Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ที่มาภาพ: http://www.goldposter.com/wp-content/uploads/2014/12/The-Theory-of-Everything-poster-goldposter-com-4.jpg

The Theory of Everything เป็นภาพยนตร์ที่เล่าถึงชีวิตของนักฟิสิกส์ผู้ค้นพบกำเนิดจักรวาล สตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง (Stephen Hawking) ดัดแปลงมาจากงานเขียนอัตชีวประวัติเรื่อง Travelling to Infinity: My Life with Stephen โดย เจน ไวลด์ ฮอว์กิ้ง (Jane Wilde Hawking) อดีตภรรยาของเขาเอง หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ “สู่อนัตกาล: ชีวิตฉัน และสตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง” สำหรับผู้เคยอ่านหนังสือมาก่อน เมื่อได้ชมภาพยนตร์จะรู้สึกถึงความแตกต่างที่ชัดเจนอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะ “น้ำเสียง” ในการเล่าเรื่อง ขณะที่หนังสือเล่าถึงฮอว์กิ้งผ่าน “เจน” ที่เปิดเผยให้เห็นถึงความยุ่งยากและความลำบากในการดูแลคนพิการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ความเด็ดเดี่ยว ความอดทน ความเปราะบาง กระทั่งความขัดแย้งและความรุนแรงที่ซ่อนอยู่หลังฉากชีวิตอัจฉริยะผู้มีความพิการ แต่ภาพยนตร์ขับเน้นเรื่องราวชีวิต ความคิด และตัวตนของฮอว์กิ้งที่เหมือนตัวเขาเป็นผู้เล่าเรื่องเอง ตั้งแต่ความเจ็บป่วย ความพิการ ผลงาน รวมถึงชื่อเสียงและความสำเร็จ 

The Theory of Everything พาเราไปรู้จักฮอว์กิ้งตั้งแต่เขาเป็นนักศึกษาปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ พบรักกับเจน เพื่อนนักศึกษาร่วมมหาวิทยาลัยเดียวกัน เจนเป็นนักศึกษาด้านภาษาศาสตร์ ส่วนฮอว์กิ้งเรียนวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ เขาเริ่มป่วยจากความผิดปกติของระบบประสาทโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้เส้นประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้ออ่อนแอลง จนเกือบเป็นอัมพาต แพทย์วินิจฉัยว่าเขาจะมีชีวิตอยู่ได้อีกเพียงสองปี  เจนตัดสินใจที่จะแต่งงานกับฮอว์กิ้งเพื่อใช้ชีวิตร่วมกันในเวลาที่เหลืออยู่ จากนั้นตลอดทั้งเรื่องคือการเล่าถึงความพยายามอย่างไม่ย่อท้อที่จะมีชีวิต ปัญหาและอุปสรรคที่ต้องฝ่าข้ามไป จนเป็นที่รู้จัก ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง เรื่องราวชีวิตที่อยู่ด้วยความหวังแม้ในท่ามกลางความสิ้นหวังที่ถาโถมเข้ามาไม่ยั้ง ช่วยส่งต่อและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ใครก็ตามที่กำลังท้อแท้


ที่มาภาพ: http://cdn.spectator.co.uk/wp-content/uploads/2015/01/181169297.jpg

นอกจากเรื่องความหวังแล้ว ประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อยคือเรื่องความเจ็บป่วยที่เป็นเหตุให้ฮอว์กิ้งไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แม้จากสภาพร่างกายของฮอว์กิ้งที่จัดอยู่ในระดับความพิการรุนแรง เมื่อต้องผ่าตัดครั้งหนึ่งส่งผลให้เขาไม่สามารถสื่อสารได้ ยิ่งทำให้สภาพความพิการเลวร้ายมากขึ้นอีก แต่ดูเหมือนในหนังเลือกจะเล่าถึง “ความเจ็บป่วย” ว่าเป็นอุปสรรคในชีวิตแทนที่จะเป็น “ความพิการ” ซึ่งสะท้อนถึงนัยยะเชิงลบต่อความ “ความพิการ” ในลักษณะที่เป็นเคราะห์กรรมของคนๆ นั้น หรือเป็นความโชคร้ายที่เกิดขึ้นกับบางคนเท่านั้น ต่างไปจาก “ความเจ็บป่วย” ซึ่งเป็นสภาวะการเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่เกิดขึ้นได้กับมนุษย์ทุกคน ไม่ใช่เรื่องโชคชะตา แต่เป็นความจริงของชีวิตที่ต้องเจอกับการเกิด แก่ เจ็บและตาย  การเลือกนำเสนอเรื่องความเจ็บป่วยสามารถกระตุ้นเร้าทางความรู้สึกและประสบการณ์ร่วมของผู้ชม เพื่อสร้างกำลังใจในการพยายามเอาชนะอุปสรรค ไม่ว่าจะง่ายหรือยุ่งยากแค่ไหน


ที่มาภาพ: http://www.express.co.uk/entertainment/films/517613/Eddie-Redmayne-Stephen-Hawking-Theory-Of-Everything

อย่างไรก็ตาม แม้หนังจะแฝงการตอกย้ำถึงความพิการอันน่าหดหู่ แต่มีแง่มุมให้ฉุกคิดว่าความเจ็บป่วยทำให้เกิดความยากลำบาก ต้องพึ่งพาคนอื่น ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เหมือนคนพิการ เป็นสภาวะที่อาจเผชิญในช่วงชีวิตใดช่วงชีวิตหนึ่ง ความพิการจึงไม่ใช่เรื่องที่คาดไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้นกับเรา จากความเจ็บป่วย อุบัติเหตุ หรือความชรา ทำให้เราจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาคนอื่น แต่เรายังสามารถใช้ชีวิตได้ต่อไป กรณีของฮอว์กิ้งจะเห็นว่า เครื่องช่วยความพิการ เช่น วีลแชร์ไฟฟ้า เครื่องช่วยพูด รวมถึงผู้ดูแลใกล้ชิด (ทั้งภรรยา และพยาบาลส่วนตัว) ทำให้เขายังได้ใช้ชีวิตทำงาน หรือทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่นๆ ได้ แม้กระทั่งการไปเที่ยวทะเล

คนพิการจะได้รับโอกาสเช่นเดียวกับฮอว์กิ้ง หากขจัดอุปสรรคทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่กีดกันคนพิการออกจากการใช้ชีวิตปกติร่วมกับสังคม นั่นคือการจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก บริการสาธารณะ การคมนาคมขนส่ง รวมถึงเครื่องช่วยความพิการที่เหมาะสมกับสภาพความพิการ ช่วยให้คนพิการสามารถทำกิจกรรมส่วนตัว และร่วมในกิจกรรมสาธารณะได้มากขึ้น มีสิทธิและโอกาสจะได้เรียนหนังสือ ได้รับการฝึกอบรม พัฒนาทักษะ ทำงานและประกอบอาชีพ มีชีวิตสมบูรณ์ตามอัตภาพ โดยไม่ว่าจะมีสภาพร่างกายแบบใดจะไม่เป็นอุปสรรคจำกัดศักยภาพในตัวมนุษย์ 

การมองความพิการโดยเชื่อมโยงกับปัจจัยแวดล้อมถูกขับเคลื่อนผ่านขบวนการสิทธิคนพิการ ซึ่งก่อตัวขึ้นในประเทศอังกฤษ พวกเขาลุกขึ้นมาต่อสู้กับวาทกรรมทางการแพทย์ หรือมุมมองทางการแพทย์ (Medical Model) ที่ระบุว่าความพิการเป็นความบกพร่องทางร่างกาย เป็นความผิดปกติของร่างกายแต่ละคน  โดย UPIAS หรือ Union of the Physically Impaired Against Segregation เป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงความเข้าใจความพิการจากมุมมองทางการแพทย์มาสู่มุมมองทางสังคม (Social Model) ซึ่งได้เชื่อมโยงระหว่างความบกพร่องกับสภาพแวดล้อม นั่นคือคนที่มีความบกพร่องทางร่างกายต้องกลายเป็นคนพิการจากอุปสรรคและข้อจำกัดที่ขัดขวางการดำเนินชีวิต ทั้งที่เป็นอุปสรรคทางกายภาพและสังคม โดยอุปสรรคทางกายภาพ เช่น ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างทางลาดให้กับคนพิการเคลื่อนไหว ไม่มีเอกสารหนังสืออักษรเบรลล์ หรือห้องสมุดเสียงให้แก่คนตาบอดทำให้เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารและการศึกษาได้ ไม่มีล่ามภาษามือช่วยสื่อสารสร้างความเข้าใจระหว่างคนหูดีกับคนหูหนวก เป็นต้น ส่วนด้านอุปสรรคทางสังคมเป็นกระบวนการกีดกันและการกดขี่ เช่นเดียวกับกลุ่มคนด้อยโอกาส หรือกลุ่มที่ถูกกดขี่จากความเป็นเพศ ชนชั้น ความยากจน โดยคนพิการถูกตีตราว่าไร้ความสามารถ ไม่มีค่า ไร้ประโยชน์ และเป็นภาระ

มุมมองทางสังคมสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความหมายของความพิการ ในส่วนของรัฐที่มีการออกพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ จากเดิมที่ว่า “คนพิการ หมายความว่า คนที่มีความผิดปกติหรือบกพร่องทางร่างกาย ทางสติปัญญา หรือทาง จิตใจ ตามประเภทและหลักเกณฑ์ที่กําหนดในกฎกระทรวง” (กฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534) มาเป็น “คนพิการ หมายความว่า บุคคลซึ่งมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคม เนื่องจากมีความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้ หรือความบกพร่องอื่นใด ประกอบกับมีอุปสรรคในด้านต่าง ๆ และมีความจำเป็นเป็นพิเศษที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือด้านหนึ่งด้านใดเพื่อให้สามารถปฏิบัติกิจกรรม ในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคมได้อย่างบุคคลทั่วไป ทั้งนี้ตามประเภทและหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประกาศกำหนด” (พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550)

ความพยายามที่จะชี้ให้เห็นความพิการเป็นข้อจำกัดและเป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิต ซึ่งตรงข้ามกับความบกพร่องที่ทำให้ไร้ความสามารถ ความพิการจึงไม่ใช่เรื่องความผิดปกติของอวัยวะ เป็นเรื่องส่วนตัวของคนพิการแต่ละคน รวมถึงเป็นความโชคร้ายที่ต้องแบกรับด้วยตนเองไป หากแต่ความพิการเป็นปัญหาสังคมที่ต้องขจัดอุปสรรค การกีดกัน การกดขี่ หรือการเลือกปฏิบัติทำให้คนๆ หนึ่งต้องกลายเป็นคนไร้ความสามารถ 

ดังนั้นหากละเลยปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนพิการ นอกจากทำให้คนพิการขาดโอกาสที่จะพัฒนาศักยภาพตนเองแล้ว ย่อมเป็นที่น่าเสียดายว่า สังคมอาจสูญเสียโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากคนเหล่านี้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net