Skip to main content
sharethis

นักวิชาการสื่อเสนอ กสทช.ไม่ควรให้ใบอนุญาตโทรทัศน์สาธารณะกับหน่วยงานภาครัฐอีก ชี้ปัจจุบันมี ช่อง 11 ก็เกินพอ ด้าน กสทช.เสียงข้างน้อย เล็งเสนอทำเกณฑ์คัดเลือก (บิวตี้คอนเทสต์) เพื่อให้มีกระบวนการที่รอบคอบ ครบถ้วน


13 มี.ค. 2558 สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวในการเสวนาสาธารณะ (Public Forum) “ช่อง 10 ทีวีบริการสาธารณะกับความคาดหวังของประชาชน” ว่า สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ยื่นขอรับอนุญาตทีวีสาธารณะเพียงรายเดียว ขณะนี้ เตรียมพิจารณาให้ใบอนุญาตทีวีสาธารณะให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลบริการสาธารณะ ประเภทที่สาม ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชนและรัฐสภากับประชาชน ซึ่งขั้นตอนได้ผ่านมา 1 ปีแล้ว การจัดเวทีวันนี้เพื่อต้องการเปิดพื้นที่ให้สำนักเลขาธิการรัฐสภาและสังคมได้รับรู้ พร้อมเป็นโอกาสอันดีในการรับฟังข้อคิดเห็นจากภาคสังคม

สุภิญญา กล่าวว่า กังวลเรื่องความเป็นอิสระของโทรทัศน์รัฐสภา เพราะภาคการเมืองอาจใช้ช่องทางนี้ในการสื่อสาร แต่เมื่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ยื่นแผนเข้ามาก็เห็นว่ามีความตั้งใจจริงในการตั้งคณะกรรมการนโยบาย (บอร์ดนโยบาย) ซึ่งมีสัดส่วนของนักวิชาการ 2 คน แต่หากมีสัดส่วนภาคประชาชนเข้ามาร่วมด้วยก็จะเสริมให้ทิศทางโทรทัศน์รัฐสภาชัดเจนขึ้น

ด้าน เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่สำนักงาน กสทช. จะให้ใบอนุญาตโทรทัศน์สาธารณะกับหน่วยงานภาครัฐ ปัจจุบันมีสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง 11) ก็เกินพอ รวมทั้งโครงสร้างคณะกรรมการนโยบายที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเสนอมานั้น ไม่มีตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วม อาจไม่สะท้อนความเป็นอิสระ ซึ่งไม่มั่นใจว่าจะแตกต่างจากช่อง 11 ได้แค่ไหน

“หากดูเนื้อหาตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเสนอเข้ามา มีความกังวลว่าอยู่ในกรอบการประชาสัมพันธ์รัฐบาล ซึ่งปัจจุบันก็มีช่อง 11 ทำแล้ว หากจะทำก็ควรคำนึงถึงเจตนารมณ์ตามวัตถุประสงค์  เช่น การให้ความรู้ด้านประชาธิปไตย การสร้างความเข้าใจในการผลักดันกฎหมายต่างๆ เข้าสภา ควรใช้โอกาสนี้สื่อนำเสนอว่าใครเสนอเรื่องนี้เข้ามา เพื่อทำให้เกิดประชาธิปไตยที่กินได้สัมผัสได้ แล้วจะทำให้ทีวีช่องนี้สมาร์ท ต้องทำให้ทีวีช่องนี้อยู่ในฟากประชาชนมากกว่าฟากการเมือง” เอื้อจิต กล่าว

สุภาสินี ขมะสุนทร รองเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า บอร์ดนโยบายทั้งหมด 18 คน ไม่มีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ยืนยันว่าช่วงที่เกิดวิกฤตการเมือง 2-3 ปีที่ผ่านมา ข้าราชการรัฐสภาได้ทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลางทางการเมือง ท่ามกลางข้อซักถามต่างๆ และสาเหตุที่ให้ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเข้าร่วมเป็นบอร์ดด้วยนั้น เพราะโทรทัศน์รัฐสภาไม่สามารถหารายได้ งบประมาณรัฐจึงเป็นแหล่งเงินเดียวที่สนับสนุนอยู่ในปัจจุบัน และสิ่งที่ต้องทำจากนี้ คือการทำให้เห็นความเป็นอิสระของสถานี รวมทั้งการดำเนินการจัดทำแผนในเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญ ตลอดจนศึกษาโมเดลทีวีสาธารณะในต่างประเทศ

สุภิญญา กล่าวเพิ่มเติมภายหลังได้รับฟังความเห็นจากเวทีครั้งนี้ว่า ตนเองและ ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ มีแนวคิดเสนอกรรมการ กสท. ให้จัดทำหลักเกณฑ์การคัดเลือกขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ประเภทบริการสาธารณะ (เกณฑ์บิวตี้คอนเทสต์) เพื่อให้มีกระบวนการที่รอบคอบ ครบถ้วน กับทีวีสาธารณะช่องอื่นๆ ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net