Skip to main content
sharethis

สมานฉันท์แรงงานไทยย้ำเสรีภาพชุมนุมเป็นของทุกกลุ่มคน แนะรัฐแก้ปัญหาที่ต้นเหตุชุมนุม นักวิชาการกฎหมายยันองค์กรนิติบัญญัติไร้ความชอบธรรมออกกฎหมายบังคับใช้คนทั้งหมด กก.ปฏิรูปกฎหมายวิจารณ์ออกกฎหมายใต้กฎอัยการศึก ทำคนไม่กล้าแสดงความเห็น

19 มี.ค. 2558 ณ ห้องประชุมไพบูรณ์ วัฒนศิริธรรม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จัดงานเวทีเสวนาวิชาการ “ทิศทางเสรีภาพในการชุมนุมของประเทศไทย" โดยวิทยากร ประกอบด้วย ไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ธนพร วิจันทร์ เลขาธิการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ดำเนินเนินรายการโดย พูนสุข พูนสุขเจริญ สมาชิกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ภายใต้ประเด็น “หลักความจำเป็นและความพอสมควรแก่เหตุของรัฐ ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในการชุมนุสาธารณะ ในมุมมองของภาคประชาสังคม”

พูนสุข พูนสุขเจริญ สมาชิกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เริ่มกล่าวเปิดงานด้วยประเด็นที่ว่าสิทธิและเสรีภาพเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักถึง สาเหตุที่ต้องจัดงานวันนี้เนื่องจากมีการผ่านร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ เพื่อใช้สำหรับจัดการการชุมนุมในประเทศ ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องคาดหวังจะใช้เพื่อควบคุมการชุมนุมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่เมื่อได้พิจารณาร่างฉบับใหม่ พบว่า มีข้อเสนอบางประการที่อยากนำเสนอต่อกลุ่มผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรงว่ามีส่วนที่สนับสนุนการใช้สิทธิเสรีภาพหรือขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว

พูนสุข อธิบายถึงร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวว่า เรื่องการชุมนุมเป็นประเด็นสำคัญที่สังคมไทยเผชิญหน้ามาอยู่ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้นำ พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านวาระที่ 1 เรียบร้อยแล้ว และตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างขึ้นมาเพื่อพิจารณา และกำลังจะครบกำหนดภายใน 30 วัน ในวันที่ 26 มีนาคม 2558

สำหรับเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ภาพรวม มีทั้งประเด็นเรื่องผู้จัดการชุมนุม ผู้ชุมนุม สถานที่การชุมนุม กำหนดให้มีการแจ้งการชุมนุมก่อนการชุมนุมภายใน 24 ชั่วโมง มีเจ้าพนักงานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในการรับแจ้ง และมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงมนการพิจารณา หรือสั่งให้ยกเลิกการชุมนุมโดนทันที นอกจากนั้นตัว พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวมีการเปิดโอกาสให้กับศาลยุติธรรมทำหน้าที่ออกคำสั่งให้มีการยกเลิกการชุมนุมโดยมิชอบได้ทันทีต่อเจ้าพนักงาน

ในส่วนของสถานที่การห้ามจัดการชุมนุมตาม มาตรา7 และ มาตรา 8 มี 3 ระดับด้วยกัน คือ ส่วนที่ห้ามจัดการชุมนุมโดยเด็ดขาดภายในรัศมี 150 เมตร ได้แก่ พระบรมหาราชวัง พระราชวัง วังของรัชทายาทหรือพระราชวังชั้นเจ้าฟ้า ในส่วนของรัฐสภา ทำเนียบและศาล ห้ามชุมนุมภายในสถานที่นั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถกำหนดรัศมี 150 เมตร ให้ชุมนุมห่างจากระยะดังกล่าวได้ ไม่ได้มีการประกาศถาวร ซึ่ง รัฐสภา ทำเนียบ ศาล ถือว่าเป็นสถานที่ทำการของรัฐ จัดอยู่ในประเภทที่ 3 ห้ามชุมนุมกีดขวางทางเข้าออก ห้ามชุมนุมที่เป็นการรบกวนการปฏิบัติการหรือรบกวนการใช้สถานที่

