รายงานชุดพิเศษ กงล้อการไม่ต้องรับผิด: บทเรียนจากฟิลิปปินส์ ตอน 5

 

ตอนที่ 5: กลุ่มสนับสนุนสื่อฟิลิปปินส์เผชิญอุปสรรคอันใหญ่หลวงในการต่อสู้การไม่ต้องรับผิด 

สถานที่เก็บหลักฐานจากเหตุการณ์สังหารหมู่ที่อัมปาตวน ที่กองบัญชาการตำรวจประจำภูมิภาคที่เจเนอรัล ซานโตส เกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ ในภาพเป็นรถยนต์ของ UNTV ทั้งนี้เมื่อวันที่ 23 พฤศจิากยนปี 2552 เกิดเหตุสังหารหมู่คณะผู้ติดตามผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองอัมปาตวน ทำให้มีพลเรือนเสียชีวิต 58 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สื่อข่าวและผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสื่อ 32 ราย ผู้ที่ถูกสังหารทั้งหมดรวมทั้งรถยนต์ในที่เกิดเหตุถูกนำไปฝังในหลุมขนาดใหญ่

ที่อนุสรณ์สถานรำลึกเหตุสังหารหมู่ที่อัมปาตวน อากีเลส โซนีโอ ผู้สื่อข่าวซึ่งรอดชีวิตจากเหตุการณ์ชี้ให้ดูรายชื่อเหยื่อที่เป็นผู้สื่อข่าว

ลูอิส เทโอโดโร อาจารย์ด้านสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ (UP) และรองผู้อำนวยการศูนย์สำหรับเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อ (Center for Media Freedom and Responsibility - CMFR)

 

มีคำถามหนึ่งที่นักข่าวฟิลิปปินส์จะถูกถามเสมอเมื่อพบกับเพื่อนร่วมอาชีพจากประเทศอื่น โดยเฉพาะจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นก็คือ “ทำไมนักข่าวในประเทศของคุณยังคงถูกฆ่าอยู่ตลอด ขณะที่ประเทศคุณเป็นประชาธิปไตยแล้ว”

คำตอบนั้นไม่ได้มาง่ายๆ แม้แต่นักข่าวฟิลิปปินส์และกลุ่มสนับสนุนสื่อในประเทศเองก็คงบอกเช่นเดียวกัน ซึ่งหลักๆแล้วเป็นเพราะตัวเลขดูไม่สมเหตุสมผล หากเทียบกับการได้มาซึ่งประชาธิปไตยในประเทศ

ยกตัวอย่างเช่น รายงาน Global Gender Gap ปี 2557 กล่าวว่า ประเทศฟิลิปปินส์ “ยังคงเป็นที่หนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในด้านความเท่าเทียมกันทางเพศ แม้ว่าจะตกลงมาสี่อันดับมาเป็นอันดับที่ 9 จาก 142 เขตเศรษฐกิจ”  แต่ขณะเดียวกัน กลุ่มจับตามองสื่อระหว่างประเทศ เช่น Committee to Protect Journalists (CPJ) บอกว่าฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่อันตรายที่สุดอันดับ 3 จากทั่วโลกสำหรับนักข่าวในปี 2557

ซึ่งผู้ที่ทำงานในสายอาชีพ และผู้ที่ทำงานเพื่อให้การคุ้มครองและความปลอดภัยแก่นักข่าว พยายามทำความเข้าใจการผสมผสานที่ไม่สอดคล้องกันของประเด็นและเหตุการณ์เหล่านี้ เพื่อที่จะตอบคำถามว่าทำไมเงื่อนไขดังกล่าวจึงเกิดขึ้น

“ผมและน้องชายเคยเป็นนักวิจารณ์ที่ต่อยหนัก แต่หลังจากการสังหารหมู่ (ในมากินดาเนา) ที่เกิดขึ้น (เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน) ปี 2552 เราได้เพลาๆ และลดระดับความแรงในการรายงานของเรา” จอน พอล จูเบลลัก นักข่าวที่เมืองเจเนอรัลซานโตสซิตี้ ซึ่งตั้งอยู่ประมาณ 143 กิโลเมตรจากจังหวัดมากินดาเนา ที่ซึ่งพลเมือง 58 คน และในจำนวนนี้เป็นนักข่าว 32 คน ถูกฆ่าเสียชีวิตกลางวันแสกๆ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์

