Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation) เป็นส่วนหนึ่งของสงครามจิตวิทยาเเละการเเย่งชิงมวลชน  ในเเนวคิดของทหาร การเเย่งชิงมวลชนเเบ่งเป็นฝ่ายที่เห็นด้วย ฝ่ายที่คัดค้านหรือตั้งตัวเป็น “ปรปักษ์” เเละฝ่ายที่ไม่เลือกฝ่ายใด หรือคนกลาง ๆ  ในเว็บไซต์ “การจัดการองค์ความรู้กองทัพบก” เรื่อง “การปฏิบัติการข่าวสารในสถานการณ์ความขัดแย้ง (Information Operation ( IO)  in Conflict Situations)”  พันเอกฤทธี  อินทราวุธ (ยศปัจจุบัน พลตรี) ได้กล่าวถึงปฏิบัติการข่าวสาร กับกลุ่มเป้าหมายสามกลุ่ม กลุ่มเเรก คือมวลชนของตน เน้นการปฏิบัติการข่าวสารเพื่อให้ “เกิดความความเชื่อมั่นในความถูกต้องและความชอบธรรมในการกระทำของฝ่ายตน เกิดความภาคภูมิใจ ความฮึกเหิมและความคาดหวังในผลสำเร็จของการต่อสู้เรียกร้อง และปักหลักอยู่ร่วมกิจกรรมอย่างเหนียวแน่น”  สำหรับกลุ่มตรงข้ามมุ่งใช้การ “... กล่าวโจมตีการกระทำอันเป็นการไม่เห็นด้วยกับการต่อสู้เรียกร้อง การขัดขวางการต่อสู้เรียกร้องในทำนองว่าตกเป็นเหยื่อ ตกเป็นเครื่องมือ เป็นสมุน หรือเป็นทาสรับใช้ของฝ่ายตรงข้าม เพื่อสร้างความไม่แน่ใจ ลังเลใจ ขาดความเชื่อมั่น หรือเกิดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี จนไม่อยากเข้าร่วม ...” ในกลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มกลาง ๆ ที่ยังไม่เลือกข้าง เป็นกลุ่มที่สำคัญเเละต้องเเย่งชิงมาให้เป็น “ฝ่ายตน” ให้มากเเละเร็วที่สุด

การสื่อสารในปฏิบัติการข่าวสารเน้นการสื่อสารสามขั้นตอน คือ “ละลายความเชื่อ”  หรือทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้าม ทำให้ผู้เชื่อขาดความเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนเองเชื่อแต่เดิม ต่อมาเป็นการดึงให้คนเข้ามาเชื่อและสนับสนุนฝ่ายของตน โดยผ่าน “การผสมผสานกันระหว่างความหวาดกลัวและความสุข เทคนิคนี้มักนำเสนอด้วยการสร้างภาพความเลวร้าย หรือผลเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น การสร้างจินตนาการความหวาดกลัว เพื่อให้จิตใจผู้ไม่ฝักฝ่ายเกิดความรู้สึกเครียดก่อน  จากนั้นก็ใช้ความโรแมนติกมาปลอบประโลมด้วยข้อเสนอทางเลือกที่สามารถทำให้ความเครียดที่มีอยู่เปลี่ยนเป็นความสุขและความหวัง” เเละที่สำคัญคือขั้นสุดท้าย “เป็นการเสริมสร้างความเชื่อให้สุดโต่ง ... รวมถึงการนำเสนอข้อมูลด้านเดียวในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยแนวร่วมที่พร้อมจะรับฟัง และการกีดกันข้อมูลข่าวสารชุดอื่นที่จะทำให้เกิดผลเสียต่อการทำปฏิบัติการจิตวิทยา โดยจะมีการสร้างความเชื่อให้สุดโต่งอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันภาวะการฉุกคิดใคร่ครวญไตร่ตรองข้อมูลข่าวสาร”

ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีการสื่อสารดังกล่าว เมื่อนำมาประกอบกับตัวอย่างการนำเสนอข้อมูลในเพจ “ทหารปฏิรูปประเทศไทย” จะเห็นเทคนิคเด่น ๆ ต่าง ๆ ที่นำมาใช้อย่างผสมผสานในข้อความ ทั้งการปลุกระดมสร้างความชอบธรรมให้ผู้ที่เชื่อเเบบเดียวกับตนเอง การโจมตีผู้ที่คิดต่าง ว่าเป็นทาสของฝ่ายตรงข้าม พร้อมกับสร้างความหวาดกลัว และหวาดระเเวง เช่น “เพียงโยนคำว่าประชาธิปไตย และเสรีภาพ พร้อมเงินนิดหน่อย ใส่ทุยแดงละอ่อนพวกนี้ก็กระโดดจากคอก ออกมางับหญ้าทันที”  “และการข่าวมาว่า งานนี้กลุ่มที่เดินป่วนเมืองเพื่อหวังเป็นข่าว จะโดนแก็งค์ก่อการร้ายแดง นปช.ปาระเบิด RGD-5 ใส่ เพื่อจะหาเหตุใส่ร้ายรัฐ แล้วจะเอาศพมาแห่ตามธรรมเนียม..ให้ดูว่าช่วงที่แก๊งค์นี้เดิน จะฝ่าบาทา ไม้หน้าสาม ไข่เน่า อึ จากประชาชนที่จะปาใส่ได้สักกี่น้ำ” “ตอนนี้พวกทุยแดงเทียมเกวียน กำลังเรี่ยไรเงินกันขนานใหญ่ อ้างว่าเอาไปช่วย แต่แท้จริงคือมุขเดิมๆ คือ อมเงินกันตามระเบียบ” 

การนำเสนอข้างต้นเป็นทั้งการนำเสนอข้อมูลด้านเดียว เพื่อรักษามวลชนฝ่ายตนเอง รักษาความสุดโต่ง เเละเพื่อละลายคามเชื่อของคนกลาง ๆ  ตลอดจนสร้างเหตุผลที่ควรต่อต้านคัดค้านกลุ่มเหล่านี้เเก่คนกลาง ๆ เช่น กลุ่ม “ก่อการร้าย” “ล้มเจ้า” “ผลไม้พิษ” “ไซออนนิสต์” ลูกน้อง “อิลลูมินาติ” หรือ ขี้ข้าอเมริกา เพื่อสร้างความหวาดกลัว พร้อมกับการตั้งโปรแกรมใส่ข้อมูลให้ผู้อ่านเห็นถึงอันตรายของ​อิลลูมินาติ ไซออนนิสต์ อเมริกา ควบไปกับภัยธรรมชาติอื่น ๆ ในโพสต์อื่น ๆ ของเพจ ซึ่งไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือให้ข้อมูลถึงผลกระทบเกินจริง สลับไปกับการใช้เรื่องเล่าที่สร้างความปลาบปลื้มปิติและให้มวลชนเชื่อมั่นว่ารัฐบาลทหารและกองทัพจะเป็นผู้สร้างความสุขและคุ้มครองประชาชน  คู่ขนานไปกับอันตรายต่าง ๆ ที่ถูกสร้างภาพให้ร้ายแรงเกินจริง

ปฏิบัติการข่าวสารไม่ได้มุ่งหวังจะนำเสนอข้อเท็จจริง ดังนั้นการจับเท็จหรือจับเงิบ จึงไม่มีผลต่อมวลชนที่เชื่อมั่น สำหรับคนกลาง ๆ การโกหกซ้ำ ๆ บ่อย ๆ จนไม่มีเวลาทบทวนตรวจสอบข้อมูล เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการไตร่ตรองโดยจงใจ  ถึงข้อมูลไม่จริง เเต่การมีโพสต์ขึ้นมาจำนวนมาก ๆ ประกอบกับหากอ่านผ่าน ๆ โดยไม่ตรวจสอบ ก็ยากที่จะตรวจสอบข่าวที่ผสมระหว่างเรื่องจริงเเละเรื่องเกินจริงได้  ยิ่งการจับเงิบมาจาก “ฝ่ายตรงข้าม” ซึ่งสามารถใช้ปฏิบัติการข่าวสารทำลายความน่าเชื่อถือได้ เช่น อ้างว่ามีการรับเงินมาเพื่อทำลายฝ่ายตนเอง เป็นต้น

สถานการณ์ปฏิบัติการข่าวสารรุนแรงด้วยการสร้างความกลัวและความโหยหาภาวะ “โรเเมนติก” ที่ไม่มีอยู่จริง ไม่ว่าจะเป็นความสงบสุขของชาติ ความกลัวชาติล่มสลาย กลัวภัยต่าง ๆจะลามมาถึงตัว เป็นการเล่นเกมส์ความรู้สึก โดยหวังชัยชนะเบ็ดเสร็จ เเต่ความขัดเเย้งนี้ต่างฝ่ายต่างถือสมาร์ทโฟน และไม่มีใครอยากถูกตราหน้าว่า “เป็นขี้ข้า” ชัยชนะเบ็ดเสร็จที่หวังจะดึงคนกลางมาช่วยกระทืบคนเห็นต่างจึงอาจเป็นการตอกลิ่มสร้างความขัดเเย้งให้ยืดเยื้อไปอีก โดยเฉพาะถ้าคนกลาง ๆ รู้ทัน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net