เสวนา ‘บทบาทธรรมกายกับสังคมไทย’: เถรวาทแท้? เมื่อธรรมกายใช้เงินซื้อเถรวาทไทย


สุรพศ และ ถนอมสิงห์

หมายเหตุ: เสวนา "บทบาทธรรมกายกับสังคมไทย" วิทยากรโดย สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านพุทธศาสนา อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาหัวหิน ถนอมสิงห์ โกศลนาวิน มูลนิธิหยดธรรม เชียงใหม่ และ วริศ ลิขิติอนุสรณ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) ผู้ดำเนินรายการ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2558 ณ ห้องสมุดสันติประชาธรรม เจริญนคร

ต่อจาก ตอนที่ 1 ชำแหละวิถีธรรมกายที่ครอบงำเถรวาทไทย โดยในช่วงต่อจากนี้วิทยากรทั้งสองท่านได้ปอกเปลือกรูปแบบธรรมกาย จนมาถึงประเด็นการถวายเงินให้วัดเล็ก คนมีอำนาจและมหาเถรสมาคม จนไปสู่การตั้งคำถามที่ว่าหากจะตีความว่า ธรรมกายไม่ใช่เถรวาทแท้ จากสิ่งที่ธรรมกายสามารถใช้เงินซื้อเถรวาทไทยได้เท่ากับว่ารัฐไทยไม่มีเถรวาทที่แท้จริง?

ฆราวาสหรือคนทั่วไปควรอยู่ตรงไหนมีบทบาทอย่างไรกรณีธรรมกาย
ถนอมสิงห์อธิบายว่า กรณีธรรมกายเกี่ยวกันทั้งเรื่องทางสังคมและทางศาสนา ตนก็ไม่ใช่พุทธศาสนาแบบเถรวาทและคิดว่าไม่ใช่ปัญหา เพราะทั้งสันติอโศกและนิกายมหายานก็ไม่เป็นปัญหาในช่วงที่เข้ามาในประเทศไทย แต่ในทางสังคมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะธรรมกายอ้างศาสนามาค้าขาย แม้ว่าเมืองไทยไม่ได้บังคับใครให้นับถือศาสนา แต่ว่าในแบบเรียนประเทศไทยยังมีการบังคับให้เรียน คิดว่าในฐานะที่เราเป็นประชาชนจึงควรพูดถึงธรรมกายในลักษณะที่ไม่ใช่เถรวาทอย่างที่เรารู้จัก แต่พูดในฐานะที่ธรรมกายเป็นอีกนิกาย และถ้าธรรมกายกลายเป็นอีกลัทธิหนึ่งก็จะกลายเป็นพื้นที่ของเขา ถึงเวลานั้นน่าจะกลับมาวิจารณ์กันว่าลัทธินี้เป็นอย่างไรต่อสังคม แต่การมาใช้พื้นที่นิกายพุทธศาสนาแบบเถรวาท ไม่ยุติธรรม ซึ่งธรรมกายฉลาดเพราะสามารถใช้เงินซื้อได้หมด ทั้งมหาเถรสมาคม วัดขนาดเล็กและคนที่มีอำนาจ

“คนกับหลักการไม่เหมือนกัน หลักการของเถรวาทมีอยู่ แต่ว่าพระที่เป็นสมเด็จต่างๆ ก็คือลูกชาวบ้าน พื้นฐานครอบครัวค่อนข้างที่จะจน แล้วโอกาสในชีวิตอย่างที่รู้กัน กว่าจะบวชถึงขนาดนั้นได้ ศรัทธาในพระพุทธศาสนาขนาดไหน สรุปถ้าสึก พระพวกนั้นก็ไปไหนไม่รอด” ถนอมสิงห์ กล่าว

ด้านสุรพศเสริมว่า การที่ธรรมกายซื้อทุกอย่างแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ธรรมกายซื้อได้ เป็นการบอกว่าสิ่งที่ธรรมกายซื้อไปไม่ใช่เถรวาทแท้ เพราะการที่กล่าวอ้างว่าตนนั้นคือเถรวาท แต่สามารถขายตัวได้ เท่ากับว่าไม่ใช่เถรวาทแท้ ปัญหาคือเถรวาทแท้คืออะไร เถรสมาคมองค์กรที่ตั้งขึ้นโดยกฎหมายของรัฐมาจากอำนาจรัฐ ไม่ได้ตั้งขึ้นโดยพระธรรมวินัยให้อำนาจตั้งแต่แรก เพราะฉะนั้นถ้าใช้ตรรกะที่ว่า ไม่ตรงพระธรรมวินัยเท่ากับว่าไม่ใช่เถรวาท การตีความลักษณะแบบนี้ สรุปได้ว่าไม่มีเถรวาทแท้ในประเทศไทย

