Skip to main content
sharethis

เมื่อประชาชนไม่ไว้ใจการทำงานของสำนักงานตำรวจนครนิวยอร์ก (NYPD) เนื่องจากมองว่าตำรวจใช้กำลังสังหารประชาชนและใช้อำนาจในทางที่ผิด พวกเขาจึงพยายามจัดตั้งกลุ่มสอดส่องการทำงานของตำรวจในชุมชนและมีเป้าหมาย "ปลดอาวุธ" รวมถึงสร้างการจัดการแก้ไขความขัดแย้งด้วยวิธีการของชุมชนเอง


ภาพหน้าจอเว็บ disarmnypd.org/


28 มี.ค. 2558 เว็บไซต์ Waging Nonviolence รายงานเรื่องกลุ่มนักกิจกรรมชื่อ 'คอปวอทช์' (Copwatch) ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านการใช้ความรุนแรงจากตำรวจด้วยวิธีการช่วยสอดส่องถ่ายภาพวิดีโอการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในชุมชน นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายต้องการสร้าง "เขตปลอดตำรวจ" และมีการรณรงค์เลิกติดอาวุธให้ตำรวจด้วย

กลุ่มคอปวอทช์มีโครงการช่วยเหลืออีกกลุ่มหนึ่งที่ชื่อว่า "กลุ่มปลดอาวุธสำนักงานตำรวจนครนิวยอร์ก" (Disarm NYPD) เป็นกลุ่มที่ไม่อยากให้เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจนิวยอร์กสังหารประชาชนอีก พวกเขาร่วมมือกับคนในชุมชนเพื่อสอดส่องและกดดันตำรวจในย่านที่มีตำรวจปฏิบัติการอยู่มากเกินไป อีกทั้งยังมีการจัดตั้งเขตปลอดตำรวจที่มีลักษณะการจัดการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยวิธีแบบของชุมชนเอง พวกเขายังต้องการให้มีการปลดอาวุธตำรวจทั้งหมดอีกด้วย

สมาชิกกลุ่มปลดอาวุธฯ รายหนึ่งที่ไม่ประสงค์ออกนามกล่าวว่า พวกเขารู้สึกว่าตำรวจไม่มีความรับผิดชอบมากพอในการพกพาอาวุธเนื่องจากมีเหตุสังหารประชาชนเกิดขึ้นมาหลายสิบปีแล้วทำให้พวกเขาต้องการให้มีการปลดอาวุธตำรวจโดยทันที

อีกเป้าหมายหนึ่งของกลุ่มปลดอาวุธฯ คือการทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจออกจากพื้นที่ไปให้หมด โดยจะมีการจัดตั้งหน่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกันขึ้นมาเองในชุมชนโดยไม่ต้องพึ่งพิงตำรวจ นอกจากนี้ยังมีแผนการตั้งสภาและเครือข่ายในท้องถิ่นของตัวเองเพื่อช่วยให้คนในชุมชนท้องถิ่นสามารถจัดการชีวิตตนเองได้

พวกเขาได้ไอเดียดังกล่าวมาจากกลุ่ม 'ทวงคืนเดอะบร็องซ์' (Take Back The Bronx) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2554 กลุ่มดังกล่าวนี้ใช้วิธีการตั้งป้ายไม่ต้อนรับตำรวจในส่วนต่างๆ ของเขตปกครองบร็องซ์ที่มีกำลังตำรวจอยู่หนาแน่น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนออกมาเดินตามท้องถนนได้โดยไม่ค้องกลัวว่าจะถูกตำรวจคุกคามและยังเป็นการเพิ่มความตื่นตัวในหมู่ผู้อาศัยในย่านนั้นๆ ว่าพวกเขาสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้โดยไม่ต้องอาศัยตำรวจ

กลุ่มปลดอาวุธฯ ร่วมมือกับกลุ่มเฝ้าระวังตำรวจในการสร้างพื้นที่เขตปลอดตำรวจขึ้น เช่นการมีหน่วยตรวจตราตำรวจของคอปวอทช์คอยดูแลพื้นที่กลุ่มคนผิวดำเพื่อให้ตำรวจรับรู้ว่ามีคนคอยสอดส่องการทำงานของพวกเขาอยู่ นักกิจกรรมเชื่อว่าเมื่อมีประชาชนผู้ตรวจตราตำรวจมากขึ้น ตำรวจก็จะมีความยับยั้งช่างใจมากขึ้นเวลาจะใช้อำนาจตัวเองในทางที่ผิด หรือบางส่วนถึงขั้นหลบหนีออกจากพื้นที่ที่ตัวเองไม่อยากถูกสอดส่องอยู่ตลอดเวลา

โฮเซ ลาเซลล์ หนึ่งในผู้ตรวจตราตำรวจของกลุ่มคอปวอทช์กล่าวว่า พวกเขาไม่ได้ทำเพื่อตัวเองอย่างเดียว แต่พวกเขาต้องการทำให้เกิดผลต่อชุมชนและเสริมพลังให้กับชุมชนด้วย

ลาเซลล์ยังทำหน้าที่เป็นผู้ฝึกอบรมนักตรวจตราตำรวจหน้าใหม่ ทำให้มีการเพิ่มจำนวนของผู้ตรวจตราตำรวจมากขึ้นและกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ นอกจากนี้ นักกิจกรรมหลายกลุ่มยังวางแผนจัดการประท้วงในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ความรุนแรงของตำรวจและมีปฏิบัติการในระดับเล็กๆ ในระดับเขตเพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจออกจากพื้นที่

ปฏิบัติการของกลุ่มเหล่านี้ ได้แก่ การปฏิเสธให้ความร่วมมือกับตำรวจที่ทำหน้าที่อยู่ การตั้งบูธข้อมูลข่าวสารของคอปวอทช์ฝั่งตรงข้ามถนนของสถานีตำรวจ อีกทั้งการหาวิธีการจัดการความขัดแย้งแบบอื่นๆ โดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากตำรวจยังเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยสร้างเขตปลอดตำรวจได้

Waging Nonviolence ระบุว่าการสร้างเขตปลอดตำรวจทำให้ผู้อาศัยในพื้นที่โดยเฉพาะวัยรุ่นสามารถรวมตัวกันได้อย่างเปิดเผยและมีการหารือกันเรื่องความขัดแย้งได้อย่างบริสุทธิ์ใจภายใต้การดูแลของชุมชน ซึ่งมีการเน้นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นถ้าหากแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตำรวจข่มขู่คุกคาม

'ทวงคืนเดอะบร็องซ์' เริ่มจากจุดเล็กๆ ด้วยการรวบรวมผู้คนในย่านเดียวกัน โดยทำให้เห็นถึงความต้องการร่วมกันของพวกเขาและรับรู้เรื่องที่พวกเขาต่างก็โดนกดขี่เหมือนกัน มีการตั้งป้ายเพื่อให้คนหนุ่มสาวร่วมกันเขียนว่าพวกเขาต้องการจะทำอะไรถ้าหากคนในชุมชนรวมตัวกันได้ซึ่งมีผลตอบรับที่ดีมาก คนหนุ่มสาวหลายคนพากันระบุถึงสิ่งที่จะลดความขัดแย้งได้เช่น พวกเขา "ต้องการมีงานที่ดี" "อยากประสบความสำเร็จในการแข่งบาสเก็ตบอลทัวร์นาเมนต์" และ "อยากให้ตำรวจออกไปห่างๆ พวกเขา" กลุ่มปลดอาวุธฯ หวังว่าด้วยความช่วยเหลือจากหน่วยสอดส่องตำรวจและจากประชาชนในพื้นที่พวกเขาจะสามารถจัดอาณาเขตปลอดตำรวจเพิ่มขึ้นได้ในระดับใหญ่ขึ้นและให้มีการจัดการในระดับถาวร

สมาชิกรายหนึ่งของกลุ่มปลดอาวุธฯ กล่าวว่าพวกเขาต้องการใช้หน่วยตรวจตราตำรวจเพื่อช่วยกดดันให้ตำรวจออกจากพื้นที่ไป หลังจากตำรวจออกจากพื้นที่ไปแล้วพวกเขาก็จะแทนที่ด้วยอะไรใหม่ๆ ที่มีศักยภาพในการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงมากกว่าและพวกเขาก็อยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว


เรียบเรียงจาก

Meet the new group that wants to disarm and displace the NYPD, Waging Nonviolence, 26-03-2015
http://wagingnonviolence.org/2015/03/meet-new-group-wants-disarm-displace-nypd/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net