Skip to main content
sharethis

อังกฤษซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ มายาวนานประกาศเข้าร่วมกับสถาบันการเงินแห่งใหม่ในจีน ท่ามกลางความกังขาของสหรัฐฯ และความงุนงงของผู้สังเกตการณ์ ดิอิโคโนมิสต์เปิดเผยว่าอังกฤษมีท่าทีเอาใจจีนเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจในช่วงไม่นานมานี้ แต่บางส่วนก็มองว่าอังกฤษอาจจะมองโลกในแง่ดีเกินไป


19 มี.ค. 2558 ดิอิโคโนมิสต์รายงานเรื่องท่าทีของอังกฤษที่เริ่มเอนเอียงไปทางจีนในแง่เศรษฐกิจจากเดิมที่เป็นผู้รับลูกเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ มายาวนาน หลังจากที่อังกฤษประกาศว่าจะเข้าร่วมกับธนาคารเพื่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของเอเชีย (AIIB) ในฐานะผู้ถือหุ้นร่วม การตัดสินใจของอังกฤษในครั้งนี้ทำให้จีนพอใจแต่ก็ทำให้ผู้สังเกตการณ์สับสน

ธนาคาร AIIB เป็นสถาบันทางการเงินแห่งใหม่ที่ตั้งขึ้นโดยทางการจีน จากความไม่พอใจความล่าช้าของสถาบันทางการเงินที่มีอยู่เดิมและการไม่สามารถปฏิรูปกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เนื่องจากติดกระบวนการในสภาของสหรัฐฯ ขณะที่สถาบันทางการเงินอื่นๆ ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของสหรัฐฯ หรือประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ

ดิอิโคโนมิสต์มองว่าการที่จีนสร้างสถาบันทางการเงินแห่งใหม่เนื่องมาจากจีนต้องการเปลี่ยนพลังทางการเงินของพวกเขาให้กลายเป็น "อำนาจอ่อน" นอกจาก AIIB แล้วจีนยังมีแผนการจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่ร่วมกับกลุ่มประเทศ BRICS และกองทุนเพื่อการพัฒนา 'ถนนสายไหม' เพื่อสร้างการเชื่อมต่อของประเทศใกล้เคียง อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์ในด้านความมั่นคงร่วมกับรัสเซียด้วย

ดิอิโคโนมิสต์ระบุว่า สหรัฐฯ มีท่าทีทางลบต่อ AIIB ซึ่งพวกเขาไม่สามารถ "ล็อบบี้" ได้ จึงได้หันมาพูดเน้นย้ำถึงเรื่องที่ว่าสถาบันของจีนควรจะมีมาตรฐานสากลเช่น ความโปร่งใส ความน่าเชื่อถือ สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน แต่ประเทศอย่างสิงคโปร์ที่เป็นมิตรกับทั้งจีนและสหรัฐฯ ก็ตัดสินใจเข้าร่วมกับ AIIB อินโดนีเซียซึ่งก่อนหน้านี้ปฏิเสธเข้าร่วมก็เปลี่ยนใจในเวลาต่อมา ทางด้านญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ซึ่งเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ไม่เข้าร่วม

จากข้อมูลเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2558 ระบุว่าในตอนนี้มีประเทศที่ร่วมก่อตั้ง AIIB รวม 32 ประเทศ โดยมีประเทศไทยเข้าร่วมด้วย มีประเทศอื่นนอกเหนือจากในทวีปเอเชียเข้าร่วมได้แก่ ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี เป็นต้น ขณะที่การตัดสินใจเข้าร่วมของอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรเหนียวแน่นของสหรัฐฯ ถือเป็นเรื่องน่าแปลกใจแต่ดิอิโคโนมิสต์ตั้งข้อสังเกตว่าอังกฤษแสดงท่าทีเหมือนพยายามเอาใจจีนมากขึ้นตั้งแต่ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

ดิอิโคโนมิสต์วิเคราะห์ว่าทางการอังกฤษดูจะมุ่งเป้าผูกมิตรกับจีนด้วยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยมองว่าจีนเป็นตลาดการค้าที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้อังกฤษก็สนใจในแง่การค้าโดยไม่สนเรื่องอื่น แม้กระทั่งเรื่องแถลงการณ์ร่วมกันระหว่างจีนกับอังกฤษที่ให้เกาะฮ่องกงซึ่งเป็นอดีตอาณานิคมอังกฤษมีอำนาจบริหารตนเอง 50 ปี ก็ดูจะสำคัญน้อยกว่า ในช่วงที่มีการประท้วงในฮ่องกงเมื่อปี 2557 จีนไม่อนุญาตให้ตัวแทนจากรัฐสภาอังกฤษไปเยือนฮ่องกงแต่อังกฤษก็ไม่ได้แสดงความไม่พอใจอะไร อีกทั้งเมื่อไม่นานมานี้ยังส่งเจ้าชายวิลเลียมไปหารือช่วยผู้ส่งออกในอังกฤษด้วย

อย่างไรก็ตามมีเจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ กล่าวต่อสื่อไฟแนนเชียลไทม์ว่า ทางการสหรัฐฯ รับรู้เรื่องท่าทีที่อังกฤษมีต่อจีน ซึ่งไม่ใช่ท่าทีที่ดีนักในการปฏิบัติต่อประเทศที่กำลังมีอำนาจมากขึ้น ส่วนชาวอังกฤษที่มองโลกในแง่ร้ายก็อาจจะบอกว่าวิธีการนี้จะเป็นผลดีเฉพาะเมื่อศตวรรษที่แล้วซึ่งอังกฤษยังคงกุมอำนาจและสหรัฐฯ กำลังมีอำนาจมากขึ้น


เรียบเรียงจาก

American poodle to Chinese lapdog?, The Economist, 13-03-2015
http://www.economist.com/news/business-and-finance/21646352-america-and-britain-odds-over-how-deal-china-american-poodle-pekinese-lapdog


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/Asian_Infrastructure_Investment_Bank

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net