“พระสงฆ์ทุกกลุ่มในประเทศไทยอ้างตนว่าคือเถรวาท ไม่ว่าจะในระบบของมหาเถรสมาคม สวนโมกข์ สันติอโศก ธรรมกาย ไม่มีใครบอกว่าตัวเองไม่ใช่เถรวาท ทุกคนคือเถรวาท ในเมียนมาร์และศรีลังกาก็คือเถรวาท พระรับราชการได้เป็นรัฐมนตรี ตั้งพรรคการเมืองได้ ความจริงไม่มีใครผูกขาดความเป็นเจ้าของเถรวาทได้ต้องมองแบบนี้ ใครก็สามารถอ้างความเป็นเถรวาทได้” สุรพศกล่าว

บรรทัดฐานของการเป็นเถรวาท
ขณะที่ถนอมสิงห์แย้งว่า เราสามารถระบุได้ว่าเถรวาทแบบไหนถูกหรือผิด มีบรรทัดฐานอยู่ หลักการอย่างธรรมกายเปลี่ยนที่เนื้อหาคำสอนพระไตรปิฎกและเปลี่ยนที่คำสอนทั้งหมด คิดว่าอันนี้มันชัดเจนว่าหลักการเดิมไม่ตรงกับสายเถรวาท เพราะฉะนั้นสามารถบอกได้ว่านี่ผิดไปจากบรรทัดฐาน แล้วจะอ้างเป็นเถรวาทตรงนี้ไม่สามารถอ้างได้ แล้วต่อให้ธัมมชโยสึกก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะธรรมกายเป็นองค์กรที่ต่อให้ธัมมชโยตายไปวันนี้ก็เดินหน้าต่อได้

ด้านสุรพศอธิบายต่อว่า ปัญหาไม่ใช่เรื่องที่ผิดจากบรรทัดฐาน เสรีภาพการนับถือศาสนาคือการที่ใครจะตีความยังไงก็ได้ รัฐไม่สามารถเข้าไปยุ่งกับศรัทธาความเชื่อได้ ส่วนในแง่พระธรรมวินัยการตีความต่างกัน การสอนอะไรแตกต่างออกไป ตั้งนิกายใหม่ เรื่องนี้ไม่มีทางเอาผิดทางพระธรรมวินัยได้อยู่แล้ว สิ่งที่สามารถทำได้ เช่น กรณีท่านประยุทธ์ ปยุตโต ได้เขียนหนังสือออกมาตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ และกรณีอาจารย์สุลักษณ์ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ สามารถทำได้ในลักษณะแบบนี้ ประเด็นเรื่องสอนผิดสอนถูกไม่สามารถเอาเขาเข้าคุกหรือจับเขาสึกได้ ไม่สามารถจะมีอำนาจอะไรไปบังคับศรัทธาของคนได้ ใครอยากศรัทธาธรรมกายก็ศรัทธาไป ยันตระกลับมาเมืองไทยก็มีคนไปศรัทธายันตระ กฎหมายก็ไปเอาผิดไม่ได้ บังคับศรัทธาไม่ได้ ในที่สุดต้องเคารพคน เคารพมนุษย์ เชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล คิดเองได้ รู้ได้ว่าอะไรที่มันเป็นประโยชน์กับเขา แต่หน้าที่ของเราคืออะไร ก็คือวิพากษ์วิจารณ์ตามหลักการบรรทัดฐาน

ด้านประเด็นที่ว่าการรวมศาสนาให้อยู่ศูนย์กลางภายใต้อำนาจรัฐนี้จะเป็นอันตรายมากกว่าเป็นประโยชน์หรือไม่ สุรพศแจงว่า การที่ศาสนาไม่ถูกแยกออกจากความเป็นรัฐ ส่งผลทำให้ศาสนาเป็นกลไกแบบราชการ เพราะรัฐมีหน้าที่สนับสนุนอุดมการณ์ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เมื่อมีพระสงฆ์ในรูปแบบที่หัวก้าวหน้าขนาดไหน มันทำให้ไม่สามารถตั้งคำถามกับอุดมการณ์ในรูปแบบนี้ได้ เพราะว่าถูกบังคับในกฎเกณฑ์โดยประเพณี เมื่อองค์กรสงฆ์กลายเป็นกลไกของรัฐ ในขณะเดียวกันเมื่อองค์กรสงฆ์ก็มาเล่นการเมือง ก็จะมาในรูปแบบของ กิตติวุฑโฒ สร้างวาทกรรม ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป มาแบบ ว.วชิรเมธี มาแบบ พุทธอิสระ ถ้าทำแบบนี้ทำอะไรก็ได้ แต่ถ้าเกิดเป็นพระบ้านๆ แบบเสื้อแดงที่มาชุมนุมกับชาวบ้าน ก็ถูกตั้งคำถามแล้วว่ามาทำไมในที่อโคจร ไม่มีความสำรวม จับมัดไขว้หลัง จับสึกติดคุก 4-5 รูป แต่ถ้าคุณสู้ในนามปกป้องสถาบัน ขัดขวางการเลือกตั้ง ยึดหีบบัตรเลือกตั้ง สังคมก็ไม่ค่อยลงโทษคุณ ระบบราชการก็ไม่ค่อยยุ่งเท่าไหร่ ทุกวันนี้คุณก็ยังจะทำอะไรที่ถวายกางเกงในอะไรต่างๆ ทำได้หมด เพราะว่าระบบมันปกป้องเขา

“เราเห็นพระบ้านๆ รูปหนึ่งที่มานอนอดข้าวประท้วงให้ปล่อยอากง ให้ประกันตัวอากง แต่นั่นคือพระแบบบ้านๆ แต่พระที่ใหญ่โตแบบทางการ มีตำแหน่ง กล้ามาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพไหม กล้าได้ยังไงก็ตำแหน่งของคุณก็หลุด เพราะมีกลไกถูกควบคุมโดยรัฐ มีสมณศักดิ์ มีตำแหน่งอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้นถ้าคุณขึ้นอยู่กับรัฐแบบนี้ องค์กรสงฆ์ก็กลายเป็นกลไกของรัฐ” สุรพศกล่าว

ถนอมสิงห์ ตรงนี้ผมว่ามันแตกต่างกันนะ คือที่พระเสื้อแดงโดนมัดโดนอะไรแล้วพุทธอิสระไม่โดน ผมคิดว่าพุทธอิสระไม่ได้มีความชอบธรรมมากกว่า เพียงแต่ว่าเขารู้จักวิธีในการป้องกันตัวเองมากกว่า

ถนอมสิงห์เสริมว่า ถ้าตอนสมัยรัฐบาลทักษิณ กลุ่มคนเสื้อแดงจะใช้ระบบแบบนี้ก็ทำได้ ไม่เช่นนั้นมหาโชว์หรือว่า มจร. (มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย) ที่ออกแดงมากๆ ก็ต้องโดนไปด้วย มหาโชว์คือบุคคลที่ปลุกปั่นม็อบในวัดทุกวัดเรื่องประชาธิปไตย ดีไม่ดีบางจุดพูดถึงเรื่องล้มเจ้าแต่ก็ไม่โดนขู่ สมัยนั้นมีการเอาพระออกมาตั้งหลายรอบ กรณีนี้มีทั้งสองสีถ้าเราพูดถึงสีและก็คนที่ถูกจับเป็นพระเสื้อเหลืองที่เดินไปตามถนนและโดนกระทืบก็มีเหมือนกัน

ส่วนประเด็นเรื่องพระที่สังกัดรัฐจะไม่โจมตีรัฐ สุรพศกล่าวว่า เหมือนทหาร ข้าราชการ จะมาชุมนุมในทางการเมืองคงจะยาก ไม่สามารถจะทำได้ แต่อธิการบดีไปรับใช้รัฐประหารทำอะไรได้หมด เมืองไทยมันก็เป็นอะไรแบบแปลกๆ เนื่องจากโครงสร้างของรัฐยังเป็นแบบนี้อยู่ ถ้าไม่แยกศาสนาออกจากรัฐ ก็จะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ในที่สุดศาสนาก็จะไม่มีความเป็นชีวิตชีวา แข็งทื่อ เป็นลักษณะแบบราชการ ห่างเหินกับวิถีชีวิตคน และศาสนาที่จะมาดึงดูดศรัทธาของคนได้คือศาสนาที่มีลักษณะที่เป็นตัวของตัวเอง แบบสวนโมกข์(สมัยก่อน) หรือว่าแบบสันติอโศก แบบธรรมกาย แบบหลวงพ่อชา ที่มันก็มีลักษณะที่องค์กรสงฆ์ไม่สามารถคุมได้ ทำให้มีลักษณะเป็นตัวของตัวเอง มีจุดขายของตัวเอง ถึงจะสามารถที่จะอยู่กับโลกสมัยใหม่ได้

สุรพศเสริมอีกว่า ในตะวันตกมีรายงานขององค์กรศาสนาว่าบัญชี รายรับ - รายจ่าย ในรอบ 6 เดือน รัฐเข้าไปตรวจสอบได้ แต่ของประเทศไทย อย่างกรณีการตรวจสอบงบประมาณ 67 ล้านบาทของวัดสระเกศ รัฐตรวจสอบได้โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบได้เฉพาะงบประมาณแผ่นดิน แต่รัฐไม่มีอำนาจตรวจสอบเงินบริจาคโดยตรง ต้องขออนุญาตถ้าวัดอนุญาตก็เข้าไปตรวจสอบได้ กรณีวัดธรรมกายที่มีปัญหาก็คือไม่ถูกตรวจสอบ กรณีวัดอื่นๆอีกกี่แห่งในประเทศไทย

ในที่สุดแล้วทำให้ธรรมวินัยไม่ทำงานไม่ได้ผล มีแต่ว่าศีลธรรมแบบ 2 มาตรฐาน คือใช้ศีลธรรมมาวิพากษ์วิจารณ์ได้ นักการเมือง คอร์รัปชั่น ทุจริตต่างๆ เอาเรื่องศีลธรรม จริยธรรมมาตรวจสอบนักการเมือง คนอื่นๆได้หมดเลย แต่ในอีกคนบางระดับก็สรรเสริญได้อย่างเดียว เพราะฉะนั้นศีลธรรมในลักษณะนี้มันก็จะไม่สอดคล้องกับหลักพุทธศาสนาเลยว่าให้พูดความจริง อย่างหลักกาลามสูตรก็ดี หลักอริยสัจ 4 จะแก้ปัญหาอะไรได้ต้องพูดความจริงของปัญหานั้นได้ทั้งหมด ถ้าไม่สามารถจะพูดความจริงได้ทั้งหมด อริยสัจ 4 ประยุกต์ใช้กับปัญหาสังคมไม่ได้ ศีลธรรมที่ผลิตออกมาก็เป็นศีลธรรม 2 มาตรฐาน นี่คือลักษณะเฉพาะของรัฐไทยที่มันไม่ได้แยกรัฐจากศาสนา ทำให้เกิดสภาวะแบบนี้

ถนอมสิงห์เห็นแย้งว่าการไม่แยกจะมีประโยชน์กว่า ไม่เห็นว่าประเทศไหนในโลกจะมีเสรีประชาธิปไตยจริง เวลาคนพูดว่าผีธรรมกาย ผีทักษิณ จะมีผีอีกกี่ตัว แต่ผีเสรีประชาธิปไตยกลับโรแมนติกยิ่งกว่า เนื่องจากมีภาพให้ฝันว่าจะเป็นโครงสร้างแบบเดียวกัน ส่วนระบบการตรวจสอบที่ถูกแยกออกไปแล้วคิดว่าบางทีอาจทำได้ยากกว่า เรื่องของการให้องค์กรศาสนาทำตามภายใต้กฎหมายฆราวาส วิธีการแบบนี้ทำได้ทั้งการแยกและไม่แยก ถ้าไม่แยกศาสนาออกจากรัฐ จะสามารถให้การสนับสนุนทุกศาสนาได้ เรื่องการตรวจสอบไม่ได้เกี่ยวกับแยกหรือไม่แยก เพียงแต่ว่าประเทศที่แยกทั้งหลาย 19 ประเทศ ก็ไม่เห็นมีประเทศไหนที่มันแยกจริง แล้วก็ยังใช้ศาสนาใดศาสนาหนึ่งในการควบคุมหรือว่าการเป็นใหญ่อยู่ดี ถ้าจะแยกก็ยังไม่เห็นว่าใครจะให้ความคิดที่มันแปลกแตกต่างและดีที่สุด

“เหมือนกับบอกว่าเราทิ้งบ้านเราไปและไปสร้างบ้านใหม่โดยที่ไม่มีใครเห็นเลยว่าบ้านใหม่เป็นยังไง เพียงแต่บอกว่าบ้านหลังนั้นน่าจะสวยกว่า และก็เดินเข้าไปดู คนบางคนก็เดินผ่านๆ และจะรู้สึกว่า บ้านนั้นน่าจะดีกว่า ไม่เคยเข้าไปเห็นว่าความขัดแย้งหรือว่าความสกปรกในบ้านอื่นๆ มันเป็นยังไง ถ้าจะบอกว่าต้องแยก แล้วบอกว่ามุมมองของการที่แยกศาสนาออกจากรัฐไปเลยมันจะดีกว่า ก็ยังไม่เห็นว่าดีกว่าอย่างไร แต่ถ้ารัฐให้การสนับสนุนทุกศาสนา ทุกความเชื่อจะเป็นวิธีการที่สามารถตรวจสอบได้มากกว่าการแยกศาสนาออกจากรัฐ” ถนอมสิงห์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท