Skip to main content
sharethis

อดีตประธานบอร์ดแบงก์ชาติเห็นด้วยกับการชะลอภาษีที่ดิน ชี้ไม่ใช่เวลา ซ้ำจะเป็นการควักเงินที่มีน้อยอยู่แล้วจากกระเป๋าประชาชน ทำคนหดหู่ คาดปีนี้เศรษฐกิจจะหดตัว (อ่านสรุปบรรยายฉบับเต็มท้ายข่าว) 

13 มี.ค. 2558 ดร. วีรพงษ์ รามางกูร หรือ ดร.โกร่ง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและอดีตประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวก่อนบรรยายพิเศษให้กับหลักสูตรประกาศนียบัตรกฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ระบุว่า เศรษฐกิจซบยาวเนื่องจากผลกระทบเศรษฐกิจโลก ไม่เห็นทางฟื้นตัวในระยะเวลาอันใกล้ เตือนรัฐบาลวางมาตรการให้ประชาขนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

นายวีรพงษ์กล่าวว่า เศรษฐกิจขณะนี้ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน ซึ่งสร้างผลกระทบต่อเนื่องมายังสินค้าเกษตร ขณะนี้ที่ต้องระวังคือสถาบันการเงินว่าจะกระทบต่อเนื่องหรือไม่

โดยคาดการณ์ว่าในด้านการส่งออกก็จะยังไม่ดีขึ้นเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงขาลง ดังนั้นประเด็นเศรษฐกิจขณะนี้เป็นเรื่องการรับมือกับสถานการณ์ที่ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

"ในปีนี้เศรษฐกิจน่าจะหดตัว ซึ่งเท่าที่ผมทำงานด้านเศรษฐกิจมา ไม่เคยมี มีแต่ขยายตัวมากหรือน้อย นี่เป็นครั้งแรก"

ในส่วนของนโยบายภาษีนั้น อดีตประธานบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทยย้ำว่า เห็นด้วยกับการที่นายกรัฐมนตรีเบรกมาตรการภาษีบ้านและที่ดิน พร้อมระบุว่านี่ไม่ใช่เวลาในการเพิ่มมาตรการภาษีอะไรทั้งนั้น ภาษีปัจจุบันนี้ทำหน้าที่เป็นเครืองมือในการหารายได้เท่านั้น มาตรการภาษีเป็นมาตรการกระจายรายได้ที่เลวที่สุด ขณะเดียวกัน การเพิ่มภาษีในภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะส่งผลกระทบต่อประชาชนสองประการ คือ เป็นการเพิ่มภาระ ดึงเงินออกจากกระเป๋าของประชาชน และส่งผลทางจิตวิทยาทำให้ประชาชนหดหู่

เมื่อถามว่า รัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยส่งผลในทางเศรษฐกิจหรือไม่ วีรพงษ์ตอบว่า การทำมาค้าขายกันมีความกดดันที่จะทำให้ประเทศต่างๆ ที่อยู่ในประชาคมเดียกันจะต้องมีแนวปฏิบัติที่คล้ายคลึงกัน สหรัฐและยุโรปมีการกดดันเรื่อง non-economic factor เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องโลกร้อน กระแสเหล่านี้กดดันรัฐบาลเขาเองให้มากดดันประเทศที่มาตรฐานต่ำให้เพิ่มมาตรฐานขึ้น มีการประกันสุขภาพ มีสิทธิเสรีาพ ในเสื้อคลุมของการแข่งขันในทางการค้าและการลงทุนจึงออกมาในรูปที่ไม่ใช่ศรษฐกิจด้วย เช่น การไม่ใช้แรงงานเด็ก มาตรฐานในการดำงชีวิต คุณค่า ทัศนคติ มันไปสะท้อนในต้นทุนเชิงคุณค่า

เมื่อถามว่า การกดดันดังกล่าวมีผลจริงหรือไม่  วีรพงษ์ตอบว่า ตอบยาก เพราะเราก็มีความสำคัญในทางเศรษฐกิจกับเขา ถ้าเราตอบโต้เขาก็เสียประโยชน์ แต่มีเรื่องของการแข่งขันและเพื่อนบ้านเราไม่ถูกกล่าวหาในเรื่องของการไม่เป็นประชาธิปไตย นำไปสู่การมีมาตรการกดดันจากประเทศประชาธิปไตยตะวันตก จะเป็นแค่ lip service หรือไม่นั้นไม่แน่ใจ แต่ที่สำคัญที่สุดคือการไม่บังคับใช้กฎหมายของเราเป็นเหตุให้ต้นทุนของเขาแพงกว่าของเรา สิ่งเหล่านี้ผมไม่แน่ใจ แต่ที่เห็นชัดคือเราไม่สามารถเดินทางไปเจรจาการค้ากับเขาได้ เพราะเขาไม่รับมาตรการลดภาษีทางการค้า ของเราถึงจุดที่เขาต้องเลิกเพราะเราพัฒนาไปถึงระดับหนึ่ง เราหวังเอาเรื่องเขตการค้าเสรีมาทดแทนก็ทำไม่ได้เพราะเราไม่สามารถไปเจรจาการค้ากับเขาได้    

=========

สรุปบรรยายพิเศษ ‘วีรพงษ์ รามางกูร’ เศรษฐกิจวิกฤตจริงหรือ ?

หมายเหตุ : บรรยายพิเศษในวิชาสัมมนากฎหมายมหาชน โครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 13 มีนาคม 2558

ลักษณะพิเศษของเศรษฐกิจไทย

1.ระบบเศรษฐกิจไทย มีลักษณะ small and open ไม่สามารถอยู่โดดเดี่ยวได้ สินค้าอะไรที่ผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลิตนิดเดียวก็เกินความต้องการของตลาดภายในประเทศแล้วจึงต้องพึ่งพาอาศัยการส่งออกทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม แม้แต่แรงงาน ซึ่งไม่ควรโยงก็ยังเชื่อมโยงกับต่างประเทศก็ยังโยง ถ้าเราตั้งค่าแรงสูง เศรษฐกิจบูม ก็จะมีแรงงานอื่นหลั่งไหลมา ไม่สามารถปิดตลอดแรงงานเหมือนที่อื่นได้ เพราะมีพรมแดนติดต่อประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ตลาดเงินทุนก็เปิด

ลักษณะเช่นนี้เป็นเหตุให้นโยบายไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่านโยบายการเงิน การคลัง ข้อเท็จจริงนี้คนไทยไม่เคยยอมรับ ฉะนั้นเราจึงมีนโยบายจำนำข้าว หรือนโยบายยกราคาสินค้าที่เราผลิตให้สูงกว่าในตลาดโลก

ในตลาดทุน ดอกเบี้ยเป็นตัวสร้างความสมดุลของเงินทุนไหลเข้าไหลออก ดอกเบี้ยซึ่งเป็นราคาของทุน ถ้าดอกเบี้ยเราสูงกว่าต่างประเทศ เงินทุนก็ไหลเข้า ค่าเงินบาทก็จะแข็ง การส่งออกก็จะยากลำบากขึ้น แต่การนำเข้าจะมากขึ้น ในที่สุดเงินจะไหลออก อัตราแลกเปลี่ยนก็กลับมาอยู่ที่เดิม แต่สร้างความปั่นป่วนให้การผลิตและเรื่องอื่นๆ ค่อนข้างมาก

สรุปแล้วเราต้องคำนึงเสมอว่า เศรษฐกิจเราเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก เราเป็นผู้รับราคา ไม่ใช่ผู้กำหนดราคา

2.โครงสร้างการผลิต ปกติแล้วจะแยกผลผลิตประชาชาติเป็น 3 ส่วน ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ เราอาจคิดว่าภาคเกษตรสำคัญที่สุด แต่มีผลผลิตเพียง 10% ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมมีประมาณ 40% ที่เหลืออยู่ในภาคบริการ แต่เรามีแรงงานในภาคเกษตรประมาณ 30% ของแรงงานทั้งหมด ฉะนั้น ภาคเกษตรมีประสิทธิภาพต่ำสุด แต่อันนี้คิดเพียงผิวเผิน ถ้าคิดให้ดี ภาคเกษตรสร้างงานต่อเนื่องได้ค่อนข้างมาก ภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคใหญ่รองลงมา แต่ทั้งหมดล้วนต้องพึ่งการส่งออก ส่วนภาคบริการก็ต้องขายนักท่องเที่ยว และทั้งสามส่วนก็กระทบถึงกันและกัน

“จะเห็นได้ว่าต่างประเทศเป็นผู้กำหนด ภาวะเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ การจ้างงาน การกระจายรายได้ เกือบจะทุกอย่างสำหรับประเทศของเรา”

“เมื่อเป็นอย่างนี้ผมถึงบอกว่ารัฐบาลทำให้เศรษฐกิจฟื้น เฟื่องฟูไม่ได้ แต่ทำให้ซบเซา ทำให้การเงินการคลัง ล่มสลาย พังพินาศได้ เหมือนอย่างที่เรานำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปใช้ต่อสู้การรักษาค่าเงินบาท จนเงินทุนสำรองหมดในปี 2540”

การที่เศรษฐกิจเรามีลักษณะเช่นนี้ หลายเรื่องจึงเป็นเรื่องที่เราทำไปโดยไม่มีผลทางเศรษฐกิจแต่จะมีผลทางการเมืองมากกว่า เช่น กรณีโครงการจำนำข้าว การซื้อยางพารามาไว้ในสต๊อก เหล่านี้ไม่ได้ทำให้ราคาสินค้านั้นแพงขึ้น แต่เกษตรกรสามารถขายให้รัฐบาลในราคาดีขึ้นได้ เป็นอย่างนี้เสมอ

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกตอนนี้

ปกติเศรษฐกิจโลกเป็นไปตามวัฏจักร ประมาณ 10-15 ปีจะขึ้นและลงครั้งหนึ่ง หัวเรือที่สำคัญของเศรษฐกิจในวัฏจักรสุดท้าย ไม่ใช่อเมริกาและยุโรป เพราะทั้งสองนั้นความเป็นอยู่ของประชาชนสูงเกินไปกว่าจะสามารถแข่งขันในเวทีการค้าระหว่างประเทศได้ อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น จึงเป็นประเทศผู้ลงทุน คอยนั่งกินเงินปันผล ดอกเบี้ย การเก็งกำไร หรือบริการทางการเงินต่างๆ รวมถึงสินค้าไฮเทค แต่ตอนหลังการค้นพบเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เกิดขึ้นบ่อย ประเทศที่ดึงเศรษฐกิจโลกขึ้นในช่วง 15 ปีที่ผ่านมากลายเป็น BRICS คือ Brazil, Russia, India, China, South Africa เป็นประเทศใหญ่ทั้งสิ้น แต่อยู่มาพักหนึ่งความสามารถในการแข่งขันก็ลดลง ค่าแรงแพงขึ้น เศรษฐกิจของโลกก็ลง

อเมริกา

ประกอบกับอเมริกาค้นพบเทคโนโลยีการขุดเจาะลงไปในพื้นพิภพลึกไปกว่า 10 กิโลเมตร ซึ่งมีแก๊สและน้ำมันมหาศาล คาดว่าพลังงานที่จะขุดได้ต้นทุนไม่ต่ำกว่า 80 เหรียญต่อบาร์เรล ช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบสูงกว่า 100 เหรียญ โครงการนี้จึงเป็นไปได้ ทำให้ความต้องการน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางและรัสเซีย ลดลงจนต่ำกว่าความสามารถในการผลิต ประเทศแรกที่พังคือรัสเซีย การที่ราคาน้ำมันร่วงลงเร็วอย่างนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการพลังงานลดลงมหาศาล พร้อมกับ supply ในอเมริกาเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจอเมริกาจึงมีทีท่าว่าจะ recover

การไม่ต้องน้ำเข้าพลังงาน และอาจส่งออกได้ด้วยซ้ำของอเมริกาก็ไม่สามารถชดเชยการตกลงของเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ ได้ กรณีของยุโรป

