Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ในที่สุด คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ของฝ่ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ก็ผลักดันพิมพ์เขียวของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของการปฏิรูปการเมืองตามแนวคิดของฝ่ายชนชั้นนำ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้ เป็นที่วิเคราะห์และอธิบายกันว่า เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ทำลายหลักการประชาธิปไตย ไม่ยึดคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชน แต่ยกอำนาจไปให้กลับกลุ่มอำมาตย์ หรือกลุ่มบุคคลที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง หรืออาจมาจากระบบตุลาการ-ข้าราชการ มากยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เห็นได้ชัดตั้งแต่การเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. เป็นต้นมา

ทั้งนี้ เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาการเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส.ซึ่งเริ่มชุมนุมต่อต้านรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม พ.ศ.2556 และต่อเนื่องมาถึงต้นปี พ.ศ.2557 จะเห็นถึงเป้าหมายที่ชัดเจนของการล้มระบบการเลือกตั้ง เพราะข้อเรียกร้องให้ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ของ กปปส.นั้น แสดงให้เห็นนัยยะที่ชัดเจนที่จะให้มีการใช้อำนาจนอกระบบมาหยุดยั้งขบวนการประชาธิปไตย เพื่อให้เกิดการ”ปฏิรูปการเมือง”ในแบบที่พวกเขาต้องการ และการดำเนินการเช่นนั้นจะบรรลุได้ก็ต่อเมื่อมีการรัฐประหาร แล้วสร้างกระบวนการทางการเมืองใหม่เพื่อการปฏิรูป

ในที่สุด เป้าหมายของฝ่าย กปปส.ก็บรรลุผลเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำคณะทหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 แล้วล้มเลิกระบบการเมืองประชาธิปไตย ล้มรัฐธรรมนูญ สถาปนาระบอบเผด็จการทหารเต็มรูปแบบขึ้นเพื่อคุ้มครอง“การปฏิรูป”ตามเป้าหมายของ กปปส. โดยการแต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติขึ้นวางแนวทางการปฏิรูป และนำมาสู่การแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อรองรับการปฏิรูปการเมือง คณะกรรมการชุดนี้มี 36 คน และมี บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน

จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็พิจารณายกร่างมาตราสำคัญในรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จสิ้นลง ซึ่งมีสาระสำคัญที่ละเมิดหลักการประชาธิปไตย เช่น

การกำหนดให้มีวุฒิสภามาจากการสรรหา 200 คน ไม่มีการเลือกตั้งเลย และให้วุฒิสภาเหล่านี้ มีวาระ 6 ปี ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย ทั้งที่ให้วาระแก่สภาผู้แทนราษฎรเพียง 4 ปี หมายถึงว่า สภาลากตั้งมีวาระยาวกว่าสภาเลือกตั้ง และเป็นสภาที่มีอำนาจหน้าที่อย่างมาก เช่น การเสนอกฎหมาย ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สรรหาองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ถอดถอน ส.ส.ที่ประชาชนเลือกมา ถอดถอนนายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา รวมทั้งให้ความเห็นชอบผู้จะเป็นรัฐมนตรี และประชุมร่วมกับ ส.ส.ในวาระสำคัญ

การกำหนดให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ต้องเป็น ส.ส. และมาจากบุคคลภายนอกที่ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งได้ โดยเฉพาะในช่วงที่บ้านเมืองเกิดปัญหาวิกฤต ซึ่งเท่ากับเป็นการย้อนยุคไปสู่สมัยก่อน พ.ศ.2535 ที่เคยกำหนดให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจาตุรนต์ ฉายแสง ได้อธิบายว่า การกำหนดเช่นนี้เท่ากับเป็นการชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีจะมาจาก “คนดี”ภายนอกที่ไม่ได้มาจากพรรคการเมืองอย่างแน่นอน เพราะในระยะที่ผ่านมาก็มีข้อพิสูจน์ชัดเจนว่า วิกฤตทางการเมืองไทยสร้างไม่ยาก

การกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นแบบสัดส่วนผสม โดยให้มีสมาชิกสภาผู้แทน 450 คน เป็น ส.ส.ระบบเขต 250 คน ระบบบัญชีรายชื่อ 200 คน แต่จำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคจะได้รับจะมาจากสัดส่วนของคะแนนเสียงคะแนนบัญชีรายชื่อเป็นสำคัญ ด้วยระบบการเลือกตั้งเช่นนี้ จะทำให้การเมืองไทยมีระบบหลายพรรคที่ไม่มีคะแนนเสียงเด็ดขาด ต้องตั้งรัฐบาลผสม โอกาสที่หัวหน้าพรรคจากการเลือกตั้งจะเป็นนายกรัฐมนตรีจะยากลำบาก และเปิดทางให้กับบุคคลภายนอกชัดเจน

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพจากระบบการเลือกตั้งเช่นนี้ โดยใช้ตัวเลขจากการเลือกตั้ง พ.ศ.2554 เพราะในครั้งนั้น จากจำนวน ส.ส.ระบบเขต 375 เขต พรรคเพื่อไทยได้ 204 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ได้ 115 เสียง ภูมิใจไทยได้ 29 เสียง ชาติไทยพัฒนา 15 เสียง และพรรคเล็กอื่น 12 เสียง ส่วนคะแนนเสียงระบบบัญชีรายชื่อ 125 เสียง พรรคเพื่อไทยได้ 48 % คิดเป็นคะแนน 61 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ได้ 35 % คิดเป็นคะแนน 44 เสียง ภูมิใจไทยได้ 4 % คิดเป็น 5 เสียง รักประเทศไทย 3 % ได้ 4 เสียง พรรคอื่นได้ที่เหลือ 5 เสียง ในกรณีนั้นจะเห็นว่า พรรคเพื่อไทยจะได้ที่นั่งรวม 265 เสียง ซึ่งเกินครึ่งของสภา พรรคประชาธิปัตย์ได้ 159 เสียง พรรคภูมิใจไทยได้ 34 เสียง และชาติไทยพัฒนาได้ 19 เสียง พรรคเพื่อไทยจึงได้ตั้งรัฐบาล แต่ถ้านำตัวเลขชุดนี้มาคิดในระบบสัดส่วนที่จะนำมาใช้จากร่างรัฐธรรมนูญนี้ พรรคเพื่อไทยได้ 48 % จะมี ส.ส.ทั้งสองระบบได้ไม่เกิน 216 คนจาก 450 ที่นั่ง ซึ่งจะไม่ถึงครึ่งของสภา สมมตถ้าพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.เขต 180 คน จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีกเพียง 36 คนเท่านั้นก็จะครบจำนวน ส่วนในกรณีพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียง 35 % จะคิดเป็นจำนวน ส.ส. 157 คน สมมตถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.เขตเพียง 80 คน จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมากถึง 77 คนจึงครบตามจำนวน นั่นหมายถึงว่าพรรคที่ได้ ส.ส.เขตมาก จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อยิ่งน้อย และเมื่อมีคะแนนเสียง ส.ว.ลากตั้งอีก 200 เสียง จะทำให้พรรคเพื่อไทยไม่มีทางที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้เลย แม้ว่าจะได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนด้วยคะแนนท่วมท้นเช่นไร จะต้องถูกกำหนดให้เป็นฝ่ายค้านเท่านั้น

มาตรการต่อมา คือ การกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรต้องสิ้นสุดลง ในกรณีที่มีการลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ทำให้การตรวจสอบโดยสภานิติบัญญัติจะกระทำไม่ได้ เพราะ ส.ส.จะไม่กล้าลงมติไม่ไว้วางใจ ที่จะทำให้ตนเองสิ้นสภาพแล้วไปเลือกตั้งใหม่ และยังกำหนดด้วยว่า ส.ส.ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามมติพรรค เพราะพรรคจะลงโทษอะไรไม่ได้ กรณีนี้จะทำให้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีจากบุคคลภายนอกมีสถานะมั่นคง พรรคฝ่ายค้าน(เพื่อไทย) จะสั่นคลอนรัฐบาลโดยการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี(คนนอก)ไม่ได้เลย

นอกจากนี้ ยังมีการกลั่นกรองพรรคเพื่อไทยตั้งแต่เรื่องการเลือกตั้ง ซึ่งจะมีคณะกรรมการเลือกตั้งเป็นผู้ควบคุม แต่อำนาจการจัดการเลือกตั้งเป็นของกระทรวงมหาดไทยและระบบราชการ และในขั้นตอนต่อมาก็คือมีคงรักษาองค์กรอิสระที่มีอำนาจมากเช่นเดิม เช่น ศาลรัฐธรรมนูญก็มีอำนาจล้นฟ้าเหนืออำนาจนิติบัญญัติ และคอยตีความขัดขวางการยื่นญัตติหรือกฎหมายของพรรคฝ่ายค้าน(พรรคเพื่อไทย) เพื่อทำให้เป็นฝ่ายค้านที่อ่อนแอที่สุด และช่วยค้ำจุนสร้างความชอบธรรมแก่รัฐบาลบุคคลภายนอก

และสุดท้ายก็คือการรักษาระบอบแบบนี้ไว้ด้วยทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากที่สุด จนถึงทำไม่ได้เลย เพราะต้องใช้เสียงถึง 2 ใน 3 ของสภาทั้งสองรวมกัน และยังต้องไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้วลงประชามติ ดังนั้น ถ้า ส.ว.และศาลรัฐธรรมนูญไม่เห็นชอบ ก็ไม่มีทางจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เสย

ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย โดย ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค ร่วมด้วยชูศักดิ์ ศิรินิล และ พงศ์เทพ เทพกาญจนา ที่ปรึกษาคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค ได้แสดงท่าทีคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญนี้อย่างชัดเจน โดยอธิบายว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ สะท้อนความไม่เชื่อถือ ไม่ไว้วางใจ ไม่เคารพประชาชนและยึดอำนาจอธิปไตยไปจากประชาชน

สรุปแล้วเมื่อพิจารณาโครงสร้างของร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด จึงอธิบายได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นฉบับที่สร้างระบบการเมืองอันอัปลักษณ์ที่สุด นับตั้งแต่ พ.ศ.2521 เป็นต้นมา แต่คงต้องถือว่า ทั้งหมดนี้เป็นเพียง “ปาหี่” ของขนชั้นนำ เพราะต้นฐานของระบบทั้งหมด คือการรัฐประหาร ซึ่งไม่มีความชอบธรรมอยู่แล้ว ถ้าหากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ได้ ก็จะเป็นเพียงฉบับรอวันรัฐประหารครั้งใหม่ ที่จะมีการฉีกแล้วร่างใหม่ขึ้นอีก และนี่คือวัฏจักรของรัฐธรรมนูญไทย


 

เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 506 วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2558

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net