จูเบลลัก ผู้ซึ่งจัดพิมพ์หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น Mindanao Bulletin และหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์อีกสามฉบับ ร่วมกับน้องชายของเขา เชื่อว่านักการเมืองที่มีอิทธิพลและคนอื่นๆที่เป็นหัวข้อของการเปิดโปงโดยสื่อพยายามตอบโต้กลับด้วยวิธีการนอกกฎหมาย “ผมพูดถึงการฆ่าตัดตอนน่ะ” จูเบลลักกล่าว และเสริมว่า “เรามีข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ว่า มีฆาตกรแถวๆนี้ที่สามารถถูกจ้างด้วยจำนวนเงินเพียงเล็กน้อยเพื่อมาฆ่าพวกเรา”

นี่แสดงถึงความขัดแย้งของเรื่องทั้งหมดนี้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น นักข่าวต้องตกอยู่ในความเสี่ยงทุกวันในประเทศที่ถือว่าสื่อมีเสรีภาพมากที่สุด และมีประชาธิปไตยที่มีชีวิตชีวา ผู้กระทำผิดในอาชญากรรมต่อนักข่าวแทบไม่ถูกลงโทษ ซึ่งนำไปสู่ความเชื่อโดยทั่วไปว่า วัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิดกำลังมีอิทธิพลประเทศนี้

“เมื่อนักข่าวตกอยู่ในความเสี่ยง อุดมการณ์ประชาธิปไตยก็ตกอยู่ในอันตรายอันใหญ่หลวง ไม่มีการอบรมด้านความปลอดภัยที่จะมากพอที่จะปกป้องนักข่าวเหล่านี้ได้ หากปราศจากความเข้าใจที่ชัดเจน และการรู้คุณค่าของบทบาทสื่อในการยืนยันและอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา เมื่อเราไม่สามารถเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อหน้าเรา หรือตอบโต้ได้อีกต่อไป เมื่อนั้นเราได้ยอมให้ความมืดมาครอบงำชีวิตเราด้วยผลลัพธ์ที่น่ากลัวที่แม้แต่จะคิดถึง” เรด บาตาริโอกล่าวในบทความของเขาในหัวข้อ “Journalists under Fire.”

บาตาริโอ ซึ่งเป็นนักข่าวมาหลายปี และเป็นผู้อำนวยการบริหารศูนย์สำหรับการสื่อสารมวลชนและการพัฒนาชุมชน (Center for Community Journalism and Development - CCJD) และผู้ประสานงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับสถาบันความปลอดภัยข่าวสากล (International News Safety Institute - INSI)) ซึ่งประจำอยู่ ณ กรุงลอนดอน องค์กรทั้งสองเป็นแนวหน้าของการให้การสนับสนุนนักข่าว โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ตกในสถานการณ์ลำบาก

ดังเช่นที่สมาพันธ์นักข่าวสากล (International Federation of Journalists - IFJ) ณ กรุงบรัสเซลส์ ระบุในสิ่งตีพิมพ์ร่วม Live News ว่า “ประชาธิปไตยไม่สามารถทำงานได้ หากนักข่าวตกอยู่ในความหวาดกลัว แต่นักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐหลายคนเชื่อว่านักข่าวที่หวาดกลัวเป็นนักข่าวที่ว่าง่าย”

นักข่าวหลายคนในฟิลิปปินส์บอกว่า หลังจากการสังหารหมู่การได้มาซึ่งข้อมูลยากลำบากขึ้น และส่วนหนึ่งบอกว่าถูกข่มขู่จากเจ้าหน้าที่รัฐบางคนที่ไม่เต็มใจให้เอกสารแก่สื่อ

“ถ้าคุณเป็นนักข่าว แล้วคุณกำลังสืบสวนความจริงบางอย่าง คุณจะต้องระวังเป็นอย่างมากในการเก็บข้อมูล (ในสถานการณ์เช่นนี้)” ลูอิส เทโอโดโร อาจารย์ด้านสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ (UP) และรองผู้อำนวยการ ศูนย์สำหรับเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อ (Center for Media Freedom and Responsibility - CMFR) กล่าว

“นั่นเป็นหนึ่งในผลกระทบหลักๆต่อนักข่าวเชิงสืบสวนจากการไม่ต้องรับผิด” เทโอโดโรเสริม

