เรื่องเก่า เล่าใหม่ ชะตากรรมที่มืดมิด ในสังคมของเครื่องแบบกินคน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
ตลอดระยะเวลา 11 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุวิสามัญฆาตกรรมหลายครั้งและอย่างต่อเนื่องไม่รู้จบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ปาตานี ขณะที่ทุกภาคส่วนพยายามหาวิธีการต่างๆ เพื่อที่จะให้ปัญหาดังกล่าวยุติในเร็ววัน องค์กรด้านการสื่อสารก็เป็นส่วนหนึ่งที่พยายามนำเสนอเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อที่จะช่วยถ่ายทอดเสียงของประชาชนที่ยังขาดพื้นที่ในสื่อกระแสหลัก เพราะสื่อเหล่านั้นส่วนใหญ่มักอ้างอิงข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐเพียงด้านเดียว
 
เราจึงพบว่า จากเสียงที่เคยเงียบและไม่กล้าลุกขึ้นมาโต้ตอบ ยิ่งนานวันเสียงของประชาชนก็ยิ่งดังขึ้นเรื่อยๆ คนทั้งในและนอกพื้นที่เริ่มตั้งคำถามมากมายถึงการปฏิบัติหน้าที่ที่ใช้กำลังหรืออำนาจเกินพอดีของรัฐ หลายหนถึงขั้นละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างร้ายแรง
 
น่าสังเกตุว่า ทุกเรื่องที่สื่อรายงาน ผู้สูญเสียมักจะเป็นผู้ร้าย เป็นโจรก่อการร้าย โจรค้ายา ฯลฯ ในทางกลับกันคนในเครื่องแบบคือพระเอก แต่สุดท้ายก็มักได้รับการพิสูจน์ว่า เหตุการณ์หลายหน "เป็นการเข้าใจผิด" พระเอกยิงพลาด พระเอกยิงผิดคน พระเอกเข้าใจผิดนึกว่าคนที่ตนยิงเป็นโจร แต่ภาพของความเป็นโจรยังอยู่กับชาวบ้านเหล่านั้นตลอดไปเพราะไม่เคยมีใครแก้ไขข่าว
 
ทุกครั้งที่เกิดเหตุพวกเขาบอกเราว่า ไม่มีใครตั้งใจทำให้มันเกิดขึ้น พวกเขาเสียใจ บางครั้งเมื่อเจอกับอารมณ์ของผู้สูญเสีย พวกเขายังแสดงความไม่พอใจ ว่าทำไมจึงไม่เข้าใจว่าพวกเขาไม่ได้ตั้งใจ สื่อที่ตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้ก็เจอหางเลขเหล่านี้เข้าไปด้วย ผ่านทางโซเชียลมีเดียที่ตั้งขึ้นมาเพื่อปิดปากคนทำสื่อในพื้นที่โดยเฉพาะ
 
เจ้าหน้าที่อาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าทำงานผิดพลาด ต้องผ่านการตรวจสอบมากมาย มีการปฏิเสธข่าวอย่างแข็งขันก่อนทุกครั้ง เพราะการยอมรับว่าทำพลาดทำให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นขององค์กร การลงโทษคนทำพลาดส่งผลต่อขวัญกำลังใจของคนทำงานหนัก
 
แต่สำหรับชาวบ้าน ผลของการทำงานที่ผิดพลาด มันทำให้เขาต้องสูญเสียชีวิต เป็นการสูญเสียที่ไม่อาจเรียกคืนได้ นอกจากชีวิตแล้ว ชื่อเสียงของพวกเขาก็แปดเปื้อนเพราะคำว่าโจรก่อการร้าย โจรค้ายา ฯลฯ ที่สื่อประเคนให้
 
และสุดท้ายเรื่องราวก็มักจะจบด้วย "เงิน" เงินที่มีค่ามหาศาล แต่เงินมีค่ามากกว่าชีวิตคนทั้งคนกระนั้นหรือ ?
 
ผู้คนในสังคมต่างมีคำถามมากมายที่ยังไม่เคยได้รับคำตอบที่น่าพอใจ หากมองด้วยใจที่ไม่เข้าข้างตัวเองย่อมพบว่ามันกำลังสะสมเวลารอวันระเบิด
 
คำถามที่วนเวียนในใจผู้คนก็คือ พื้นที่แห่งนี้ความจริงแล้วมันเกิดอะไรขึ้น ทำไมผู้คนที่อยู่ในเครื่องแบบช่างโหดร้ายเหลือเกิน พื้นที่แห่งนี้มันกลายเป็นพื้นที่ปลิดชีพคนแล้วกระนั้นหรือ พื้นที่แห่งนี้มันเป็นสนามยิงเป้าไปแล้วกระนั้นหรือ จะยิง จะฆ่าใครก็ได้กระนั้นหรือ การทำงานที่ผิดพลาดอย่างนี้มันไม่มีกฎหมายมาให้ความธรรมกับเหยื่อกระนั้นหรือ
 
