Skip to main content
sharethis

16 มี.ค. 2558 เวลาประมาณ 11.30 น. ชุมชนเพิ่มทรัพย์ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ แจ้งว่า วันนี้ มีกำลังทหาร ค่ายวิภาวดีรังสิต และ จนท.อ.ส. จาก อำเภอชัยบุรีนำโดย ร.ต. ฐิติกานต์ เวชสิทธิ์ มีกำลังประมาณ 40-50 คน พร้อมหนังสือลงนามโดยฉัตรป้อง ฉัตรภูติ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้ชาวบ้านซึ่งเป็น สมาชิก สกต. ถอนตัวออกจากพ.ท.ชุมชนเพิ่มทรัพย์ ทันทีในวันนี้

ขณะที่ทหารเข้าไป มีสมาชิกอยู่ใน พ.ท. เกิดเหตุ ประมาณ 30 คน โดยทหาร แจ้งว่าถ้าไม่ยอมออกจะถูกเรียกไปปรับทัศนคติและกักขังในค่ายวิภาวดีรังสิต จังหวัดทหารบกสุราษฎร์ฯ แต่สมาชิก สกต. ไม่ยอมออก เพราะต้องลงนามให้สัญญาว่าจะไม่ย้อนกลับเข้า พ.ท. อีกต่อไป แต่ยอมให้จับไปปรับทัศนคติ

ทั้งนี้ ชาวบ้านชุมชนเพิ่มทรัพย์ ให้ข้อมูลว่า ชุมชนเพิ่มทรัพย์ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าบ้านหมาก-ป่าปากพัง ซึ่งบริษัทไทยบุญทองเคยได้รับสัมปทานเช่าที่ดินปลูกปาล์มน้ำมัน ตั้งแต่ ปี 2528 ปัจจุบันได้หมดสัญญญามาแล้ว 14 ปี แต่บริษัทดังกล่าวไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่ แต่ยังคงยึดครองทำประโยชน์ต่อ เมื่อมีสมาชิก สกต. และเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ เข้าตรวจสอบ และทวงคืนผืนดิน มาทำการเกษตร ฝ่ายนายทุนจึงอาศัยสถานการณ์รัฐประหาร และการประกาศใช้กฎอัยการศึก ผนึกกำลังกับทหาร ขับไล่ชาวบ้านดังรายงานข้างต้น แทนที่จะไล่นายทุน นอกจากนี้ นายเพียรรัตน์ บุญฤทธิ์ ประธานสหกรณ์การเกษตร สกต. เคยถูกเรียกปรับทัศนคติเมื่อวันที่ 3-5 ก.พ. 58 ที่ผ่านมา

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ชาวบ้านต้องออกจากชุมชนหลังการไล่รื้อของเจ้าหน้าที่ทหาร และเพิ่งได้กลับเข้าไปเพียง 1 สัปดาห์ เนื่องจากหลังการประชุมร่วมระหว่างขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) กับนายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือลงวันที่ 25 ก.พ.2558 มอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีประสานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และจังหวัดสุราษฎร์ธานี พิจารณาให้ความช่วยเหลือประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยอนุญาตให้ประชาชน เข้าไปดูแลและเก็บผลอาสินในพื้นที่ได้ในช่วงเวลากลางวัน


ทหารยันทำตามหน้าที่ ไม่ได้ปกป้องนายทุน
เมื่อสอบถามไปยัง ร.ต.ฐิติกานต์ เวชสิทธิ์ เจ้าหน้าที่ทหารค่ายวิภาวดีรังสิต ถึงกรณีที่เกิดขึ้น ได้รับการชี้แจงว่า การเข้าพื้นที่วันนี้เป็นการสนธิกำลังเข้าตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจจากโรงพักชัยบุรี เจ้าหน้าที่ป่าไม้จากสำนักป่าไม้ที่ 1 เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดยเข้าพูดคุยสอบถาม เนื่องจากได้รับแจ้งจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่

เจ้าหน้าที่ทหารค่ายวิภาวดีรังสิต ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ความขัดแย้งว่า บริษัทไทยบุญทอง จำกัด ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 26 ส.ค.2557 โดยแบ่งที่ดินกึ่งหนึ่ง คือ 1,770 ไร่ เพื่อจัดสรรในราษฎรจำนวน 220 ราย ไปแล้ว ส่วนที่ดินที่เหลืออีก 1,165 ไร่ อยู่ระหว่างขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทำให้ยังไม่มีการลงนาม มีเพียงการขออนุญาตเข้าเก็บผลอาสินเป็นรายปี จึงมีกลุ่มบุคคลรวมตัวเข้าบุกรุกและกดดัน เรียกร้องที่ดินทำกินจากผู้ประกอบการในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง

เขาระบุด้วยว่า สำหรับชุมชนเพิ่มทรัพย์ นายเพียรรัตน์ บุญฤทธิ์ ได้ชักจูงชาวบ้านจำนวน 28 ครัวเรือน บุกยึดเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ของบริษัทไทยบุญทองในนามสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) โดยจากข้อมูลที่ได้การเข้ายื่นรายชื่อต่อคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินจังหวัดสุราษฎร์ธานี (ศจพ.จ.สฎ.) เมื่อ 30 เม.ย.57 ระบุเข้าทำกินในพื้นที่ 275 ไร่ แต่จากการรังวัดล่าสุดโดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ พบว่ามีการขยายพื้นที่เป็น 405 ไร่

ร.ต.ฐิติกานต์ กล่าวว่า ทั้งนี้ หลังการรัฐประหาร บริษัทฯ ได้ร้องให้มีการตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งชาวบ้านก็ได้อ้างคำสั่งรัฐบาลให้อยู่อาศัยไปพลางโดยไม่มีเอกสารยื่นยัน เมื่อวันที่ 3-5 ก.พ.จึงได้เชิญ นายเพียรรัตน์ เข้าปรับทัศนคติ พร้อมกับกำนันและสารวัตรกำนันซึ่งเป็นแกนนำชาวบ้านที่เข้ายึดครองที่ดินของเอกชนเช่นกัน

ร.ต.ฐิติกานต์ กล่าวด้วยว่า กรณีชุมชนเพิ่มทรัพย์เจ้าหน้าที่ทหารเข้าตรวจสอบเพื่อไม่ให้เกิดการเอาอย่าง ที่ผ่านมาในพื้นที่ไม่มีหน่วยงานของรัฐกล้าเข้าไปจัดการในพื้นที่อย่างจริงจัง เพราะกลัวกระทบชาวบ้านและกลัวถูกหาว่าปกป้องนายทุน แต่ในภาวะของการใช้อำนาจพิเศษจากการประกาศกฎอัยการศึก และด้วยความที่ส่วนตัวอยู่ในพื้นที่มาตั้งแต่ 14 ก.ย. 2557 ทำให้รู้ว่าปัญหาที่แท้จริงไม่ใช่ความเดือดร้อน แต่เป็นเรื่องผลประโยชน์ของแกนนำที่ต้องการเก็บผลอาสินในพื้นที่ หากรัฐปล่อยให้มีการทำผิด ก็จะมีผู้กระทำผิดรายอื่นๆ เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ

“การตั้งกลุ่มของประชาชนเป็นกลุ่มองค์กรเพื่อกดดันเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเอาความเดือดร้อนเป็นที่ตั้ง ขัดกับกฎอัยการศึก อาจเกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้” ทัศนะจากเจ้าหน้าที่ทหาร

เมื่อสอบถามถึงการใช้อำนาจของทหาร ร.ต.ฐิติกานต์ ชี้แจงว่า อำนาจพิเศษที่มีอยู่ตอนนี้ ใช้กวดขันให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย และให้ความช่วยเหลือได้ในบางประเด็น แต่ไม่ใช่การเนรมิต ไม่สามารถเอาที่ดินมาจัดสรรให้ได้เลย ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมายที่มีอยู่ ส่วนข้อเสนอตอนนี้ คือให้ชาวบ้านในพื้นที่อยู่เฉยๆ ไม่ออกมาเคลื่อนไหว เอาความเดือดร้อนต่างๆ เขียนไว้ และส่วนตัวในฐานะที่มีอำนาจอยู่จะช่วยแก้ปัญหา ตอนนี้รัฐรู้แล้วว่าราษฎรมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน แต่ไม่อยากให้ออกมาเคลื่อนไหวในตอนนี้

“ผมไม่ได้กระทำการปกป้องประโยชน์นายทุน ผมทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา และข้อกฎหมาย” ร.ต.ฐิติกานต์ กล่าว

“เว้นที่ยืนให้เจ้าหน้าที่บ้าง” ร.ต.ฐิติกานต์ กล่าว และว่า หากมีการก้าวก่ายการทำงานจากส่วนกลาง ก็ต้องเข้าไปก้าวก่ายทุกพื้นที่ของประเทศ ทั้งนี้แม้ไม่ใช่สายงานก็มีผลให้ต้องปฏิบัติตาม การสั่งการตรงจากส่วนกลางทำให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทำงานลำบาก ลำพังการต้องเผชิญหน้ากับชาวบ้านในพื้นที่ก็ลำบากอยู่แล้ว แต่หากจะละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็เป็นความผิด เพราะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตอนนี้เจ้าหน้าที่ทำก็ผิด ไม่ทำก็ผิด


ข้าหลวงใหญ่สิทธิยูเอ็นห่วงสถานการณ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2558 สำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ได้ส่งหนังสือถึงผู้บังคับการจังหวัดทหารบกสุราษฎร์ธานี แสดงความเป็นห่วงกรณีการละเมิดสิทธิชุมชน กรณีการเรียกตัวแกนนำชาวบ้านชุมชนเพิ่มทรัพย์คือ เพียรรัตน์ บุญฤทธิ์ ประธานสหกรณ์สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ เข้าปรับทัศนคติเป็นเวลา 3 วัน และกรณีที่เจ้าหน้าทหารจำนวน 5 นาย เข้าไปปิดล้อมชุมชนพร้อมสั่งให้ชาวบ้านกว่า 28 หลังคาเรือนออกนอกพื้นที่ ขณะเดียวกันเมื่อเพียรรัตน์ได้รับการปล่อยตัวออกมา เจ้าหน้าที่ทหารได้มีการสั่งให้เพียรรัตน์ เรียกประชุมชาวบ้าน เพื่อชี้แจงให้ออกนอกพื้นที่ ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอนี้ชาวบ้านคนอื่นๆจะถูกเรียกตัวไปปรับทัศนคติอีก

โดย OHCHR เสนอว่า การหาทางออกต่อความขัดแย้งเรื่องสิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดินของชาวบ้านต้องดำเนินการโดยให้การเคารพอย่างเต็มที่กับสิทธิชุมชน รวมถึงหลักกระบวนการอันควรปฏิบัติตามกฏหมายและสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม พร้อมอยากทราบว่าเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2558 สำนักนายกรัฐมนตรีได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี แนะถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้น ทางสำนักข้าหลวงใหญ่ฯต้องการทราบว่า ทางจังหวัดทหารบกสุราษฎร์ธานีจะมีการดำเนินการต่อเรื่องนี้อย่างไรต่อไป

 

หมายเหตุ: ประชาไทเพิ่มเติมเนื้อหาข่าวเมื่อเวลา 23.00น. 16 มี.ค.2558

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net