Skip to main content
sharethis

แม้หลายคนมองว่าการดึงดูดคนเข้าสู่วงจรนักรบติดอาวุธอย่างกลุ่ม 'ไอซิส' เป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา แต่ในความเป็นจริงแล้วมีการดึงดูดผู้คนทั้งหลอกล่อด้วยเงิน สื่อให้เห็นว่าได้ผจญภัย และดึงดูดด้วยความเป็น 'เซเลบ' แบบอันธพาลวายร้ายที่ภาคภูมิใจในความโหดเหี้ยมของตน


อองเดร ปูแลง นักรบไอซิสผู้เสียชีวิตจากการสู้รบ เขามีพื้นเพจากแคนาดา
เรื่องของเขาถูกนำไปใช้เป็นโฆษณาชวนเชื่อ (Public Domain)

17 มี.ค. 2558  สำนักข่าวเดอะการ์เดียน รายงานเรื่องเกี่ยวกับวิธีการที่กลุ่มก่อการร้าย 'ไอซิส' หรือ 'ไอเอส' ดึงดูดพวกนักรบจากที่ต่างๆ เข้าร่วมได้ ซึ่งแม้ว่าพวกเขาจะอ้างศาสนาและมีการพยายามสื่อสารกับโลกมุสลิม เช่นการเผยแพร่วิดีโอในช่วงวันสำคัญทางศาสนา แต่วิธีการดึงดูดคนเข้าร่วมไอซิสก็ไม่ได้มีแต่แรงจูงใจทางศาสนาอย่างเดียว แต่มีอย่างอื่นที่หลากหลายกว่านั้น

เดอะการ์เดียนระบุถึงวิดีโอของกลุ่มไอซิสความยาว 20 นาทีซึ่งฉายในช่วงอีดิลฟิตรี (Eid al-Fitr) วันสิ้นสุดการถือศีลอดของชาวมุสลิมเมื่อเดือน ส.ค. 2557 ในวิดีโอดังกล่าวมีการเรียกร้องให้ชาวมุสลิมจากหลายแห่งในโลกร่วมกัน "ฮิจเราะห์" หรือ "ย้ายถิ่นฐาน" ไปยังที่ๆ พวกเขาเรียกว่าเป็น "รัฐอิสลาม" เพื่อต่อสู้และอ้างว่าถ้าเสียชีวิตก็จะได้ขึ้นสวรรค์

คำว่า "ฮิจเราะห์" เป็นคำที่มีความหมายสำหรับชาวมุสลิมเพราะเป็นคำที่สื่อถึงการที่ศาสดามูฮัมหมัดหลบหนีออกจากเมืองเมกกะไปสู่เมดินะฮ์เมื่อมีมือสังหารต้องการเอาชีวิต แต่หนึ่งในหัวหน้ากลุ่มอัลกออิดะฮ์ผู้นำขบวนการก่อการร้ายของกลุ่มศาสนาในยุคใหม่ตีความเอาเองว่ามันเปรียบเสมือนการเดินทางจาก "ดินแดนแห่งความกลัว" ไปสู่ "ดินแดนแห่งความปลอดภัย" และถูกตีความเพิ่มขึ้นอีกในเชิงที่ว่าเป็นการออกจากแผ่นดินเดิมและออกจากครอบครัวเพื่อสู้รบในการสร้างรัฐอิสลาม ทำให้สำหรับกลุ่มหัวรุนแรงส่วนใหญ่แล้วการทำ "ฮิจเราะห์" และการทำสงครามศาสนามีส่วนเกี่ยวข้องกัน

อย่างไรก็ตามวิดีโอดังกล่าวนี้ถูกนำมาเปรียบเทียบกับวิดีโอการตัดคอกลุ่มคนที่ถูกพวกเขาจับเป็นนักโทษ 17 คน เดอะการ์เดียนชี้ว่ามีการนำเสนอรายละเอียดการตัดคอซึ่งจงใจเผยภาพเพื่อสื่อถึงความเหี้ยมโหด อีกทั้งยังมีการนำเสนอรายชื่อและใบหน้าของสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายที่ดูเป็นคนผิวขาวจากประเทศตะวันตกต่างๆ อย่างฝรั่งเศส, เยอรมนี, อังกฤษ, เดนมาร์ก และออสเตรเลีย

โธมัส เฮกก์แฮมเมอร์ นักวิชาการผู้ศึกษาประวัติศาสตร์การทำสงครามศาสนากล่าวว่า ไอซิสมักจะนำเน้นนำเสนอกลุ่มนักรบที่มาจากต่างชาติอย่างมากและพวกเขามักจะเป็นคนที่ทำสิ่งที่เลวร้ายในนามของไอซิส ทำให้คนกลุ่มนี้เป็นผู้ทำให้ความขัดแย้งมีลักษณะสุดโต่งยิ่งขึ้น ดูโหดร้ายมากขึ้น และอาจจะทำให้ความขัดแย้งควบคุมจัดการได้ยากขึ้นด้วย เพราะนักรบจากต่างชาติมักจะเป็นพวกเน้นอุดมการณ์มากกว่ากบฏทั่วไปในซีเรีย


อะไรที่ใช้ดึงดูดคนเข้าร่วมกลุ่มก่อการร้าย

อย่างไรก็ตาม เดอะการ์เดียนระบุว่า ผู้คนที่เดินทางเข้าไปร่วมกับกลุ่มไอซิสต่างก็มีภูมิหลังต่างกัน พวกเขามีฐานะต่างกัน ไม่ได้มีการปลูกฝังทางศาสนามาเหมือนกันหมด แม้กระทั่งจอห์น ฮอร์แกน ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาด้านความมั่นคงและแนวคิดก่อการร้ายจากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตต์โลเวลล์ ยังกล่าวว่า "การวิจัยด้านจิตวิทยาตลอด 4 ทศวรรษ เกี่ยวกับเรื่องที่ว่าอะไรทำให้ผู้คนกลายเป็นผู้ก่อการร้าย ยังไม่สามารถสรุปในแง่ภาวะการณ์ได้เลย"

เดอะการ์เดียนระบุว่าโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มทำสงครามศาสนามักจะใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ความไม่สงบจากภายนอกเป็นข้ออ้างเช่นการรุกรานอัฟกานิสถานโดยสหภาพโซเวียตในอดีต แต่ผู้ที่เข้าร่วมก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเหยื่อจากสถานการณ์เสมอไป และมักจะอ้างในเรื่องของหน้าที่เชิงจริยธรรมโดยอ้างว่าประชาคมมุสลิมโลกกำลังอยู่ในอันตราย

ในขณะเดียวกันกลุ่มผู้เข้าร่วมเองก็ไม่ได้เข้าร่วมเพราะหน้าที่เสมอไป แต่เป็นเรื่องการกดดันทางสังคมจากบ้านเกิด หรือกระทั่งต่อสู้กับความขัดแย้งภายในตนเอง เดอะการ์เดียนระบุว่า การเป็นสมาชิกกลุ่มหัวรุนแรงอาจจะทำให้บุคคลเหล่านั้นรู้สึกได้รับการยอมรับ รู้สึกได้หลบหนีไปสู่ตัวตนใหม่ๆ รู้สึกได้ผจญภัย หรือกระทั่งเพื่อเงิน อย่างที่ฮอร์แกนบอกว่า "บางคนก็ต้องการหาความหมายให้ชีวิตตัวเอง บางคนก็ต้องการความตื่นเต้น บางคนก็ต้องการไถ่บาป"

สกอตต์ อาทรัน นักมานุษยวิทยากล่าวว่า คนจากชาติตะวันตกที่เข้าร่วมกับกลุ่มไอซิสมักจะเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต อาจจะเป็นผู้อพยพ เป็นนักเรียน มีงานทำ มีคนรัก หรือกำลังหาเพื่อนหาครอบครัวใหม่ แต่ส่วนใหญ่พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้รับการศึกษาตามศาสนาแบบดั้งเดิม และพวกเขาจะรู้สึกกว่าตัวเอง "เกิดใหม่อีกครั้ง" เวลาเข้าร่วมกับกลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนา

สถานการณ์ในซีเรียช่วงที่กลุ่มกบฏหลายฝ่ายต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาล มีกลุ่มกบฏทางศาสนาจากต่างชาติร่วมมือกับฝ่ายกบฏที่ไม่ฝักใฝ่ศาสนาอยู่บางช่วงอย่างไม่ได้ผูกมัดกันมากนัก แต่ดูเหมือนว่าฝ่ายกบฏศาสนาจะมีเป้าหมายระยะยาวคือการก่อตั้งรัฐที่ปกครองภายใต้กฎหมายอิสลามโดยไม่สนใจว่าชาวซีเรียต้องการหรือไม่

เดอะการ์เดียนระบุว่ากลุ่มติดอาวุธบางส่วนโฆษณาตัวเองผ่านทางโซเชียลมีเดีย ทั้งการแสดงความคิดเห็นต่อความขัดแย้ง การพูดถึงแรงจูงใจ มีอยู่จำนวนไม่มากที่พูดถึงความสำคัญทางศาสนาเพื่อจูงใจให้คนเข้าร่วม แต่บ่อยมากที่มีการหลอกล่อด้วยการอ้างถึง "ความสนุก" และ "การผจญภัย" โดยมีผู้ร่วมกลุ่มติดอาวุธคนหนึ่งเคยใช้คำว่า "ญิฮาดระดับ 5 ดาว" เพื่อพูดถึง "ความสนุก" จากการที่เขาได้ไปรบในซีเรีย

นอกจากนี้ยังมี 'เซเลบ' ในกลุ่มนักรบติดอาวุธ เช่นชาวดัทช์ที่ชื่อยิลมาซผู้ฝึกฝนนักรบให้กับหลายฝ่ายในซีเรีย มีรูปของเขาจำนวนมากและมีการโพสต์ลงในอินสตาแกรมในชื่อ "chechclear" ซึ่งสื่อถึงวิดีโอกลุ่มกบฏเชชเนียฆ่าตัดคอทหารรัสเซียอย่างโหดเหี้ยมเมื่อช่วงคริสตทศวรรษที่ 1990 นอกจากนี้เขายังใช้บัญชีอินสตาแกรมโพสต์รูปเกี่ยวกับสงครามในซีเรียและรูปถ่ายแวดล้อมอื่นๆ ทั้งการต่อสู้ กลุ่มนักรบ ไปจนถึงรูปที่ดูเหมือนชีวิตคนธรรมดาทั่วไป ทุกรูปยังมีการใช้ระบบปรับแต่งรูปของเว็บด้วย

ยิลมาซและนักรบคนอื่นๆ ยังใช้เว็บไซต์อย่าง Ask.fm ที่เป็นโซเชียลมีเดียแนวให้คนถามคำถามแล้วผู้ใช้เป็นคนตอบ ซึ่งมีคนถามนักรบเหล่านี้ทั้งเรื่องวิธีการเข้าไปในซีเรีย วิธีการบริจาคให้นักรบเหล่านี้ไปจนถึงเรื่องยิบย่อยอย่างอาหารและการใช้ห้องน้ำเมื่อพวกเขาเข้าร่วมรบ หรือคำถามว่าควรเอาอะไรไปด้วย ซึ่งการตอบคำถามมีทั้งการตอบแบบระวังๆ เช่นว่าจะแนะนำเป็นการส่วนตัว มีการขู่ว่าถ้าเป็นสายลับมาสืบจะมีการลงโทษอย่างไม่ปราณี แต่ในบางคำถามก็ตอบอย่างละเอียดเช่นคำถามเกี่ยวกับว่าควรเอาอะไรไปด้วย จะมีการตอบว่าควรนำเครื่องแต่งกายแบบไหน ยี่ห้ออะไร ควรกันน้ำได้ และรายละเอียดอื่นๆ

อย่างไรก็ตามในช่วงปี 2556 กลุ่มติดอาวุธเริ่มสู้รบกันเองและกลุ่มอัลกออิดะฮ์ก็ประกาศไม่ยอมรับกลุ่มไอซิส ทำให้กลุ่มเหล่านี้กร่อยไปช่วงหนึ่ง แต่ไอซิสก็กลับมาในปี 2557 พร้อมแผนการจัดตั้งสิ่งที่พวกเขาอ้างว่าเป็น "รัฐอิสลาม" โดยเน้นเรียกคนเข้าร่วมด้วยแรงจูงใจใหม่ๆ อย่างความรู้สึกว่าได้รับการยอมรับ ได้มีส่วนร่วมหรือเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เดอะการ์เดียนเรียกว่าเป็น "รัฐในอุดมคติแบบวิกลจริต" (demented utopia)


ลักษณะสื่อโฆษณาชวนเชื่อของไอซิสเทียบกับอัลกออิดะฮ์

เดอะการ์เดียนชี้ว่าความขัดแย้งระหว่างอัลกออิดะฮ์และไอซิสยังเป็นความขัดแย้งในแง่วิสัยทัศน์ที่ต่างกันด้วย โดยฝ่ายอัลกออิดะฮ์มีความต้องการฟื้นฟู "รัฐอิสลาม" ในระยะยาวและดูเป็นฝ่ายที่มีหัวคิดมากกว่าเมื่อเทียบกับไอซิส ถึงแม้ว่าพวกเขาจะล้าหลังจากแนวคิดวิชาการด้านอิสลามไปหลายร้อยปีก็ตาม แม้ว่าอัลกออิดะฮ์จะมีมุมมองที่บิดเบี้ยวและจงใจสังหารพลเรือน แต่วิธีการดึงคนเข้าร่วมของอัลกออิดะฮ์มีลักษณะแสดงออกเหมือนว่าพวกตน "มีเหตุมีผล" เพื่อดึงคนที่มีหัวคิดเข้าร่วมด้วย แต่ก็เป็นธรรมชาติของกลุ่มก่อการร้ายที่จะมีพวกอันธพาลและพวกบ้าความรุนแรงเข้าร่วมอยู่ด้วย เพียงแต่สองพวกหลังนี้เริ่มมีที่บ้านหลังใหม่ที่เรียกว่าไอซิส

รายงานของเดอะการ์เดียนระบุว่า ในขณะที่อะบู บัคร์ อัลบัคดาดี ผู้นำไอซิสมีดีกรีการศึกษาด้านศาสนาอิสลามสูงกว่าอุซามะฮ์ บิน ลาดิน อดีตผู้นำอัลกออิดะฮ์ และมักจะมีการอ้างใช้ศาสนาเพื่อให้ความชอบธรรมในการกระทำที่เลวร้ายของตนเช่นการค้าทาสบำเรอกาม แต่วิธีการส่งสารของไอซิสมีความต่างจากอัลกออิดะฮ์ในแง่ที่อัลกออิดะฮ์พยายามแสดงออกในสื่อเกณฑ์คนเข้าร่วมว่าพวกตน "กำลังทำสิ่งที่ถูก" แต่ไอซิสมีลักษณะกระตุ้นเร้าอารมณ์มากกว่าการโน้มน้าวให้เชื่อ มีการเน้นภาพและฉากความรุนแรงไปพร้อมกับการนำเสนอภาพฝันของสังคมในอุดมคติทั้งๆ ที่อยู่ในกลางสงคราม

นอกจากนี้การอ้างใช้ศาสนายังมีลักษณะไปในเชิงคำทำนายโลกแตก เช่นหลังจากไอซิสจับชนกลุ่มน้อยยาดิซในอิรักมาเป็นทาสก็อ้างคำทำนายว่า เมื่อโลกใกล้ถึงวันสิ้นโลก การจับคนเป็นทาสจะกลับมาอีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีลักษณะเปิดรับผู้คนทุกรูปแบบที่ต้องการจะเข้าร่วม

เดอะการ์เดียนระบุอีกว่าในขณะที่กลุ่มหัวรุนแรงมักจะคำนึงถึงแนวคิดเรื่อง "การชำระล้างให้บริสุทธิ์" แต่กลุ่มไอซิสสื่อตัวเองในแง่ที่ว่าเป็น "พวกหัวรุนแรงโดยบริสุทธิ์ใจ" คือไม่มีการใช้เหตุผลหรืออ้างการป้องกันตนเองใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีการซ่อนเร้นหรือหลอกให้คิดว่าอ่อนกำลังลงแต่มีการพูดถึงการแก้แค้น การใช้ความรุนแรงสะเทือนขวัญและแสดงออกให้เห็นถึงความเข้มแข็ง นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้มีการตั้ง "รัฐอิสลาม" โดยทันที โดยผู้นำกลุ่มไอซิสประกาศเรียกรวมพลชาวมุสลิมในเชิงที่ว่ามันเป็นหน้าที่ทางศาสนา


กรณีโฆษณาชวนเชื่อของ 'อองเดร ปูแลง'

เดอะการ์เดียนยกตัวอย่างโฆษณาชวนเชื่อของไอซิสโดยมีผู้นำเสนอเป็นนักรบชาวแคนาดาชื่อ อองเดร ปูแลง หรือที่กลุ่มไอซิสเรียกว่า 'อะบู มุสลิม' โดยระบุว่าเป็นตัวอย่างวิดีโอโฆษณาชวนเชื่อที่แสดงให้เห็นความเชี่ยวชาญในการจัดทำอย่างมาก มีทั้งการใช้ภาพฟุตเทจความคมชัดสูงในวิดีโอ มีลักษณะการเล่าเรื่องที่คำนึงว่าผู้รับสารจะมองพวกเขาอย่างไร ทำให้ปูแลงเล่าในทำนองว่าตัวเขา "ไม่ใช่แค่คนนอกของสังคม" เขามีบ้าน มีครอบครัว มีเพื่อนที่ดี อ้างว่าเขาไม่ใช่พวกที่อยากทำลายโลก แต่เขายอมละทิ้งชีวิตที่ดีเพื่อเข้าร่วมทำสงครามต่อต้าน "พวกนอกศาสนา"

อย่างไรก็ตาม รายงานในเดอะการ์เดียนระบุว่า ชีวิตของปูแลงในความเป็นจริงไม่ได้รักสงบอย่างที่เขาอ้าง เขาเคยถูกจับ 2 ครั้งจากข้อหาข่มขู่ใช้ความรุนแรงกับสามีของผู้หญิงที่เขาไปหลับนอนด้วย

ในวิดีโอโฆษณาชวนเชื่อ ปูแลงยังบอกอีกว่าไอซิสต้องการผู้คนจากหลายอาชีพไม่เพียงต้องการนักรบอย่างเดียวเท่านั้น จากนั้นวิดีโอก็แสดงให้เห็นภาพชีวิตปูแลงและตอนที่เขาไปร่วมรบ จนกระทั่งถูกระเบิดจนเสียชีวิตหลังจากนั้นก็ตัดภาพไปที่ร่างของเขากำลังจะถูกฝังตามด้วยข้อความในเชิงศาสนา

นอกจากนี้ไอซิสยังพยายามนำเสนอภาพจากพื้นที่ที่พวกเขายึดครองในซีเรียและอิรัก ที่มีการตัดต่อภาพอย่างระมัดระวัง เกี่ยวกับการสร้างรัฐในอุดมคติ การหารายได้จากแหล่งน้ำมันในตลาดมืด พยายามแสดงให้เห็นว่ารัฐสถาปนาของพวกเขามี "ความมั่นคง" และมีอะไรที่เป็นรูปเป็นร่าง

"ไอซิสพยายามเกณฑ์คนเข้าร่วมและผู้สนับสนุนที่โน้มเอียงไปในทางสุดโต่งทางอุดมการณ์หรือเป็นพวกชอบความรุนแรงโดยส่วนตัว ด้วยการใช้สื่อเชิงกระตุ้นเร้าที่มีส่วนผสมของภาพที่รุนแรงและการพรรณาถึงรัฐในอุดมคติ " เดอะการ์เดียนระบุในรายงาน

เดอะการ์เดียนประเมินว่า เมื่อพวกเขาเหล่านั้นเข้าไปอยู่ในพื้นที่จริงๆ ก็ต้องเผชิญกับความยากลำบากทางสภาพแวดล้อม ได้รับบาดแผลทางใจ เห็นภาพความรุนแรงทางเพศ การใช้แรงงานทาส การสังหารหมู่ และการประหารต่อหน้าสาธารณชน ทั้งหมดนี้ส่งผลทำให้พวกเขาเปลี่ยนไปหลังกลับจากการไปร่วมกับไอซิสแล้ว และอาจจะส่งผลต่อสังคมที่พวกเขากลับไปเยือนได้ อีกทั้งยังมีโอกาสถึงขั้นก่อการร้ายในบ้านเกิดของพวกเขาเอง


เรียบเรียงจาก

Thugs wanted – bring your own boots: how Isis attracts foreign fighters to its twisted utopia, The Guardian, 09-03-2015
http://www.theguardian.com/world/2015/mar/09/how-isis-attracts-foreign-fighters-the-state-of-terror-book
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net