Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ช่วงปลายปีนี้ จะถึงกำหนดการที่ประเทศทั้ง 10 ในกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะร่วมมือกันอย่างเป็นทางการ ในการผนวกกิจกรรมทางเศรษฐกิจเข้าร่วมเป็นหนึ่ง หรือที่เรียกสั้นๆว่า กลุ่มประชาคมอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC

การรวมกลุ่มประชาคมในเชิงรูปธรรม ได้มีการดำเนินการสำเร็จไปแล้วในหลายๆเรื่อง ในขณะเดียวกัน ก็มีอีกหลายๆประเด็นทียังมีความล่าช้าและอาจจะเสร็จไม่ทันกำหนดการในช่วงปลายปีนี้ได้

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะกล่าวถึง โครงสร้างที่สำคัญของการร่วมกลุ่ม 3 เรื่อง ได้แก่ การเคลื่อนย้ายสินค้าโดยเสรี (Free flow of goods) การเปิดเสรีด้านการลงทุน(Free flow of investment) และ การเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะอย่างเสรี (Free flow of skilled labour) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

เมื่อพิจารณาถึงเรื่องของการเคลื่อนย้ายสินค้าโดยเสรี จะพบว่าประเทศสมาชิกได้ปรับลดอัตราภาษีศุลกากร(Tariffs)จนใกล้ระดับที่ศูนย์เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ดี ในภาคปฏิบัติกลับพบข้อกังวลใจที่สำคัญคือ การปรากฏตัวของมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษีที่ดูเหมือนว่าจะมีเพิ่มขึ้นมาแทนซึ่งแต่ละประเทศมีการกำหนดที่แตกต่างกันไป  เช่น การกำหนดมาตรฐานสินค้าที่แตกต่างไปจากมาตรฐานสินค้าที่ใช้อย่างสากล หรือ การบีบบังคับให้สินค้าจะต้องขนเข้าทางท่าเรือที่อยู่ไกลจากตลาดสินค้า เป็นต้น

เมื่อพิจารณาในส่วนของการเปิดเสรีทางด้านการลงทุน จะสามารถจำแนกกรอบข้อตกลงออกเป็น กรอบข้อตกลงว่าด้วยการบริการอาเซียน (AFAS) และกรอบการตกลงด้านการลงทุนอาเซียน (ACIA) โดยในส่วนแรกจะเกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีให้ต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนในภาคบริการในไทย ในขณะที่ส่วนหลังจะเกี่ยวข้องกับการเข้ามาลงทุนในสาขาการผลิต

ข้อค้นพบที่สำคัญ ก็คือ การเปิดเสรีในภาคบริการยังไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามกรอบข้อตกลง โดยประเทศสมาชิกอาเซียน 5 ประเทศไม่รวมสิงคโปร์ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไนและเวียดนาม ยังคงจำกัดสัดส่วนการถือหุ้นของคนอาเซียนที่น้อยกว่าร้อยละ 51 ในสาขาที่เร่งรัดเปิดเสรี (เช่น ขนส่งทางอากาศ สุขภาพและการบริการท่องเที่ยว) ในขณะที่ประเทศไทยยังคงไว้ซึ่งข้อจำกัดมากที่สุด คือ ยังกำหนดให้สัดส่วนผู้ถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 49 เท่านั้น

ส่วนการตกลงด้านการลงทุนอาเซียน หรือ ACIA โดยเฉพาะข้อมูลการออกหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างพบว่าการเข้ามาลงทุนโดยอาศัยข้อตกลง ACIAยังเป็นศูนย์ ซึ่งสะท้อนปัญหาที่สำคัญก็คือ การลงทุนผ่านข้อตกลง ACIA ยังไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนที่เพียงพอ ทำให้ภาคธุรกิจไม่สนใจที่จะลงทุนผ่านช่องทางนี้

