Skip to main content
sharethis

11 ปี หลังเกิดคดีอุ้มหาย ทนายสมชาย นีละไพจิตร สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล และองค์กรสหภาพเสรีภาพเพื่อพลเมืองประเทศไทย เรียกร้องให้ทางการไทยให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาการป้องกันบุคคลจากการบังคับให้สูญหาย เพื่อให้ความเป็นธรรมเกิดขึ้นต่อเหยื่อ และมีการเยียวยาชดเชยครอบครัวของทนายสมชาย

13 มี.ค. 2558 สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights: FIDH) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ร่วมกับองค์กรสหภาพเพื่อเสรีภาพพลเมือง (Union for Civil Liberty: UCL) ภายในประเทศไทย ระบุถึงกรณีการหายตัวไปของ สมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชน ผ่านแถลงการณ์ร่วมหัวข้อ "11 ปีผ่านไป ยังไม่มีความยุติธรรมกรณีสมชาย นีละไพจิตร"

ทั้งนี้ FIDH และ UCL เรียกร้องให้ประเทศไทยต้องให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาการป้องกันบุคคลจากการบังคับให้สูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance หรือ ICPPED) โดยทันที และควรเพิ่มความพยายามสืบสวนการบังคับให้สูญหายในคดีการหายตัวไปของสมชาย นีละไพจิตร โดยทั้งสององค์กรเรียกร้องในเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 12 มี.ค. ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 11 ปีการหายตัวไปของสมชาย นีละไพจิตร พอดี

สมชาย นีละไพจิตร เป็นทนายความผู้ปกป้องสิทธิของสมาชิกชุมชุนชาวมุสลิมในจังหวัดที่มีความไม่สงบของประเทศไทย คือจังหวัด สงขลา, ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส เขาถูกลักพาตัวและอุ้มหายในวันที่ 12 มี.ค. 2547 พยานผู้เห็นเหตุการณ์กล่าวว่ามีกลุ่มคนบังคับให้เขาขึ้นรถที่ถนนรามคำแหงในกรุงเทพฯ แม้ว่าจะมีหลักฐานชัดเจนมากเกี่ยวกับการเสียชีวิตของเขา แต่ก็ไม่มีใครพบร่างของทนายสมชายเลย

"การบังคับทนายสมชายให้หายตัวไปยังคงถือเป็นอาชญากรรมในทุกวันนี้มากพอๆ กับที่เคยเป็นเมื่อ 11 ปีที่แล้ว และจะยังคงเป็นอาชญากรรมต่อไปจนกว่ารัฐบาลไทยจะเผยแพร่รายละเอียดเกี่ยวกับคดีและนำตัวผู้เกี่ยวข้องมาดำเนินคดี" คาริม ลาฮิดจิ ประธาน FIDH กล่าว "ประเทศไทยจะต้องให้สัตยาบันต่ออนุสัญญา ICPPED โดยทันทีและมีมติรับร่างกฎหมายให้การบังคับให้หายตัวไปเป็นอาชญากรรมที่ต้องมีการลงโทษตามความเหมาะสม"

ประเทศไทยเซ็นสัญญา ICPPED เมื่อเดือน ม.ค. 2555 แต่ก็ยังไม่ได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญานี้ หลังจากการให้สัตยาบันแล้ว ประเทศไทยจะมีพันธะผูกมัดให้สืบสวนการถูกบังคับให้หายตัวไปและนำผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในฐานะคดีความที่เกิดขึ้นก่อนหน้าการให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2557 ในการประชุมครั้งที่ 52 ของคณะกรรมการต่อต้านการทารุณกรรมของสหประชาชาติ (CAT) ประเทศไทยกล่าวให้สัญญาอย่างกำกวมว่าจะให้สัตยาบันต่อ ICPPED "ภายในอนาคตอันใกล้นี้" [1]

"ประเทศไทยไม่ยอมให้ความยุติธรรมแก่ครอบครัวของสมชายมาเป็นเวลานานเกินไปแล้ว ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทยจะชดเชยและเยียวยาอังคณา นีละไพจิตร และลูกๆ ของเธอ ตามสิทธิที่เธอควรจะได้รับตามพันธะทางกฎหมายที่ไทยมีต่อกฎหมายนานาชาติ" จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ประธานกลุ่ม UCL กล่าว

ตามมาตรา 2 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ไทยร่วมเป็นรัฐภาคีระบุถึงสิทธิในการได้รับการเยียวยาอย่างได้ผลและได้รับการชดเชยอย่างเต็มที่สำหรับสมาชิกครอบครัวของเหยื่อที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่ถูกระบุไว้ในกติกานี้

ศาลอาญากรุงเทพฯ เคยตัดสินให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 นายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีการหายตัวไปของทนายสมชายพ้นผิด หลังจากที่พวกเขาถูกดำเนินคดีในข้อหาบังคับขู่เข็ญและร่วมกันปล้นทรัพย์ และมีการดำเนินคดีกับ พ.ต.ต.เงิน ทองสุก ในข้อหาบังคับขู่เข็ญ เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2549

ในวันที่ 11 มี.ค. 2554 ศาลอุทธรณ์ยังคงให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 4 นายพ้นผิดจากจากข้อหาบังคับขู่เข็ญและร่วมกันปล้นทรัพย์ อีกทั้งยังยกเลิกการคำพิพากษาต่อ พ.ต.ต.เงิน ทองสุก ด้วย

ในวันที่ 21 พ.ค. 2557 ศาลฎีกาปฏิเสธไม่ยอมรับหลักฐานสำคัญอย่างโทรศัพท์ที่จะพิสูจน์ความผิดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 5 คนผู้ที่แต่เดิมถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของทนายสมชาย

 


#1 อ้างจากคำปราศรัยของ ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม หัวหน้าตัวแทนประเทศไทยในการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทารุณกรรมของสหประชาชาติ ครั้งที่ 52 วันที่ 30 เม.ย. 2557

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net