Skip to main content
sharethis

อาจจะมีฮือฮามาบางครั้งคราวเมื่อมีการโฟกัสเรื่อง “ผู้หญิง-ความสวย-หน้าที่การงาน” และแม้สัดส่วนผู้หญิงในอาชีพหน้าที่การงานจะเบียดผู้ชายเพิ่มมากขึ้น แต่โดยรวมแล้วผู้หญิงยังคงเป็นกลุ่มน้อยในเรื่องการดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งในไทยและระดับโลก

ผู้หญิงกับการเป็นผู้นำทางการเมืองในระดับต่างๆ

 

 

 

ข่าวดัง (วูบหนึ่ง) ในโลกโซเชียลมีเดียเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็คือการประโคมข่าวเรื่องผู้ใหญ่บ้านที่สวยที่สุดในประเทศไทย  "แม่หลวงกุ้ง" สุพัตรวี อยู่แพทย์ ผู้ใหญ่บ้านสาววัย 35 ปี ของหมู่บ้านศิริวัฒนานิเวศน์ หมู่ 6 ต.หนองหอย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ แต่การต่อยอดในประเด็นนี้ก็มักจะไปในแนวการดูแลตัวเองของผู้หญิง ส่วนประเด็นสำคัญอย่างเรื่องผู้หญิงกับการเมืองกลับถูกละเลยไปไม่ค่อยจะพูดถึงมากนัก

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา (Gender and Development Research Institute) สำหรับเรื่องผู้หญิงกับการเมืองในประเทศไทย พบว่าระหว่างปี พ.ศ. 2526 - 2550 มีการเลือกตั้ง ส.ส. 10 ครั้ง ผู้หญิงได้รับเลือกตั้งเฉลี่ยร้อยละ 7.54 ของผู้หญิงที่ลงสมัคร ส่วนในการเลือกตั้ง ส.ว. 3 ครั้ง ผู้หญิงได้รับเลือกตั้งเฉลี่ยร้อยละ 16.79 ในด้านการเมืองและการบริหารท้องถิ่น พบว่าจากการสำรวจในปี 2553 มีผู้หญิงเฉลี่ยแล้วประมาณร้อยละ 10 ตำแหน่งสำคัญๆ อาทิเช่น รองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้หญิงร้อยละ 4.17 นายอำเภอเป็นผู้หญิงร้อย 0.46 ส่วนระดับท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งพบว่าผู้หญิงมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น (แต่ก็ยังเทียบกับผู้ชายไม่ได้) โดยผู้หญิงได้รับเลือกเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยละ 9.33 สมาชิกสภาจังหวัดร้อยละ 12.71 นายกเทศบาลนคร ร้อยละ 16 สมาชิกเทศบาลนคร ร้อยละ 12.01 นายกเทศบาลเมือง ร้อยละ 8.45 สมาชิกเทศบาลเมือง ร้อยละ 12.31 นายกเทศบาลตำบล ร้อยละ 6.52 สมาชิกเทศบาลตำบล ร้อยละ 14.90 นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ร้อยละ 6.49 สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ร้อยละ 13.35 กำนันร้อยละ 4.19 และผู้ใหญ่บ้าน ร้อยละ 6.57

 

สตรีผู้มาก่อนผู้ใหญ่บ้านที่สวยที่สุดในประเทศไทย

พ.ศ. 2492

- คุณอรพินท์ ไชยกาล จังหวัดอุบลราชธานี เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิงคนแรกจากการเลือกตั้ง

พ.ศ. 2508

- คุณชลอจิต จิตตะรุทธะ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาหญิงคนแรก  

พ.ศ. 2510

- คุณนิตยา มหาผล ได้รับการแต่งตั้งเป็นวิศวอุตสาหกรรมหญิงคนแรก

พ.ศ. 2512

- คุณจินตนา นพคุณ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีหญิงคนแรก

พ.ศ. 2525

- คุณมลิเชียร เพ็งวงษ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นกำนันหญิงคนแรก และคุณสมทรง สุรพันธ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านหญิงคนแรก

พ.ศ. 2531

- คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นรัฐมนตรีหญิงคนแรกที่มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

พ.ศ. 2537

- คุณจรัสศรี ทีปิรัช ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหญิงคนแรก

พ.ศ. 2539

- คุณประสม ดำริชอบ ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายอำเภอหญิงคนแรก

พ.ศ. 2554

- ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

 

สถานการณ์ของไทยก็ไม่ได้ต่างจากภาพรวมในระดับโลกมากนัก โดยข้อมูลจากรายงาน No Ceilings: The Full Participation Project ที่เผยแพร่ในช่วงวันสตรีสากลเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมารายงานระบุว่า สัดส่วนการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของผู้หญิงยังเทียบกับผู้ชายไม่ได้ ปัจจุบันทั่วโลกมีนักการเมืองผู้หญิงไม่ถึงร้อยละ 30 และหากมองเฉพาะภูมิภาคลาตินอเมริกาและแอฟริกาที่มีผู้หญิงเป็นรัฐมนตรีประมาณ 1 ใน 5 แต่ส่วนใหญ่นั่งกระทรวงสาธารณสุข การศึกษา หรือสวัสดิการสังคม ไม่ใช่กระทรวงหลักอย่างกลาโหมหรือการคลัง ขณะที่ประเทศที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังเป็นสตรีมีเพียง 24 ประเทศจากทั้งหมด 189 ประเทศ

สำหรับประเทศไทยข่าวที่ครึกโครมถัดจากนั้นก็คือความพยายามผลักดันสัดส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้มีสัดส่วนหญิงชาย 50:50 ซึ่งดูเป็นข้อเสนอที่ดูผิดฝาผิดตัวและผิดเวลาเนื่องจากเสนอในขณะที่ประเทศยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตย

ทั้งนี้พรรคการเมืองในระบบประชาธิปไตยต้องมีบทบาทการส่งเสริมให้มีจำนวนผู้แทนของประชาชน (ส.ส.) ที่เป็นผู้หญิงเข้าไปในฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารให้มากขึ้น และในประเทศทั้งที่พัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนาก็มีการระบุเรื่องสัดส่วนเพศในทางการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่นไว้อย่างชัดเจน เช่น นอร์เวซึ่งเป็นประเทศแรกๆ ที่ให้สิทธิผู้หญิงออกเสียงเลือกตั้งรวมทั้งมีกฎหมายที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงที่ดีที่สุดในโลกเคยมีมีผู้หญิงอยู่ในรัฐบาลถึงร้อยละ 40, รัฐธรรมนูญของอินเดียได้กำหนดให้การปกครองท้องถิ่นสงวนที่นั่งหนึ่งในสามให้แก่ผู้หญิง, ในแทนซาเนียเมื่อปี ค.ศ. 1992 ได้มีการออกกฎหมายที่กำหนดเงื่อนไขให้ต้องมีผู้หญิงเป็นสมาชิกรัฐสภาอย่างน้อยร้อยละ 15 และในอาร์เจนตินาได้ใช้กฎหมายที่ตั้งสัดส่วนในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองว่าอย่างน้อยต้องมีผู้หญิงร้อยละ 30 เมื่อปี ค.ศ. 1993 เป็นต้น

และนอกเหนือจากประเด็นเรื่องผู้หญิงกับการเมืองแล้วก็ยังมีประเด็นต่อยอด ที่คนอาจจะลืมไปบ้าง นั่นก็คือ “การเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้หญิง” และ “ศักยภาพที่เพิ่มขึ้น รายได้และกำลังซื้อ”

 

การเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้หญิง

จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ. 2552 ประเทศไทยมีประชากร 66,715,400 คน เป็นหญิง 33,932,300 คน และชาย 32,783,100 คน อัตราส่วนหญิง/ชาย คือ 103.50 และสำนักงานสถิติแห่งชาติได้ประมาณการจำนวนประชากรในปี พ.ศ. 2573 ไว้ว่าประเทศไทยจะมีประชากรประมาณ 70 ล้านคน โดยเป็นผู้หญิงกว่า 36 ล้านคน และเป็นผู้ชายประมารณ 34 ล้านคน

ก่อนหน้านี้พบว่าแม้จำนวนประชากรหญิงและชายที่อยู่ในวัยทำงาน (อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป) จะมีจำนวนใกล้เคียงกันมาก แต่หญิงที่ถูกจัดไว้ในกลุ่มผู้ที่ไม่อยู่ในกำลังแรงงานจะมีจำนวนมากกว่าชาย ผู้หญิงที่ไม่อยู่ในกำลังแรงงานเหล่านี้เพราะส่วนหนึ่งจะเป็นแม่บ้านซึ่งถูกจัดว่าเป็นผู้ที่ไม่ได้ทำงานในเชิงเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าผู้หญิงออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น เราแทบจะเห็นผู้หญิงที่ทำหน้าที่แม่บ้านเพียงอย่างเดียวน้อยลงโดยเฉพาะในครอบครัวที่ฝ่ายชายหารายได้ได้ไม่มากนักซึ่งเป็นลักษณะส่วนใหญ่ของครอบครัวไทย

หากเราเจาะลึกเข้าไปจริงๆ จะพบว่าในภาคการผลิตและภาคบริการที่ทำรายได้หลักให้กับประเทศนั้น มีสัดส่วนของแรงงานหญิงจะมีมากกว่าแรงงานชายไปแล้ว โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนาในปี พ.ศ. 2553 พบว่าแรงงานหญิงละทิ้งอาชีพเกษตรกรรมมากกว่าแรงงานชายถึง 1.9 ล้านคน แรงงานหญิงมีจำนวนมากกว่าแรงงานชายในอุตสาหกรรมการผลิต และบริการ โดยภาคการผลิตมีแรงงานหญิง 2.88 ล้านคน มีแรงงานชาย 2.67 ล้านคน ภาคบริการมีแรงงานหญิง 4.52 ล้านคน มีแรงงานชาย 3.16 ล้านคน

ทั้งนี้การก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้หญิงในภาคการผลิตและภาคบริการนี้จึงเป็นการสะท้อนไปถึงเรื่องรายได้ที่เพิ่มขึ้น และได้สะเทือนต่อค่านิยมการเป็นแม่บ้านเพียงอย่างเดียวของผู้หญิงไทยรวมทั้งการเป็นอิสระต่อผู้ชายมากขึ้น

 

ศักยภาพที่เพิ่มขึ้น รายได้และกำลังซื้อ

สถิติและดัชนีต่างๆ ผู้หญิงไทยแซงหน้าผู้ชายไปในหลายด้านแล้ว เช่นประเด็นเรื่องการศึกษาพื้นฐานพบว่าส่วนใหญ่ผู้หญิงมีการศึกษาสูงกว่าชาย โดยอัตราการรู้หนังสือของผู้หญิงในเมืองมีสูงกว่าร้อยละ 100 และประมาณร้อยละ 90 ในพื้นที่ชนบท หากเทียบกับผู้ชายไทยพบว่าผู้หญิงไทยมีการศึกษาสูงกว่าถึงร้อยละ 7 โอกาสในการทำงานในภาคธุรกิจและการขยับขึ้นในตำแหน่งที่สูงขึ้นไปของผู้หญิงจึงเริ่มมีความก้าวหน้า (ขึ้นบ้าง)

การขยับขึ้นเป็นผู้บริหารของผู้หญิงในภาคธุรกิจของไทยก็ยังคงมีโอกาสเติบโตขึ้น จากรายงาน Women in business: from classroom to boardroom พบว่าสัดส่วนของนักบริหารหญิงในปี ค.ศ. 2014 ประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นโดยมีถึง 3 ประเทศที่อยู่ใน 6 อันดับแรกของโลก อินโดนีเซีย มีสัดส่วนร้อยละ 41 (อันดับ 2) ฟิลิปปินส์มีสัดส่วนถึงร้อยละ 40 (อันดับ 4) และไทยร้อยละ 38 (อันดับ 6) และในด้านรายได้ผู้หญิงไทยนั้นก็มีแนวโน้มหารายได้เองเพิ่มมากขึ้นจากทั้งการทำงานออฟฟิศและในโรงงานอุตสาหกรรม

เมื่อปี พ.ศ. 2556 วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สำรวจตัวอย่างผู้หญิงทำงานออฟฟิศอายุ 21-33 ปี ใน 7 กลุ่มอาชีพที่พบได้ทั่วไป จากการศึกษาพบข้อมูลข้อมูลเบื้องต้นดังนี้ ด้านรายได้ร้อยละ 35 มีรายได้ 18,001-30,000 บาท/เดือน ร้อยละ 27 มีรายได้ 12,001-18,00บาท/ เดือน และ ร้อยละ 16 มีรายได้ 30,001-40,000 บาท/เดือน ความน่าสนใจเรื่องรายได้นอกจากจะบ่งบอกกำลังซื้อแล้ว ผู้หญิงที่ทำงานออฟฟิศร้อยละ 21 ระบุว่ามีรายได้เสริมนอกเหนือจากงานประจำ และร้อยละ 27 ของคนที่มีงานอื่น บอกว่าเปิดร้านขายของออนไลน์เพื่อเป็นรายได้เสริม อีกร้อยละ 23 บอกว่าเปิดให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ โดยห้องเช่าหรือคอนโดที่เธอซื้อเพื่อปล่อยเช่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ เกรด c+ ถึง b นอกจากนี้ในด้านการเก็บออมพบว่าร้อยละ 29 แบ่งเงินเอาไว้สำหรับการออมมากที่สุด โดยช่องทางการออมเงินสุดฮิตของผู้หญิงทำงานออฟฟิศ คือ การซื้อทอง โดยผู้หญิงที่ทำงานออฟฟิศกลุ่มที่นิยมการออมเงินช่องทางนี้มากที่สุดมีอายุระหว่าง 21-24 ปี ส่วนกลุ่มอายุ 25-28 ปี ออมเพื่อว่าวันหนึ่งจะเปิดกิจการเป็นของตัวเอง วัย 29-33 ปี ออมเพื่อซื้อความสุขในการท่องเที่ยวเงินส่วนที่เอามาใช้จ่าย ผู้หญิงที่ทำงานออฟฟิศใช้จ่ายไปกับเสื้อผ้า เครื่องสำอาง และการท่องเที่ยวต่างจังหวัดตามลำดับ

ย้อนไปก่อนหน้านั้นเมื่อปี พ.ศ. 2554 วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้ทำการสำรวจตัวอย่างผู้หญิงที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้พบว่าประเทศไทยมีผู้หญิงที่ทำงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรมมากกว่า 2 ล้านคน ในด้านรายได้ต่อเดือนจากการสำรวจครั้งนั้นพบว่า ร้อยละ 14 มีรายได้น้อยกว่า 5,000 บาท ร้อยละ 63 มีรายได้เฉลี่ย 5,000-10,000 บาท ร้อยละ 16 มีรายได้ประมาณ 10,001-15,000 บาท ร้อยละ 3 มีรายได้ประมาณ 15,001-20,000 และร้อยละ 4 มีรายได้มากกว่ากว่า 20,000 บาท ในด้านสัดส่วนการใช้จ่ายของผู้หญิงที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมนั้น ร้อยละ 32 ใช้ซื้อของใช้ส่วนตัว ร้อยละ 24 เป็นค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัย ร้อยละ 23 เป็นค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ร้อยละ 9 เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุตร ร้อยละ 8 เก็บเป็นเงินออม และร้อยละ 4 เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ

 

หมายเหตุ: อ่านผลการสำรวจของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เพิ่มเติมได้ที่ [1] และ [2]

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net