Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

                             
วาทะหนึ่งของ ลีกวน ยู กล่าวว่า “เขาไม่เชื่อการจัดทำโพล พวกผู้นำที่เชื่อการทำโพล คือผู้นำที่อ่อนแอ ตามความหมายของ มาคาเวลลี” จากวาทะดังกล่าวพอจะอนุมานได้ว่านาย ลี กวน ยู ก็คงเป็นผู้ศึกษาทฤษฎีการปกครอง จากหนังสือ The Prince ของ มาคิอาเวลลี มาไม่มากก็น้อย ฉะนั้นบทความนี้ จึงพยายามจะนำทฤษฎีของมาคิอาเวลลี มาใช้วิเคราะห์บทบาทของนายลี กวน ยู ในฐานะ “นักปกครอง” ที่สามารถนำพาประเทศสิงคโปร์เป็น”เสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย” และในฐานะนักปกครองที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น “บุคคลสำคัญระดับโลก”


ที่มาภาพ: https://vulcanpost.com /man-saw-tomorrow-said-lee-kuan-yew-years

ว่าด้วยรัฐ : รัฐมหาชนที่มาจากรัฐโดยเจ้าปกครอง

“สิงคโปร์” เกิดจากชุมชนประมงเล็กๆชื่อ “เทมาเส็ก”(Tamasek) และกลายมาเป็นเมืองท่าสำคัญของอาณาจักร”ศรีวิชัย” ในนาม”เมืองสิงหปุระ”(Sinngapura) เมื่ออาณาจักรศรีวิชัยล่มสลายลง ก็ถูกยึดครองโดยโปรตุเกส ในศต.15 และฮอลันดายึดครอง ในศต.ที่17 ตามลำดับ ต่อมาในปี ค.ศ.1919 อังกฤษได้ขอเช่าเกาะนี้จากฮอลันดา และได้รวมสิงคโปร์เข้ากับปีนังและมาลายูเป็นเขตปกครองที่เรียกว่า “ The States Settlement” จนกระทั่งในปี 1946 อังกฤษได้แยกสิงคโปร์ออกเป็น “อาณานิคมเอกเทศ” และเปิดโอกาสให้คนสิงคโปร์เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง โดยสามารถมีรัฐบาลของชาวสิงคโปร์ภายใต้ความควบคุมของอังกฤษ จากจุดนี้เองจึงเป็นการเริ่มต้นของการเรียกร้องเอกราชของรัฐบาลสิงคโปร์ต่ออังกฤษ และสามารถมีรัฐธรรมนูญของตนเอง อันนำไปสู่การเลือกตั้งในปี 1958 ซึ่งก็ได้ นายลี กวน ยู เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของรัฐเอกราชสิงคโปร์ หากมองจากภูมิหลังประเทศของสิงคโปร์ ผ่านแนวความคิดของมาคิอาเวลลีก็ต้องถือว่าสิงคโปร์เป็น”รัฐใหม่” ที่เคยเป็น”รัฐโดยเจ้าผู้ปกครอง”  ถึงแม้ว่าต่อมาสิงคโปร์จะไปรวมกับสหพันธรัฐมาเลเชีย (Federation of Malasia) ในปี 1963 ซึ่งจะมีฐานะเป็นรัฐผสม แต่ก็ได้ต้องแยกตัวออกจากสหพันธรัฐมาเลเชีย ในปี ค.ศ.1965 ทำให้สถานะของสิงคโปร์ เป็นรัฐใหม่ที่มาจากรัฐโดยเจ้าปกครอง(Principates)โดยอังกฤษนั่นเอง แต่จากการต่อสู้ของรัฐบาลของชาวสิงคโปร์ที่เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษจนประสบความสำเร็จ ถือได้ว่าเป็นการได้อำนาจรัฐมาด้วยคุณธรรมความสามารถ(La Virtue) โดยสิงคโปร์ได้มีรัฐธรรมนูญที่กำหนดสถาบันการเมืองของตนเองอันเป็นการกำหนดเป้าหมายทางรัฐศาสตร์ และเมื่อมีผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง จึงถือได้ว่า สิงคโปร์เป็น “มหาชนรัฐ” (State or Dominions) เพราะผู้ปกครองได้รับการสนับสนุนจากประชาชน นอกจากนี้การก่อตั้งรัฐของสิงคโปร์เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยผู้ปกครองที่มีความสามารถและการได้มาซึ่งรัฐก็ปราศจากความรุนแรง อันถือว่าเป็นการก่อตั้งรัฐที่ดีในแนวความคิดของมาคิอาเวลลี


ว่าด้วยรัฐโดยเจ้าผู้ปกครองใหม่ที่มาโดยกำลังของตนเองและโดยคุณธรรม

รัฐที่เจ้าผู้ปกครองใหม่ล้วน ทั้งรัฐและผู้ปกครอง มาคิอาเวลลี กล่าวว่า ต้องรู้ว่า แบบที่จะเลียนแบบนั้นคืออะไร จากรัฐบุรุษหรือมหาบุรุษ ดังนั้นสิ่งที่ผู้ปกครองจะต้องกระทำสองประการคือ ประการแรก แบบที่จะแบบคืออันไหน ประการที่สอง ต้องรู้ว่าในโลกนี้เลียนแบบไม่ได้ เพราะไม่ใช่ตัวเขาที่จะเลียนแบบได้ แต่อย่างน้อยก็ได้เป็นไปตามแบบแผนที่มหาบุรุษได้เดินไปแล้ว ซึ่งมาคิอาเวลลีสรุปสั้นๆไว้ว่า “เราไม่เคยเดินลุยแม่น้ำในสายน้ำเดิม”

สิงคโปร์ได้เลือกเดินตามแนวทางตะวันตกของเจ้าผู้ปกครองเดิม คือเลือกการปกครองประชาธิปไตย และระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม(ทุนนิยม) ดังเช่นคำกล่าวของนายลี กวน ยู เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 1965 ที่กล่าวต่อสาธารณชน ยอมรับการแยกตัวออกจากสหพันธรัฐมาเลเซีย และประกาศเจตนารมณ์ให้ชาวสิงคโปร์มาร่วมกันสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ในชื่อของ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ความว่า “ มันเป็นช่วงเวลาที่เจ็บปวดมากสำหรับผม ผมมีความเชื่อมั่นว่าเป็นความคิดที่ถูกต้องและเราจะเดินไปด้วยกัน แต่วันนี้ผม ลี กวน ยู นายกรัฐมนตรีแห่งสิงคโปร์ ขอประกาศในฐานะประชาชนและรัฐบาลสิงคโปร์ว่า นับจากวันที่ 9 สิงหาคม 1965 สิงคโปร์จะเป็นชาติอธิปไตยแบบประชาธิปไตยและรัฐอิสระ อยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพและความเป็นธรรม และความสุขของประชาชนในสังคมที่มีความเท่าเทียมและยุติธรรมเป็นที่ตั้ง”

แต่ถึงแม้ ลี กวน ยู จะนำการปกครองแบบประชาธิปไตยมาใช้ แต่เขาก็ไม่ได้ลุยน้ำในแม่น้ำในสายน้ำเดิม เขาพยายามปรับระบบให้เหมาะกับสิงคโปร์ จนมักจะถูกวิจารณ์ว่าเคร่งครัดในระเบียบวินัยเกินไป จากการใช้กฎที่เข้มงวดต่างๆเช่นนโยบายการเคหะแห่งชาติ นโยบายบังคับให้ออมเงินเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ นอกจากนี้ยังควบคุมสื่ออย่างเข้มงวด ซึ่งถูกมองว่าเป็นการใช้อำนาจแบบเผด็จการ แต่ก็สอดคล้องกับการใช้กำลังของมาคิอาเวลลี ที่กล่าวว่าการใช้กำลังอำนาจต้องมีศิลปะ โดยใช้อำนาจรุนแรงที่สุดแต่น้อยครั้งที่สุด เขาทำให้ประชาชนเกรงกลัวกฎหมายเพื่อให้สังคมสงบสุข แต่เขาไม่ได้ทำให้ประชาชนดูหมิ่นหรือเกลียดชังเขา

อย่างไรก็ตาม เขาก็ได้รับการยอมรับจากสังคมโลกว่าเป็นผู้นำที่เก่งซึ่งก็สอดคล้องกับแนวคิดของ มาคิอาเวลลี ที่กล่าวว่า”ผู้นำที่เก่งจะต้องไม่อยู่กับปัจจุบัน แต่ต้องเห็นอนาคตด้วย”  ลี กวน ยู ไม่ได้อยู่กับปัจจุบันเพราะขณะนั้น สิงคโปร์ เมื่อออกจากสหพันธรัฐมาเลเชีย สิงคโปร์ไม่มีทรัพยากรอะไรเลย แม้แต่น้ำก็ยังต้องนำเข้าจากมาเลเชีย ลี กวน ยู ได้มองถึงอนาคตได้นำอุดมการณ์เพื่อความอยู่รอดและอุดมการณ์ที่ปฏิบัติได้จริงมาใช้ในการแก้ไขปัญหาขณะนั้น นี่คือการรักษาโรคการเมืองของ ลี กวน ยู ที่มาคิอาเวลลี ได้เปรียบเทียบการเมืองเหมือนกับการรักษาโรค เมื่อเจอโรคต้องรีบรักษาดังนั้นการเมืองก็เช่นเดียวกัน เมื่อเจอปัญหา ผู้นำต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด ลี กวน ยู เลือกรักษาจิตใจของคนสิงคโปร์เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพของรัฐ แล้วมองไปที่อนาคตของสิงคโปร์ ลี กวน ยู เปรียบเหมือนนักยิงธนู และประเทศสิงคโปร์เปรียบเหมือน คันธนู สิ่งสำคัญของนักยิงธนูต้องเข้าใจประสิทธิภาพของคันธนู ว่าจะยิงถูกเป้าหมายอย่างไร

ลี กวน ยู ทราบดีว่าจุดแข็งของประเทศสิงคโปร์คือทำเลของประเทศซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของการค้าทางเรือของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสิงคโปร์ต้องยึดระบบการค้าเสรี จึงกำหนดเป้าธนู หรือเป้าหมายของสิงคโปร์ให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในฐานะเมืองท่าและแหล่งแปรรูปอุตสาหกรรมปลายน้ำจากประเทศต้นน้ำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำมัน ยางพารา อุตสาหกรรมอิเล็คโทรนิคส์ อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร บรรจุภัณฑ์ เพื่อส่งออก จนสิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่เป็นศูนย์กลางการนำเข้าและส่งออกสินค้า สามารถทำรายได้ให้แก่ประเทศอย่างมหาศาล และก้าวขึ้นเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของเอเชียในที่สุด ลี กวน ยู เคยนำประเทศไปควบรวมกับสหพันธรัฐมาเลเชีย แต่สุดท้ายเขาก็กลับมาเป็นตัวของตัวเอง ดังที่มาคิอาเวลลีที่กล่าวว่า “เจ้าผู้ปกครองที่ทรงปัญญาจึงควรวางรากฐานของตนบนสิ่งที่เป็นของตน ไม่ใช่บนสิ่งที่ต้องขึ้นอยู่กับผู้อื่น”
                                                      
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net