สหภาพยุโรป

สหภาพยุโรปไม่มีพลังเพียงพอจะใช้ และการผูกกันด้วยเงินสกุลเดียวกัน นานๆ เข้าความแตกต่างในความสามารถมีประสิทธิภาพในการผลิตก็ปรากฏชัด เยอรมัน สแกนดิเนเวีย ก็กลายเป็นผู้ส่งออกมายังยุโรปใต้ พวกอิตาลี สเปน ทำให้ขาดดุลการค้าให้ยุโรปเหนือ ธนาคารกลางยุโรปก็ต้องรับซื้อพันธบัตร ของกรีซ สเปน โปรตุเกส ไอร์แลนด์ มากขึ้นเรื่อย จนกระทั่งไม่มีทีท่าว่าจะใช้หนี้ได้ จนปีที่แล้วกรีซถึงกำหนดไถ่ถอนพันธบัตรและต้องขอกู้เพื่อมาใช้หนี้เก่าด้วย เกิดการบังคับให้กรีซตัดงบประมาณสวัสดิการต่างๆ ด้วยนโยบายรัดเข็มขัด (Austerity Program) ทำให้เกิดการว่างงานสูงขึ้น เกิดการเดินขบวนมากมายในกรีซ จนเกิดพรรคใหม่ที่ชูนโยบาย “ไม่จ่ายหนี้” พอชนะเลือกตั้งท่วมท้น ประธานาธิบดีและรมว.คลังเดินทางไปเยี่ยมเจ้าหนี้เพื่อเจรจาการครบดีลเมื่อ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ในที่สุดต้องประนีประนอมทำแผนฟื้นฟู แม้เดิมเจ้าหนี้อย่างเยอรมนีจะแข็งกร้าวมาก ขณะนี้กรีซดำเนินนโยบายงบประมาณเกินดุลอยู่แล้ว ประมาณ 2% ของรายได้ประชาชาติ ส่วนที่เกินก็เอามาไถ่ถอนพันธบัตรที่ประเทศอื่นซื้อไว้ ต้องขึ้นภาษีให้งบเกินดุลประมาณ 6% เพื่อเอาไปใช้หนี้เพิ่มขึ้น

สเปน อิตาลี โปรตุเกส ไอร์แลนด์ ก็ดูอยู่ว่ารัฐบาลยุโรปจะทำอย่างไร เชื่อว่าต่อไปก็คงจะเป็นตาของประเทศเหล่านี้ด้วยเหมือนกัน

ดังนั้นเศรษฐกิจของยุโรปยังไม่มีทางฟื้น ยังยุ่งอยู่กับปัญหาหนี้สินระหว่างกันเองว่าจะทำอย่างไร ระหว่างนี้ค่าเงินยูโรเมื่อเทียบกับดอลลาร์ตกอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุในสวิสเซอร์แลนด์ไม่ผูกค่าเงินตนไว้กับยูโร ยุโรปจึงต้องออกมาตรการ QE เหมือนอเมริกา คือ ธนาคารกลางสร้างเงินใหม่ขึ้นมาเพื่อซื้อพันธบัตรรัฐบาลจากธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ กรณีอเมริกานักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าการเพิ่มเงินนั้นไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจอเมริกาฟื้น แต่เพราะค้นพบเทคโนโลยีขุดน้ำมันและก๊าซทดแทนการนำเข้าได้ ปัญหาหนี้สินประเทศต่างๆ ในเขตยูโรไม่น่าจะแก้ได้โดยมาตรการ QE แต่ก็ต้องดูกันต่อ เพราะมันฝืนกับทฤษฎี เพราะช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ นโยบายการเงินไม่มีผล ต้องใช้นโยบายการคลัง สร้างถนนหนทางอะไรก็ว่าไป ให้เงินออกมาจากรัฐบาลและต้องตั้งงบขาดดุล

“ผมก็แปลกใจรัฐบาลไทยประกาศนโยบายงบประมาณสมดุล ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แสดงว่าเราไม่เข้าใจเศรษฐกิจ ช่วงอย่างนี้เราควรมีงบประมาณขาดดุล แต่ต้องดูยอดว่าตั้งเป้าเท่าไหร่ เราตั้งว่าไม่เกิน 60% ของจีดีพี ตอนนี้หนี้สาธารณะเรามีแค่ 48% ของจีดีพี”  

การชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ทำได้สองวิธี หนึ่ง ขึ้นภาษี สอง ออกพันธบัตรกู้เงิน สุดแท้แต่ว่ายอดเพดานเราเท่าไร ไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี และอยู่ในช่วงไหน ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ อเมริกา ยุโรป ใช้วิธีลดภาษีและกู้เพิ่ม ช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟูจะตั้งงบประมาณเกินดุลหรือสมดุล ส่วนที่เกินเอาไปใช้คืนเงินกู้ เพื่อให้เศรษฐกิจสมดุล ไม่ขึ้นลงมากเกินไป มีเสถียรภาพ

ญี่ปุ่น

เศรษฐกิจซบเซามาตั้งแต่ปี 1995 และนิ่งสนิทอย่างนั้นไม่ฟื้นเลย ทั้งที่ญี่ปุ่นมีทุนสำรองระหว่างประเทศมากเป็นที่ 2 รองจากจีน ดุลบัญชีเดินสะพัดก็ยังเกินดุล แต่เศรษฐกิจไม่ฟื้น อัตราการขยายตัวใกล้ 0 อัตราเงินเฟ้อติดลบ เมื่ออาเบะเข้ามาก็ประกาศจะเพิ่มปริมาณเงินเพื่อให้ค่าเงินเยนอ่อนก็ได้ผลตามต้องการและหวังว่าการส่งออกจะสูงขึ้น การนำเข้าจะลด เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ก็ยังไม่แน่ใจ

จีน

ประเทศสุดท้ายที่เราหวังคือ จีน เพราะในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาขยายตัวในอัตราที่สูงมา เลขสองหลักมาตลอด แต่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนก็ชะลอตัวมาเรื่อย จนกระทั่งขณะนี้ปีที่แล้วเหลือ 7.4% ในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติเมื่อสองอาทิตย์ที่ผ่านมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนประกาศลดอัตราการขยายตัวลงมาเหลือ 7%

วิเคราะห์เศรษฐกิจไทย

อย่างที่เรียนว่าเศรษฐกิจไทยขึ้นกับการส่งออก ตลาดต่างประเทศที่สำคัญ เราส่งออกไปอเมริกา 10% ยุโรป 10% ญี่ปุ่น 10% จีนประมาณ 15% ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งไปอาเซียนและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

ตัวเลขการส่งออกเมื่อ ม.ค. หดตัว 3.46% (-3.46%) ตลาดที่หดตัวมากที่สุดคือ ตลาดจีน การส่งออกไปจีนหดตัว 20%

ตลาดการท่องเที่ยวหดตัวประมาณ 20-25% เหลือแต่นักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก แต่ก็ดูจะลดลงอีก

จากการที่ตัวเลขสองเดือนแรกในปีนี้เป็นอย่างนี้ ที่คาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจปีนี้ทั้งปีจะขยายตัว รัฐบาลคาด 3.8% เอกชนคาด 2.8% ของผมผมคาดว่าใกล้ๆ 0%

กรณีการประเมินของรัฐบาล หลักฐานการวิเคราะห์มาจากไหน การส่งออกทั้งปีไม่น่าจะเป็นบวก การลงทุนไม่น่าจะมีเลย เพราะการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมใช้เพียงครึ่งเดียว ณ ตอนนี้ แล้วอุตสาหกรรมทั้งหมดในประเทศไทยโยงกับการส่งออกทั้งนั้น ตลาดภายในประเทศก็หดหายไป เพราะราคาสินค้าเกษตรทุกตัวพร้อมใจกันตกหมด ถ้าจะเกิดเรื่องเร็วๆ นี้อาจคือ โรงน้ำตาล เพราะราคาน้ำตาลตกมา 50% เพราะประเทศที่ผลิตน้ำตาลมากที่สุดคือบราซิล เป็นประเทศที่ใช้แก๊สโซฮอลล์และส่งออกน้ำตาลมากที่สุด ลำดับสองคือ ไทย สับปะรดไทยส่งออกเป็นอันดับ1 กุ้งแต่เดิมเราก็เป็นที่ 1 ตอนนี้ทุกอย่างราคาตกหมด

“ผมถึงบอกว่าหนี้ครัวเรือนไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่รายได้ประชาชนลดลง เทียบเปอร์เซ็นต์กัน หนี้ครัวเรือนมันถึงมากขึ้น”

“ที่ผมคาดว่าเศรษฐกิจจะไม่ขยายตัวในปีนี้ อธิบายได้ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่เป็นลบ ไม่ว่าการบริโภค การลงทุน การส่งออก ที่เหลือตัวเดยวคือ การใช้จ่ายภาครัฐ แต่สัดส่วนการใช้จ่ายภาครัฐนี้ต่อรายได้มวลรวมประชาชาติ มันเพียง 20% เท่านั้น ดังนั้น ต่อให้รัฐบาลขาดดุลให้ตายก็ไปชดเชยตัวอื่นไม่ได้ และการใช้จ่ายภาครัฐนั้นเรามีกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อให้รัฐบาลมีวินัยทางการคลัง ดังนั้นรัฐบาลจะกู้มาใช้จ่ายในงบประจำไม่ได้ ได้เฉพาะงบลงทุน แล้วการจะกู้มาลงทุนก็มีขั้นตอนต่างๆ ในการประเมิน เราออกกฎหมายสมัยนายกฯ อานันท์ คือ พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน กฎหมายนี้มีประโยชน์ในตอนเศรษฐกิจเฟื่องฟู เพราะรัฐบาลจะชดเชยลงทุนภาครัฐให้มากก็ทำได้ยาก โครงการที่เกินพันล้านต้องใช้วิธีการตามกฎหมายนี้ ตกลงแล้วที่เราหวังว่ารัฐบาลจะทำให้เศรษฐกิจฟื้น ไม่แย่ไปกว่านี้ ดูท่าจะหาเหตุผลมารองรับได้ยาก”

“แนวทางที่ถูกต้อง คือ จะทำอย่างไรที่จะอยู่กับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่กำลังมานี้ให้ได้ แต่ที่จะทุ่มสติปัญญาหรืองบประมาณในการทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ซึ่งเป็นไปไม่ได้ อันนี้น่าห่วง ถ้าหมอไม่รู้สมุฐานของโลกจะให้ยาถูกได้อย่างไร”

สถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้ จะดำรงอยู่ชั่วคราวหรือยาวนาน

วัฏจักรเศรษฐกิจเท่าที่ผ่านมาไม่เคยสั้น ไม่ว่าราคาสินค้าเกษตร ราคาพลังงาน ฯลฯ เท่าที่ผ่านมามักกินเวลา 6-10 ปี ปัญหาใหญ่คือ ทำอย่างไรจะป้องกันไม่ให้ลุกลามไปที่สถาบันการเงิน เศรษฐกิจชะลอตัวเที่ยวนี้ อุตสาหกรรมขนาดย่อมพัง หนี้ครัวเรือนถึงได้โผล่ ตัวแรกที่ต้องดูคือ เอสเอ็มอีแบงก์ อีกอันที่กำลังมีปัญหาคือ ธนาคารอิสลาม ให้นักการเมืองกู้แล้วไม่ยอมเอามาคืน

ปัญหาเรื่องจะไฟแนนซ์การขาดทุนโครงการจำนำข้าวอย่างไร ปิดบัญชีคาดว่าขาดทุนประมาณ 5-6 แสนล้านบาท จะหาเงินมาใช้หนี้ ธ.ก.ส.อย่างไร เพราะถ้ารัฐบาลจะกู้มาใช้ตรงไปตรงมาก็ขัดกับ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณแน่นอน จะออกพ.ร.บ.พิเศษก็ถูกต่อต้าน ทำไม่ได้ จึงต้องคอยดูว่ารัฐบาลนี้จะแก้ไขเรื่องที่ไม่ได้ทำนี้อย่างไร เป็นบทเรียนราคาแพง ตอนเกิดต้มยำกุ้งเราตั้ง สถาบันฟื้นฟูฯ หนี้กองทุนฟื้นฟูประมาณ 8 แสนล้าน ทุกวันนี้ต้องตั้งงบประมาณชำระหนี้ประมาณปีละ 60,000 ล้านบาท 18 ปีมาแล้ว เงินต้นลดลงไม่ถึง 10% ทีนี้มีหนี้มาอีก 5-6 แสนล้านจะทำยังไง ฝากนักกฎหมายดูไม่ให้นักการเมืองทำอะไรสุดโต่งได้ ไม่ให้ทำอะไรผิดวินัยการเงินการคลัง เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในอนาคต

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net