ทุกครั้งก่อนถูกพิสูจน์ว่าความจริงเป็นอย่างไรนั้น ทำไมจึงต้องปิดบังแล้วไปป่าวประกาศข้อมูลเท็จแก่สังคมผ่านสื่อมวลชนต่างๆ อาทิเช่น เหตุการณ์ตากใบ ผู้คนถูกนำไปซ้อนทับบนรถ 4-6 ชั้น แต่กลับบอกกับสังคมว่า พวกเขาตายเพราะขาดอากาศหายใจ
 
อีหม่าม ยะผา ถูกซ้อมทรมาน แต่แล้วก็บอกกับสังคมว่า เขาเป็นโรคลมชัก
 
ปูโละปูโย จนท.กราดยิงชาวบ้าน แล้วบอกกับสังคมว่า ปะทะกัน
 
จนท.กราดยิงเด็กอายุ 14 ปีที่บ้านไอร์กือเนาะ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส แล้วบอกกับสังคมว่า เด็กยิงก่อนจึงต้องปกป้องตนเอง อีกทั้งยังยัดอาวุธในมือเด็กเพื่อปิดบังความจริงอีก
 
กราดยิงครอบครัวเด็กหญิงอายุ 10 ขวบ ที่ฮูแตยือลอ แล้วบอกสังคมว่า นึกว่าเป็นแนวร่วม
 
กราดยิงนายนิพา เจ๊ะดะ ขณะขับรถผ่านด่านตำรวจท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา แล้วบอกสังคมว่าเขายิงตอบโต้และเกิดการปะทะกัน ฯลฯ
 
แต่สุดท้ายทุกเหตุการณ์ดังกล่าวกลับได้รับการพิสูจน์ว่า “จนท.เป็นคนทำ เพียงเพราะเข้าใจผิด"
 
ล่าสุดกราดยิงนักศึกษาและชาวบ้านเสียชีวิต 4 ศพที่ทุ่งยางแดง แล้วบอกสังคมว่าเกิดเหตุยิงปะทะกับผู้ก่อเหตุ กำลังพิสูจน์ข้อเท็จจริงอยู่ว่าความจริงเป็นอย่างไร แต่ชาวบ้านคงต้องทำใจเพราะเดาได้ไม่ยากว่าคำตอบจะออกมาอย่างไร
 
หากเป็นอย่างนี้อยู่เรื่อยไปคนในพื้นที่จะอยู่กันอย่างไร ? เขาจะรู้สึกหวาดระแวงต่อใครมากกว่ากันระหว่างโจรในเงามืด กับโจรในเครื่องแบบ
 
หลายเหตุการณ์มีบทสรุปตรงกันว่าความจริงในพื้นที่แห่งนี้ ผู้คนบาดเจ็บล้มตายไปด้วยความโกรธแค้น และอีกหลายราย ด้วยความพยายามที่จะล้างแค้น เพราะกระบวนการเยียวยาที่กระทำแบบครึ่งๆกลางๆและผิดทาง ด้วยความคิดที่ว่าเงินสามารถปลดล๊อคได้ทุกกรณี
 
แต่ในความเป็นจริงแล้วการเยียวยาที่สำคัญที่สุดคือการเยียวยาด้วยความเป็นธรรม พร้อมมาตรการที่สร้างความเชื่อมั่นอย่างแท้จริงให้กับประชาชนว่า เหตุการณ์เช่นนั้นจะไม่เกิดขึ้นอีก การแสดงความพยายามให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่เห็นชีวิตของชาวบ้านธรรมดาเป็นสิ่งที่มีค่าเช่นกัน
 
ดังนั้น หากเจ้าหน้าที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ ควรจะต้องเริ่มต้นกันที่ความจริง เพราะนั่นคือก้าวแรกของการให้ความเป็นธรรม การปิดบังและซ่อนเร้นความจริงเป็นสิ่งที่ขัดต่อความรู้สึกของสังคม รวมทั้งการนำเสนอข้อมูลที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ที่ปรากฎตามสื่อมวลชนดังที่เป็นมาย่อมนำมาซึ่งความโกรธแค้นและชิงชัง ยั่วยุให้เกิดการกระทำด้วยความโกรธแค้นตอบโต้กลับโดยกลุ่มผู้ไม่หวังดีอันจะนำมาสู่ความสูญเสียเป็นวงจรต่อเนื่องไม่รู้จบ
 
 
รวมลิงค์ข่าวที่พูดถึง 
 
ข่าวจาก Free Voice : “เหตุการณ์ทหารกราดยิงชาวบ้านฮูแตยือลอ นราธิวาส” 
 
ข่าวจาก สำนักสื่อวาร์ตานี : “ชาวบ้านร้องทหารพรานวิสามัญเด็ก 14 ปี” 
 
ข่าวจาก i-News : “บาเจาะเศร้า จนท.ยิงรถต้องสงสัยโดนเด็กดับ” 
 
ข่าวจากสำนักสื่อวาร์ตานี : “บันทึกการลงพื้นที่ทุ่งยางแดง ของทีมสื่อภาคสนาม”
http://goo.gl/qgBWQ6
 
ข่าวจากสำนักข่าวประชาไท | นวลน้อย ธรรมเสถียร : “ทุ่งยางแดง: ภายใต้ความเงียบ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท