Skip to main content
sharethis

อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ 'ลี กวนยู' ถึงแก่อสัญกรรมในเวลา 03.18 น. ตามเวลาท้องถิ่น จะมีพิธีไว้อาลัยเป็นเวลา 7 วัน และมีพิธีฝังศพ 29 มี.ค. นี้

ภาพลี กวนยู นายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ ในเว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ทั้งนี้ ลี กวนยูถึงแก่อสัญกรรมเมื่อเวลา 03.18 น. ตามเวลาท้องถิ่น วันนี้ (23 มี.ค.) รวมอายุได้ 91 ปี (ที่มา: แฟ้มภาพ/Tara Sosrowardoyo/National Museum of Singapore Collection/Prime Minister's Office Singapore)

แถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีสิงโปร์ ลี เซียนหลง เผยแพร่ใน เว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เมื่อเวลา 03.00 น. เศษ ของวันที่ 23 มี.ค. 2558 ประกาศว่า อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งชาติของสิงคโปร์ สมัยใหม่ ลี กวนยู ถึงแก่อสัญกรรมในเวลา 03.18 น. ตามเวลาท้องถิ่น (02.18 น. ตามเวลาประเทศไทย) ที่โรงพยาบาลสิงคโปร์เจเนอรัล (SGH) รวมอายุ 91 ปี

ทั้งนี้ จะมีพิธีไว้อาลัยเป็นเวลา 7 วัน นับจากวันที่ 23 – 29 มี.ค. โดยจะมีพิธีฝังศพวันที่ 29 มี.ค. นี้

ลี กวนยู อายุ 91 ปี ป่วยหนักจากอาการปอดอักเสบติดเชื้อ และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ตั้งแต่เมื่อ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้เขาได้ระบุว่าไม่ต้องการให้ยื้อชีวิตเขาด้วยเครื่องช่วยชีวิต

000

นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลี เซียนหลง อ่านคำไว้อาลัย

ต่อมาในเวลา 08.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 07.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ลี เซียนหลง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ บุตรของลี กวนยู ได้อ่านแถลงการณ์โดยเป็นการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ โดยอ่านแถลงการณ์ 3 ภาษา ได้แก่ ภาษามลายู ภาษาจีน และภาษาอังกฤษ ตามลำดับ โดยแถลงการณ์ดังกล่าวเผยแพร่ในเว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์

ในคำแถลงภาษาอังกฤษ ลี เซียนหลง กล่าวว่า

"บิดาผู้ก่อตั้งประเทศของพวกเราไม่มีอยู่อีกแล้ว เขาได้สร้างแรงบันดาลใจแก่พวกเรา มอบความกล้าหาญแก่พวกเรา ทำให้พวกเราอยู่ร่วมกัน และนำพวกเรามาที่ดี เขาต่อสู้เพื่อเอกราชของเรา สร้างชาติจากที่ซึ่งไม่มีอะไรเลย และทำให้พวกเราภูมิใจที่เป็นคนสิงคโปร์ เราไม่อาจเห็นผู้ใดเช่นเขาอีกถึงชาวสิงคโปร์ทั้งหลาย และถึงคนอื่นๆ ด้วย ลี กวนยู คือสิงคโปร์ เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เขาผลักดันอย่างหนักเพื่อทำให้พวกเราบรรลุในสิ่งที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ ภายหลังลงจากอำนาจ เขาได้ชี้นำผู้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งสืบต่อจากเขาด้วยภูมิปัญญาและกลยุทธ์ ในวัยชรา เขายังคงเฝ้าจับตามองสิงคโปร์

สิงคโปร์คือความหลงใหลของเขา เขาได้อุทิศตัวเขาทั้งหมดแก่สิงคโปร์ อย่างที่เขาได้ลงแรงจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตของเขา อย่างที่เขากล่าวว่า "ข้าพเจ้าได้ใช้ชีวิตของผมเป็นอย่างมากกับสิ่งนั้น นั่นคือสร้างประเทศนี้ขึ้น จนไม่มีสิ่งใดอีกที่ข้าพเจ้าจำเป็นต้องทำ และเมื่อพิจารณาไตร่ตรองแล้ว สิ่งที่ข้าพเจ้าได้มาคือสิ่งใด? สิงคโปร์ที่ประสบความสำเร็จ และสิ่งที่ผมละทิ้งไปคือสิ่งใด? ชีวิตของข้าพเจ้า"

ข้าพเจ้ามีความอาลัยต่อการจากไปของนายลี กวนยู ข้าพเจ้าทราบว่าพวกเราก็มีความรู้สึกเฉกเช่นกัน อย่างไรก็ตามแม้พวกเราจะอาลัยต่อการจากไปของเขา แต่ขอให้พวกเรายกย่องด้วยจิตวิญญาณของเขา เขาให้พวกเราอุทิศตนเป็นหนึ่งเดียวกันโดยตั้งอยู่บนหลักการของเขา เพื่อให้บรรลุในอุดมคติของเขา และรักษาสิงคโปร์ให้ยอดเยี่ยมและประสบความสำเร็จในอีกหลายปีข้างหน้า

ขอให้นายลี กวนยู ไปสู่สุคติ"

 

พรรคฝ่ายค้านสิงคโปร์ไว้อาลัยต่ออสัญกรรม ลี กวนยู

แถลงการณ์ของเลขาธิการพรรคแรงงาน แสดงความไว้อาลัยต่อการอสัญกรรมของลี กวนยู (ที่มา: เว็บไซต์พรรคแรงงานสิงคโปร์)

ส่วนพรรคฝ่ายค้านสิงคโปร์ ได้แสดงความไว้อาลัยต่อการอสัญกรรมของ ลี กวนยู ด้วยโดยในเว็บไซต์พรรคแรงงานสิงคโปร์ (Workers' Party) หลอ เตียเคี้ยง เลขาธิการพรรคแรงงาน และ ส.ส.เขตอัลจูนีด ได้ส่งสาส์นแสดงความไว้อาลัยไปยัง ลี เสียนหลง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์

"นายลีเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ เป็นผู้นำรัฐบาลกว่า 3 ทศวรรษ และหลังจากนั้นยังอยู่ในตำแหน่งอีก 21 ปี เป็นรัฐมนตรีอาวุโสและรัฐมนตรีที่ปรึกษา เขาได้นำพาสิงคโปร์พร้อมด้วยคณะบุคคลที่มีใจเดียวกัน ในช่วงเวลาแห่งความสับสนในช่วงแรกๆ ของความเป็นชาติ รวมไปถึง การเข้าร่วมกับมาเลเซียอันยากลำบาก และการแยกเป็นเอกราชในปี ค.ศ. 1965 ตามลำดับ"

"นายลีทำงานในตำแหน่งของรัฐเกือบตลอดชีวิตของเขา การจากไปของเขา ถูกจดจำว่าเป็นการสิ้นสุดของยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์สิงคโปร์ การอุทิศตนของเขาต่อสิงคโปร์จะได้รับการจดจำโดยชนรุ่นหลัง"

แถลงการณ์ของเลขาธิการพรรคฝ่ายค้านระบุ

 

กล้วยในทัศนะของ โจว เอินไหล และผู้ที่ 'ตนกู อับดุล ราห์มาน' ไม่ไว้ใจ

ด้วยบทบาททางการเมืองอันยาวนานของลี กวนยู ทำให้เขาถูกกล่าวถึงโดยผู้นำต่างประเทศในยุคร่วมสมัยกับเขา โดยครั้งหนึ่ง โจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1955 กล่าวถึงลี กวนยู ว่า "เหมือนกล้วยใบหนึ่ง มีผิวสีเหลือง แต่ซ่อนแนวคิดคนขาว" ซึ่งลี กวนยู ในสมัยนั้นเพิ่งจบมาจากเคมบริดจ์ มีทัศนนิยมตะวันตก และชอบให้คนเรียกชื่อว่า "แฮรี่"

ทั้งนี้ภายหลังถูกขับออกจากสหพันธรัฐมาเลเซีย ทั้งมาเลเซียและสิงคโปร์ต่างยังคงขับเคี่ยวกันทางเศรษฐกิจ โดยผู้นำมาเลเซียต่างแสดงวาทะกระทบกระทั่งกับลี กวนยู โดยอดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย ตนกู อับดุล ราห์มาน กล่าวถึง ลี กวนยู ว่า "กวนยู ฉันไม่สามารถไว้ใจเธอได้ในฐานะนักการเมือง"

ส่วนมหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรี ในสมัยต่อมา เคยปราม ลี กวนยู ว่า "สิงคโปร์เป็นประเทศเล็กๆ อย่าพูดคำโต"

ขณะที่ในราวทศวรรษ 1990 ลี กวนยู ได้หารือกับฟร็องซัว มิแตร็อง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสในขณะนั้น และ "บรรยาย" ว่าควรปกครองฝรั่งเศสอย่างไร โดยก่อนจากกันมิแตร็องกล่าวว่า "ใครคือชายน่าขบขันผู้นี้ซึ่งทำให้ฉันเสียเวลา บริหารสิงคโปร์ก็เหมือนบริหารมาร์แซย์ ฉันนี่บริหารทั้งประเทศ"

เนื่องจากสิงคโปร์ ตั้งแต่ยุคที่ลี กวนยู ปกครอง มีการออกกฎห้ามเคี้ยวหมากฝรั่ง ทำให้ครั้งหนึ่งนักข่าวบีบีซีแนะนำเขาว่าควรให้คนเคี้ยวหมากฝรั่ง เพื่อให้มีความคิดสร้างสรรค์ ทำให้ ลี กวนยู โต้ตอบกลับมาว่า "ถ้าคุณคิดอะไรไม่ออกถ้าไม่ได้เคี้ยวละก็ ลองกินกล้วยสักใบสิ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net