เรื่องสุดท้ายที่สำคัญ ก็คือ การเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะ ซึ่งตามกรอบข้อตกลงได้กำหนดเอาไว้ที่ 8 อาชีพ ได้แก่ นักสำรวจ วิศวกรรม แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล บัญชี สถาปัตยกรรมและการบริการ/ท่องเที่ยว พบว่า ในภาพรวมแม้ว่าการเคลื่อนย้ายจะยังคงต้องอาศัยการรับรองมาตรฐานวิชาชีพที่แต่ละประเทศกำหนด อย่างเช่นในกรณีของไทย จะมีการระบุให้ผู้ประกอบอาชีพที่จะเข้ามาตามข้อตกลงการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี 8 อาชีพดังกล่าวจะต้องสามารถพูดและเขียนภาษาไทยได้ เป็นต้น แต่ในภาคปฏิบัติ พบว่าการเคลื่อนย้ายแรงงานอาชีพได้เกิดขึ้นได้ในหลายๆช่องทางเช่น ผ่านการส่งเสริมการลงทุนของ BOI หรืออาศัยโอกาสในวิชาชีพที่ประเทศไทยยังขาดแคลน เป็นต้น การประเมินผลกระทบของการเคลื่อนย้ายแรงงานจึงสามารถกระทำได้โดยอาศัยข้อมูลการเคลื่อนย้ายแรงงานที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งพบว่า  ประเทศสิงค์โปร์และมาเลเซียมีโอกาสที่จะได้ประโยชน์มากที่สุด เนื่องจากเป็นประเทศที่มีระดับการพัฒนาที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทำให้สามารถจ่ายค่าจ้างได้มากกว่า ในขณะที่ประเทศอินโดนิเซียก็จะเป็นอีกประเทศที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากช่องทางนี้ เพราะว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูง คือมีประชากรจำนวนมาก และมีอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง ประเทศทั้ง 3 จึงน่าจะเป็นประเทศผู้รับ หรือเป็นประเทศที่แรงงานทักษะไหลเข้าไปทำงานจำนวนมาก

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลเบื้องต้นบ่งชี้ว่า แรงงานทักษะโดยรวมน่าจะเกิดการไหลออกไปยังประเทศอื่นๆมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาสถาปนิก การสำรวจและวิศวกรรม ที่การไหลออกน่าจะเกิดขึ้นในระดับที่สูงกว่าสาขาอาชีพอื่นๆ

กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่า การรวมกลุ่มประชาคมอาเซียนในรูปธรรมยังคงเกิดขึ้นอย่างค่อยๆเป็นค่อยๆไป โดยแต่ละประเทศจะเลือกที่จะดำเนินตามกรอบข้อตกลงเฉพาะในส่วนที่คิดว่าประเทศของตัวเองจะได้ประโยชน์เป็นหลัก หากข้อตกลงใดที่คาดว่าประเทศจะยังไม่มีความพร้อมก็จะยังคงหาแนวทางในการกีดกันไม่ให้เกิดผลกระทบในภาคปฏิบัติ เช่น ถ้าการลดภาษีศุลกากรจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมของประเทศ ก็จะวางมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีมาทดแทน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การใช้มาตรการต่างๆเพื่อกีดกันการแข่งขันเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรม เป็นเหมือนดาบสองคม ที่ในด้านหนึ่งจะช่วยคุ้มครองให้ธุรกิจที่อ่อนแอสามารถที่จะอยู่รอดต่อไปได้ แต่อีกด้านหนึ่งก็อาจจะเป็นการบ่มเพาะธุรกิจที่อ่อนแอให้อ่อนแอต่อไป ไม่สามารถที่จะแข่งขันในตลาดโลกได้เสียที

การวางมาตรการที่ดี จึงเป็นหัวใจหลักที่จะกำหนดว่าประเทศไทยจะได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์จากการเข้าร่วมกลุ่มประชาคมอาเซียน โดยหากผู้กำหนดนโยบายเลือกที่จะเปิดเสรีในอุตสาหกรรมที่ยังไม่มีความพร้อม ก็จะทำให้ธุรกิจที่อ่อนแอต้องมาแข่งขันกับธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่มีความพร้อมสูงกว่า ทำให้ธุรกิจไม่สามารถที่จะอยู่รอดต่อไปได้ ในทางตรงกันข้าม หากผู้กำหนดนโยบายใช้แนวทางการปกป้องคุ้มครองอุตสาหกรรมที่มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว ก็จะเป็นการทำลายโอกาสในการพัฒนาธุรกิจที่จะเรียนรู้ผ่านการแข่งขัน ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะยาว

ผลการศึกษาโดยผู้เขียน บ่งชี้ว่าการส่งเสริมการแข่งขันน่าจะสามารถกระทำได้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สิ่งทอ ปิโตรเลียม และยานยนต์ ซึ่งน่าจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเปิดเสรีให้เกิดการแข่งขันในขณะที่ในอุตสาหกรรมประเภท ยางและพลาสติก คอมพิวเตอร์และเครื่องใช้สำนักงาน อาจจะต้องมีการพิจารณาเพิ่มเติมอย่างถี่ถ้วน เนื่องจากไทยอาจถูกคุกคามจากการแข่งขันที่ยังคงเป็นไปอย่างเข้มข้น

กล่าวโดยสรุปผู้เขียนมองว่า ภาครัฐควรที่จะวางแผนยุทธศาสตร์การค้าการลงทุนให้ชัดเจนและควรที่จะมีแผนการพัฒนา (timeline) ที่จะผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยสามารถดำเนินการแข่งขันกับต่างประเทศภายในระยะเวลาที่เหมาะสม

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน :  ปัจจุบัน ดร.นณริฏ พิศลยบุตร ดำรงตำแหน่ง นักวิชาการ ฝ่ายวิจัยนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวม  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net