เสวนา ‘บทบาทธรรมกายกับสังคมไทย’ ตอนที่ 3: รัฐ ศาสน์ กษัตริย์ แยกขาดจากกันมิได้?

หมายเหตุ: เสวนา "บทบาทธรรมกายกับสังคมไทย" วิทยากรโดย สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านพุทธศาสนา อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาหัวหิน และ ถนอมสิงห์ โกศลนาวิน มูลนิธิหยดธรรม เชียงใหม่ ดำเนินรายการโดย วริศ ลิขิติอนุสรณ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ(ABAC) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2558 ณ ห้องสมุดสันติประชาธรรม เจริญนคร

จากตอนที่ 2 เถรวาทแท้? เมื่อธรรมกายใช้เงินซื้อเถรวาทไทย วิทยากรทั้ง 2 ได้ดีเบตกันจนถึงประเด็นเรื่องของการแยกศาสนาออกจากรัฐ

ประเด็นที่เสนอให้แยกศาสนาออกจากรัฐ จะทำให้มีเสรีภาพที่เกินขอบเขตจนเผยแผ่คำสอนที่ผิดหรือไม่ สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านศาสนากล่าวว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่กับรัฐหรือแยกออกจากรัฐ คุณก็สอนผิดจากพระไตรปิฎกได้ เช่น ในกรณีปัจจุบันที่ศาสนายังคงอยู่กับรัฐ ธรรมกายก็ยังใช้เสรีภาพในการเผยแผ่คำสอนที่ผิด โดยไม่มีใครเอาผิดได้

ส่วนตัวติดตามร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพระพุทธศาสนา ตั้งแต่ร่างแรกที่เคยระบุโทษ จาบจ้วง ล่วงละเมิด หมิ่นประมาท ให้มีโทษจำคุก ตั้งแต่ 20 ปี ถึง 25 ปี กรณีแบบนี้ใครจะกล้าไปกล่าวว่ามีกรณีที่พระสอนผิดจากคำสอน อย่างไรก็ตาม หลังมีการวิจารณ์มากขึ้น ก็มีการลดบทลงโทษเหลือ 1 ปี ถึง 7 ปี จนต่อมาทางมหาเถรสมาคมได้ตัดบทลงโทษออกเหลือให้รัฐอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างเดียว แต่สำหรับในคณะร่างยังคงอ้างย้อนไปถึงสมัยพระเจ้าอโศก โดยสมัยก่อนรัฐสามารถเอาผิดได้ อย่างกฎหมายของรัชกาลที่หนึ่งที่ออกมาก็ไม่สามารถเทศน์แบบแร็พหรือการแหล่แบบในปัจจุบันให้ตลก ต้องเทศน์ตามพระไตรปิฎกเท่านั้น ทำให้ขจัดความหลากหลายของพระพุทธศาสนาแบบบ้านๆ ไป

ด้านถนอมสิงห์ แสดงความเห็นแย้งว่า เขามองต่างมุมในประเด็นการแยกศาสนาออกจากความเป็นรัฐ ซึ่งเขาเห็นว่าศาสนากับรัฐใช้กันและกันมาโดยตลอดไม่ว่าศาสนาใดก็ตามเพราะว่าหากไม่มีรัฐสนับสนุนศาสนาจะอยู่ยาก แม้จะมีการยกตัวอย่างเรื่องการแยกรัฐออกจากศาสนาใน 19 ประเทศ แต่ตัวอย่างการที่รัฐกับศาสนาเกี่ยวข้องกันที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ของไทยเอง ที่เห็นได้ชัดเจนน่าจะเป็นช่วงรอยต่อระหว่างรัชกาลที่ 3 และ 4 ดังที่ทราบกันดีว่ารัชกาลที่ 4 ไม่ได้ขึ้นครองราชย์นั้นมีเหตุผลทางการเมือง ซึ่งส่งผลให้รัชกาลที่ 3 ได้ขึ้นก่อนโดยปกครองและทรงมีพระราชอำนาจในการปกครองทั้งในด้านอาณาจักรและศาสนจักร โดยรัชกาลที่ 4 ทรงผนวชมาแล้วถึง 26 พรรษา การขึ้นครองราชย์นั้นต้องมีความชอบธรรมและได้รับการยอมรับ ซึ่งหากคณะสงฆ์ขณะนั้นอยู่ภายใต้อาณาจักร รัชกาลที่ 4 ขณะที่ทรงผนวชอยู่ได้ทรงดึงสายพระมอญ (ธรรมยุต) เข้ามาสถาปนาอำนาจทางจิตวิญาณที่บริสุทธิ์กว่าศาสนจักรที่อยู่ภายใต้อาณาจักร ทั้งนี้ ถ้าเราพูดถึงเรื่องความบริสุทธิ์ในการปฏิบัตินั้นพูดยาก แต่ถ้าพูดถึงเรื่องที่ธรรมยุตกับมหานิกายขัดแย้งกันมากที่สุด มีเพียงเรื่องของการออกเสียงอย่างเดียว ในเรื่องพระปฏิบัตินอกลู่นอกทางมีอยู่นิดเดียวเท่านั้น ที่เหลือเป็นเรื่องของการสวดแล้วไม่สมบูรณ์ แต่ท่านรู้อยู่แล้วว่าพระทั่วโลกสวดสำเนียงไม่เหมือนกัน อย่างพระในอินเดียแต่ละแคว้นก็สวดสำเนียงไม่เหมือนกันเพราะฉะนั้นเป็นการอ้างอิงความถูกต้องกว่าเพื่อจะแยก พอพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์ท่านก็ใช้ธรรมยุตในการแผ่ขยายอำนาจทั้งทางศาสนจักรและทางการเมืองเต็มที่

“สมเด็จพระสังฆราชตอนนั้นเป็นธรรมยุตทั้งหมด และให้อำนาจอย่างเต็มที่พระธรรมยุตความจริงไม่เคยเป็นพระป่าเป็นพระวังมาตลอด ได้รับการสนับสนุนโดยวังมาตลอด พระที่อยู่กับชาวบ้านจริงๆ เป็นมหานิกาย” ถนอมสิงห์กล่าว

ศาสนาถูกนำมาใช้จนถึงรัชกาลที่ 6 พระองค์ไม่ได้สนใจที่จะปกครองคณะสงฆ์และโยนอำนาจไปให้พระครูของท่านเอง ตอนช่วงนั้นที่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากมายโดยเฉพาะช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ใช้ตำแหน่งพัดยศหาพระที่น่าศรัทธาในแต่ละที่เพราะว่าชาวบ้านเขาจะศรัทธาของเขาอยู่ท่านก็จะไปถามชาวบ้านเพราะอยากได้รับการยอมรับ ในช่วงเวลานั้นมีหลายเรื่องอย่างเรื่องครูบาศรีวิชัย รัชกาลที่ 5 ท่านต้องการควบคุมทางเหนือและทางใต้เนื่องจากทางเหนือและทางใต้ไม่ได้ขึ้นกับส่วนกลางท่านต้องการจะรวบอำนาจจำเป็นต้องเดินทางไปทั่ว เพื่อมอบพัดยศให้ว่าท่านเองก็ศรัทธาเพื่อเรียกกำลังเสียงจากชาวบ้าน แต่ครูบาศรีวิชัยไม่เล่นด้วยไม่ยอมกับการรวบอำนาจ ทำให้ไม่เชื่อทางส่วนกลางไปด้วย

ในส่วนที่อาจารย์สุรพศบอกว่าเป็นเรื่องของการแยกรัฐกับศาสนาออกจากกัน ส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องของการที่รัฐเอาอำนาจศาสนามาใช้มากเกินไป อย่างโป๊ปมีอำนาจถึงขนาดแบ่งโลกเป็นสองซีก มีความรุนแรงทางด้านศาสนาสูง ประชาชนที่รู้สึกว่าพระมีอำนาจมากเกินไป จึงโค่นอำนาจพระลง

ส่วนสุรพศเสริมว่า ในตะวันตกการแยกศาสนาจากรัฐเพราะเกิดการต่อต้านอำนาจของศาสนจักรระบบเผด็จการของศาสนจักร ระบบศักดินาสวามิภักดิ์ เริ่มมาจากศาสนาจนนำไปสู่การตั้งคำถามกับคริสต์โรมันคาทอลิกจนนำมาสู่แนวคิดเรื่องเสรีภาพทางศาสนา ต่อมาก็กลายเป็นแนวคิดแบบเสรีนิยมของชนชั้นกลางที่ต้องการอิสระจากการครอบงำของระบบศักดินาสวามิภักดิ์จนนำมาสู่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตย ในแง่นี้จะบอกว่าส่วนหนึ่งคือการที่รัฐใช้อำนาจกันจนทำให้เกิดปัญหา แต่ในแง่หนึ่งทำให้เกิดอารยธรรมทางปัญญาของมนุษย์ก้าวหน้าไป หรือแม้ว่าในพระพุทธศาสนาเราจะไม่มีความรุนแรงแบบตะวันตก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์สงบราบเรียบ ในเอเชียอาคเนย์ก็ทำสงครามกันในนามพระพุทธศาสนาอ้างว่าทำเพื่อปกป้องพระพุทธศาสนาทั้งนั้น พม่ามาบุกไทย ไทยไปบุกพม่า เผาวัดเอาทองกันและกันทั้งที่บอกเป็นพุทธเหมือนกัน

ปัญหาคือว่าการก้าวมาสู่แนวคิดฆราวาสนิยมขององค์กรศาสนา จำเป็นต้องทำทุกเรื่องให้เป็นทางโลก อยู่ภายใต้กฎระเบียบของทางโลกเหมือนดังองค์กรเอกชนที่ต้องเสียภาษี ต้องสามารถตรวจสอบบัญชีการเงินได้ ในมาตรฐานเดียวกันกับองค์กรเอกชนทั้งหลาย ไม่สามารถอ้างความศักดิ์สิทธิ์อยู่เหนือกฎระเบียบสังคมและองค์กรอื่นได้ สิ่งเหล่านี้คือการพัฒนาความก้าวหน้าทางความคิดไม่ใช่เรื่องปัญหาของศาสนาแบบเดิม ตรงนั้นเป็นสาเหตุส่วนหนึ่ง บวกกับความคิดเป็นอุดมคติประชาธิปไตยที่ไปผูกกับความเป็นเสรีนิยมด้วยส่วนหนึ่งทำให้มีเหตุผลที่ว่ารัฐต้องแยกจากศาสนา ในโลกสมัยใหม่ไม่สามารถถูกปกครองด้วยศาสนา มันต้องปกครองด้วยความเป็นเหตุเป็นผลหรือหลักการทางโลกพอแยกรัฐและศาสนาออกไปจริงๆ แต่ละประเทศมีความเป็นอุดมคติไม่เท่ากัน

ส่วนสุรพศอธิบายเพิ่มเติมว่า สาเหตุของการเข้าถึงไม่เท่ากันมากที่สุดอันดับที่หนึ่งคือเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ ยกตัวอย่างประเทศไทย ความเป็นไทยต้องยังอยู่ เพราะว่ามีความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์เป็นรัฐที่อุปถัมภ์ศาสนามาตลอดในทางประวัติศาสตร์แม้ว่าจะเป็นประชาธิปไตยแล้ว รัฐก็ต้องอุปถัมภ์ตลอดไปกระแสความคิดนี้ยังมีอยู่ ในขณะเดียวกันกระแสความคิดหนึ่งที่ว่าถ้ารัฐจะกลายเป็นเสรีประชาธิปไตยทำไมรัฐจะต้องมาค้ำจุนพระพุทธศาสนาแบบเดิม

“ทำไมต้องใช้ตรรกะแบบในรัฐยุคเก่ามาให้ความชอบธรรมกับรัฐยุคใหม่ ในการอุปถัมภ์ศาสนาในสมัยปัจจุบัน อันนี้คือความก้าวหน้าทางความคิดที่มาตั้งคำถามกับความคิดเก่าณ ปัจจุบัน ถึงจะเปลี่ยนการปกครองแต่รัฐประชาธิปไตยยังต้องทำหน้าที่แทนกษัตริย์ต้องมาอุปถัมภ์พุทธศาสนาแบบเดิม ศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์หลักของชาติ ศาสนาจะอยู่ไม่ได้หากรัฐไม่อุปถัมภ์ถ้าแยกชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ออกจากกันแล้วประเทศไทยจะล่มสลาย เป็นการอ้างความคิดประวัติศาสตร์เก่ามายืนยันความชอบธรรม” สุรพศกล่าว

สุรพศยังกล่าวอีกว่า ธรรมกายเผยแผ่ศาสนาโดยการทำการตลาด ถ้าตามหลักในพระธรรมวินัยสามารถตั้งคำถามได้ว่าการแผ่ขยายธรรมกายที่กว้างออกไปในเรื่องต่างๆ ผกผันกับคำสอนในหลักพระธรรมวินัย ที่ต้องสละตัวตน สละความยึดมั่นถือมั่น แต่ก็เท่านั้นเพราะพุทธศาสนาในเมืองไทยก็ทำในลักษณะเผยแผ่ความยิ่งใหญ่เช่นกัน เราอยู่ในสังคมพุทธชาตินิยม ศาสนาเป็นส่วนหนึ่งกับความเป็นชาติ หมายถึงความเป็นพุทธชาตินิยม และตัวตนนี้คือตัวตนที่พร้อมทำลายล้างคนที่คิดต่างจากตนเอง เช่น พุทธที่เป็นชาตินิยมในเมียนมาร์ มีการขับไล่มุสลิมชาวโรฮิงญาและในศรีลังกาการไปเบียดเบียนชนกลุ่มน้อยที่เป็นทมิฬฮินดู สิ่งเหล่านี้คือความเป็นชาตินิยม ในประเทศไทยกลายเป็นชาตินิยมทั้งหมดทุกกลุ่ม เช่น สันติอโศกแยกออกไปจากรัฐ ไม่ขึ้นตรงต่อมหาเถรสมาคม เป็นอิสระจากรัฐไทย แต่สันติอโศกกลับต่อสู้ทางการเมืองด้วยอุดมการณ์ชาตินิยมแบบสุดโต่ง อย่างกรณีข้อพิพาทกับเขมร โดยการกล่าวอ้าง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

เรื่องการแยกรัฐออกจากศาสนามีส่วนอย่างมากในการที่ศาสนาจะมีเสรีภาพ บางส่วนอาจมองว่าการมีเสรีภาพมากอาจไม่มีการพูดถึงเรื่องความถูกความผิด เช่น ธรรมกาย สันติอโศก ก็มีเสรีภาพในการตีความคำสอนไปตามแนวทางของตนเองตามศรัทธา ไม่มีองค์กรที่เรียกว่ามหาเถรสมาคมมาตัดสินใดๆ ว่าสิ่งใดถูกหรือผิด ความคิดเรื่องแยกศาสนาออกไปจากรัฐโดยพื้นฐานความคิดไม่มีหลักการที่ว่าแยกจากกันแล้วศาสนาจะดีขึ้นหรือไม่ ตรงนี้ไม่เกี่ยวข้อง จุดประสงค์คือต้องการแยกรัฐออกจากศาสนา โดยไม่มีศาสนามาครอบงำ พื้นที่สาธารณะต่างๆ เวลาที่มีการเสนอสิ่งใดๆ พลเรือนไม่ต้องเผชิญหน้ากับอำนาจศาสนาจักรและพระเจ้า อย่างที่กาลิเลโอเคยโดนมาในประวัติศาสตร์ จุดประสงค์การแยกศาสนาคือแบบนี้ การแยกศาสนาออกจากรัฐตรงนี้ ถามว่าพุทธศาสนาจะหมดจากเมืองไทยไหม ถ้าคิดตามตรรกะของฆราวาสนิยมไม่ได้ไปสนใจตรงนั้น

การแยกศาสนาออกจากรัฐ กรณีในเมียนมาร์มีจุดที่ดีอย่างหนึ่งที่ว่ายืนข้างประชาชนมาตลอดจากการต่อสู้มาตั้งแต่ยุคอาณานิคม ส่วนในประเทศไทยเมื่อมีการแยกศาสนาออกจากรัฐก็ไม่ได้ทำให้โครงสร้างของรัฐต่างไปจากเดิม เพราะกลุ่มที่แยกออกไปเช่น สันติอโศก ก็ยังต่อสู้ทางการเมืองในส่วนที่ตัวเองจะได้ผลประโยชน์มากที่สุด สันติอโศกก็ทำในเรื่องความเป็นชาตินิยม กรณีสวนโมกข์ส่วนตัวก็ไม่เคยคิดว่าจะกลายเป็นสวน กปปส. ได้ แต่ในที่สุดก็กลายมาเป็นแบบนี้ได้ ในสมัยท่านพระพุทธทาสไม่มีลักษณะนี้ที่มีการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติทุกเดือน ถ้าสมมติว่าแยกศาสนาออกจากรัฐแล้วโครงสร้างถูกเปลี่ยนไปเป็นเสรีประชาธิปไตยก็จะมีกติกาชัดเจนว่าตรงไหนศาสนาเข้ามาได้ตรงไหนศาสนาเข้ามายุ่งไม่ได้ จะมีกติกาชัดเจน การตรวจสอบชัดเจนขึ้น

ถนอมสิงห์เสริมว่าเรื่องแยกหรือไม่แยกโดยส่วนตัวคิดว่าไม่ควรแยก คือถ้าแยกอาจจะเป็นเส้นทางสุดท้ายจริงๆ คิดว่าควรจะมีการเข้ามาให้การสนับสนุนและตรวจสอบในเรื่องของศาสนามากขึ้นกว่าเดิม เช่นในเรื่องของการเงินอย่างที่อาจารย์สุรพศว่าตอนแรก ในทุกศาสนาอาจจะมีการแบ่งสัดส่วนที่รัฐอาจจะให้ความช่วยเหลือ แต่ในขณะเดียวกันก็ตรวจสอบไปพร้อมๆ กัน แต่ถ้าปล่อยไปทุกอย่างว่ารัฐไม่ยุ่งเกี่ยวแล้ว คิดว่ามันจะมีหลายเรื่องที่มันจะมีสิทธิเกิดขึ้นได้ อย่างเช่นถ้าสมมติว่ามีลัทธิบางอย่างเกิดขึ้นมา เช่น ลัทธิพีเพิลส์เทมเปิ้ลที่บอกว่ารวมกันมา แล้วเรามาฆ่าตัวตายหมู่ 900 คน รัฐก็ไม่มีสิทธิไปห้ามอะไรเลย พราะนี่เป็นเหมือนหลักคำสอนของเขา ถ้าไม่ได้เกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง คือยังไม่ฆ่าคน 900 คน รัฐก็ไม่มีสิทธิเข้าไปยุ่งกับเขา

สุรพศโต้กลับว่า เสรีภาพทางศาสนามีกรอบอยู่ว่าความเชื่อศาสนาหรือว่าพิธีกรรมทางศาสนาที่มีการละเมิดสิทธิพลเมือง อย่างเช่นจะชวนคนฆ่าตัวตายอย่างนี้ละเมิดอยู่แล้ว รัฐห้ามได้เพราะจะละเมิดสิทธิพลเมืองไม่ได้ มีกรอบขอบเขต ไม่ใช่ว่าจะทำพิธีกรรมอย่างไรก็ได้ จะเอารัดเอาเปรียบหลอกลวงโกหกอย่างไรก็ได้ สมมติว่าถ้าศาสนาทำพิธีกรรมหรือคำสอนในลักษณะหลอกลวงล้วงกระเป๋าคน แล้วมีคนที่เสียหายเดือดร้อนไปแจ้งความ เขาก็ต้องมีกระบวนการดำเนินการไป เพราะมันเป็นการละเมิดสิทธิพลเมือง แต่ว่าใครจะเชื่อ ผี พุทธ พราหมณ์ เชื่ออะไรต่างๆ ในสายตาของรัฐคือความเชื่อที่เสมอกัน มีความเสมอภาค แต่ในสายตาของศาสนาแต่ละศาสนาก็จะคิดว่าตัวเองดีกว่าคนอื่นอยู่แล้ว

ถนอมสิงห์แย้งกลับว่า การแยกรัฐออกจากศาสนากรณีนี้ จะทำให้ยากมากขึ้นในการตรวจสอบ ถ้าให้การสนับสนุนแบบไม่จำเป็นต้องแยกเพราะในประเทศไทยไม่ได้มีศาสนาประจำชาติที่ลงบันทึกไว้แต่ก็สนับสนุนพุทธศาสนา การไม่มีศาสนาประจำชาติเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว พุทธไม่จำเป็นจะต้องเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ถ้ารัฐมีการสนับสนุนทุกศาสนาอยู่บนบรรทัดฐานเดียวกัน อย่างเท่าเทียมทุกศาสนา ก็น่าจะดูแลตรวจสอบได้ น่าสนใจกว่าการแยกออกไป เพราะถ้าแยกออกไปตรวจสอบได้แค่บางขั้นตอน ที่ไม่ใช่ถึงขั้นความเชื่อ อาจารย์สุรพศบอกว่ามีแนวคิดที่คนทุกคนมีปัญญา สามารถรู้อะไรถูก อะไรผิด ซึ่งคิดว่าฝรั่งไม่ได้คิดแบบนี้เพราะฝรั่งคิดว่าคนทุกคนไม่ได้ฉลาดและมีปัญญา ถึงออกกฎหมายมาบนพื้นฐานของการที่ต้องมีการตรวจสอบแน่นหนา ด้วยความไม่เชื่อว่าคนบริสุทธิ์และไม่เชื่อว่าคนจะทำตามกฎกติกาได้โดยที่ไม่มีบทลงโทษ จึงต้องสร้างกฎการตรวจสอบไว้ที่ค่อนข้างเข้มงวด กรณีพูดถึงฝรั่งเพราะว่าเรากำลังพูดถึงในแง่ของการตรวจสอบที่จะเป็นเสรีประชาธิปไตยตามที่อาจารย์สุรพศบอก และคิดว่าบางทีถ้าเราแยกออกไปเลยแบบให้ความสนใจน้อยลงไป มันจะอันตรายมากกว่าเข้าไปตรวจสอบมากขึ้น

สุรพศชี้แจงว่า ประเด็นความเชื่อในความมีเหตุผลของมนุษย์ไม่ได้หมายความว่าไม่มีกฎอะไรเลย แต่หมายความว่ากฎตั้งอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพและความเท่าเทียมในฐานะที่เป็นมนุษย์ คือความเท่าเทียมนี้ต้องไม่บอกว่าเพศนี้ต้องเหนือกว่า ศาสนานั้นต้องเหนือกว่า ฐานะเหนือกว่า แล้วมามีความเป็นมนุษย์เหนือกว่าคนอื่น แต่หมายความว่าเรามีกติกา ฝรั่งเขามีกติกาตรวจสอบในสังคมเสรีประชาธิปไตย เข้มงวด แต่ความเข้มงวดนั้นมันอธิบายได้ภายใต้หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค

“มันไม่ใช่ตรวจสอบแบบคุณพ่อรู้ดี รู้ทุกเรื่องเหมือนกับว่าครูเอารองเท้าแตะหน้าเธอครูรักเธอนะ ครูปรารถนาดีต่อเธอ เพราะฉะนั้นคุณก็ยอมๆไป อย่างผมจะคืนความสุขให้คุณนะ สังคมมันแตกแยกผมต้องเข้ามาแก้ปัญหา คุณต้องเชื่อผมอะไรแบบนี้ ลักษณะการควบคุมแบบนี้มันไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพ” สุรพศกล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท