Skip to main content
sharethis

กรณีถ้อยคำ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อสัปดาห์ก่อน ล่าสุด 'เดวิด ไคย์' ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านสิทธิเสรีภาพ ระบุว่าความคิดที่จะสังหารนักข่าวหรือปิดสื่อเพียงเพราะวิจารณ์รัฐบาล แถมนำมาทำเป็นเรื่องตลกนั้นถือเป็นสิ่งน่าประณาม พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลไทยออกห่างจากถ้อยคำคุกคามเสรีภาพสื่อ และดำเนินการทันทีเพื่อให้มีพื้นที่แสดงความเห็น

เดวิด ไคย์ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก (ซ้าย) และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. (ที่มา: OHCHR/เว็บไซต์รัฐบาลไทย/แฟ้มภาพ)

1 เม.ย. 2558 - มีรายงานว่า เดวิด ไคย์ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ ว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ซึ่งอยู่ที่นครเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ ได้เผยแพร่ใบแถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงตัวออกห่างอย่างชัดเจนต่อถ้อยคำคุกคามเสรีภาพสื่อของผู้นำรัฐบาลไทย และดำเนินมาตรการโดยพลันเพื่ออนุญาตให้มีพื้นที่อภิปรายถกเถียงและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (อ่านแถลงการณ์ในเว็บของ OHCHR)

ในใบแถลงข่าวยังระบุว่า "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2557 กล่าวถึงนักข่าวที่วิพากวิจารณ์ตนหรือ "สร้างความแตกแยก" ว่าอาจถูกลงโทษประหารชีวิตและกล่าวว่าตน "มีอำนาจในการปิดสื่อทุกสื่อ จับ และ ยิงเป้า"

ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกกล่าวย้ำว่า "ผมขอประณามถ้อยคำดังกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างไม่มีเงื่อนไข ในรอบปีที่ผ่านมามีการสังหารและใช้ความรุนแรงต่อนักข่าวทั่วโลก การกล่าวถ้อยคำลักษณะเช่นนี้เป็นการกระทำที่ยอมรับไม่ได้"

ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติระบุด้วยว่า "เราได้รับรายงานจากทั่วทุกมุมโลกเกี่ยวกับการโจมตี สังหาร และจำคุกนักข่าวจำนวนมาก "การกระทำเหล่านี้ออกแบบมาเพื่อปิดการวิพากษ์วิจารณ์และปฏิเสธมิให้พลเมืองเข้าถึงสิทธิในข้อมูลข่าวสาร"

นายเดวิดกล่าวว่า "นักข่าวทุกๆ ประเภททำหน้าที่สำคัญที่เป็นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย" นั่นคือ "ฉายภาพให้เห็นว่ารัฐบาลได้ปฏิบัติงานสอดคล้องกับหลักนิติธรรม หรือมีความเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่นและละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ การข่มขู่คุกคามนักข่าวจึงเป็นการโจมตีสิทธิของสาธารณะที่จะได้รับรู้ข้อมูล"

ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติกล่าวด้วยว่า "ไม่มีข้อมูลใดที่บ่งบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถ้อยคำดังกล่าวอย่างเป็นเรื่องตลก แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะกล่าวในลักษณะนั้น การที่ความคิดในการสังหารนักข่าวหรือการปิดสื่อเพียงเพราะการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลสามารถนำมาทำเป็นเรื่องตลกได้นั้นเป็นสิ่งที่น่าประณาม"

ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติระบุว่า ประเทศไทยควรดำเนินมาตรการเพื่อยกเลิกการบังคับใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ ในขณะเดียวกันก็แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อความเป็นไปได้ที่จะนำมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) มาบังคับใช้ ซึ่งมาตรานี้จะให้อำนาจอย่างไม่มีขอบเขตกับ พล.อ.ประยุทธ์ ในการสั่งการใดๆ ซึ่งมีผลบังคับทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร และทางตุลาการ

นายเดวิดกล่าวย้ำว่า "เสรีภาพในการแสดงออกและความเป็นอิสระของสื่อมวลชนที่จะสามารถรายงานข่าวได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกตอบโต้แก้แค้น ช่วยส่งเสริมการอภิปรายถกเถียงสาธารณะ และเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการสร้างสังคมที่มีความบูรณาการและเป็นประชาธิปไตย ซึ่งเสรีภาพดังกล่าวรวมถึงสิทธิที่ทุกคนจะแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่รัฐได้"

"รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐไม่เพียงต้องเคารพบทบาทหน้าที่ของนักข่าวเท่านั้น แต่ควรจะต้องประณามอย่างเปิดเผยต่อการข่มขู่คุกคาม การโจมตีนักข่าวในทุกๆ รูปแบบโดยผู้มีตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงสุด และรับประกันไม่ให้ใครสามารถถูกข่มขู่คุกคามได้" ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวย้ำ

ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ ยังแสดงความกังวลต่อการจับกุมคุมขังประชาชนตามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่เพิ่มสูงขึ้น และเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ที่มีความเห็นต่าง และยังกล่าวด้วยว่า "สิ่งเหล่านี้สำคัญมากในช่วงเวลาที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะกำหนดทิศทางของประเทศในอนาคต"

สำหรับนายเดวิด ไคย์ เป็นชาวสหรัฐอเมริกา ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกเมื่อเดือนสิงหาคม 2557 โดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

โดยผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติเป็นส่วนหนึ่งของกลไกพิเศษ หรือ Special Procedure ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กลไกพิเศษซึ่งประกอบด้วยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติซึ่งมีหน้าที่ในการติดตามสถานการณ์ในประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นการเฉพาะ หรือต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนประเด็นหนึ่งทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญของกลไกพิเศษดำเนินงานในฐานะอาสาสมัคร เขาไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติและไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ จากการทำงาน เป็นอิสระจากรัฐบาลหรือองค์กรใดๆ และทำงานภายใต้ศักยภาพส่วนบุคคล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net