การต่อสู้การไม่ต้องรับผิดยังเป็นหนึ่งในความท้าทายหลักที่กลุ่มสนับสนุนสื่อในฟิลิปปินส์ต้องเผชิญ เช่น กองทุนเสรีภาพสำหรับนักข่าวฟิลิปปินส์ (Freedom Fund for Filipino Journalists (FFFJ)) ซึ่งถูกตั้งขึ้นหลังจากคลื่นการฆาตกรรมนักข่าวซัดผ่านประเทศช่วงต้นทศวรรษที่ 2000

ผลกระทบแอบแฝงต่อสิทธิของประชาชนในการรับทราบ และความอยู่รอดของประชาธิปไตยเอง ของการไม่ต้องรับผิดนั้นหนักหนาสาหัสมากจริงๆ

ซึ่งเป็นหนึ่งเหตุผลที่ FFFJ รณรงค์ต่อต้านการไม่ต้องรับผิดอย่างแข็งขันผ่านการสานเสวนา การจัดเวที และกิจกรรมสู่ภายนอก นอกจากนั้น พวกเขายังส่งเสริมวิธีปฏิบัติสื่อสารมวลชนที่มีความรับผิดชอบ ในฐานะวิธีที่ดีที่สุดในการคุ้มครอง ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและกฎหมายอย่างทันท่วงทีแก่ครอบครัวของนักข่าวที่ถูกฆ่าในหน้าที่ ส่งทีมโต้ตอบด่วนเพื่อสืบสวนและรายงานการฆาตกรรมและคดีความรุนแรงต่อนักข่าวอื่นๆ รวมทั้งติดตามการฟ้องคดีที่เกี่ยวกับการโจมตีนักข่าว

FFFJ ซึ่งก่อตั้งในปี 2546 ประกอบด้วยศูนย์สำหรับการสื่อสารมวลชนและการพัฒนาชุมชน (Center for Community Journalism and Development (CCJD), ศูนย์สำหรับเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อ (Center for Media Freedom and Responsibility - CMFR), Kapisanan ng Brodkasters ng Pilipinas (KBP) หรือ สมาคมผู้กระจายเสียงแห่งชาติ, ศูนย์ฟิลิปปินส์สำหรับการสื่อข่าวเชิงสืบสวน (Philippine Center for Investigative Journalism - PCIJ), และสถานบันสื่อฟิลิปปินส์​ (Philippine Press Institute - PPI)

FFFJ และกลุ่มสนับสนุนสื่ออื่นๆ รวมถึงสมาชิก ได้ทำงานกับองค์กรสื่อสากลในการรณรงค์ต่อต้านการไม่ต้องรับผิดอย่างใกล้ชิด แต่ได้พบว่าตนกำลังเผชิญอุปสรรคมหาศาลที่ยากจะก้าวข้ามไปได้

นับตั้งแต่การฟื้นคืนประชาธิปไตยในปี 2529 มีนักข่าวทั้งหมด 217 คนได้ถูกฆ่าตาย ตามรายชื่อข้อมูลของสหภาพนักข่าวแห่งชาติแห่งฟิลิปปินส์ (National Union of Journalists of the Philippines - NUJP) ซึ่งเช่นเดียวกับ FFFJ และ CMFR ได้ติดตามและทำการแจ้งเตือนเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงต่อสมาชิกของสื่อ

เลขาธิการของ NUJP รูเพิร์ท มังกิลิท อธิบายว่า “เราเน้นย้ำข้อเท็จจริงที่ว่าเรามีสำนักงานย่อยในจังหวัดต่างๆ ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่สำนักงานมากินดาเนาเท่านั้นที่ส่งเสียงดังเกี่ยวกับการสังหารหมู่และคดีฆาตกรรมอื่นๆ นอกจากนี้ เรายังสามารถชักจูงองค์กรสื่ออื่นๆ,kเข้าร่วมในการรณรงค์ (ต่อต้านการไม่ต้องรับผิด) อีกด้วย”

ศูนย์ฟิลิปปินส์เพื่อการข่าวเชิงสืบสวน (The Philippine Center for Investigative Journalism (PCIJ)) ชี้ว่า ความท้าทายหลักที่พวกเขาเผชิญคือความไม่เต็มใจของรัฐบาลในการสืบสวนและฟ้องผู้กระทำผิดในคดีฆาตกรรมนักข่าว จากข้อมูลของ PCIJ บ่อยครั้งตำรวจจะบอกว่าเหยื่อไม่ได้ถูกฆ่าในหน้าที่ แต่เกิดจากมูลเหตุส่วนตัว ข้อเท็จจริงคือในคดีจำนวนหนึ่ง สมาชิกหน่วยงานที่บังคับใช้กฏหมาย เช่น ตำรวจท้องถิ่น ถูกกล่าวหาว่าเป็นมือปืนเสียเอง

ในคดีอันโด่งดังของเอ็ดการ์ ดามาเลริโอ ผู้รายงานข่าววิทยุจากเมืองปากาเดียนซิตี้ จังหวัดซัมโบอังกา เด็ล ซูร์ ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตใกล้บ้านของเขาในวันที่ 13 พฤษภาคม 2545 ผู้ร้ายเป็นนายตำรวจซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่ เขาถูกตัดสินลงโทษในภายหลัง แต่ผู้อยู่เบื้องหลังยังคงเป็นปริศนา

“ความท้าทายอันใหญ่หลวงของเรา คือการทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐยอมรับผิด” วิเซ็นเต้ บี คอราลเลส มัลติมีเดียโปรดิวเซอร์ของ PCIJ กล่าว

นักข่าวและสมาชิกกลุ่มสนับสนุนสื่อหลายคน ที่ได้ให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวคนนี้ ได้แสดงออกถึงความผิดหวังต่อความล่าช้าของคำวินิจฉัยของคดี โดยเฉพาะกรณีการสังหารหมู่ในมากินดาเนา และพวกเขาก็ไม่พอใจที่รัฐบาลของอากีโน โดยเฉพาะท่านประธานาธิบดีเองดูเหมือนจะไม่เป็นทุกข์ร้อนอะไร

จากข้อมูลของ CMFR ยังไม่เคยมีผู้อยู่เบื้องหลังคนใดถูกตัดสินลงโทษในคดีทั้ง 14 คดีตั้งแต่ปี 2529  ที่ฟ้องสำเร็จ อีกห้าคดีถูกถอนฟ้อง ขณะที่อีก 51 คดีที่เหลือยังค้างอยู่ในชั้นศาล รวมถึงคดีการสังหารหมู่อัมปาตวน

ข้อมูลยังระบุอีกว่า ในกรณีหลัง กระทรวงยุติธรรมได้ตั้งข้อกล่าวหาแก่คน 197 คน รวมถึงหัวหน้าของตระกูลอัมปาตวน นายอันดาล อัมปาตวน ผู้อาวุโส ด้วยข้อหาฆาตกรรม 58 กระทง ผู้พิพากษาโจเซลีน โซลิส-เรเยส แห่งสาขา 221 ของศาลชั้นต้นภูมิภาคเคซอนซิตี้กำลังสืบพยานอยู่ในขณะนี้ สมาชิกอีกสิบสี่คนของตระกูลรวมถึง อันดาล “อุนซาย” จูเนียร์ และ ซัลดาล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดของเขตปกครองตนเองในมุสลิมมินดาเนา (ARMM) กำลังรอขึ้นศาล คนอื่นที่กำลังรอขึ้นศาล ได้แก่ สมาชิกของกลุ่ม Provincial Mobile Group ที่ 1507 และ 1508 ของตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์ และกลุ่มติดอาวุธ

 

ทัศนคติของสื่อและคำแถลงการณ์ของประธานาธิบดี

พริมา กินซายาส ที่ปรึกษากฎหมายของ FFFJ และเป็นตัวแทนให้กับครอบครัวของเหยื่อการสังหารหมู่ทั้ง 17 ราย

 

มันเป็นความลับที่ทุกคนทราบกันดีว่า ประธานาธิบดีเบนิกโน อากีโนที่สาม และสื่อฟิลิปปินส์นั้นไม่ถูกคอกันสักเท่าไหร่ มีผู้ตั้งข้อสังเกตุว่า สามารถดูได้จากการที่ประธานาธิบดีตบตีกับสื่ออยู่เสมอ โดยบอกว่าสื่อคอยแต่จะจับผิดการทำงานของรัฐบาลของเขา แทนที่จะรายงานเกี่ยวกับความสำเร็จ

กลุ่มผลประโยชน์สาธารณะ นักกิจกรรม และสื่อก็ยังผิดหวัง ที่อากีโนดูไม่ค่อยกระตือรือร้นต่อความคิดในการผ่านร่างพรบ.เสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งพวกเขาบอกว่าสามารถนำมาใช้กับประเด็นการไม่ต้องรับผิดได้ โดยการเพิ่มการเข้าถึงเอกสารราชการ การผ่านร่างพรบ.เสรีภาพการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเป็นคำสัญญาของอากีโนตอนช่วงหาเสียงเลือกตั้ง

ในคำแถลงต่อหน้าสภาครั้งที่ 3 ในเดือนกรกฎาคม ปี 2557 อากีโนได้กล่าวสรุปลำดับประเด็นความสำคัญของรัฐบาลของเขาในสามปีที่ผ่านมา แต่ได้ละเลยประเด็นสิทธิมนุษยชนอย่างโจ่งแจ้ง สร้างความกังวลว่า เขาจะให้ความสนใจไปที่ประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนน้อยลง รวมถึงการฆาตกรรมนักข่าว ตามที่สมาพันธ์นักข่าวสากล (International Federation of Journalists - IFJ)) กล่าว

ทัศนะที่ชวนสิ้นหวังของรัฐบาลได้ถูกเน้นย้ำอีก โดยนักข่าว อัลลัน นาวาล ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานมินดาเนาของหนังสือพิมพ์ Philippine Daily Inquire โดยเขาได้บอกว่า “ผมคิดว่ามันน่าจะยุติธรรมดีที่จะพูดว่า พวกนักข่าวมีความชอบธรรมในการหมดความอดทนอดกลั้น ดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับผมสิ”

นาวาล ผู้ซึ่งอาศัยในเมืองดิกอสซิตี้ ในดาเวา เด็ล ซูร์ ซึ่งอยู่ห่างจากดาเวาซิตี้ ที่ที่เขาทำงานประมาณสองชั่วโมงโดยรถประจำทาง เล่าว่า เขาถูกขู่ฆ่าอยู่บ่อยๆ โดยเจ้าหน้าที่รัฐ และเคยถูกฟ้องครั้งหนึ่งจากการเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ข้องเกี่ยวกับการทุจริต ยาเสพติด และการพนัน

นักข่าวมินดาเนาอีกคนหนึ่ง อากีเลส โซนิโอ ซึ่งได้ตัดสินใจไม่ร่วมนั่งไปกับยานพาหนะคุ้มกันไปยังมากินดาเนาในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 ร่วมกับบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โจเซฟ จูเบลลัก บอกว่า “อากีโนที่สาม ได้ทำให้ครอบครัวของเหยื่อผิดหวัง ผมไม่คาดหวังว่าคามยุติธรรมจะบังเกิดภายใต้รัฐบาลของเขา พวกเขา (รัฐบาล) ไม่แม้แต่จะสามารถผ่าน ร่างพ.ร.บ.เสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ได้ให้คำสัญญาไว้ตอนหาเสียง และเขาก็พูดอย่างเดียวกันไว้เกี่ยวกับคดีการสังหารหมู่มากินดาเนา”

มีเรื่องราวที่เล่าต่อๆกันในวงการสื่อ ซึ่งแสดงให้เห็นอีกด้านของการไม่ต้องรับผิด “ในคดีหนึ่งในมะนิลา นายตำรวจนายหนึ่งรู้สึกถูกพาดพิงจากการแสดงความคิดเห็น และเดินทางไปที่สถานีวิทยุ แย่งไมค์จากผู้กระจายเสียงและตะโกนว่า “ทั้งหมดเป็นคำโกหก... เขา (นักวิจารณ์วิทยุ) เป็นคนโกหก!” เทโอโดโรจาก CMFR กล่าว

พริมา กินซายาส ที่ปรึกษากฎหมายของ FFFJ และเป็นตัวแทนให้กับครอบครัวของเหยื่อการสังหารหมู่ทั้ง 17 ราย สงสัยว่าทำไมเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยในการฆาตกรรมมาลีน เอสเปรัต นักข่าวอีกคน ซึ่งถูกยิงตายต่อหน้าลูกๆของเธอ ขณะกำลังจะทานอาหารเย็นในวันที่ 24 มีนาคม 2548 ผู้อยู่เบื้องหลังที่ถูกกล่าวหาทั้งคู่เป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตของกระทรวงเกษตรกรรมในมินดาเนา และยังคงลอยนวล

 

