รอบโลกแรงงานมีนาคม 2015

 
พนักงานสายการบินสแกนดิเนเวียประท้วง
 
1 มี.ค. 2015 สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า สายการบินสแกนดิเนเวียน แอร์ไลน์ส ซิสเต็ม หรือเอสเอเอส ยกเลิกเที่ยวบินโดยสารประมาณ 60 เที่ยว ที่มีกำหนดบินเข้า-ออกสนามบินกรุงโตคเปนเฮเกน หลังจากพนักงานสจ๊วร์ตและแอร์โฮสเตส ที่เป็นสมาชิกของสหภาพพนักงานต้อนรับบนเครื่อง (ซีเอยู) ของเดนมาร์ก นัดกันผละงานเพื่อประท้วงสภาพการทำงาน ทั้งนี้ โฆษกของเอสเอเอส เผยว่า บริษัทได้ลงนามข้อตกลงกับซีเอยูแล้ว ซึ่งกำหนดให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องกลับเข้าทำงานต่อ แต่โฆษกของซีเอยู ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ ทีวี 2 นิวส์ ว่า สหภาพฯไม่ได้แจ้งให้สมาชิกกลับเข้าไปทำงาน การประท้วงจึงจะดำเนินต่อไปตามแผนที่วางไว้
 
JP Morgan “จ่อปิด 300 สาขา - ไล่พนักงานออก”
 
3 มี.ค. 2015 สถาบันการเงินสหรัฐฯต้องปรับตัวครั้งใหญ่อีกครั้งเพื่อรับมือกับมาตรการกำกับการเงินใหม่เข้มข้นที่จะเริ่มใช้ในปี 2017 เพื่อป้องกันไม่ให้สหรัฐฯต้องเกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดมาจากการเงินการธนาคารอีกครั้ง และทำให้สถาบันการเงินใหญ่ๆของสหรัฐฯ เช่น ธนาคารเชซ (CHASE) ของ JP Morgan เตรียมปิด 300 สาขา รวมถึงเลิกจ้างพนักงานบางส่วนประจำสาขาเหล่านั้นภายใน 2ปีข้างหน้า รวมไปถึงมาตรการอื่นๆที่สถาบันการเงินสหรัฐฯขนาดใหญ่ต่างนำมาใช้ เช่น การปลดพนักงาน ปรับโครงสร้างองค์กร รวมไปถึงการใช้ระบบอัตโนมัติแทนการใช้พนักงานให้บริการ เป็นต้น
       
ในการปรับตัวอย่างกระทันหันของบรรดาสถาบันการเงินสหรัฐฯก่อนปี 2017 ซึ่งจะเริ่มมีการใช้มาตรการกำกับสถาบันการเงินอย่างเข้มงวด และทำให้บรรดาสถาบันการเงินเหล่านั้นหต้องหันมาใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดในการหั่นค่าใช้จ่ายอย่างรวดเร็ว ปรับโครงสร้างองค์กรให้เล็กลง รวมไปถึงลดค่าใช้จ่ายด้านบริหารจัดการ และใช้ระบบอัตโนมัติให้บริการกับลูกค้าแทนการใช้พนักงาน เช่น ให้ลูกค้าธนาคารทำธุรกรรมการเงินทางออนไลน์แทนที่จะต้องเดินทางไปธนาคารด้วยตนเอง ซึ่งธนาคารเชซ ( CHASE) ของ JP Morgan เตรียมปิดสาขา 300 แห่งภายในสิ้นปี 2016 และจะปลดพนักงานบางส่วนที่ทำงานในสาขาที่ปิดตัวเหล่านั้นด้วย นอกจากที่วางแผนลดค่าใช้จ่ายให้ได้ถึง 5 พันล้านดอลลาร์ก่อนปี 2017
       
เอเอฟพีรายงานวันนี้ (3 มี.ค.) ว่า ในปี 2014 โกลแมนแซคจ่ายต่ำสุดนับตั้งแต่สถาบันการเงินเพื่อการลงทุนที่มีชื่อเสียงของวอลสตรีทแห่งนี้เข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 1999 ซึ่งการที่ต้องทำตามข้อกำหนดใหม่ของมาตรการกำกับดูแลการเงินและการธนาคารของสหรัฐฯ ทำให้สถาบันการเงินต้องยอมถอยออกจากหลักทรัพย์ที่ให้ค่าตอบแทนสูง รวมไปถึงการจำกัดจำนวนเงินฝากโดยการที่ทางสถาบันการเงินจะเพิ่มค่าธรรมเนียมลูกค้าธนาคารที่นำทรัพย์สินมาฝากกับทางธนาคาร ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดที่ JP Morgan แถลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา 
 
ทั้งนี้ JP Morgan กำลังลดบทบาทของสถาบันการเงินในส่วยการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ และรวมไปถึงตลาดคอมโมดิตี (Commodities) และได้นำ Oil Trading Unit เข้าสู่ตลาด นอกจากนี้เอเอฟพียังรายงานเพิ่มเติมว่า JP Morgan ต้องการให้ความสนใจกับการบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management ) หรือการนำเงินของลูกค้าไปลงทุนในรูปแบบต่างๆ เช่น ลงทุนในกองทุนรวม พันธบัตรรัฐบาล และธุรกิจอื่นๆที่มีความเสี่ยงต่ำ
       
เพราะผู้ควบคุมกำกับการเงินการธนาคารต้องการปรับให้มาตรการกำกับมีความเข้มงวดมากขึ้นเพื่อป้องกันเกิดวิกฤตการทางการเงินเหมือนเช่นเคยเกิดกับสหรัฐฯในปี 2008 และส่งผลทำให้รัฐบาลสหรัฐฯและหน่วยงานรัฐบาลกลางต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ
       
และเอเอฟพียังรายงานต่อว่า มาตรการกำกับสถาบันการเงินฉบับที่ 3 ของธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ หรือบาเซิล 3 (Basel III) ได้กำหนดให้สถาบันการเงินต้องเพิ่มเงินสํารองกันชน (Capital Buffers) ทั้งในรูปคณภาพและปริมาณ ที่กำหนดให้มีขั้นต่ำ 7% ของทรัพย์สินทั้งหมดตลอดเวลา ซึ่งหมายความว่า ในเงินทุก 100 ดอลลาร์ที่ให้กู้ ยืม 7 ดอลลาร์ต้องมาจากเงินของธนาคาร
       
แต่ทว่าทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ เฟด (Federal Reserve) และคณะกรรมการดูแลเสถียรภาพทางการเงินสหรัฐฯ ( FSB ) ต้องการมาตรการกำกับการเงินที่เข้มข้นมากกว่านี้ ซึ่งเอเอฟพีชี้ว่า FSB ต้องการให้สถาบันการเงินใหญ่ในสหรัฐฯมีเงินสํารองกันชนราว 16-20% ของทรัพย์สินที่มีความเสี่ยง หรือ "Total Loss Absorbency capacity" ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้เงินของรัฐบาลอเมริกันหรือของเงินผู้เสียภาษีชาวอเมริกันถูกนำมาใช้เพื่อกอบกู้สถาบันการเงินที่ล้ม
 
ทั้งนี้ในส่วนของเฟด เอเอฟพีชี้ว่า ต้องการให้สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ 8 แห่งของสหรัฐฯต้องมีเงินกองทุนส่วนเพิ่มตามระดับความเสี่ยงของสินทรัพย?( risk based capital surcharge ) และตามข้อเสนอของธนาคารกลางสหรัฐฯ ทางเฟดสามารถห้ามไม่ให้ธนาคารจ่ายเงินปันผล หรือกลับเข้าช้อนซื้อหุ้นหากสถาบันการเงินแห่งนั้นไม่ปฎิบัติตาม ในขณะที่ ไบรอัน มาร์คิโอนี (Brian Marchiony)โฆษกของ JP Morgan ให้ความเห็นว่า “ทางเราต้องการจ่ายให้กับผู้ถือหุ้น ทางเราต้องการให้มีเงินปันผล และสามารถช้อนซื้อหุ้นกลับเพื่อสร้างความสมดุลย์”
       
ซึ่งภายใต้กฎหมายปฎิรูปการเงินวอลสตรีท Dodge Frank ที่เรียกว่า “Volcker Rule” สถาบันการเงินสหรัฐฯถูกห้ามทำการซื้อขายโดยตรงที่เรียกว่า “Proprietary Trading” หรือ การซื้อขายหลักทรัพย์ในนามตนเอง โดยใช้ทรัพย์สินของสถาบันการเงินในการทำการ ซึ่งในที่นี้คือในนามของสถาบันการเงินแห่งนั้นเพื่อทำกำไรอันจะพึงมีแก่สถาบันการเงิน แทนการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อค่านายหน้าตามปกติ
       
เอเอฟพีรายงานว่า คำสั่งห้ามนี้มีเป้าหมายเพื่อป้องกันการเก็งกำไรที่มากจนเกินไป และทำให้เกิดความเสี่ยงขึ้นกับเสถียรภาพทางการเงินของธนาคารแห่งนั้น ตัวอย่างเช่น วิกฤตการซื้อขาย London Whale ในปี 2012 ทำให้ JP Morgan ต้องขาดทุนไปถึง 6 พันล้านดอลลาร์ 
 
แท็กซี่เบลเยี่ยมกว่า 500 คัน ชุมนุมต้าน "อูเบอร์" กลางกรุงบรัสเซล
 
4 ก.พ. 2015 คนขับแท็กซี่ชาวเบลเยี่ยมและฝรั่งเศสหลายร้อยคน ได้ขับเคลื่อนขบวนรถแท็กซี่จำนวนมากไปตามท้องถนนในกรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม เพื่อแสดงการต่อต้านอูเบอร์ เจ้าหน้าที่ตำรวจรายงานว่า พบรถแท็กซี่จำนวน 627 คัน ขับไปตามถนนในเมืองหลวงของเบลเยี่ยมเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร ก่อนจะหยุดอยู่ที่สำนักงานใหญ่สหภาพยุโรป
 
คนขับแท็กซี่ได้บีบแตร, จุดประทัด, และปีดกั้นถนนบริเวณโดยรอบตึกของสำนักงานดังกล่าวเป็นเวลาหลายชั่วโมง ส่งผลให้การจราจรติดขัดอย่างหนัก ผู้ขับแท็กซี่ที่ร่วมการประท้วงรายหนึ่ง ระบุว่า คนขับแท็กซี่จำเป็นต้องจ่ายเงินภาษีและค่าประกันภัย ขณะที่คนขับอูเบอร์นั้นไม่จำเป็นต้องทำ ซึ่งตนคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม รายงานระบุว่า คนขับแท็กซี่ชาวฝรั่งเศส ประมาณ 100 คน ได้เดินทางไปยังกรุงบรัสเซลเพื่อเข้าร่วมการประท้วงด้วย
 
ทั้งนี้ บริษัทอูเบอร์ ซึ่งมีฐานที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกานั้นอนุญาตให้ผู้ขับขี่รถยนต์ทั่วไปสามารถรับจ้างขับรถส่งผู้โดยสารได้ โดยคิดค่าโดยสารต่ำกว่าราคาแท็กซี่ปกติ เปิดให้บริการในเมืองกว่า 250 เมือง จาก 50 ประเทศทั่วโลก
 
รอยัล แบงก์ ออฟ สกอตแลนด์ ประกาศเตรียม ลอยแพพนักงาน กว่า 14,000 ตำแหน่งทั่วโลก พร้อมปิดสาขาใน 13 จาก 38 ประเทศ
 
6 มี.ค. 2015 นายรอส แม็คอีแวน ประธานกรรมการบริหาร รอยัล แบงก์ ออฟ สกอตแลนด์ หรือ RBS เปิดเผยว่า ธนาคารเตรียมที่จะปลดพนักงานในส่วนของธนาคารเพื่อการลงทุนกว่า 14,000 คน ในสหรัฐฯ และเอเชียภายในปี 2019 โดยคิดเป็นจำนวน 3 ใน 4 ของพนักงานในธนาคารเพื่อการลงทุนทั้งหมด
 
ทั้งนี้ในปัจจุบันที่ธนาคารมีพนักงานกว่า 118,000 คนทั่วโลกในทุกหน่วยงาน โดยสาเหตุหลักในการปลดพนักงานครั้งใหญ่ครั้งนี้เกิดจากการที่ธนาคาร กำลังปรับปรุง และพัฒนาระบบฐานข้อมูลและบริการให้เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ ซึ่งส่งผลให้การทำงานของพนักงานจะมีความซ้ำซ้อน
 
และที่สำคัญจะช่วยให้ธนาคารสามารถบริหารต้นทุนได้ดีขึ้นอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันมีการเปิดเผยตัวเลขรายจ่ายประจำปีของธนาคารเฉลี่ยสูงถึง 1,300 ล้านปอนด์ หรือราว 63,700 ล้านบาท ซึ่งธนาคารเองก็มีแผนที่จะปรับโครงสร้างองค์กร ด้วยการยุติการดำเนินงานใน 13 จาก 38 ประเทศทั่วโลกที่เปิดให้บริการ
 
ในขณะที่ผลประกอบการในปี 2014 ที่ผ่านมาธนาคารมีผลประกอบการ 3,500 ล้านปอนด์ หรือราว 1.71 แสนล้านบาทเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงจ่ายโบนัสให้กับพนักงานเป็นจำนวน 421 ล้านปอนด์ หรือราว 20,000 ล้านบาท แต่นายแม็คอีแวนได้ปฏิเสธที่จะรับโบนัสของตนจำนวน 1 ล้านปอนด์ หรือราว 49 ล้านบาท
 
บ.เสื้อกีฬาอินโดขอโทษข้อความเหยียดเพศ 'งานซักผ้าเป็นหน้าที่ของผู้หญิง'
 
8 มี.ค. 2015 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าป้ายฉลากด้านในเสื้อของสโมสรฟุตบอลท้องถิ่นที่ผลิตโดย บริษัท Salvo Sports พิมพ์ข้อความแนะนำวิธีการซักเสื้อโดยระบุว่าเอาเสื้อให้ผู้หญิงซักจะดีกว่าเพราะเป็นหน้าที่ของพวกเธอ ข้อความดังกล่าวจุดกระแสวิจารณ์ในโซเชียลมีเดีย จนกระทั่งบริษัท Salvo Sports ต้องแถลงขอโทษทางทวิตเตอร์ในวันนี้ (8 มี.ค.) ซึงเป็นวันสตรีสากล โดยบริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้ากีฬารายนี้ระบุว่าต้องการสื่อให้เห็นว่าผู้หญิงทำงานซักล้างดีกว่าผู้ชายและไม่มีเจตนาดูหมิ่น เพราะผู้ชายหลายคนไม่รู้วิธีดูแลเสื้อผ้าและผู้หญิงเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้
 
อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าแถลงการณ์ชี้แจงของบริษัทไม่เป็นที่พอใจนัก โดยมีผู้วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียว่าคำขอโทษของบริษัทที่ให้เหตุผลว่าเพราะผู้หญิงทำงานซักล้างได้ดีกว่านั้น ยิ่งถือเป็นการเหยียดเพศ การแถลงขอโทษดังกล่าวอยู่ในช่วงเวลาไม่เหมาะสมและยิ่งเป็นที่สนใจ เนื่องจากมีขึ้นในวันสตรีสากลซึ่งเป็นวันเฉลิมฉลองความสำเร็จของสตรีทั่วโลก รวมทั้งกลุ่มสตรีในอินโดนีเซียก็ยังเดินขบวนตามท้องถนนที่กรุงจาการ์ตาในวันนี้อีกด้วย
 
Vodafone เสนอนโยบายให้ลาคลอดได้ขั้นต่ำ 16 สัปดาห์แบบได้เงินเดือนเต็ม
 
9 มี.ค. 2015 บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ของอังกฤษ Vodafone เสนอนโยบายลาคลอดที่เป็นมาตรฐานเดียวกันสำหรับบริษัทสาขาของ Vodafone ทั่วโลก โดยอนุญาตให้ลาคลอดได้อย่างน้อย 16 สัปดาห์แบบได้รับเงินเดือนเต็ม นอกจากนี้ยังอนุญาตให้คุณแม่ที่เพิ่งคลอดบุตรและกลับมาทำงาน สามารถทำงานได้ลดลงคือ 30 ชม.ต่อสัปดาห์โดยได้รับเงินเดือนเท่าเดิม ในช่วงเวลา 6 เดือนแรกที่กลับมาทำงาน
 
Vodafone ให้เหตุผลว่านโยบายนี้จะช่วยให้แม่มีเวลากับบุตรหลังคลอดมากขึ้น และยังช่วยจูงใจให้ผู้หญิงอยากมาทำงานกับ Vodafone มากขึ้นด้วย โดยปัจจุบัน Vodafone มีพนักงานหญิงราว 35% คิดเป็นจำนวนราว 35,000 คน
 
9 แรงงานหายตัวจาก บ.น้ำมันลิเบีย 4 ราย
 
9 มี.ค. 2015 สำนักข่าวต่างประเทศ รายงาน พนักงานต่างชาติที่ทำงานในโรงกลั่นน้ำมันที่ลิเบีย ซึ่งหายตัวไปหลังกลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลามเข้าโจมตี เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งมีรายงานเมื่อวานนี้ว่าในจำนวนผู้หายตัวไป 9 ราย ทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติ เป็นชาวเช็ก 1 ราย ชาวออสเตรีย 1 ราย ล่าสุดวันนี้ มีข้อมูลเพิ่มเติม แจ้งสัญชาติของพนักงานเพิ่มอีก เป็นชาวบังกลาเทศ 2 ราย ชาวกานา 1 ราย และเป็นชาวฟิลิปปินส์อีก 4 ราย
 
ด้านกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ระบุว่าพลเมืองของฟิลิปปินส์กำลังทำงานร่วมกับคนงานต่างชาติรายอื่นใน บริษัทน้ำมัน VOAS ซึ่งมีเจ้าของเป็นชาวออสเตรียจะถูกโจมตี ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศของออสเตรียเชื่อว่าทั้งหมดถูกลักพาตัว แต่รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ ยังไม่ปักใจเชื่อ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้แรงงานชาวฟิลิปปินส์หายตัวไปแล้ว 7 คน ซึ่ง 3 คนก่อนหน้านี้ถูกลักพาตัวไปเมื่อเดือนก่อน ขณะนี้ยังไม่รู้ชะตากรรม
 
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทางการฟิลิปปินส์เตรียมช่วยเหลือแรงงาน ในลิเบียที่มีจำนวน 4,000 คน สำหรับผู้ที่ประสงค์จะเดินทางกลับบ้านแล้ว เมื่อวันอาทิตย์หลังเจ้าหน้าที่ทูตพบปะแรงงาน 52 คน ที่ทำงานในบริษัทน้ำมัน VOAS มีผู้แจ้งความประสงค์กลับบ้านเกิดแล้ว 36 ราย
 
เกาหลีใต้จะลงโทษบริษัทที่ยอมเกาหลีเหนือกรณีพิพาทเรื่องค่าจ้าง
 
10 มี.ค. 2015 เจ้าหน้าที่เกาหลีใต้กล่าววันนี้ว่า บริษัทเกาหลีใต้จะลงโทษหากพวกเขายอมอ่อนข้อให้กับแรงกดดันจากเกาหลีเหนือ เพื่อให้มีการเพิ่มเงินเดือนให้แก่คนงานในนิคมอุตสาหกรรมร่วมแกซอง (Kaesong)
 
เกาหลีใต้พยายามที่จะให้มีการเจรจา นับตั้งแต่เกาหลีเหนือประกาศแผนการเพิ่มเงินเดือนแต่ฝ่ายเดียวให้แก่คนงานชาวเกาหลีเหนือ 53,000 คน ที่ทำงานให้แก่บริษัทเกาหลีใต้กว่า 100 บริษัทในนิคมอุตสาหกรรมแกซอง ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มเงินเดือนซึ่งรวมถึง เงินเบี้ยเลี้ยง สวัสดิการ และค่าล่วงเวลาให้คนงานแต่ละคนจาก 155 ดอลลาร์สหรัฐเป็น 164 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เกาหลีใต้ปฏิเสธแนวคิดดังกล่าวและอ้างข้อตกลงที่มีอยู่ที่ระบุว่าการจะเพิ่มเงินเดือนต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการร่วมเสียก่อน
 
คนงานก่อสร้างในดูไบลุกฮือประท้วงขอขึ้นค่าแรง
 
11 มี.ค. 2015 เว็บไซต์ timesunion.com รายงานว่าคนงานต่างชาติจากเอเชียใต้ร่วมร้อยกว่าคนในเครื่องแบบทำงานได้ออกมาประท้วงปิดถนนใจกลางกรุงดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เมื่อวันอังคาร (10 มี.ค.) ที่ผ่านมา ทั้งที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีกฎหมายห้ามการผละงาน และการประท้วงของคนงานในใจกลางย่านธุรกิจแทบที่จะไม่เคยเกิดขึ้นให้เห็นเลย
 
คนงานเหล่านี้ทำงานในไซต์ก่อสร้างโปรเจคส์สร้างอพาร์ตเม้นต์หรูของบริษัท Emaar Properties เนื่องจากไม่พอใจเรื่องสภาพการทำงานเรื่องชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา และต้องการค่าตอบแทนจากการทำงานที่สูงขึ้น ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ระบุว่าได้เข้าไกล่เกลี่ยกับคนงานภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมงทำให้คนงานยุติการปิดถนนในเวลาต่อมา รวมทั้งไม่มีการจับกุมผู้ประท้วงแต่อย่างใด ด้าน Emaar Properties ได้ส่งแถลงการณ์ถึงสื่อมวลชนอย่างรวดเร็วว่าจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยจะมีการหารือกับผู้รับเหมาเพื่อแก้ไขปัญหาให้คนงาน
 
การประท้วงครั้งนี้ได้ทำให้เห็นถึงช่องว่างความมั่งคั่งของชาวต่างชาติในดูไบระหว่างเขตที่อยู่อาศัยของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจชาวต่างชาติ กับแรงงานยากจนที่มาทำงานก่อสร้างในดูไบซึ่งส่วนใหญ่มาจากปากีสถาน เนปาล บังกลาเทศและอินเดีย
 
คนงานต่างชาติจากเอเชียใต้ส่วนใหญ่ผ่านระบบการจัดหางานเพื่อมาทำงานในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในภาคการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอาคารสูง ห้างสรรพสินค้า ถนน รวมทั้งโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ซึ่งองค์กรสิทธิมนุษยชนประเมินว่ามีคนงานต่างชาติค่าแรงต่ำมาทำงานที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ถึงกว่า 5 ล้านคน และคนงานต่างชาติเหล่านี้ก็ถูกควบคุมด้วยระบบค้ำประกันโดยผู้อุปถัมป์ที่เรียกว่า "kafala"
 
อนึ่งระบบ kafala หรือระบบค้ำประกันโดยผู้อุปถัมป์นั้นแรงงานต่างชาติในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะต้องได้รับใบอนุญาตให้ทำงาน (work permit) โดยใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างชาตินั้นจะต้องมีนายจ้างเป็นผู้อุปถัมภ์ท้องถิ่น (หรือ sponsor) ซึ่งระบบนี้คนงานจะเปลี่ยนงานไม่ได้หากไม่ได้รับอนุญาติจากนายจ้างเก่าเสียก่อน และระบบการจ้างงานแบบนี้เองที่ทำให้แรงงานต่างชาติแทบที่จะไม่มีอำนาจต่อรองกับนายจ้างเลย
 
พนักงานต้อนรับโคเรียนแอร์ยื่นฟ้องแพ่งอดีตรองประธานบริษัทกรณีเสิร์ฟถั่วแล้ว
 
11 มี.ค. 2015 คิม โด ฮี พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินได้ยื่นฟ้องทางแพ่งต่อสายการบินโคเรียนแอร์ของเกาหลีใต้ และนางโช ฮยุน-อาห์ อดีตรองประธานสายการบิน หลังถูกทำร้ายทั้ง ทางกายและวาจาจากนางโช ซึ่งไม่พอใจอย่างมากที่พนักงานต้อนรับเสิร์ฟถั่วแมคคาเดเมียโดยไม่ใส่ภาชนะ บนเที่ยวบินจากนครนิวยอร์กมุ่งสู่กรุงโซลเมื่อวันที่ 5 ธันวาคมปีที่แล้ว ก่อนหน้านี้ ศาลได้สั่งจำคุกนางโชเป็นเวลา 1 ปีในความผิดละเมิดกฎหมายความปลอดภัยทางการบิน และใช้ความรุนแรงต่อพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจากกรณีดังกล่าว
 
โรงงานที่อยู่ระหว่างก่อสร้างในบังกลาเทศพังถล่ม คาดติดอยู่จำนวนมาก
 
12 มี.ค. 2015 ตำรวจและเจ้าหน้าที่กู้ภัยในบังกลาเทศแจ้งว่า เกิดเหตุโรงงานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างพังถล่มในเมืองมองกลา ทางตอนใต้ของประเทศในวันนี้ มีผู้เสียชีวิตแล้ว 4 คน และคาดว่ายังติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังอีกเป็นจำนวนมาก
 
เหตุเกิดที่เมืองมองกลา เมืองท่าใหญ่อันดับสองของประเทศ หลังคาของโรงงานซีเมนต์ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างพังถล่มลงมาเมื่อเวลา 13.30 น.วันนี้ตามเวลาท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ช่วยได้ 40 คน และยืนยันว่า มีผู้เสียชีวิตแล้ว 4 คน คาดว่ายังมีผู้ติดอยู่ใต้ซากโรงงานมากถึง 100 คน
 
บังกลาเทศเกิดเหตุอาคารพังถล่มอยู่บ่อยครั้งเพราะใช้วัสดุก่อสร้างไม่ดีและไม่ปฏิบัติตามระเบียบด้านวิศวกรรมและการก่อสร้างอย่างเคร่งครัด เหตุอาคารรานาพลาซา 8 ชั้นที่เป็นศูนย์รวมโรงงานสิ่งทอพังถล่มชานกรุงธากาเมื่อเดือนเมษษยน 2556 มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,129 คน เป็นอุบัติเหตุด้านโครงสร้างที่มีคนเสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบัน
 
เรียกร้อง Gap และ H&M ช่วยแก้ปัญหากดขี่แรงงานในกัมพูชา
 
12 มี.ค. 2015 กลุ่มฮิวแมนไรท์วอชท์ซึ่งมีสำนักงานในนิวยอร์กมีรายงานวันนี้ว่า ข้อกำหนดพิเศษเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์แรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (ไอแอลโอ) อาจถูกละเมิด จากการที่คนงานโรงงานต้องทำงานอยู่ในสภาพไม่ปลอดภัย ค่าตอบแทนและและสวัสดิการไม่เป็นธรรม ฮิวแมนไรส์วอชท์ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับแรงงานพบว่าไม่ได้ทำตามข้อกำหนดของไอแอลโอ รวมถึงกฎหมายและระเบียบว่าด้วยแรงงาน รายงานระบุว่าในกลุ่มบริษัทที่สำรวจพบว่า อาดิดาสมีมาตรการหลายด้านในการแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบรับจากอาร์มานี ผู้ผลิตเสื้อผ้าชั้นนำ
 
อีริคสันประกาศลดพนักงาน 2,200 ตำแหน่งในสวีเดนตามแผนลดต้นทุน
 
12 มี.ค. 2015 บริษัทอีริคสันจะปลดพนักงาน 2,200 ตำแหน่งในสวีเดน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับลดต้นทุน และปฏิรูปโครงสร้างองค์กรทั่วโลก
 
การปลดพนักงานในครั้งนี้จะมีผลกับฝ่ายวิจัยและพัฒนา ฝ่ายบริการ และฝ่ายจัดซื้อเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ อีริคสันจะปลดพนักงานในฝ่ายขาย ฝ่ายบริหาร รวมถึงลดต้นทุนภายนอกด้วยการเลิกจ้างที่ปรึกษา 850 คนในสวีเดนด้วย
 
แถลงการณ์ของบริษัทระบุว่า แผนพัฒนาศักยภาพ และลดต้นทุนของอีริคสันถูกประกาศใช้ครั้งแรกไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 และจะใช้มาตรการดังกล่าวทั่วโลกไปตลอดจนถึงปี 2017 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประหยัดต้นทุนให้ได้ประมาณ 9 พันล้านโครน (1.04 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
 
อีริคสันเป็นซัพพลายเออร์โครงข่ายโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของโลก ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2014 อีริคสันมียอดขายเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งทั้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง เอเชีย และยุโรป อีริคสันกำลังพัฒนาจากการเป็นซัพพลายเออร์ฮาร์ดแวร์บนเครือข่ายมือถือมาสู่ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ปัจจุบัน อีริคสันให้ความสำคัญกับกิจการด้านโทรศัพท์มือถือ บรอดแบนด์ และระบบคลาวด์
 
มาเลย์ให้คำมั่นเพิ่มคุ้มครองแรงงานพม่า
 
14 มี.ค. 2015 นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก ของมาเลเซีย ให้คำมั่นระหว่างการพบหารือกับประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ของพม่าว่า จะมีการพัฒนามาตรการต่างๆ เพื่อให้การปกป้องสิทธิ และผลประโยชน์ต่อ แรงงานอพยพจากพม่าให้ดีขึ้น โดยระบุว่า มาเลเซียตระหนักดีว่า แรงงานพม่ามีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และเห็นพ้องที่จะขยาย และพัฒนาความร่วมมือกับพม่าในเรื่องนี้ ซึ่งในปัจจุบัน มาเลเซียมีแรงงานจากพื้นที่ยากจนของพม่า เข้ามาทำงานอยู่หลายร้อยคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ผิดกฎหมาย
 
จีนเล็งปรับนโยบายด้านประชากรเพิ่มเติม หลังเกิดผลกระทบด้านแรงงาน
 
15 มี.ค. 2015 นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงของจีนเปิดเผยว่า จีนกำลังทบทวนการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านประชากรของประเทศ
 
จีนซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก เริ่มใช้นโยบายการวางแผนครอบครัวเป็นครั้งแรกในช่วงปี 1970 เพื่อควบคุมจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น โดยระบุให้คู่แต่งงานในเมืองมีบุตรเพียง 1 คน และคู่แต่งงานในชนบทมีบุตรได้ 2 คน หากบุตรคนแรกเป็นเพศหญิง
 
อย่างไรก็ดี จีนเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าวครั้งใหญ่ในช่วงปลายปี 2013 โดยกำหนดว่าคู่แต่งงานทั่วประเทศสามารถมีบุตร 2 คนได้ หากคู่แต่งงานคนใดคนหนึ่งเป็นลูกคนเดียว
 
ทั้งนี้ นโยบายลูกคนเดียวของจีนสร้างปัญหาทางสังคมมากมายในช่วงหลายปีนี้ รายงานระบุว่า ในปี 2012 แรงงานของจีนลดลง 3.45 ล้านคนเมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการ "ลดลงอย่างแท้จริง" นับตั้งแต่จีนเริ่มการปฏิรูปและเปิดประเทศในปี 1979
 
ในปี 2013 จำนวนประชากรจีนที่อายุมากกว่า 60 ปี พุ่งขึ้นเกิน 202 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.53 ล้านคนจากตัวเลขปี 2012 และคิดเป็น 15% ของประชากรทั้งหมด
 
นอกจากนี้ นโยบายลูกคนเดียวยังส่งผลกระทบเกี่ยวกับความสมดุลเรื่องเพศของประชากร เนื่องจากพ่อแม่ชาวจีนต้องการมีลูกชายมากกว่าลูกสาว โดยสัดส่วนเด็กเกิดใหม่ปี 2014 เพศชายต่อเพศหญิงอยู่ที่ 115.88 ต่อ 100
 
พนักงาน McDonald's เรียกร้องขึ้นค่าจ้างตามโครงการ “สู้เพื่อ 15 ดอลล่าร์”
 
15 มี.ค. 2015 พนักงานแมคโดนัลด์จาก 19 เมืองยื่นฟ้องบริษัทอาหารจานด่วนแมคโดนัลด์ผ่าน Occupational Safety and Health Administration เนื่องจากการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันในระหว่างการเตรียมอาหาร โดยเฉพาะถุงมือที่ใช้ป้องกันแผลพุพองที่เกิดจากน้ำมันที่กระเด็นระหว่างการทอดอาหาร และสภาพในที่ทำงานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
การฟ้องร้องครั้งนี้ถือเป็นแรงกดดันล่าสุดที่พนักงานนำมาใช้ในการร้องขอขึ้นค่าแรงเป็นชั่วโมงละ 15 ดอลล่าร์ต่อชั่วโมง
 
การเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มนี้เกิดขึ้นตั้งแต่สองปีที่แล้ว ปัจจุบันมีการประท้วงทั่วประเทศจากและการฟ้องร้องทางกฏหมาย สโลแกนหลักในการประท้วงคือ “สู้เพื่อ 15 ดอลล่าร์” แรงงานเหล่านี้รวมตัวกันเพื่อกดดันให้ทางแมคโดนัลด์ออกมาเจรจาและรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
 
โฆษกของแมคโดนัลด์ Heidi Barker SaShekhem ออกมากล่าวว่าทางบริษัทเองให้ความสำคัญกับการป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่คนงานของบริษัท การฟ้องร้องนี้เป็นแผนการการทำลายชื่อเสียงของบริษัทจากกลุ่มพนักงานที่เรียกร้องค่าจ้างเพิ่มเหล่านี้
 
"โตโยต้า" ค่ายรถยักษ์ใหญ่ เตรียมขึ้นค่าจ้างให้กับพนักงานสูงที่สุดในรอบ 13 ปี สนองข้อเรียกร้องให้มีการขึ้นค่าแรงของนายกฯญี่ปุ่น 
 
17 มี.ค. 2015 แหล่งข่าววงในการเจรจาระหว่างบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป กับสหภาพแรงงานของบริษัท เปิดเผยว่า ฝ่ายบริหารของโตโยต้า จะขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานที่สังกัดสหภาพแรงงานของตนในญี่ปุ่นอีก 3.2% หรือ 4,000 เยน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 1,070 บาท และพนักงานระดับอาวุโส จะได้เงินเดือนเพิ่มอีก 7,300 เยน หรือประมาณ 1,953 บาท เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป 
 
ด้านโฆษกของโตโยต้า ไม่ได้ยืนยันหรือปฎิเสธรายงานข่าวนี้ บอกแต่เพียงว่า ฝ่ายบริหารของบริษัทกับสหภาพแรงงานจะยังคงเจรจากันต่อไป ความเคลื่อนไหวดังกล่าว นับเป็นบรรทัดฐานใหม่ สำหรับบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นหลายรายที่เตรียมจะประกาศผลการเจรจาขึ้นค่าแรงรายปีในวันพรุ่งนี้ (18 มี.ค.) 
 
ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีอาเบะ เปิดเผยว่า ต้องการให้บริษัทต่าง ๆ ขึ้นค่าจ้างให้พนักงาน และกล่าวในทำนองเดียวกันอีกหลายครั้งเกี่ยวกับความสำคัญของการขึ้นค่าแรง ซึ่งบริษัทโตโยต้าและบริษัทใหญ่รายอื่น ๆ ต่างตอบสนองข้อเรียกร้องนี้ ด้วยการประกาศขึ้นเงินเดือนให้พนักงานเมื่อปีที่แล้ว ถือเป็นการขึ้นค่าแรงครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินโลก 
 
อย่างไรก็ตาม บรรดาบริษัทรายเล็ก ไม่ได้ตอบสนองข้อเรียกร้องดังกล่าวด้วย เห็นได้จากผลสำรวจของกระทรวงอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ที่ระบุว่า มีเพียง 1 ใน 4 ของบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางที่ปรับขึ้นค่าจ้างให้พนักงานเมื่อปีก่อน 
 
กลุ่มนักธุรกิจเกาหลีใต้เยือนนิคมอุตสาหกรรมแคซองต่อรองขึ้นค่าแรง
 
18 มี.ค. 2015 คณะนักธุรกิจเกาหลีใต้ 14 คนเดินทางไปยังนิคมอุตสาหกรรมแคซองในวันนี้ เพื่อเจรจากับเจ้าหน้าที่ของทางการเกาหลีเหนือกรณีเรื่องค่าจ้างของคนงานในนิคมดังกล่าว
 
เมื่อเดือนที่แล้ว เกาหลีเหนือประกาศจะปรับเงินเดือนพื้นฐานของคนงานเกาหลีเหนือราว 54,000 คนที่ทำงานให้แก่บริษัทของเกาหลีใต้ 125 แห่งในนิคมอุตสาหกรรมแคซองจนถึงสิ้นปีที่ผ่านมา แต่เกาหลีใต้ปฏิเสธแนวคิดดังกล่าว โดยอ้างข้อตกลงที่มีอยู่ในปัจจุบันที่ระบุว่าการปรับเงินเดือนจะต้องได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการร่วมที่กำกับดูแลนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ เกาหลีใต้เสนอเปิดเจรจาแต่เกาหลีเหนือปฏิเสธ โดยอ้างว่า ไม่มีความจำเป็น และเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่เกาหลีเหนือจะปรับสภาพการทำงานในนิคมอุตสาหกรรมแคซอง
 
บริษัทต่างๆกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เนื่องจากรัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศจะลงโทษหากยอมตามแรงกดดันจากเกาหลีเหนือ ทั้งนี้ เกาหลีเหนือเสนอให้ปรับขึ้นเงินเดือนคนงานจากเดือนละ 155 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 164 ดอลลาร์สหรัฐ
 
สำหรับนิคมอุตสาหกรรมแกซอง เป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือทางเศรษฐกิจชิ้นสุดท้ายที่เหลืออยู่ระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ นิคมแห่งนี้ตั้งมานาน 10 ปีแล้ว และมักได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ เมื่อ 2 ปีที่แล้วนิคมแกซองต้องปิดไปนาน 5 เดือน เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้และสหรัฐพุ่งถึงขีดสุด จากการที่เกาหลีเหนือไม่พอใจการซ้อมรบร่วมของเกาหลีใต้กับสหรัฐ แกซองมีโรงงานของเกาหลีใต้ตั้งอยู่ 125 แห่ง ว่าจ้างแรงงานชาวเกาหลีเหนือ 54,000 คน
 
อัตราว่างงานเกาหลีใต้เดือน ก.พ.สูงสุดในรอบ 5 ปี
 
18 มี.ค. 2015 สำนักงานสถิติเกาหลีแจ้งว่า อัตราว่างงานในเกาหลีใต้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์สูงสุดในรอบ 5 ปี เนื่องจากมีนักศึกษาจบใหม่และคนวัยเกษียณหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดแรงงานเพื่อหางานทำกันมากขึ้น
 
อัตราว่างงานเกาหลีใต้เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 4.6 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.8 เมื่อเดือนมกราคมปีนี้ และร้อยละ 4.5 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีก่อน ถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2010 สำนักงานสถิติเกาหลีระบุว่า เดือนกุมภาพันธ์มีคนหนุ่มสาวและคนวัยเกษียณอายุ 50 ปีเศษเข้าสู่ตลาดหางานทำกันมากขึ้น ส่งผลให้อัตราว่างงานสูงขึ้น หากดูเฉพาะคนวัย 25-29 ปี อัตราว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 9.1 ลดลงจากร้อยละ 9.2 เมื่อเดือนมกราคม และหากขยายครอบคลุมคนวัย 15-29 ปี อัตราว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 11.1 สูงที่สุดนับตั้งแต่ทางการเริ่มเก็บสถิติคนหนุ่มสาวว่างงานในปี 2542 ขณะที่กลุ่มคนเกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งถูกบีบให้เกษียณในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้นด้วยการเป็นพนักงานชั่วคราวในงานที่แต่ก่อนมีแต่คนหนุ่มสาวทำ
 
“ทาร์เก็ต” ปรับค่าแรงเป็น 9 ดอลลาร์
 
18 มี.ค. 2015 “ทาร์เก็ต” ร้านค้าปลีกที่ใหญ่เป็นอันดับสองของอเมริกา ประกาศขึ้นค่าแรงคนงานเป็นชั่วโมงละ 9 ดอลลาร์ เมื่อวันพุธที่ 18 มีนาคม 2015 โดยอัตราค่าแรงใหม่จะเร่ิมมีผลตั้งแต่เดือนเมษายน เป็นต้นไป
 
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของทาร์เก็ต บอกว่าการปรับค่าแรงให้สูงกว่าที่รัฐบาลกลางกำหนดครั้งนี้ เป็นไปเพื่อเพิ่มสมรรภาพในการแข่งขันของทาร์เก็ตให้สูงขึ้น “เราต้องการให้แน่ใจว่าเราสามารถแข่งขันได้ โดยการดึงให้คนที่มีความสามารถมาทำงานกับเรา”
 
ข่าวบอกว่า อัตราค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลกลาง ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2009 อยู่ที่ชั่วโมงละ 7.25 ดอลลาร์ โดยที่ผ่านมา นักการเมืองของพรรคเดโมแครตพยายามผลักดันให้ค่าแรงขั้นต่ำขยับเป็น 10.10 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง แต่ความพยายามดังกล่าวไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาคองเกรส
 
ส่วนในแคลิฟอร์เนียนั้น การปรับค่าแรงของทาร์เก็ตถือว่าไม่มีผลกับพนักงาน เพราะกฎหมายของรัฐ กำหนดค่าแรงขั้นต่ำที่ชั่วโมงละ 9 ดอลลาร์อยู่แล้ว อีกทั้งจะปรับเป็น 10 ดอลลาร์ในวันที่ 1 มกราคม 2016 ก่อนหน้านี้เมื่อประมาณเดือนที่ผ่านมา ห้างวอลมาร์ท ได้ประกาศปรับค่าแรงคนงานเป็นชั่วโมงละ 9 ดอลลาร์ไปก่อนแล้ว โดยจะมีผลกับคนงานที่มีทั่วประเทศกว่าห้าแสนคน
 
สหภาพแรงงานนักบินลุฟท์ฮันซาขยายการหยุดบินประท้วง
 
18 มี.ค. 2015 สหภาพนักบินสายการบินลุฟท์ฮันซาของเยอรมนีขยายการผละงานด้วยการหยุดบินเที่ยวบินระยะไกลในวันพฤหัสบดี หลังจากที่ประกาศหยุดบินเที่ยวบินระยะกลางและสั้นในวันพุธไปแล้ว เพราะยังยุติข้อพิพาทยืดเยื้อเรื่องเกษียณก่อนกำหนดไม่ได้
 
ลุฟท์ฮันซาต้องยกเลิกเที่ยวบินระยะกลางและสั้นในเยอรมนีและยุโรปสำหรับวันพุธไปแล้ว 750 เที่ยวจากทั้งหมด 1,400 เที่ยวเพราะนักบินประกาศหยุดบิน ทำให้ผู้โดยสารเดือดร้อน 80,000 คน ล่าสุดสหภาพนักบินประกาศหยุดบินต่อไปอีก 24 ชั่วโมงหลังจากเที่ยงคืนวันพุธโดยจะเป็นเที่ยวบินระยะไกลและเที่ยวบินขนส่งสินค้าเพื่อกดดันฝ่ายบริหาร แต่จะไม่กระทบต่อเจอรมันวิงส์และยูโรวิงส์ ซึ่งเป็นสายการบินราคาประหยัดในเครือลุฟท์ฮันซา
 
นักบินลุฟท์ฮันซาหยุดบินเป็นครั้งที่ 12 แล้วตั้งแต่เดือนเดือนเมษายนปีก่อน เพื่อประท้วงฝ่ายบริหารที่จะแก้ไขแผนการเกษียณก่อนกำหนด นักบินต้องให้คงสิทธิประโยชน์สำหรับนักบินเข้าใหม่ให้เกษียณก่อนกำหนดได้ที่อายุ 55 ปี และรับเงินร้อยละ 60 ไปจนกว่าจะครบอายุเกษียณตามกฎหมายที่ 65 ปี ขณะที่ฝ่ายบริหารเผยว่า จะคงสิทธิประโยชน์สำหรับนักบินที่เข้าทำงานก่อนปี 2557 แต่ต้องการขยายอายุเกษียณเฉลี่ยจาก 59.5 ปีในปัจจุบันเป็น 61 ปี
 
สถาบันแรงงานของเกาหลีใต้ระบุเกือบครึ่งหนึ่งของผู้สูงวัยปลดเกษียณงานแล้วในเกาหลีใต้มีรายได้ต่ำกว่าขีดความยากจน
 
19 มี.ค. 2015 สถาบันแรงงานของเกาหลีใต้ (Korea Labor Institute) ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเกาหลีใต้ เผยแพร่รายงานที่ระบุว่า เกาหลีใต้มีอัตราผู้สูงอายุยากจนมากที่สุดในบรรดา 34 ประเทศที่เป็นสมาชิกของ OECD
 
ตัวเลขของธนาคารโลก (World Bank) แสดงให้เห็นว่า เกาหลีใต้มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 15 ของโลก และรายได้ต่อหัวของประชากรสูงราวๆ $26,000 ขณะเดียวกัน รายงานของสถาบันแรงงานฯ ระบุตัวเลขของปี ค.ศ. 2011 ที่แสดงให้เห็นว่า 48.6% ของผู้สูงอายุในเกาหลีใต้ มีรายได้ต่ำกว่าขีดความยากจน
 
ปัญหาสำคัญที่รายงานฉบับนี้อธิบายไว้ คือคนเหล่านี้หางานทำเพื่อเสริมรายได้ไม่ได้ ในขณะที่ลูกๆเติบโตและมีภาระต้องหาเลี้ยงครอบครัวของตนมากกว่าจะดูแลบิดามารดา นอกจากนี้ อัตราการเกิดต่ำในเกาหลีใต้ทำให้วิตกกังวลกันว่า จะไม่มีคนหนุ่มคนสาวมากพอที่จะทำงานรองรับจำนวนผู้สูงอายุในประเทศได้
 
"ชาร์ป" ปรับโครงสร้างทั่วโลก เล็งเลิกจ้าง 6,000 คน
 
20 มี.ค. 2015 สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานอ้างแหล่งข่าววงในว่า ชาร์ป คอร์ป มีแผนที่จะเลิกจ้างพนักงานทั่วโลกราว 6,000 ตำแหน่ง หรือ 12% ของพนักงานทั้งหมด ซึ่งราวครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้ จะเป็นการเลิกจ้างในญี่ปุ่น ผ่านการจัดทำโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด
 
ขณะที่สำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่น รายงายว่า ชาร์ปจะปลดพนักงานในญี่ปุ่นราว 3,000 ตำแหน่ง หรือคิดเป็นสัดส่วน 12.5% ของแรงงานในประเทศทั้งหมด ภายในเดือนมีนาคม 2016 คิดเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานราว 30,000 ล้านเยน
 
ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปลดพนักงานดังกล่าว เกิดขึ้น หลังจากที่ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และจอภาพแอลซีดีรายนี้ ปลดพนักงานไปแล้ว 5,000 คน ตามแผนการปรับโครงสร้าง ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ที่บริษัทได้รับความช่วยเหลือในรูปเงินกู้ และสินเชื่อจากกลุ่มธนาคารมูลค่าราว 3,000 ล้านดอลลาร์ หากคิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในปัจจุบัน
 
มิตซูบิชิเริ่มสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ในอินโดฯแล้ว ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากไทย
 
24 มี.ค. 2015 บริษัทมิตซูบิชิ มอเตอร์ คอร์ป ของญี่ปุ่น ได้เริ่มการก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์แห่งแรกในอินโดนีเซียแล้ว ในความพยายามที่จะขยายการดำเนินงานของบริษัทเข้าสู่อินโดนีเซีย โดยหวังเจาะกลุ่มลูกค้าชนชั้นกลางที่กำลังมีการขยายตัว
 
ทั้งนี้ มิตซูบิชิ มอเตอร์ ถือหุ้น 51% ในบริษัทร่วมทุน ขณะที่มิตซูบิชิ คอร์ปถือหุ้น 40% และบริษัทพีที กรามา ยุทธา ของอินโดนีเซีย ถือหุ้นที่เหลือ 9% โรงงานแห่งใหม่นี้ตั้งอยู่นอกกรุงจาการ์ตา โดยอยู่ที่เมืองซิการังในชวาตะวันตก ขณะที่ใช้งบก่อสร้าง 500 ล้านดอลลาร์ และโรงงานดังกล่าวจะผลิตรถยนต์ MUV แบบ 7 ที่นั่ง ซึ่งจะวางจำหน่ายในอินโดนีเซีย รวมทั้งจะส่งออกไปยังไทยและฟิลิปปินส์
 
คาดว่าโรงงานแห่งใหม่นี้จะเริ่มเดินสายการผลิตได้ในเดือนเม.ย.2017 และจะผลิตรถยนต์ได้ 160,000 คันต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 240,000 คันหลังปี 2025 ซึ่งจะทำให้อินโดนีเซียเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของมิตซูบิชิในภูมิภาค รองจากไทย ซึ่งมีกำลังการผลิต 450,000 คันต่อปี
 
อินโดนีเซียล้มแผนทดสอบภาษาอินโดฯ กับแรงงาน
 
26 มี.ค. 2015 ประเทศอินโดนีเซียมีชาวต่างชาติเข้าไปทำงานจำนวนมาก เมื่อไม่นานนี้รัฐบาลอินโดนีเซียก็เลยมีแผนบังคับให้ชาวต่างชาติจะต้องผ่านการทดสอบภาษาอินโดนีเซียด้วย จึงจะได้รับใบอนุญาตการทำงาน แต่ล่าสุดก็มีอันต้องล้มเลิกความคิดนี้ไป
 
รัฐบาลอินโดนีเซียจำต้องล้มเลิกแผนการที่จะให้ครูสอนภาษาอังกฤษชาวต่างชาติและแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในอินโดนีเซียจะต้องผ่านการทดสอบความสามารถทางภาษาอินโดนีเซีย หลังถูกประท้วงจากนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งมองว่าเป็นนโยบายกีดกัน ในขณะที่นักลงทุนชาวอินโดนีเซียเองก็ไม่เห็นด้วย เพราะอินโดนีเซียต้องการความเชี่ยวชาญและความรู้ความสามารถของชาวต่างชาติเหล่านี้ ปัจจุบันชาวต่างชาติที่ทำงานในอินโดนีเซียไม่จำเป็นต้องพูดภาษาอินโดนีเซียได้ แต่หากมีการบังคับให้ต้องผ่านการทดสอบภาษาอินโดนีเซีย ก็จะทำให้เป็นอุปสรรคในการขอใบอนุญาตทำงานของชาวต่างชาติ
 
อย่างไรก็ตาม รองประธานาธิบดียูซุฟ คัลลา ของอินโดนีเซีย มองว่า ข้อเสนอนี้มีจุดมุ่งหมายที่ดี เพื่อป้องกันแรงงานที่มีทักษะต่ำเข้ามาทำงาน ก่อนจะมีการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในสิ้นปีนี้ แต่หากจะส่งผลกระทบต่อการลงทุน รัฐบาลก็คงต้องทบทวนเสียใหม่ ทั้งนี้ อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งเป้าจะขยายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ได้ 5.8% ในปีนี้ จากเดิมอยู่ที่ 5.1% ในปี 2014 ซึ่งปัจจัยผลักดันส่วนใหญ่ก็มาจากการลงทุนจากต่างชาติ
 
บริษัทไฟฟ้าแอฟริกาใต้ เตรียมเลิกจ้างคนงาน 1,000 คน จากโรงงานแห่งใหม่
 
27 มี.ค. 2015 บริษัทการไฟฟ้าของรัฐ “เอสคอม” กล่าววันนี้ว่า คนงานกว่า 1,000 คนที่กำลังก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ของแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นแห่งแรกในรอบ 20 ปี ถูกไล่ออกจากงาน หลังจากที่พวกเขารวมตัวประท้วงเรียกร้องค่าตอบแทนและเงินรางวัล ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าเมดูปี มีกำหนดสร้างเสร็จในปี 2012 แต่จะเปิดดำเนินการในเดือนมิถุนายนนี้ และจะยังไม่ปฏิบัติการอย่างเต็มศักยภาพที่ 4,764 กิโลวัตต์ จนกว่าจะถึงปี 2020
 
อินโดนิเซียปฏิเสธ ไร้แรงงานทาสประมง ชี้ข่าวของ AP ไม่ใช่เรืออินโดฯ
 
27 มี.ค. 2015 เจ้าหน้าที่จากกรมประมงของอินโดนิเซียได้ออกมาปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่มีการใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมงอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หลังจากสำนักข่าว AP ได้รายงานข่าวตีแผ่การใช้แรงงานทาสบนเรือประมงไทยที่ดำเนินการโดยบริษัทแห่งหนึ่งในเกาะเบนจินา จังหวัดมาลูกู (หมู่เกาะโมลุกะ) ของอินโดนิเซีย โดยระบุว่า ในรายงานข่าวไม่ใช่เรือของอินโดฯ
 
ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารทะเล กล่าวว่า “กระทรวงการประมงและทรัพยากรทางทะเลได้ปฏิเสธว่าไม่มีการใช้แรงงานทาสใน อุตสาหกรรมการประมง” โดยระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้เพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอัน จะส่งผลรกะทบต่อประเทศ
 
“การใช้แรงงานทาสไม่ใช่แค่เรื่องของเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย แม้ว่ามันจะสร้างกำไรในเชิงเศรษฐกิจแต่ก็เป็นการปฏิเสธความเป็นมนุษย์” เขากล่าว
 
จากรายงานข่าวของสำนักข่าว AP ระบุว่า ปลาที่จับได้จากเรือดังกล่าวที่ทางการอินโดฯ ปฏิเสธว่าไม่ใช่เรือของอินโดฯ จะถูกส่งไปป้อนให้กับอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่มีความต้องการอาหารทะเล ในขณะที่อินโดนิเซียยืนยันว่าจะยังคงปราบปรามการประมงที่ผิดกฎหมายต่อไป
 
น้ำท่วมเหมืองในจีน มีผู้เสียชีวิต 6 คน
 
29 มี.ค. 2015 สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานว่า เหตุน้ำท่วมในเหมืองหินทางภาคกลางของจีน ทำให้คนงานเสียชีวิต 6 คน สื่อจีนรายงานว่า น้ำท่วมเหมืองหินตั้งแต่เมื่อคืนวันจันทร์ แต่ในรายงานเมื่อวันเสาร์ไม่ได้ระบุว่าเกิดจากสาเหตุใด หน่วยกู้ภัยพบ 1 ศพเมื่อค่ำวันศุกร์ และอีก 5 ศพในวันเสาร์ อุบัติเหตุเหมืองในจีนมีสถิติผู้เสียชีวิตมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก แม้มีมาตรการส่งเสริมความปลอดภัยเพื่อลดอุบัติเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตก็ตาม
 
พม่าขึ้นเงินเดือนข้าราชการ
 
30 มี.ค. 2015 กระทรวงการคลังพม่าประกาศขึ้นเงินเดือนให้แก่ข้าราชการทุกคน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ เป็นต้นไป อันเป็นวันเริ่มต้นของงบประมาณใหม่พม่า โดยข้าราชการบางคนจะได้ขึ้นเงินเดือนถึง 2 เท่า แผนการขึ้นเงินเดือนให้แก่ข้าราชการพม่าครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อยกมาตรฐานการครองชีพของข้าราชการในพม่าที่มีอยู่ราว 1.5 ล้านคน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานไปรษณีย์ ครูอาจารย์ ไปจนถึงระดับอธิบดี เจ้ากระทรวงต่างๆ
 
สำหรับข้าราชการพม่าที่มีเงินเดือนน้อยที่สุด ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 75,000 จ๊าด (ประมาณ 2,370 บาท) ในเดือนหน้า จะได้ปรับเพิ่มเงินเดือนขึ้นเป็น 120,000 จ๊าด (ประมาณ 3,790 บาท) ส่วนข้าราชการที่ได้เงินเดือนสูงที่สุด ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 250,000 จ๊าด (ประมาณ 7,900 บาท) ก็จะได้เพิ่มเป็น 500,000 จ๊าด หรือเกือบ 15,800 บาท
 
นอกจากบรรดาข้าราชการแล้ว ก่อนหน้านี้รัฐสภาพม่ายังได้อนุมัติการขึ้นเงินเดือนให้แก่สมาชิกรัฐสภาถึง 3 เท่าตัว จากเดิมที่ได้ไม่ถึง 10,000 บาท เพิ่มเป็น 32,000 บาท โดยจะมีผลในวันที่ 1 เมษายนเช่นเดียวกัน เพราะเล็งเห็นว่าเงินเดือนเดิมน้อยเกินไป คาดว่าการเพิ่มเงินเดือนให้แก่สมาชิกรัฐสภา คงจะช่วยให้ตัวแทนเหล่านี้ได้ออกไปพบปะประชาชนในพื้นที่เขตของตัวเองได้บ่อยมากขึ้น
 
ภาคการผลิตญี่ปุ่นเดือนกุมภาพันธ์ดิ่งลงเกินคาด
 
30 มี.ค. 2015 ภาคการผลิตในโรงงานญี่ปุ่นเดือนกุมภาพันธ์ลดลงมาที่ร้อยละ 3.4เมื่อเทียบรายเดือน นับว่าแย่กว่าที่คาดไว้และยิ่งทำให้เกิดความกังวลต่อประเทศเศรษฐกิจรายใหญ่อันดับสามของโลกที่ยังเผชิญปัญหาจากการขึ้นภาษีเมื่อปีที่แล้ว
 
ตัวเลขล่าสุดจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมถือว่าพลาดเป้าจากค่าเฉลี่ยที่คาดการณ์ไว้ และดูเหมือนว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะชะลอตัวในไตรมาสแรกของปีนี้ รายงานของกระทรวงระบุว่า จากการสำรวจแนวโน้มการผลิตพบว่าจะลดลงอีกร้อยละ 2 ในเดือนมีนาคม ก่อนปรับขึ้นไปที่ร้อยละ 3.6 ในเดือนเมษายน ข้อมูลล่าสุดมีขึ้นภายหลังจากตัวเลขอย่างเป็นทางการเมื่อวันศุกร์พบว่าอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ โดยเฉพาะในหมวดสินค้าหลักที่ซบเซาเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี
 
คนงานชาวอาร์เจนติน่าผละงานประท้วงทั่วกรุงบัวโนไอเรสหลังรบ.จ่อเก็บภาษีค่าแรง
 
31 มี.ค. 2015 คนงานชาวอาร์เจนตินาได้พากันออกมาชุมนุมประท้วงหลังจากมีการเสนอร่างกฎหมายภาษีค่าแรง ซึ่งส่งผลให้กรุงบัวโนสไอเรส เมืองหลวงประเทศอาร์เจนติน่า กลายเป็นเมืองร้าง ส่วนร้านค้าและธนาคารปิดทำการ ขณะที่การขนส่งสาธารณะทั้งรถประจำทาง รถไฟใต้ดิน และแทกซี่เกือบทั้งหมดหยุดให้บริการ
 
กลุ่มคนงานได้แสดงความไม่พอใจกับอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นและสวัสดิการที่ต่ำ โดยมีรายงานว่า 35% ของแรงงานในธรุกิจใต้ดินแสดงท่าทีต่อต้านการร่างกฎหมายนี้
 
หนังสือพิมพ์ La Nacion ของอาร์เจนติน่ารายงานว่า ประธานาธิบดีคริสตินา เฟอร์นันเดซ ล่าวว่า การประท้วงหยุดงานของคนงานนี้เป็นกลยุทธ์ทางการเมืองของผู้ที่ต่อต้านเธอ
 
ด้านนายแอ็กเซล คิซิลลอฟ รัฐมนตรีเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาเปิดเผยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า การเรียกเก็บภาษีดังกล่าวมีผลกระทบเพียง 10-15% ของพนักงานระบบขนส่งมวลชนทั้งหมด หรือกลุ่มคนที่มีรายได้มากกว่า 15,000 เปโซต่อเดือน หรือ 17,000 ดอลลาร์สหรัฐ
 
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การประท้วงครั้งนี้เป็นการรวมกลุ่มของบรรดาพนักงานในภัตตาคาร คนขับรถบรรทุก พนักงานธนาคาร พนักงานร้านค้า พนักงานที่สถานีบริการน้ำมัน
 
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: ประชาไท, ครอบครัวข่าว, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, สำนักข่าวไทย, กรุงเทพธุรกิจ, ไทยรัฐออนไลน์, เดลินิวส์, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, VOA

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท