กมธ.ยกร่างฯ กำลังสร้างกฎ เพื่อให้บ้านเมืองดำเนินไปอย่างปกติ เป็นไปตามที่ทุกกลุ่มทุกฝ่ายรับได้ ถ้าจะร่างไม่ให้คนด่าเลย ก็ไม่ยาก แค่เอารัฐธรรมนูญเก่า ๆ มาปัดฝุ่นแล้วให้มีเลือกตั้ง แต่ถามว่าถ้าทำอย่างนั้นแล้วแก้ปัญหาที่มีอยู่ได้หรือไม่ กลไกต่าง ๆ ที่กมธ.ยกร่างฯ พยายามวางไว้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็เป็นเจตนาที่บริสุทธิ์ที่เราตั้งใจทำ รวมทั้งอยากให้ทุกคนเสนอแนะข้อมูลให้กับเรา ร่างรัฐธรรมนูญนี้ยังเป็นเพียงร่างแรกเท่านั้น ยังสามารถแก้ไขได้ทุกประเด็น
 
นายคำนูณ กล่าวอีกว่า เรื่องพรรคการเมือง การส่งตัวแทนลงสมัคร พวกเขาฟังเสียงประชาชนแค่ไหน การเลือกตั้งในบ้านเราต้องใช้เงินจำนวนมาก พรรคการเมืองก็ต้องเป็นคนมีเงินสนับสนุน หากจะให้พรรคสนับสนุนลงเลือกตั้งก็ต้องแข่งกันอย่างเข้มข้น สภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่การแข่งขันของผู้แทนฯ แต่เป็นการแข่งขันของนายทุนพรรค เราจะฝากอนาคตของชาติไว้กับคนเหล่านี้หรือ การเมืองไม่ใช่คนไปเลือกผู้แทนฯ แล้วผู้แทนฯ ไปเลือกนายกรัฐมนตรี ต้นเหตุความขัดแย้งจริง ๆ มาจากประชาชนบ้านเรามีความเหลื่อมล้ำ โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร ช่องว่างระหว่างความมั่งมีกับความยากจน โครงสร้างของรัฐธรรมนูญใหม่ เรามีภาค 4 ว่าด้วยการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง เพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศในด้านต่าง ๆ ที่แยกกับระบบบริหารราชการแผ่นดิน มีคนว่าเราสืบทอดอำนาจ ยอมรับว่าสืบทอดแต่เป็นการสืบทอดการทำงาน เพราะการปฏิรูปไม่ใช่จะใช้เวลาแค่ปี หรือสองปีที่จะทำให้สำเร็จ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายของการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ได้มีผู้เสนอให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่บัญญัติบทลงโทษแก่ผู้นำม็อบ เอกชน และข้าราชการที่สนับสนุน เนื่องจากที่ผ่านมาบุคคลเหล่านี้ได้ทำให้ประเทศชาติเสียหายเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น นายจำลอง ศรีเมือง ในเหตุพฤษภาทมิฬ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  นายจตุพร  พรหมพันธุ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หรือแม้แต่กรณีแกนนำ นปช.ที่ขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และกลุ่ม กปปส.ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ออกมาขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้กลับไม่เคยได้รับการลงโทษแต่อย่างใด ดังนั้นหากไม่มีกฎหมายมาควบคุมเอาไว้อย่างชัดเจน ก็เชื่อว่าจะมีผู้นำม็อบออกมาชุมนุมสร้างความเดือดร้อนแก่ประเทศในอนาคตอย่างแน่นอน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net