สถานที่การจัดห้ามชุมนุมส่วนใหญ่จะจัดอยู่ในประเภทที่ 3 คือ สถานที่ทำการของของรัฐ ท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ โรงพยาบาล สถานทูต หรือสถานที่ต่างๆที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เท่ากับว่านอกจากสถานที่ใน ข้อ 1, 2 และ 3 ข้างต้น รัฐมนตรีอาจทำการประกาศและกำหนดในภายหลังได้ว่ามีสถานที่ใดบ้างห้ามจัดการชุมนุม


 

ย้ำเสรีภาพชุมนุมเป็นของทุกกลุ่มคน แนะรัฐแก้ปัญหาที่ต้นเหตุชุมนุม
ธนพร วิจันทร์ เลขาธิการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก พ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะต้องใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมอยู่บ่อยครั้ง เพื่อยื่นข้อเรียกร้องไม่ว่าจะต่อนายจ้างหรือต่อรัฐบาล ทั้งนี้ ตามร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมนี้ เท่ากับตนเองเข้าข่ายผู้จัดการการชุมนุม

ธนพร กล่าวว่า ทุกวันนี้ผู้ชุมนุมก็ถูกจำกัดสิทธิโดยกฎหมายบางตัวอยู่แล้ว หาก พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะออกมาพร้อมบทลงโทษอีก กลุ่มแรงงานไม่สามารถประกอบอาชีพได้เลย เพราะหากถูกดำเนินคดีอาญาจะถูกเลิกจ้าง พ้นสภาพจากความเป็นลูกจ้าง

เธอกล่าวว่า ข้อสังเกตจากสถานการณ์แรงงานไม่ว่าจากในอดีตหรือในปัจจุบัน การชุมนุมที่เกิดขึ้นมา ล้วนเกิดจากปัญหาที่มาจากหลายส่วน มาจากนโยบายของรัฐที่ล้มเหลว มีผลกระทบต่อแรงงาน กลุ่มแรงงานจำเป็นต้องออกมาเคลื่อนไหวชุมนุม ส่วนที่จำเป็นต้องชุมนุมอยู่เรื่อยๆ ก็เพราะปัญหาที่มีอยู่ไม่เคยถูกแก้ไข การชุมนุมใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นก็มาจากนโยบายที่ล้มเหลวของรัฐ

ธนพร กล่าวว่า จะใช้ประเด็นการชุมนุมทางการเมืองเป็นบรรทัดฐานการออก พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะไม่ได้เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะออกมาชุมนุมทางการเมืองโดยพื้นฐาน เพราะการเมืองเป็นสิ่งที่กำหนดนโยบายการดำรงชีวิตของประชาชนทุกคนและทุกเรื่องทางการเมืองเกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชนทั้งสิ้น สิ่งนี้ล้วนเกี่ยวข้องและมาจากกระบวนการทางการเมือง ท้ายที่สุดปัญหาการชุมนุมที่เกิดขึ้นรัฐจัดการโดยการออกกฎหมายมาควบคุมประชาชนแบบนี้ ผิดหลักการ เนื่องจากไม่มีการผ่านความเห็นชอบของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งประชาชนและผู้ได้รับผลกระทบ ร่างขึ้นมากันเอง

“อยู่ดีๆ จะมีคนมาบอกปลอบใจเหมือนเอายาหอมมาให้ แล้วบอกว่าหากกลุ่มแรงงานมาชุมนุมมีข้อยกเว้น กลุ่มเกษตรกรมาชุมนุมมีข้อยกเว้น ไม่ใช่พี่น้องทุกกลุ่มควรมีสิทธิในการชุมนุมเหรอ จำกัดให้มีการชุมนุมเฉพาะกลุ่ม เรากำลังจะบอกว่าสิทธิในการชุมนุมมันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน พวกคุณไม่ต้องเอาหลักกฎหมายมาจับ เพราะเรื่องเหล่านี้ลองคิดดูสิ คนอยู่ดีๆ จะออกมาชุมนุมทำไม ถ้าหากเขาไม่ได้รับผลกระทบความเดือดร้อน ปัญหามันคือรัฐจะแก้เหตุเหล่านั้นอย่างไรเพื่อป้องกันการชุมนุม ไม่ใช่ออกกฎหมายมาห้าม หากประชาชนทุกคนได้รับสิทธิเสรีภาพ ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่โดนละเมิดสิทธิ เราคิดว่าการชุมนุมจะมีน้อยมาก” ธนพรกล่าว

ยันองค์กรนิติบัญญัติไร้ความชอบธรรมออกกฎหมายบังคับใช้คนทั้งหมด
สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของงานวิจัยการชุมนุมตามเสรีภาพในการชุมนุมตามบทบัญญัติของกฎหมาย วิพากษ์เรื่องร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะว่า ประเด็นสำคัญแรกได้เคยไปพูดที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในความเห็นส่วนตัว เมื่อมีหน่วยงานรัฐเชิญไปก็จะให้ความร่วมมือ แต่ในเรื่องของสภาคนดีที่มีคนชายคาร่วมเตียงเป็นสมาชิกสภาอยู่จำนวนมาก อาจต้องตรองกันหนักว่าจะให้ความร่วมมือแค่ไหน

สมชายกล่าวว่า เห็นด้วยประเด็นที่คุณธนพรพูด เวลาที่เราพูดถึงเสรีภาพต้องเป็นของคนทุกคนและไม่ได้หมายความว่าการเรียกร้องเสรีภาพเพื่อเอาแค่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เสรีภาพคือสิ่งที่ทำให้คนที่ไม่เห็นด้วยมีสิทธิพูด การที่พูดถึงสังคมประชาธิปไตยเวลาพูดถึงสิทธิ รู้สึกว่าการเรียกร้องสิทธิหลายอย่าง เราต้องการสิทธิที่เท่าเทียมกัน ไม่ได้หมายความว่าเราต้องการสิทธิในการที่เราจะพูดเสียงดังกว่าคนอื่น แต่คนที่เห็นต่าง คิดไม่เหมือนเรา ต้องมีสิทธิพูดได้ตรงนี้สำคัญ เพราะฉะนั้น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะมีเรื่องที่อยากจะพูดเบื้องต้นคือ เสรีภาพในการชุมนุม เป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพในการแสดงความเห็น และเป็นของคนทุกคนในสังคม 

สมชายอธิบายว่า เสรีภาพการชุมนุมคือกลไกในการแสดงความคิดเห็นของคนในสังคมของกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแรงงาน กลุ่มเกษตรกร กลุ่มทางการเมือง ของกลุ่มทุกกลุ่ม เพราะว่าในหลายๆ ประเทศ เรื่องของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นลักษณะนี้คือสิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายหรือกฎหมายเกิดขึ้น ซึ่งสำคัญมากเพราะกฎหมายหรือนโยบายในหลายประเทศที่เป็นอารยประเทศ อา-ระ-ยะ-ประ-เทศ ประเทศที่ไม่ป่าเถื่อน (หัวเราะ)

การเคลื่อนไหวแบบนี้คือการเมืองนอกสถาบันเป็นการเมืองที่ไม่ใช่เป็นสถาบันแบบเป็นทางการ การเดินขบวน การชุมนุม เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนความต้องการคนในสังคมว่าคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องต่างๆ ประเทศต่างๆ ในโลกยอมรับวิธีการนี้ เสรีภาพการชุมนุมไม่ได้หมายความว่าไม่มีขอบเขต มีสองเรื่องที่ต้องตระหนักร่วมกัน คือ

หนึ่ง เสรีภาพการชุมนุมยังเคารพสิทธิพื้นฐานของคนอื่นๆ สามารถมีเสรีภาพในการชุมนุม แต่ไม่สามารถชุมนุมและทำลายสิทธิพื้นฐานของคนอื่นๆ อาจรบกวนสิทธิคนอื่นแต่ไม่ใช่การทำลาย เช่น เกิดคุณกำลังชุมนุม แล้วเห็นคนไม่ชอบขี้หน้าเดินผ่านมา คุณเอาปืนยิงหัว อันนี้ไม่ได้เด็ดขาด การชุมนุมในสังคมประชาธิปไตย คือชุมนุมได้แต่ต้องเคารพเสรีภาพขั้นพื้นฐานของคนอื่นๆ เสรีภาพในสังคมประชาธิปไตยที่มองเห็นหัวคนอื่นเท่ากับตนเอง

สอง เสรีภาพในการชุมนุมคือเสรีภาพภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่จะชุมนุมเรื่องอะไรก็ได้ เรียกร้องเรื่องอะไรก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่การชุมนุมที่เรียกร้องทำลายหลักการของระบบประชาธิปไตยหรือการชุมนุมเพื่อล้มระบบการเลือกตั้ง ระบบการเลือกตั้งเป็นระบบการเมืองที่เป็นกลไกเชิงสถาบัน ถ้าล้มระบบการเลือกตั้งเท่ากับกำลังทำลายหลักการพื้นฐานของระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ถ้าคิดแบบนักปรัชญาการเมืองสมัยก่อนทั้งหมดคือการทำลายหลักการพื้นฐานทั้งหมด สิ่งที่เกิดขึ้นคือการกลับคืนไปสู่สภาวะธรรมชาติ ใครมีกำลังมากกว่าใคร คนนั้นเป็นผู้ปกครอง

การชุมนุมในประเทศไทยย้อนกลับไปเมื่อทศวรรษก่อน 2540 กระแสหลักคือการชุมนุมที่เคารพระบบโดยรวมไม่ว่าจะการชุมนุมของผู้ใช้แรงงาน ของสมัชชาคนจน หรือการต่อต้านโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งหมดเป็นการชุมนุมที่ยืนอยู่บนหลักการพื้นฐานที่ไม่ทำลายระบบโดยรวม เวลาที่ใครอ้างเสรีภาพในการชุมนุมไม่สามารถอ้างข้างๆ คูๆ ได้ โดยส่วนตัวคิดว่าเสรีภาพในการชุมนุมคือจะทำลายระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ ถ้าจะห้ามไม่ให้มีการชุมนุมต้องกลับไปสู่เกาหลีเหนือ

สมชายยังแจงอีกว่า กฎหมายของต่างประเทศหลายแห่ง จะรับรองสิทธิหรือสร้างความมั่นคงให้แก่เสรีภาพในการชุมนุม ไมใช่เน้นประโยชน์ส่วนรวมอย่างเดียว ของไทยเด่นชัดมุ่งเน้นไปที่ความมั่นคงของรัฐมากกว่าการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพการชุมนุม กฎหมายฉบับนี้เป็นปัญหาตรงที่เกิดจากผลของการชุมนุมทางการเมือง

ประเทศไทยต้องเจอกับการชุมนุมที่ทำให้คนในสังคมไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯ ตื่นตระหนก ต่างจากสมัยที่สมัชชาคนจน ชุมนุมหน้าทำเนียบ 99 วัน ตอนนั้นประชาชนไม่รู้สึกว่าเดือดร้อนมากนัก นอกจากผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง โครงสร้างสังคมโดยรวมยังเดินหน้าต่อไปได้ ระบบเศรษฐกิจ การเมือง ยังคงเดินหน้าต่อไปได้ ไม่มีการชุมนุมที่ทำให้สังคมตระหนก จนต้องตั้งคำถามว่านี่คือเสรีภาพในการชุมนุมหรือไม่

ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้เป็นผลสะท้อนจากอาการหวาดกลัวของสังคมและของรัฐ หวาดกลัวต่อการชุมนุมที่เรียกว่ามีมิติจากฐานทางการเมือง กฎหมายฉบับนี้มุ่งเพื่อจัดการกับมิติทางการเมือง โลกนี้ไม่มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ไม่มีกลไกทางการเมืองเชิงสถาบันใดๆ ที่ทำให้ทั้งหมดถูกเข้าไปอยู่ในกรอบนี้ มันต้องมีกลไกทางการเมืองนอกระบบ การชุมนุมคือกลไกอย่างหนึ่ง

สมชายยังเสริมอีกว่า ที่ผ่านมา กลไกทางการเมืองในการชุมนุมเป็นเครื่องมือของกลุ่มคนที่ไร้อำนาจในสังคม เช่น กรรมกร ชุมชนท้องถิ่น สหภาพแรงงาน แต่ได้ถูกปู้ยื่ปู้ยำลงโดยการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งในทัศนะของเขานั่นไม่ใช่การใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมทางการเมือง แต่คืออนาธิปไตยบนท้องถนน คือการเคลื่อนไหวแบบไร้กฎเกณฑ์ ไร้ระเบียบ ไม่เคารพสิทธิเสรีภาพกติกาของผู้อื่น ไม่เห็นหัวใครทั้งสิ้น 

“ต่อให้ตายยังไงนะครับ ประเทศในโลกนี้ไม่มีประชาธิปไตยที่สามารถสร้างกลไกทางการเมืองที่สมบูรณ์ ดูตัวอย่างประเทศหนึ่งที่เราฟังบ่อยๆ ที่ชอบพูดว่าอย่าเพิ่งเคลื่อนไหวนะ เราจะออกแบบให้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ก่อน จากนั้นแล้วค่อยออกมาเคลื่อนไหว ผมจะบอกให้ว่ามันไม่มีครับ! ในโลกนี้ไม่มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อย่างไรก็ต้องมีกลไกการเมืองนอกสถาบัน ในอเมริกาไม่มีการชุมนุมเหรอ ฝรั่งเศสไม่มีการชุมนุมเหรอ อังกฤษไม่มีเหรอ มีทุกประเทศ ถ้าไม่มีการชุมนุมเลย ก็เกาหลีเหนือและจีนแดงเท่านั้น” สมชายกล่าว

ทั้งนี้ สมชายเสนอด้วยว่า กลุ่มสิทธิต้องออกมาเคลื่อนไหวเพื่อทำให้เกิดหลักการพื้นฐานที่สร้างหลักการที่เข้มแข็งเพื่อให้กลุ่มทุกกลุ่มใช้ได้ ไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง นี่คือสิ่งที่ทำให้สังคมเข้มแข็งระยะยาว

"ส่วนองค์กรที่ทำหน้าที่ออกกฎหมายอยู่ในขณะนี้ไม่มีความชอบธรรมที่จะออกกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ใช่เพียงร่างกฎหมายฉบับนี้ อำนาจรัฐที่อยู่ในขณะนี้มีชนชั้นกลางขับเคลื่อนค้ำยันอยู่ กฎหมายใดที่กระทบกระเทือนผลประโยชน์ของชนชั้นกลางคนเมือง กฎหมายถูกส่งเสียงนิดเดียวหยุด ซึ่งต่างจากกลุ่มคนที่เป็นชายขอบของอำนาจ องค์กรนิติบัญญัติไม่ใช่แค่เพียงกฎหมายฉบับนี้ แต่องค์กรนี้ไม่มีความชอบธรรมในการที่จะผ่านกฎหมายใดๆ ออกมาบังคับใช้กับคนในสังคมทั้งหมด” สมชายกล่าวทิ้งท้าย

วิจารณ์ออกกฎหมายใต้กฎอัยการศึก ทำคนไม่กล้าแสดงความเห็น
ด้าน ไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย ให้ความเห็นว่า ในนามองค์กรไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับดังกล่าวสองเหตุผลด้วยกัน เหตุผลแรกคือการเสนอภายใต้กฎอัยการศึกส่งผลให้ฝ่ายต่างๆ ไม่สามารถแสดงความเห็นในกฎหมายได้

ประเด็นที่สอง หากอ้างว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของสังคมไทยหรือกติกาที่สำคัญหลังจากที่เราประสบปัญหาอย่างรุนแรงในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมานั้น ต้องให้หลายฝ่ายได้ร่วมกันสร้าง เพราะว่าถ้ากฎหมายออกมาแล้วเสียความชอบธรรมตั้งแต่ต้น ไม่ได้รับการยอมรับ และกีดกันบางฝ่าย ทำให้กฎหมายไม่มีผลในทางปฏิบัติและเป็นปัญหาในการออกกฎหมายหรือกติกาในสังคมไทยมาโดยตลอด

เสรีภาพในการชุมนุมในประเทศไทยคือเสรีภาพที่นำมาซึ่งการได้สิทธิอื่นๆ ทั้งหมด หากไม่มีเสรีภาพในการชุมนุมจะส่งผลให้ไม่ได้รับสิทธิอื่นในสังคม แม้แต่การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยในแต่ละระยะ ล้วนต้องใช้การชุมนุมทั้งสิ้น การออกกฎหมายประกันสังคมต้องต่อสู้ชุมนุมหลายรอบหลายครั้งจนได้มา การทำกฎหมายหลายฉบับผ่านการต่อสู้โดยใช้เสรีภาพในการชุมนุมทั้งสิ้น การแก้ปัญหาทุกอย่างในประเทศไทยผ่านกระบวนการใช้เสรีภาพในการชุมนุมเกือบทั้งหมด

สรุปได้ว่าเสรีภาพในการชุมนุมเป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิอื่นๆ ในสังคม เพราะสถาบันทางการเมืองไม่สามารถตอบสนองหรือแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้ สิ่งนี้จึงเป็นเครื่องมือหรืออาวุธของผู้ไม่มีอำนาจ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิต่างๆ ในสังคม เป็นเรื่องจริงของสังคมไทย รัฐไทยล้มเหลวในการจัดการจากการเลือกปฏิบัติ และได้นำโมเดลการชุมนุมลักษณะแบบนี้มาร่างกฎหมาย จึงออกมาในลักษณะการควบคุม จำกัด เห็นได้ชัดว่าสถานการณ์ปัจจุบันมีการใช้ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก และ ม.44 ยังควบคุมไม่อยู่ กฎหมายฉบับนี้จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

“แท้จริงตอนที่ทำความเห็นกฎหมายฉบับนี้ได้ทำการเชิญตำรวจมาและเขาพูดชัดเจนว่า เขาเผชิญหน้ากับการชุมนุมในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาทั้ง พันธมิตรฯ นปช. กปปส. เป็นการชุมนุมที่ไม่สามารถจัดการได้ ที่ร้ายแรงกว่านั้น ไม่ใช่เพราะตำรวจจัดการไม่ได้ แต่เพราะเจ้าหน้าที่ไม่มีความเป็นกลาง เลือกข้าง ขาใหญ่ทั้งนั้น การชุมนุมที่ผ่านมา ยิงปืนใช้อาวุธเอ็ม 79 ได้ตลอดเวลาเป็นไปได้อย่างไร มีการจัดตั้งกองกำลังอาวุธได้ในการชุมนุม” ไพโรจน์กล่าว

 

องค์กรสิทธิจับมือแถลงค้าน พ.ร.บ.ชุมนุม
จากนั้น กลุ่มองค์กรสิทธิได้ร่วมกันอ่านร่างแถลงการณ์คัดค้านการออกร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ....
ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 และได้ตั้งคณะกรรมาธิการมาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวภายใน 30 วันนั้น องค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นผู้ใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมขอแสดงความเห็นคัดค้านการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ... ฉบับดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. นิยามผู้จัดการชุมนุมมีความหมายกว้างขวางมากเกินไป เนื่องจากนิยามตามมาตรา 4 ประกอบกับมาตรา 10 วรรคสอง ครอบคลุมถึงผู้ที่เชิญชวน หรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุม แต่การบัญญัติให้รวมถึงบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการบัญญัติที่มีความหมายอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะตีความรวมไปถึงผู้ซึ่งทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์นัดหมายให้มีการชุมนุม หรือเห็นด้วยกับการชุมนุมและช่วยประชาสัมพันธ์แต่ไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมในความเป็นจริง ซึ่งการเป็นผู้จัดการชุมนุมนั้นจะมีหน้าที่และความรับผิดตามกฎหมายตามมา

2. นิยามศาลและการตัดเขตอำนาจศาลปกครอง ตามที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดนิยามของศาลว่าหมายถึงศาลแพ่งและศาลจังหวัด รวมถึงมาตรา 13 และมาตรา 26 กำหนดให้คำสั่งและการกระทำของเจ้าพนักงานไม่เป็นคำสั่ง หรือการกระทำทางปกครอง ซึ่งจะส่งผลสองประการคือ ไม่สามารถนำมาตรฐานวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้ และศาลปกครองไม่สามารถเข้ามาตรวจสอบคำสั่ง หรือการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐได้ ทำให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรมได้ยากลำบากมากยิ่งขึ้น

3. การกำหนดห้ามชุมนุมภายในรัฐสภา ทำเนียบ ศาลและห้ามกีดขวางทางเข้าออกหน่วยงานรัฐหรือรบกวนการปฏิบัติ หรือการใช้บริการสถานที่ทำการหน่วยงานรัฐ ทั้งนี้เนื่องจากการชุมนุมของภาคประชาชนส่วนใหญ่นั้น เป็นไปเพื่อเรียกร้องหน่วยงานรัฐแก้ไขปัญหา หรือปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย การห้ามชุมนุมในสถานที่หรือบริเวณดังกล่าวจึงเป็นไปไม่ได้เนื่องจากประชาชนต้องการเรียกร้องต่อหน่วยงานรัฐโดยตรง และโดยสภาพการชุมนุมย่อมก่อให้เกิดความไม่สะดวกในการใช้สถานที่ดังกล่าวอยู่แล้ว การบัญญัติลักษณะดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนการห้ามการชุมนุมไม่ให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้เลย

4. การกำหนดให้แจ้งการชุมนุมก่อน 24 ชั่วโมง นั้นไม่สอดคล้องกับธรรมชาติในการชุมนุม เนื่องจากบางกรณีเป็นการชุมนุมที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน เช่น การชุมนุมของแรงงานซึ่งนายจ้างปิดสถานประกอบการโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า การชุมนุมคัดค้านโครงการก่อสร้างในพื้นที่ชุมชน แม้จะขอผ่อนผันระยะเวลาการชุมนุมได้แต่ระยะเวลาในการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ยังคงสามารถใช้ระยะเวลาได้ถึง 24 ชั่วโมงเช่นเดียวกัน รวมถึงหากไม่แจ้งการชุมนุมเจ้าพนักงานสามารถมีคำสั่งให้เลิกการชุมนุมได้ทันทีทั้งที่การชุมนุมดังกล่าวอาจเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธซึ่งได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายก็ได้

5. การกำหนดให้ผู้จัดการชุมนุมใช้เครื่องขยายเสียงตามขนาดที่กำหนด อาจทำให้เป็นปัญหาในการควบคุมผู้ชุมนุม เนื่องจากหากมีผู้ชุมนุมจำนวนมากแต่ไม่สามารถสื่อสารได้ทั่วถึงได้ การชุมนุมจะไม่เป็นเอกภาพและจะยิ่งก่อความไม่สะดวกแก่ประชานในการใช้พื้นที่

6. การเดินขบวนและการเคลื่อนย้ายการชุมนุม ซึ่งต้องมีการแจ้งล่วงหน้า 24 ชั่วโมง การจำกัดการเคลื่อนย้ายการชุมนุม ซึ่งในบางกรณีผู้ชุมนุมนั้น เริ่มการชุมนุมในพื้นที่ต่างจังหวัดและเดินทางเข้ากรุงเทพมหานครในช่วงกลางคือเพื่อมาให้ถึงตอนเช้า

7. การให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้ออกคำบังคับให้เลิกการชุมนุม ตามมาตรา  21  และมาตรา 22 นั้นอาจทำให้ศาลกลายเป็นคู่กรณีกับประชาชนในการชุมนุม ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ และหากประชาชนต้องการฟ้องว่าการสั่งให้เลิกการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นอาจทำให้เป็นปัญหาในภายหลัง

8. การกำหนดโทษทางอาญา เนื่องจากการชุมนุมเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพจึงไม่ควรมีการกำหนดโทษทางอาญา โทษที่รุนแรงที่สุดตามพระราชบัญญัตินี้นั้นควรเป็นการสั่งเลิกการชุมนุม ส่วนผู้ชุมนุมซึ่งกระทำผิดกฎหมายอาญาก็ให้ดำเนินคดีด้วยกฎหมายว่าด้วยการนั้น

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวควรมีลักษณะเป็นการส่งเสริมการใช้สิทธิเสรีภาพไม่ใช่การบัญญัติในลักษณะการควบคุมและจำกัดสิทธิเสรีภาพ  เช่น การกำหนดให้เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุม การสร้างกลไกในการรับข้อร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ ฯลฯ

องค์กรตามรายชื่อข้างท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ จึงไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายดังกล่าวเนื่องจากเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพความคิดเห็น การแสดงออกขั้นพื้นฐานจะทำให้ประชาชนหวาดกลัวในการออกมาใช้สิทธิเสรีภาพและยังมีปัญหาการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งไม่อาจแสดงความเห็นได้ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน องค์กรตามรายชื่อข้างท้ายนี้จึงขอเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติยุติการดำเนินการผ่านร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.  .... ในช่วงเวลานี้  หากหน่วยงานรัฐต้องการผ่านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อความชัดเจนในการใช้สิทธิเสรีภาพ หน่วยงานดังกล่าวควรมีการรับฟังความเห็นอย่างแพร่หลาย ดำเนินการออกกฎหมายภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญฉบับถาวรและกระทำโดยผ่านสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

กลุ่มอนุรักษ์คนฮักท้องถิ่น จังหวัดเชียงราย
เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม
สมานฉันท์แรงงานไทย
กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น จังหวัดกระบี่
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ศูนย์ข้อมูลชุมชน
ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม
เครือข่ายสลัมสี่ภาค

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net