Skip to main content
sharethis

คุยกับ สุทธิเกียรติ คชโส โฆษก ‘กลุ่มอีสานใหม่’ ในวันที่การเปิดตัวคือการก้าวข้ามความกลัว ที่มาและที่ไปของ ’อีสานใหม่’ ภาพสังคมที่อยากเห็น และความเชื่อมั่นในพลังคนรุ่นใหม่

 

เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่าน กลุ่มคนที่รวมตัวกันในนาม ‘กลุ่มอีสานใหม่’ ได้จัดงานอีสานกลางกรุง ลมหายใจของผู้คนท่ามกลางการพัฒนา โดยเป็นการจัดเวทีนำเสนอปัญหาในพื้นที่ภาคอีสาน ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้อัยการศึก ตลอดเวลา 10 เดือนที่ประเทศตกอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

แววเสียงหนึ่งดังขึ้นจากเวที “เราอยากให้ทุกคนได้รับรู้ ว่าทั้งหมดนี่คือผลกระทบจากกฎอัยการศึก” ดูเหมือนว่าย่างก้าวแรกของการเปิดตัว ‘กลุ่มอีสานใหม่’ จะผ่านไปได้ด้วยดี ไร้การอ้างกฏอัยการศึกเข้าห้ามจัดงาน แต่พื้นที่ราว 10 พื้นที่ซึ่งได้ออกมาเสนอข้อมูลผลกระทบไม่ได้เป็นเช่นนั้น ทั้งนี้ไม่ได้หมายความสิ่งที่พวกเขาทำจะไม่มีต้นทุน หรือราคาที่ต้องจ่าย ภายใต้สภานการณ์ทางการเมืองที่ไม่ปกติ ทว่าสิ่งที่เรียกร้องให้พวกเขาต้องออกมาทำอะไรสักอย่างคือ ความกลัว และเพื่อที่จะทำให้ความกลัวเหล่านั้นหายไป เขาเลือกที่จะพุ่งตัวเข้าหามัน และก้าวข้ามมันไป

ประชาไทคุยกับสุทธิเกียรติ คชโส โฆษก ‘กลุ่มอีสานใหม่’ ถึงที่มา และจุดมุ่งหมายของการก่อตั้ง ‘กลุ่มอีสานใหม่’ แนวคิดทางการเมือง ภาพฝันสังคมที่ต้องการ ความเชื่อมั่นในพลังคนรุ่นใหม่ และการมองปัญหาในเชิงโครงสร้าง

00000

ประชาไท : ‘อีสานใหม่’ ก่อตัวขึ้นมาจากอะไร มีจุดมุ่งหมายอะไร และทำไมต้องเป็น ‘อีสานใหม่’

สุทธิเกียรติ : ‘อีสานใหม่’ เป็นการรวมตัวกันของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาต่างๆ หรือแม้แต่ได้รับผลกระทบจากกฏหมายที่ประกาศขึ้นมา เช่น เรื่องป่าไม้ การประกาศเขตพื้นที่ป่าไม้ แล้วไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ หรือแม้แต่เรื่องการประกาศใช้กฎอัยการศึก คือต้องเข้าใจอย่างนี้ว่า การเคลื่อนไหวของชาวบ้านมันไม่ใช่อะไรที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง แต่มันเกี่ยวข้องกับการเมืองทางอ้อม ซึ่งเขาเอาจริงๆ แล้วเขาเคลื่อนไหวกันในเรื่องสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน ก็เลยมาคิดหาทางออกร่วมกันว่า การเคลื่อนไหวที่ผ่านมามันเป็นแบบเก่าแล้ว เราต้องการที่จะทำให้มันเป็นแบบใหม่ขึ้นมา คือการเคลื่อนไหวแบบเก่ามันเป็นการเคลื่อนไหวแบบรายประเด็น พื้นที่ไหนมีประเด็นปัญหาอะไรก็เคลื่อนไหวแค่พื้นที่ตัวเอง แต่อีสานใหม่เป็นการเคลื่อนไหวแบบที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อที่จะผลักดันเป้าหมายไปที่การเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้าง แต่ว่าปัญหาคือ มันมีผลกระทบที่เพิ่งเกิดขึ้นมา เลยต้องจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น ไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง

เราก็เลยนิยามการเคลื่อนไหวแบบใหม่ที่ไม่ได้มองปัญหาเชิงเฉพาะหน้าแล้ว แต่ปัญหาทั้งระบบในเชิงโครงสร้างลงมา แบบนี้ว่าเป็น ‘อีสานใหม่’ โดยตอนแรกก็จะมีเครือข่ายชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ภาคอีสาน ตอนนี้ก็มีประมาณ 10 พื้นที่  เราก็มีเครือข่ายคนที่ทำงานข้อมูล เก็บข้อมูลผลกระทบต่างๆ ในพื้นที่อยู่แล้ว

ประชาไท : การเปิดตัวที่ผ่านมา ต้องการที่จะส่งสารอะไรออกไปในสังคม

สุทธิเกียรติ : คิดว่าการเปิดตัวเมื่อวานนี้(20 มี.ค.2558) เป็นการเปิดตัวที่จะทำให้ข้อมูลที่เรามีอยู่ได้ถูกรับรู้ออกไปในวงกว้าง  การที่เรามาเปิดตัวที่กรุงเทพคือ เราต้องการพื้นที่สื่อ เราต้องการสื่อสารให้กับคนในเมืองได้รู้ว่าสภาพปัญหาในพื้นที่ ที่มันเกิดขึ้นมันได้รับผลกระทบอะไรบ้าง และเหตุการณ์หลังรัฐประหารที่มีกฎอัยการศึกคุมอยู่ด้วย มันได้รับผลกระทบที่มากกว่าในสถานการณ์ปกติที่เป็นอยู่ในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่

คนในเมืองบางส่วนก็จะบอกว่า รัฐประหารก็ดีแล้วจะได้เป็นการจัดการความขัดแย้งพื้นที่ทางการเมือง แต่สำหรับตัวชาวบ้านเองที่อยู่ในพื้นที่มันไม่ใช่แบบนั้น เราเลยต้องมาแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมันรุนแรง จนถึงขนาดมีคนเจ็บ มีการถูกทำร้าย โดยการนำของอำนาจมึดบางส่วนด้วยซ้ำไป

เราพยายามที่จะสร้างให้ชาวบ้านหรือแม้แต่ภาคอื่นๆ ตื่นตัวขึ้นมาว่า เราไม่ควรจะใส่ใจกับปัญหาผลกระทบที่มันเกิดขึ้นในพื้นที่จนลืมไปว่า เรากำลังอยู่กับโครงสร้างที่มันเป็นปัญหาหลักที่ต้องถูกแก้เสียก่อน การที่เราไปสู้รายประเด็นปัญหา อย่างไรโครงสร้างมันก็ไม่ถูกปรับเปลี่ยน มันก็จะทำให้เกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นซ้ำๆ

ประชาไท : อะไรคือความหวังของ ‘อีสานใหม่’

สุทธิเกียรติ : เรามีความหวังแน่นอน เอาเข้าจริงแล้วชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยังมองไม่เห็นถึงปัญหาที่แท้จริง คือปัญหาผลกระทบที่มันเกิดขึ้นเฉพาะหน้าสำหรับตัวเขาต้องได้รับการแก้ก่อน โดยที่เขาอาจจะลืมไปว่าจริงๆ แล้วเนี่ยปัญหามันเกิดมาจากข้างบน มันมีนโยบายมาจากโครงสร้าง มันมีกฏหมายที่ออกมาจากระบบโครงสร้าง ถ้าเราไม่แก้ไขปัญหาระดับโครงสร้างตรงนี้ แม้แต่การคิดว่าจะไปขอให้อำนาจเผด็จการช่วยเหลือในรายประเด็นแบบนี้ก็ยังมียู่เหมือนกัน เราก็เลยพยายามที่จะลบความหวังแบบนี้ และพยายามสร้างความหวังอันใหม่ขึ้นมาว่า เราสามารถที่จะรวมกันได้โดย ‘อีสานใหม่’ เป็นเพียงแค่การเปิดหัว เป็นที่แรกเฉยๆ เพราะว่าเอาจริงๆ แล้วในพื้นที่อื่น ภาคเหนือ หรือภาคใต้เองก็เคยมีการเคลื่อนไหวแบบนี้อยู่เหมือนกัน แต่ว่าตอนนี้มันหายไป เราก็อยากสร้างบรรยากาศแบบนั้นขึ้นมาอีก

ประชาไท : ‘อีสานใหม่’ พูดถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง แล้วอะไรคือโครงสร้างที่ต้องการผลักให้เกิดขึ้น

สุทธิเกียรติ : ภาพโครงสร้างที่เราอยากเห็น ก็เป็นระบบประชาธิปไตยแบบปกติ โครงสร้างที่ไม่จำเป็นต้องผูกขาดอยู่กับนักการเมืองที่มองไม่เห็นประเด็นที่เกิดขึ้นในพื้นที่ แต่เราก็ไม่ได้โฟกัสเพียงประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเพียงประเด็นเดียวเท่านั้น เราก็พยายามที่จะโฟกัสหลายๆ เรื่อง ดีไม่ดีเราอยากให้ชาวบ้าน สามัญชนคนธรรมดา ที่โดนผลกระทบนี่แหละ เข้าไปเป็นนักการเมืองด้วยซ้ำ เพราะเขาเข้าใจในปัญหาของเขา และเขาสามารถที่แก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวความคิดของเขาเอง

ประชาไท : หากมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังร่างกันอยู่ และประเทศเรามีการเลือกตั้ง ปัญหาที่ชาวบ้านเผชิญจะเป็นอย่างไรต่อไป

สุทธิเกียรติ : พูดกันตรงๆ ถ้าอนาคตเรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือตั้ง ปัญหาเหล่านี้ก็อาจจะยังอยู่เหมือนเดิม ปัญหาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ จากนโยบายของรัฐ มันยังอยู่เหมือนเดิมมันก็ไม่ได้มีการแก้ไข เพราะถึงแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ มันก็อยู่ในมือของรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหารทุกครั้ง มันก็ให้อำนาจกับกลุ่มอำนาจเดิม ซึ่งก็ไม่ได้ให้อำนาจอะไรกับชาวบ้านเลย หรือแม้แต่การล่ารายชื่อที่เขาเปลี่ยนระบบใหม่ คือคุณสามารถที่จะล่ารายชื่อที่จะ แก้ไขกฎหมาย หรือเสนอกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติมันก็ทำไม่ได้ พอเอาเข้าไปในระบบมันก็ตก ร่างนั้นก็ตกไปเลยโดยปริยาย เพราะว่ามันก็มีแต่คนระดับสูงๆ ที่เข้าไปเป็นนักการเมืองในสภาซึ่งต้องมีหน้าที่พิจารณา  คือเขาก็เป็นนักการเมืองที่เป็นนักการเมืองระดับชาติซึ่งต้องเห็นแก่ผลประโยชน์ระดับชาติ เห็นด้วยกับนโยบายที่ว่า ชาติต้องได้ ชาติต้องมาก่อน ทั้งที่ระบอบประชาธิปไตยบอกว่า ประชาชนเป็นเสียงส่วนใหญ่ แต่พอมาถึงในทางปฏิบัติเสียงของประชาชนก็ถูกกลบหายไปจากสารบบ

ฉะนั้นโครงสร้างการเมืองในภาพฝันนักการเมืองมันก็ต้องมาจาก สามัญชนคนธรรมดา ที่มองเห็นปัญหาอย่างแท้จริง จึงจะทำให้เสียงของประชาชนเป็นเสียงของประชาชนจริงๆ ที่สามารถมีน้ำหนัก ในการออกกฎหมาย ออกนโยบาย หรือแม้แต่ระบบการปกครองด้วยซ้ำ

ประชาไท : เท่าที่เห็นเหมือนกับว่า พลังคนรุ่นใหม่ จะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักๆ ให้กับ ‘อีสานใหม่’ อะไรที่เป็นแรงดึงดูดให้คนรุ่นใหม่มารวมตัวกัน

สุทธิเกียรติ : จริงๆ คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาร่วมงานกับ ’อีสานใหม่’ ก็เป็นนักศึกษามาก่อน แล้วตอนที่ยังเป็นนักศึกษา พวกเขาก็ทำกิจกรรมเรียนรู้เกี่ยวกับสภาพปัญหา ประเด็นความเดือดร้อนของชาวบ้านที่มีอยู่ในสังคมอยู่แล้ว และพอหลุดออกมาจากการเป็นนักศึกษา เข้ามาทำงานก็ต้องการที่จะออกมาทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม โดยส่วนหนึ่งคือนักศึกษาที่มีอุดมการณ์ที่อยากเห็นสังคมที่ดีกว่า

เราเรียกตัวเองว่านักกิจกรรม แล้วอยากเห็นสังคมมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เราก็เลยมีการรวมตัวกัน จริงๆ แล้วก็ไม่ได้มีคนจากภาคอีสานเท่านั้น แต่เป็นคนรุ่นใหม่จากหลายพื้นที่ที่คิดร่วมกันว่า เรามีภาพความฝันความหวังที่เป็นแบบนั้น เอาจริงๆ แล้วมันก็ไม่ได้มีแต่คนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ว่าจะมีคนรุ่นใหม่อยู่ในกลุ่มในจำนวนที่เยอะหน่อย เพราะว่าบางที่คนรุ่นเก่า ก็คิดแค่เรื่องเก่าๆ มันก็เลยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงสักที ฉะนั้นพื้นที่นี้ก็อาจะเป็นพื้นที่ ที่คนรุ่นใหม่อยากแสดงออกว่าบางทีมันก็ต้องมีทางเลือกใหม่ๆ เพื่อที่จะแสดงจุดยืนให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่ก็มีความสามารถที่จะเทียบเท่าคนรุ่นเก่า หรือมีความคิดดีกว่าคนรุ่นเก่าด้วยซ้ำไป

ประชาไท : ทุกการออกมาเคลื่อนไหวในช่วงสถานการณ์ไม่ปกติ ย่อมมีต้นทุน หรือราคาที่ต้องจ่าย ‘อีสานใหม่’ ประเมินเรื่องนี้อย่างไร

สุทธิเกียรติ : เราก็ประเมินไว้เหมือนกันว่ามันจะคุ้มหรือไม่ ในสภาวะสถานการณ์บ้านเมืองที่มันเป็นแบบนี้ แต่เราก็คิดว่าถ้าเราไม่ทำอะไรเลย มันก็จะไม่เกิดผลอะไร แต่ถ้าเราทำแล้วมันเกิดผลสะเทือนขึ้นมามันก็คุ้มค่า กับสิ่งที่เราอาจจะเสีย เช่นออกมาทำแบบนี้อาจจะทำให้โดนจับตามอง ซึ่งทำหรือไม่ทำก็โดนจับตามองอยู่แล้ว หรือแม้แต่การที่เราออกมาพูดเสียดสีผู้มีอำนาจ ถ้าเราไม่กล้าพูด คนอื่นก็ไม่กล้าพูด อาจจะเป็นการเปิดเพื่อให้หลุดพ้นจากความกลัวซะมากกว่า ฉะนั้นคิดว่าคุ้มค่ามากกับสิ่งที่มันจะเกิดขึ้น ถ้ามันส่งผลสะเทือนไปถึงคนอื่นๆ ถ้ามีการรับรู้แม้แต่คนในเมือง หรือคนภาคอื่นๆ ก็ตาม

ประชาไท : เป้าหมายในระยะยาวคือ การมองไปที่ปัญหาโครงสร้าง และเข้าไปจัดการกับมัน แล้วอะไรคือเป้าหมายระยสั้น ที่ ’อีสานใหม่’ เห็นว่าต้องรีบแก้ไขมากที่สุด

สุทธิเกียรติ :เป้าหมายในสภาวะแบบนี้ เราคิดว่าต้องมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง คือถ้าแค่เราเปิดตัวแล้วหายไปคนก็จะคิดว่า โฆษณาว่ามีกลุ่มนี้อยู่ หรือแค่โฆษณาเพื่อที่เรียกราคาให้ตัวเอง ให้มีพื้นที่ยืนในสังคม

แต่ว่าสิ่งที่เราจะทำต่อไป มันก็ขึ้นอยู่กับชาวบ้านในพื้นที่เองด้วย เพราะเวลาที่เราทำงานกับชาวบ้านเราก็จะยึดถือ ชาวบ้านเป็นหลัก เพราะชาวบ้านมีอำนาจทางความคิดนำพวกเรา พวกเราจะไม่เข้าไปครอบงำว่าให้ชาวบ้านทำตามเรา เราต้องเอาข้อเสนอและความคิดเห็นของเขา แล้วช่วยให้เห็นภาพใหญ่ๆ เท่านั้นเองว่า สิ่งที่อยู่รอบตัวเขา มันเป็นเรื่องของอำนาจ เป็นเรื่องของโครงสร้างทั้งนั้น

อย่างข้อเสนอให้มีการยกเลิกกฎอัยศึก นี่ก็เป็นข้อเสนอที่สะท้อนออกมาจากชาวบ้านเองเลย เพราะการมีกฎอัยการศึกมันทำให้ชาวบ้านไม่สามารถทำอะไรได้เลย นอกจากจำยอมต่ออำนาจ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net