กินซายาสยอมรับว่าได้รับโทรศัพท์ข่มขู่ให้เธอเลิกทำคดีนักข่าวที่เธอช่วยอยู่

เทโอโดโรอธิบายว่าสถานการณ์เช่นนี้บ่งบอกว่า “ประชาธิปไตยกำลังอยู่ในอันตราย ดูจากสิ่งทีเกิดกับสื่อ การฆ่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และนักสิ่งแวดล้อม”

สถาบันความปลอดภัยข่าวสากล (The International News Safety Institute - INSI) อธิบายต่อว่า “การโจมตีอันโหดร้ายต่อนักข่าวมีแนวโน้มที่จะสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว การโจมตียับยั้งความสามารถของนักข่าวในการรายงานเชิงลึกและอย่างถูกต้อง แม่นยำ จึงถือเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนในการรับรู้”

จากรายงานปี 2557 ของ Committee to Protect Journalists (CPJ) หัวข้อ Breaking the Cycle of Impunity in the Killing of Journalists “เรื่องไม่ได้จบที่การตายของนักข่าวคนหนึ่งเท่านั้น แต่มันเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งการคุกคาม หากไม่มีใครถูกลงโทษ คนร้ายก็จะยิ่งฮึกเหิมขึ้น และความรุนแรงก็จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก นักข่าวไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการปิดปากตนเอง หรือแม้แต่หนีออกนอกประเทศ การโจมตีที่พุ่งเป้าหมายไปที่สื่อขัดขวางการทำความเข้าใจในทุกมิติของความรุนแรงในซีเรีย การค้ายาเสพติดในเม็กซิโก อิทธิพลของผู้ต่อสู้ในปากีสถาน และการทุจริตคอร์รัปชั่นในรัสเซีย”

กลุ่มสนับสนุนสื่อและนักข่าวที่พยายามต่อสู้การไม่ต้องรับผิดนั้นเข้าใจความเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างการฆาตกรรมนักข่าวและสิทธิพลเมืองในการรับรู้ ซึ่งมีผลช่วยการตัดสินใจด้วยข้อมูลดี แต่พวกเขาก็ยังเข้าใจด้วยว่าปัญหาหลายๆอย่างที่สื่อต้องเผชิญนั้นเป็นปัญหาเดียวกับที่หลอกหลอนสังคมฟิลิปปินส์ทุกวันนี้

ยกตัวอย่างเช่น องค์กรข่าวหลายองค์กรมีนักการเมืองผู้มีอิทธิพล นักธุรกิจ และเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเจ้าของ ซึ่งเป็นสูตรสำเร็จที่มีพลังที่สามารถหยุดความพยายามในการต่อสู้การไม่ต้องรับผิดได้อย่างง่ายดาย

ในระดับท้องถิ่น เทโอโดโรกล่าวว่า ขณะที่ CMFR พยายามสร้างความตระหนักเกี่ยวกับจรรยาบรรณสื่อในหลายๆด้านในหลายจังหวัด นักข่าวต้องเผชิญกับวิกฤตด้านเศรษฐกิจที่รุนแรง ซึ่งหลายคนจำเป็นต้องรับงานหาโฆษณาไปพร้อมกัน เพื่อให้มีรายได้พอประทังชีวิต บางคนทำงานให้กับนักการเมืองท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหาร หรือหน่วยงานข้อมูลของรัฐบาล (Philippine Information Agency (PIA))

นี่เป็นผลให้เหตุการณ์สื่อซับซ้อนขึ้น และการรณรงค์ต่อต้านการไม่ต้องรับผิดลำบากขึ้น

“ในการที่จะยุติการไม่ต้องรับผิด คุณจะต้องทำให้กระบวนการยุติธรรมเข้มแข็ง คุณต้องจับคนที่ฆ่านักข่าวเข้าคุก” เทโอโดโรเสริม

มันเป็นการง่ายเกินไปที่จะบอกว่า ฟิลิปปินส์เป็นตัวอย่างของผลลัพธ์ที่น่าเศร้าสลด โดยวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิดจากการฆาตกรรมนักข่าวที่ยืดเยื้อ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พม่า เป็นต้น

มีกลุ่มและเครือข่ายสื่อจำนวนหนึ่งในประเทศ เช่น เครือข่ายนักข่าวเมียนมาร์ สภาสื่อเมียนมาร์ สหภาพนักข่าวเมียนมาร์ และสมาคมนักข่าวเมียนมาร์ กลุ่มสื่อและนักข่าวอิสระในประเทศมองสภาสื่อเมียนมาร์ที่ได้รับเงินทุนจากประธานาธิบดีอย่างมีข้อสงวน โดยมีความคิดที่แพร่หลายว่าสภาจะไม่ปกป้องนักข่าวที่ตกทุกข์ได้ยาก หรือปกป้องสวัสดิการของพวกเขา เนื่องจากรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณต่อประธานาธิบดี

อีกด้านหนึ่ง เครือข่าวนักข่าวเมียนมาร์ได้ถูกก่อตั้งขึ้นโดยนักข่าวอายุน้อย เพื่อให้การสนับสนุนการอบรมแก่ผู้สื่อข่าวรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในระดับจังหวัด ทำงานเพื่อสนับสนุนสวัสดิการและสิทธิของนักข่าว และจับประเด็นเสรีภาพสื่อและความปลอดภัยของนักข่าวด้วย

เครือข่ายยังต่อต้านสิ่งที่พวกเขารู้สึกว่ารัฐบาลได้ละเมิดเสรีภาพทางประชาธิปไตย เช่น เมื่อรัฐพยายามร่างกฎหมายสื่อฉบับใหม่ซึ่งจะมีผลในการจำกัดการทำงานของสื่อ และตัดสินลงโทษนักข่าว 10 คนรวมทั้งเจ้าของสื่อในปี 2557

นักข่าวสี่คนและประธานบริหารของ Unity Journal ถูกตัดสินจำคุก 10 ปีด้วยพรบ. ความลับราชการ ค.ศ. 1923 จากการตีพิมพ์เรื่องราวเชิงสืบสวนเกี่ยวกับอาคารก่อสร้างลับของกองทัพ ซึ่งกล่าวว่าถูกตั้งขึ้นเพื่อผลิตอาวุธเคมี คำตัดสินที่รุนแรงนี้ถูกลดเหลือเจ็ดปีในภายหลัง หนังสือพิมพ์ Asian Tribune ของออสเตรเลียซึ่งมีบทเกี่ยวกับเอเชียที่เข้มข้น รายงาน

นักข่าวอีกสามคนซึ่งทำงานให้กับ Bi Moon-Tae-Nay Journal นายจอว์ ซอว์ เฮน, นายวิน ทิน, นายธุรา ออง และเจ้าของ นายยิน มิน ทุน และนายจอว์ มิน เคง ถูกคุมขังและสอบสวนโดนหน่วยงานพิเศษของตำรวจในเดือนกรกฎาคม 2557 เหตุการณ์เกิดขึ้นสั้นๆ ภายหลังการตีพิมพ์เรื่องราวที่อ้างคำพูดของ Myanmar Democratic Current Force (MDCF) อย่างไม่ถูกต้อง

สุดท้าย วารสารรายสัปดาห์ดังกล่าวถูกปิดลงในวันที่ 16 ตุลาคม 2557 ด้วยคำสั่งของศาลเมืองพา-เบ-ดานของเขตย่างกุ้ง ซึ่งก็ได้ตัดสินจำคุกเจ้าของ, บรรณาธิการ, และผู้สื่อข่าวเป็นเวลาสองปี

Asian Tribune ซึ่งได้รายงานเกี่ยวกับการจับกุมและการตัดสินลงโทษนักข่าวดังกล่าว ระบุว่า มาตรา 505 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งศาลใช้ในการประกอบการพิจารณา “เป็นหนึ่งในกฎหมายเผด็จการ ซึ่งรัฐบาลทหารชุดต่อมาใช้ในการจับนักกิจกรรมทางการเมืองและนักข่าวเข้าคุก” มินท์ จอว์ เลขาธิการของเครือข่ายนักข่าวเมียนมาร์เสริม “ในประเทศพม่า นักข่าวได้ถูกตัดสินลงโทษและถูกฆาตกรรม นักข่าวคนอื่นๆจึงลังเลที่จะรายงานเกี่ยวกับประเด็นที่อ่อนไหวมากๆ (เช่น ความขัดแย้ง) พวกเขารู้ว่าประเด็นเหล่านั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตพวกเขามากกว่า (ในการรายงาน) และครอบครัวของนักข่าวเหล่านั้นก็เป็นกังวลต่ออันตราย (ที่ญาติของพวกเขาต้องเผชิญ) ดังนั้น บางครั้งพวกเขาจึงบังคับให้เปลี่ยนสายงาน”

ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2557 นักข่าวชาวพม่าราว 100 คนได้จัดกิจกรรมรำลึกภายใต้แสงเทียนในนครย่างกุ้งเพื่อเฉลิมฉลองวันสากลเพื่อการยุติการไม่ต้องรับผิดในอาชญากรรมต่อนักข่าวเป็นครั้งแรก

แน่นอนว่าสถานการณ์ทางการเมืองในพม่านั้นต่างจากฟิลิปปินส์ จึงเปรียบเทียบกันได้ไม่ดีนัก การเปลี่ยนผ่านไปเป็นระบอบประชาธิปไตยในประเทศเพิ่งเริ่มในปี 2553 และได้ให้เสรีภาพระดับหนึ่งแก่สื่อ ซึ่งต้องไปเผชิญภัยคุกคามในรูปแบบอื่นๆแทน

ในเดือนตุลาคม 2557 นักข่าวอิสระ อ่อง จอ หน่าย ได้รายงายเกี่ยวกับการปะทะกันระหว่างทหารกะเหรี่ยงและทหารพม่า แต่ต้องถูกจับ จากรายงาน เขาได้ถูกทรมานก่อนที่จะถูกยิงโดยทหารของรัฐบาลนายหนึ่ง

Democratic Voice of Burma ซึ่งอ้างข้อมูลจากประจักษ์พยาน ระบุว่า ร่างกายของอ่อง จอ หน่ายแสดงถึงร่องรอยการถูกทรมาน

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งของพม่ากำลังทำการสืบสวนคดีนี้อยู่ในขณะนี้

จากรายงานเดือนพฤศจิกายน 2557 ของ South East Asian Press Alliance (SEAPA) “เหตุการณ์ที่น่าเป็นห่วงในพม่าเหล่านี้ ซึ่งได้แก่ คดีความของ Unity Journal, Bi Mon Te Nay และ Myanmar Thandawsint, และการฆาตกรรม อ่อง จอ หน่าย ชี้ให้เห็นว่าเสรีภาพสื่อในประเทศมีอายุไม่ยืน และคำชมก่อนหน้านี้ต่อรัฐบาลในการผ่อนปรนข้อจำกัดต่างๆ นั้นเกิดขึ้นก่อนเวลาอันควร วิญญาณปีศาจที่ถูกทิ้งไว้โดยกระทรวงตรวจสอบและจดทะเบียนสื่อ ซึ่งมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายสื่อ ค.ศ. 1962 ได้กระจายไปยังหน่วยงานต่างๆ หลายหน่วยงาน ซึ่งกำลังเพลิดเพลินกับการไม่ต้องรับผิดจากการกดขี่สื่อ”

ในหลายๆด้าน สื่อพม่าสามารถเรียนรู้อะไรหลายๆอย่างจากประสบการณ์ของฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะในการต่อสู้การไม่ต้องรับผิดอย่างไม่หยุดหย่อน

การที่กลุ่มสนับสนุนสื่อในฟิลิปปินส์ไม่ล้มละความพยายามในการทำลายสิ่งกีดขวางเสรีภาพสื่อ และการไหลเวียนของข้อมูลอย่างอิสระ โดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของพวกเขาในการทำลายกงล้อแห่งการไม่ต้องรับผิด

ไม่แน่ว่าจากประสบการณ์เหล่านี้ ชุมชนสื่อของพม่าจะสามารถเรียนรู้บทเรียนที่มีค่าที่อาจจะช่วยในการต่อสู้การไม่ต้องรับผิดในประเทศของพวกเขาเอง

 

* บทความชิ้นนี้ถูกผลิตขึ้นสำหรับโครงการ Southeast Asian Press Alliance (SEAPA) fellowship ประจำปี 2557 นัน ลวินเป็นนักข่าวชาวพม่า ทำงานในตำแหน่งผู้สื่อข่าวอาวุโสให้กับ The Kumudra Weekly Burma และเป็นหนึ่งในผู้ได้รับทุนปี 2557 หัวข้อสำหรับปีนี้คือ การสนับสนุนความเข้าใจระดับภูมิภาคเกี่ยวกับการไม่ต้องรับผิดในการฆาตกรรมนักข่าวในฟิลิปปินส์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท